นี่คือเรื่องรักที่เราเคยได้ยินมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เรื่องของนพพร หนุ่มนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น วันหนึ่งเขาได้โอกาสต้อนรับมิตรรุ่นพ่อที่มาทำธุระที่ญี่ปุ่น และได้รับหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ให้กับหม่อมราชวงศ์กีรติ ภรรยาของท่านเจ้าคุณ
ความใกล้ชิดในครั้งนั้นเองได้ทำให้เกิดความรักขึ้นเงียบๆ ในใจชายหญิงทั้งสอง แต่ด้วยฐานะและชีวิตที่ต่างกัน ความรักที่เกิดขึ้นที่นั่นจึงต้องคงอยู่แต่เพียงที่นั่น สำหรับนพพร มันคือความรักที่เกิดขึ้นและจบลงที่นั่น หากสำหรับกีรติมันยังคงรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังแตกดับ
หลายปีต่อมาสามีของเธอเสียชีวิตลงเพราะวัณโรค หลังจากนั้นเธอเองก็ป่วยด้วยโรคเดียวกัน และยิ่งหนักข้อขึ้นเมื่อต้องตรมใจอยู่เงียบๆ เพียงลำพัง เมื่อพบว่านพพรแต่งงานไปเสียแล้ว เมื่อทั้งคู่หวนมาพบกันอีกครั้งมันจึงเป็นการพบเพื่อที่จะพลัดพรากกันไปตลอดกาล ตอนนั้นเอง กีรติได้มอบภาพที่เธอวาดไว้เมื่อครั้งนพพรพาเธอเที่ยวไปในมิตาเกะ ภาพที่อาจจะมีฝีมือจะธรรมดาหากสิ่งที่อยู่ ‘ข้างหลังภาพ’ ต่างหากที่สำคัญ
นี่เป็นเรื่องราวที่หลายคนได้อ่านในฐานะหนังสืออ่านนอกเวลา ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง เป็นเรื่องที่หลายคนรู้จักดีอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน ในแวดวงวิชาการ มันถูกวิเคราะห์อย่างละเอียดลออ หลายคนมองว่านอกจากความซาบซึ้งในความรักและรสของวรรณกรรมแล้ว นี่คือบทประพันธ์ที่แสดงนัยยะของการล่มสลายของชนชั้นนำในสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้างหลังภาพคือนิยายที่เล่าถึงการจบสิ้นของยุคสมัยศักดินาอันแสนหวาน และการมาถึงของโลกสมัยใหม่ในมือคนหนุ่มสาว
ข้างหลังภาพกลับมาอีกครั้งผ่านการตีความของจุฬญานนท์ ศิริผล ศิลปินที่ผลงานวิดีโอจัดแสดงในหลายที่ทั่วโลก ในการกลับมาครั้งนี้ มาในรูปแบบของการสร้างพิพิธภัณฑ์จำลองในชื่อ The Museum of Kirati
พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่รวบรวมจัดระเบียบเสมอมา และถึงที่สุดเขียนก็ประวัติศาสตร์ของสิ่งต่างๆขึ้นมาใหม่ พิพิธภัณฑ์ทำให้ของแตกหักเสียหาย ของที่ดูเหมือนไม่มีความหมาย ได้กอปรรวมเข้ามา ถูกอธิบายเชื่อมโยง และสร้างคุณค่าใหม่ของมันขึ้นมา
