ดร. เหงวียน ถิ เฮียบ ผู้หญิงเวียดนามร่างเล็ก แลดูกระฉับกระเฉง เธอสวมเสื้อสูทสีสดใส เดินเข้ามาหาเราในโรงแรมพูลแมน กรุงปารีส ท่ามกลางนักวิทยาศาสตร์หลากเชื้อชาติจากทั่วโลกที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อตามโต๊ะต่างๆ
ดร. เหงวียน ถิ เฮียบ เป็นอาจารย์จากสาขาวิศวกรรมเนื้อเยื่อและการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine Orientation) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งเวียดนาม เมืองโฮจิมินห์ เธอมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อวิศวกรรมเนื้อเยื่อและการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Tissue Engineering And Regenerative Medicine หรือ TERM) ทั้งการสอน ออกแบบหลักสูตร บรรยาย และจัดสัมมนา
เธอมาเยี่ยมเยือนปารีสช่วงเดือนมีนาคม ในฐานะที่เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ 15 คนที่มีผลงานโดดเด่น (International Rising Talents) ในโครงการ For Women in Science ประจำปี 2018 ที่จัดโดย ยูเนสโกและมูลนิธิลอรีอัล จากผลงานวิจัย ‘ชุดปฐมพยาบาลแห่งศตวรรษที่ 21’ ซึ่งมีนักวิจัยจากอาเซียนเพียงสองคนที่ได้รับรางวัลในปีนี้ (อีกคนคือ ดร. เวียง คี โฮ จากมาเลเซีย)
เจลห้ามเลือด ปฐมพยาบาลทันท่วงที
ว่าแต่ ‘ชุดปฐมพยาบาล’ นี้ทำงานอย่างไร
“ตอนที่ฉันยังเด็ก สมัยนั้นในเวียดนาม โรงพยาบาลอยู่ไกลมาก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ไม่มียานพาหนะใช้ขนส่งผู้ป่วยหรืออุปกรณ์ฉุกเฉินที่จะมาห้ามเลือดได้เลย หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา สิ่งที่เราทำได้ก็แค่หาอะไรบางอย่างมาหุ้มเอาไว้เพื่อห้ามเลือด
“แต่จะเป็นยังไง หากคนคนหนึ่งไม่สามารถจัดการทำแผลตัวเองได้ เช่นทหารที่อยู่ห่างไกล ฉันก็เลยอยากประดิษฐ์สิ่งที่พวกเขาสามารถพกใส่กระเป๋าได้”
ดร.เฮียบ อธิบายว่านอกจากจะพกพาง่ายแล้ว การใช้งานก็ต้องง่ายด้วย เพียงแค่นำผงส่วนผสมสองชนิดมาคนให้เข้ากันเพื่อสร้างเป็นเนื้อเจล แล้วโปะลงบนบาดแผล เท่านี้ก็สามารถปฐมพยาบาลเพื่อห้ามเลือดได้ในขั้นต้น
เจลดังกล่าวก่อตัวขึ้นมาจากกรดไฮยาลูโรนิก (ซึ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์) และไคโตซาน (ส่งเสริมการสร้างเนื้อเยื่อทดแทน) พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถนำไปโปะบาดแผลได้ทันที ช่วยขจัดแบคทีเรียและเพิ่มอัตราการก่อตัวทดแทนของเนื้อเยื่อ เมื่อทาลงไป เจลจะสร้างเยื่อหุ้มขึ้นมาห้ามเลือด ซับของเหลวจากแผล และป้องกันการติดเชื้อจุลินทรีย์
“ตอนนี้เราโฟกัสไปที่การห้ามเลือด สำหรับขนาดแผล ก็ต้องมีการทดสอบในสัตว์ต่อไป ซึ่งเรากำลังอยู่ในขั้นทำเรื่องเพื่อให้ผ่านคณะกรรมการไออาร์บี (Institutional Review Board : IRB) ที่พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมในการทดลอง เพราะเราต้องใช้สัตว์ใหญ่ที่เป็นแผลในการทดสอบ”
อย่างไรก็ตาม เจลดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ดร.เฮียบ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการ FWIS คณะกรรมการให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เธออาจศึกษาสมุนไพรในท้องถิ่นของเวียดนามเพิ่มเติม เช่น ขมิ้นชัน ซึ่ง ดร.เฮียบบอกว่าทีมวิจัยจากอังกฤษพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เพื่อจะนำมาเสริมประสิทธิภาพการรักษาแผลของเจลชนิดนี้
