Forever 21 บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นชื่อดังที่มีสาขามากมายทั่วโลกยื่นร้องต่อศาลตามบทที่ 11 กฎหมายว่าด้วยการล้มละลายของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการล้มละลาย และเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หลังจากบอบช้ำจากภาระค่าเช่าแสนแพง ยอดลูกค้าเข้าร้านที่ลดลง การแข่งขันทางออนไลน์ และแฟชั่นของ Forever 21 ไม่โดนใจผู้บริโภคในช่วงหลายปีมานี้

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา Forever 21 ประกาศปิดร้านสาขาในญี่ปุ่นและฮ่องกง และจะปิดร้านสาขาทั้งหมดในเอเชียและยุโรป ในสหรัฐฯ เองก็อาจปิดถึง 178 สาขา ซึ่งทางบริษัทกล่าวว่า แม้จะปิดร้านสาขาไปจำนวนมาก แต่คาดหวังว่าร้านที่เหลือจะดำเนินกิจการต่อไปได้เป็นปกติ และคาดหวังว่าจะยังอยู่ในตลาดหลักของสหรัฐอเมริกาต่อไป

บทที่ 11 ของกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายของสหรัฐฯ จะอนุญาตให้บริษัทอเมริกันเลื่อนการชำระหนี้ออกไป เพื่อให้เวลาจัดระเบียบหนี้สินใหม่ หรือขายบางส่วนของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม Forever 21 ก็ยังไม่ได้บอกว่าจะปิดสาขาใดบ้าง กำลังอยู่ในขั้นเจรจาต่อรองสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินด้วยความหวังว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องสถานที่ลง ซึ่งเจ้าของที่ดิน 4 ราย เป็นเจ้าของสัญญาเช่าร้านค้าเกือบครึ่ง

Forever 21 เป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุด ด้วยจำนวน 785 ร้านสาขาทั่วโลก ในจำนวนนี้รวม 534 สาขาในสหรัฐฯ แต่การมีสาขาจำนวนมากกลายเป็นปัญหาในตอนนี้ ด้วยแต่ละสาขามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าที่จะขายสินค้าราคาถูกได้ ในขณะที่ผู้ซื้อลดลงด้วยปัจจัยหลายอย่าง

นอกจากนี้ ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปช้อปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่ Forever 21 ก็ปรับตัวไปสู่ระบบอีคอมเมิร์ซได้ช้า โดยทำรายได้จากช่องทางออนไลน์ได้เพียง 16% เท่านั้น 

อีกสาเหตุสำคัญที่ผู้ซื้อลดลง คือ ในช่วงหลายปีมานี้แฟชั่นเสื้อผ้าของ Forever 21 ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากนัก อีกทั้งทราฟฟิกของลูกค้าในห้างสรรพสินค้าที่เป็นที่ตั้งของสาขาส่วนใหญ่ลดลงเนื่องจากการปิดตัวของร้านค้าปลีกจำนวนมาก ทำให้ลูกค้าที่เดินผ่านร้านลดลงด้วย

 

อ้างอิง

https://www.usatoday.com/story/money/2019/09/29/forever-21-chapter-11-bankruptcy/3816101002/ 

https://www.bbc.com/news/business-49874688 

https://www.theguardian.com/business/2019/sep/30/forever-21-global-fast-fashion-retailer-files-for-bankruptcy 

 

ภาพ: REUTERS/Mark Makela

Tags: , ,