พิพิธภัณฑ์ของกีรติ ประกอบขึ้นจากภาพของคุณหญิงกีรติในอิริยาบทต่างๆ ที่เรียบร้อยแช่มช้อยแบบหญิงไทย สาดจับลงบนผนังราวกับห้องภาพของชนชั้นสูง หากภาพเหล่านั้นไม่ใช่ภาพนิ่งหากเป็นภาพนิ่งที่เคลื่อนไหวได้เล็กน้อย เผยให้เห็นร่องรอยของฉากหลังและองค์ประกอบ บางภาพเผยให้เห็นว่า ‘ข้างหลัง’ ความงดงามเรียบง่ายนั้นกลับประกอบขึ้นจากข้าทาสบริวารรับใช้มากมาย หรือในความตะวันออกนั้นมีความตะวันตกปะปนอยู่ด้วย นอกจากภาพเหมือนยังมีจอวิดีโอฉายหนังข้างหลังภาพ และภาพจากหนังที่ถูกวาดขึ้นใหม่คล้ายล็อบบี้การ์ดในโรงหนังสมัยโบราณ หรือคล้ายกับว่าคุณหญิงกีรติฟื้นขึ้นมาวาดภาพชีวิตตัวเองใหม่ทั้งหมด และที่จุดสุดยอด มีรูปปั้นของคุณหญิงกีรติ ราวกับอนุสาวรีย์แห่งชีวิต บรรจุในตู้ รูปปั้นได้รับการเจิมจากพระสงฆ์ราวกับรูปปฏิมาสำหรับกราบไหว้ วางคู่กันกับเข็มกลัดรูปเหมือนของคุณหญิงกีรติที่มอบเป็นที่รฤกแด่นพพรราวของแทนใจ
ความทรงจำเป็นเรื่องของปัจเจกชน แต่ความทรงจำรวมหมู่คือประวัติศาสตร์ สองสิ่งนี้ขัดแย้งและคัดง้างกันตลอดมา และในพิพธภัณฑ์ของกีรตินี้เอง ความทรงจำส่วนบุคคลที่เรามีต่อบุคคลเดียว (นั่นคือคุณหญิงกีรติ) ซึ่งไม่ใช่วีรบุรุษสงคราม รัฐบุรุษ หรือผู้ยิ่งใหญ่ กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปได้อย่างไร นั่นคือวิธีการที่จุฬญาณนนท์ตีความ และเสริมต่อสิ่งที่ข้างหลังภาพได้ทำเอาไว้ก่อนหน้า มันคือการเปลี่ยนภาพความทรงจำเป็นภาพของประวัติศาสตร์
ความทรงจำเป็นเรื่องของปัจเจกชน แต่ความทรงจำรวมหมู่คือประวัติศาสตร์
ใน Forget Me Not นิยาย ข้างหลังภาพ ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ครึ่งแรกนั้นดำเนินรอยตามนิยายข้างหลังภาพแทบทั้งหมด สร้างความประดักประเดิดด้วยการที่เรื่องเดินไปในยุคสมัยปัจจุบัน โดยไม่ดัดแปลงสิ่งใดให้เข้ายุค และประดักประเดิดยิ่งขึ้นเมื่อจุฬญาณนนท์รับบททั้งนพพรและกีรติด้วยตนเองจนแทบจะกลายเป็นหนังที่ ‘เล่นอยู่คนเดียว’
ในขณะที่ครึ่งหลัง เดินเรื่องหลังความตายของกีรติ (ลูกสาวของพ่อที่ละม้ายคล้ายจอมพลผ้าขาวม้าแดง) นพพรแต่งงานกับปรีดิ์ลูกสาวของพ่อปรีดี ทุกอย่างดูรื่มรมย์สมสุข พรีเวดดิ้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แถมเดินเที่ยวงานฉลองรัฐ หากผีความทรงจำของกีรติยังคงกลับมาหลอกหลอนนพพรไม่รู้สร่าง รักที่ลอยลับกลับเรื่อเรืองมากกว่าชีวิตตรงหน้า จนเมื่อปรีดิ์ล้ำเส้น นพพรก็หมดความอดทน หวนกลับไปสู่การหลงรักภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ของกีรติ กลายเป็นส่วนหนึ่งของกีรติ ครึ่งหลังจึงเป็น ‘การกลับไปหากีรติ’ และการเปลี่ยนภาพของกีรติจากภาพที่มีแต่เฉพาะนพพรที่เข้าใจ ให้เป็นภาพที่มีทุกหนแห่ง เมื่อภาพเปลี่ยน ‘ข้างหลังของภาพ’ ก็เปลี่ยนไปด้วย
กล่าวตามสัตย์แล้ว คู่สัมพัทธ์คู่วินาศที่เหมาะสมในการอธิบายข้างหลังภาพฉบับใหม่นี้ ควรจะเปรียบมวยมันเข้ากับ การตีความ ชั่วฟ้าดินสลาย อีกหนึ่งบทประพันธ์สำคัญผ่านสายตาของ มล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่ทำให้นิยายรักอันน่าตื่นใจกลายเป็นมุมมองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ผลักให้ยุพดีกลายเป็นการก้าวเข้ามาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากพ่อปกครองลูกแบบพะโป้ปกครองส่างหม่อง ไปสู่การเอาแต่ใจที่นำไปยังหายนะ