“ต่อจากนี้เราคงศึกษาต่อไปว่า เจลนี้จะสามารถช่วยการสมานแผลและการฟื้นฟูของเซลล์ได้มากน้อยแค่ไหน”
เทคโนโลยีล้ำหน้าที่ราคาถูก
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยรอยต่อที่ต้องเลือกเส้นทางอนาคต ดร.เฮียบ เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ แม้จะค้านกับความเห็นของพ่อที่อยากให้ลูกผู้หญิงเรียนครู จะได้มีเวลาเลี้ยงลูกและครอบครัว แต่ดร.เฮียบ แน่วแน่ในการเรียนวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษาของเธอเข้าตารัฐบาล เป็นผลงานดีเด่นทำให้ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยมุ่งเน้นการศึกษาไปที่ด้านการแพทย์โดยเฉพาะ
“หลังจากอยู่ที่นั่นได้ 5 ปีครึ่ง ฉันก็กลับบ้าน ตอนนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับเวียดนาม ฉันต้องไปบรรยายในงานสัมมนาของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง หรือส่งนักศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอ ฉันพยายามเขียนรายงานเสนอโครงการเพื่อยื่นต่อรัฐบาล โชคดีที่สุดท้ายก็ได้รับการสนับสนุนจากจนได้งบประมาณมา 1.5 ล้านดอลลาร์ และทำให้ฉันสร้างแล็บที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้”
ดร.เฮียบ มุ่งมั่นที่จะนำความรู้จากประเทศพัฒนาแล้ว มาสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของคนเวียดนามให้ดีขึ้น และแล็บทดลองนี้เองที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุดปฐมพยาบาลแห่งศตวรรษที่ 21 ขึ้นมา แต่เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขนาดนี้ จะมีราคาสูงเกินไปสำหรับคนสามัญ หรือผู้มีรายได้ต่ำที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือไม่
“ไม่เลย จริงๆ แล้ว เป้าหมายในงานของฉันก็คือทำให้มันราคาถูก เราพยายามเลือกใช้ส่วนผสมที่ธรรมดาสามัญที่สุด โดยเฉพาะสิ่งที่พบได้ทั่วไปในเวียดนาม ในเวียดนามเรามีกุ้งจำนวนมาก เมื่อเรากินกุ้ง แล้วปอกเปลือกออกมา เปลือกกุ้งเหล่านี้จะกลายเป็นขยะ เราก็นำสิ่งนี้มาใช้ใหม่
“จากที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าฉันไปเข้าร่วมงานสัมมนาหลายแห่ง รวมทั้งไปพบผู้ประกอบการด้วย จนได้พบบริษัทส่งออกเนื้อกุ้งแห่งหนึ่ง เขาต้องทิ้งเปลือกกุ้งเป็นจำนวนมาก ฉันก็เก็บตัวอย่างมาให้นักศึกษาวิเคราะห์ต่อ เพื่อสกัดไคโตซานออกมา แล้วนำไคโตซานนี้มาสร้างเป็นเจล เพราะฉะนั้น มันจึงมีราคาถูก และสามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ราคาประหยัดได้”
ดร. เฮียบ ประมาณราคาต่อหนึ่งกล่องเล็กอย่างคร่าวๆ ว่าเท่ากับ 50,000 ด่อง (64 บาท) ซึ่งเป็นราคาตลาด แต่ถ้าเป็นราคาต้นทุนในห้องแล็บตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 10,000-50,000 ด่อง (14-64 บาท) ต่อกล่อง ซึ่งใช้ได้หนึ่งครั้งและเพียงพอต่อการห้ามเลือด แต่ทั้งนี้ อาจมีการผลิตออกมาในขนาดที่หลากหลายตามการใช้งาน
อุปสรรคในตอนนี้มีเพียงเงินทุนที่จะนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ออกจากแล็บไปสู่สายพานการผลิตจำนวนมาได้ ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก
“ในขั้นการทดลองจากห้องวิจัย ฉันมั่นใจระดับหนึ่งแล้วว่าใช้ได้ แต่ก็ต้องมาดูความเป็นไปได้ในการผลิตจำนวนมากในโรงงาน ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้น ฉันคิดว่าผลิตภัณฑ์นี้จะจำหน่ายได้ไม่เพียงในเวียดนาม แต่ในหลายๆ ประเทศ เพราะในแต่ละที่ก็มักจะมีผู้คนที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล”
เธอกล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามให้ทุนสนับสนุนก็จริงอยู่ แต่งบประมาณที่จำกัดทำให้ต้องกระจายเงินทุนออกไปตามสาขาต่างๆ
“ถ้าพูดถึงการวิจัยขั้นพื้นฐาน งบประมาณจำนวนนี้ถือว่าเพียงพอ แต่ถ้าหากเราต้องการทำผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้จริง เราต้องการงบประมาณจำนวนมาก เพราะต้องมีอุปกรณ์และสถานที่ที่สะอาดและเหมาะสมตามมาตรฐาน”
วงการวิจัยในเวียดนาม
นอกจากเป้าหมายที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์เจลปฐมพยาบาลนี้ออกสู่ตลาดแล้ว ในภาพกว้าง ดร.เฮียบมองภาพประเทศเวียดนามในอนาคตว่า อยากให้มีบทบาทในโลกวิชาการด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น
“ตอนนี้เราตีพิมพ์วารสารวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย หมายความว่างานวิจัยของเรายังอยู่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ฉันก็หวังอยากให้ประเทศเราได้มีบทความตีพิมพ์ในวารสารเหล่านั้นมากขึ้น เพื่อที่จะแสดงให้โลกเห็นว่าเวียดนามเป็นอย่างไร ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง”
“จริงๆ แล้วคนเวียดนามทำงานหนักมาก และก็มีบุคลากรจำนวนมากที่เก่ง แต่พวกเขาก็เลือกที่จะย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ฉันอยากจะให้พวกเขาได้กลับมา ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีอะไรทำ เพราะเราสามารถสร้างสรรค์อะไรต่างๆ ขึ้นมาได้ ตอนที่ฉันกลับมาทำแล็บแรกๆ ฉันไม่มีอะไรเลย แต่ก็สามารก่อร่างมันขึ้นมาได้ ฉันอยากให้คนเก่งๆ กลับมา เพื่อที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เป็นอยู่”
แล้วเธอมีคำแนะนำสำหรับนักวิจัยในอาเซียนบ้างไหม เราถาม
“ฉันเคยเข้าร่วมโครงการ ASEAN-U.S. Science and Technology Fellows Program เมื่อปีที่แล้ว และได้ตอบคำถามนี้ด้วยว่า ผู้หญิงชาวเอเชียมีวัฒนธรรมที่ปลูกฝังกันมาว่าควรอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงลูก แต่เมื่อลูกๆ โตขึ้น เราก็เหมือนหลงทางและโศกเศร้า ได้เพียงแค่อยู่บ้าน อาจสูญเสียความมั่นใจด้วยว่า ร่างกายแก่ลงแล้ว ไม่สวยดังเดิม”
“ฉันพบว่า ในช่วงเวลาราวๆ 5 ปีแรกที่ต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัวต้องสนับสนุนผู้หญิงเหล่านี้ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ยากลำบากนั้น เพื่อให้ผู้หญิงยังคงทำงานของเธอต่อไปได้ เพื่อจะมีเวลาสร้างสรรค์สิ่งอื่นและก็ยังหาเลี้ยงตัวเองต่อไปได้ตลอดชีวิต และเป็นแรงงานอีกแรงที่ช่วยหารายได้ให้ครอบครัว
“หากผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ พวกเธอจะเติบโตต่อไปในหน้าที่การงาน สมัยมหาวิทยาลัย ฉันเห็นว่าคนที่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิง ชีวิตเขาจะแตกต่างไปจากคนอื่นอย่างสิ้นเชิง”
Tags: นวัตกรรม, เวียดนาม, การแพทย์, FWIS, ปฐมพยาบาล, นักวิทยาศาสตร์