ในทางเดียวกันและตรงกันข้าม จุฬญาณนนท์ได้ดัดแปลงและเสริมเติมข้างหลังภาพให้กลายเป็นเรื่องรักรันทดของเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่กีรติไม่ใช่ยุพดี ถ้าจะมีใครเป็นยุพดี นั่นย่อมเป็นปรีดิ์ และถ้าจะมีใครที่ละม้ายกีรติ นั่นย่อมเป็น ‘อำนาจอ่อน’ ของพะโป้ นพพรจึงเปลี่ยนจากนักศึกษาหนุ่มไฟแรงที่อาจจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สายามในบทประพันธ์ดั้งเดิม กลายเป็นเพียงชนชั้นกลางหัวสูงกำเนิดใหม่ที่ถูกการเปลี่ยนแปลงการปกครองล่อลวงไปให้เอาใจออกห่างระบอบศักดินาดั้งเดิม ที่ยิ่งเมื่อมองจากระยะไกล มองจากสายตาของความไม่สมรักกับระบอบใหม่ที่เรียกร้องเอาจากเจ้าตัวมากกว่าที่เขาคิด มันก็ยิ่งงดงาม เรื่อเรือง เปลี่ยนการกดขี่ในอดีตไปสู่วันชื่นคืนสุข
คู่สัมพัทธ์คู่วินาศที่เหมาะสมในการอธิบายข้างหลังภาพฉบับใหม่นี้ ควรจะเปรียบมวยมันเข้ากับ การตีความ ชั่วฟ้าดินสลาย
อย่างจงใจในช่วงกลางของเรื่อง จุฬญาณนนท์ได้โหมใส่สัญญะทางการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างรุนแรงเข้าไปในตัวเรื่อง สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การประท้วงของนักศึกษา การปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างถูกเร้าอย่างล้นเกิน เรื่องเล่าเปลี่ยนจากความสงบงามของครึ่งแรกไปสู่พลังงานอันบ้าคลั่งของความโกรธแค้นและการเสียดเย้ย (จนเกือบจะเป็นภาพแทนตรงไปตรงมาของการเสียดสีการเมืองไทย) ก่อนที่เรื่องจะเบนเข้าสู่ช่วงสุดท้าย ซึ่งผนวกเอาภาพวาดจิตกรรมฝาผนังโบราณ ประติมากรรมไฟฟลูออเรสเซนต์สมัยใหม่ ให้กลายเป็นฝันหลอนแห่งการเจิรญสติภาวนา นพพรที่เข้าทางธรรมแบบภาพสองมิติของไตรภูมิ ได้กลับคืนสู่อ้อมอกอันเป็นที่รักของกีรติผ่านทางการละทางโลก ทางการกลับไปเป็น ‘คนดี’ ของคุณหญิง
ดังนั้นการที่หนังตัดสินใจตัดโควตสำคัญของบทประพันธ์ออก กลับกลายเป็นการตัดสินใจที่น่าทึ่ง ในข้อความสุดท้ายอันเลื่องลือของคุณหญิงกีรติ เป็นภาพแทนถึงความจำนนเฉพาะบุคคลต่อความเปลี่ยนแปลงที่เจ้าตัวไม่อาจรั้งไว้ได้อีกต่อไป หากถ้อยแถลงของ ‘Forget Me Not’ กลับไม่ใช่คำร้องขออันอ่อนโยนว่าได้โปรดอย่าลืมฉัน หากมันคือการข่มขู่บังคับว่าเธอจะลืมฉันไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การ ‘รุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังแตกดับ’ หากมันคือ การ ‘ยิ่งรุ่งโรจน์มากขึ้นหลังจากร่างนั้นแตกดับลับไป’
คุณหญิงกีรติ จึงไม่ได้เป็นเพียงภาพฝันถึงอดีตอีนหอมหวานความอ่อนช้อยอันงดงาม เพราะอำนาจที่แท้ของความดีงามอันบริสุทธิ์นี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ภาพฝัน แต่ทำหน้าที่กำกับผู้ที่ฝันถึงมันด้วย การแผ่ลามของอำนาจแห่งกีรติไม่ได้มาพร้อมกับปืน การบังคับทางกฏหมาย การปราบปรามคนเห็นต่าง หรือการจับกุมคุมขัง แต่คือการฝังของภาพของคนธรรมดาลงไปในความทรงจำผู้คนให้กลายเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกันกับรูปปั้นในห้องจัดแสดง เมื่อสิ่งใดได้กลายเป็นความดีงามอันสมบูรณ์ ความจริงอันสัมบูรณ์สิ่งนั้นก็จะล่วงละเมิดมิได้อีกต่อไป ข้างหลังภาพของคุณหญิงกีรติ จึงไม่ใช่เพียงภาพเขียนที่มอบให้นพพรอีกต่อไป แต่เป็นภาพของกีรติเอง ซึ่งในตอนท้ายของเรื่องได้ปรากฏเป็นภาพที่มีทุกหนแห่ง เป็นภาพที่ศักดิ์สิทธิ์และล่วงละเมิดมิได้
ถ้อยแถลงของ ‘Forget Me Not’ กลับไม่ใช่คำร้องขออันอ่อนโยนว่าได้โปรดอย่าลืมฉัน หากมันคือการข่มขู่บังคับว่าเธอจะลืมฉันไม่ได้
การละเล่นของจุฬญาณนนท์ในการสวมบททั้งนพพรและกีรติจึงมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะกีรติไม่ได้เป็นกีรติอีกคนหนึ่งในฐานะบุคคล แต่กีรติคือภาพฝันที่นพพรสร้างขึ้นเอง กีรติคือนพพรที่นพพรอยากจะไปให้ถึง เป็นเส้นมาตรฐานตั้งต้นสำหรับนพพร ถ้าใครทำลายเส้นนี้ มันผู้นั้นต้องถูกทำลาย นพพรจึงไม่ใช่นพพร กีรติจึงไม่ใช่กีรติ แต่นนพรคือนพพรที่พยายามจะกลายเป็นกีรติ
กลับเข้าไปในห้องทรงจำของพิพิธภัณฑ์อีกครั้งผ่านฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ เหมือนรูปภาพของกีรติลุกไหม้แบบชั่วนิรันดร์ (นอกจากการเอาคนในครอบครัวมารับบทตามละคร (บ้านทรายทอง 1) ประติมากรรมฟลูออเรสเซนต์ (Myth of Modernity 2) แสงในวงกลมที่เหมือนดวงวิญญาณหรือผี (A Brief History of Memories 3) ก็มี รูปที่ลุกไหม้ซ้ำไปซ้ำมา(ภัยใกล้ตัว Director’s Cut 4) นี่แหละที่เป็นลายเซ็นของจุฬญาณนนท์) การแผดเผาในตอนจบนี้ดูจะเป็นถ้อยแถลงสั้นๆ เพียงครั้งเดียวของคนทำ ถ้อยแถลงที่โกรธเกรี้ยวสำหรับการเสีดเย้ยที่ผ่านมาทั้งหมดในหนัง
พิพิธภัณฑ์ของกีรติ จึงไม่ได้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่นพพรทำเพื่อระลึกถึงกีรติ หากมันกลับมีความหมายทางการเมืองอย่างรุนแรง ใครบางคนเคยบอกว่าเราถ่ายภาพเพื่อที่จะลืมว่าเราจดจำอะไรไว้ โดยให้ภาพถ่ายนั้นจดจำแทนเรา แต่ความยอกย้อนของภาพถ่ายนี้เอง ได้สร้างความทรงจำของการไม่ยอมลืมขึ้นมาใหม่ และในที่สุด ได้ครอบงำเราเอาไว้ หนังเรื่องนี้จึงเป็นการเปิดเผย ‘ข้างหลังภาพ’ ที่ไม่ใช่ภาพของความทรงจำ แต่เป็นภาพของประวัติศาสตร์
Tags: ข้างหลังภาพ, กีรติ, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, นพพร