ฤดูหนาวปีนี้ ที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่มากมายเป็นประวัติการณ์ ที่ออสเตรเลียมีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง 2.5 เท่า มีผู้เสียชีวิต 745 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 176 คน ส่วนที่สหรัฐอเมริกา แม้ตัวเลขยังไม่นิ่งเพราะฤดูหนาวยังไม่สิ้นสุด ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) รายงานว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปีนี้รุนแรงมาก เป็นครั้งแรกที่มีผู้ป่วยในทุกรัฐของสหรัฐอเมริกาจนต้องยกระดับกลายเป็นโรคระบาด มีผู้ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 22.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 13.7 คน ในจำนวนผู้เข้ารักษานี้ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนมากที่สุด
ปกติแล้วไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดขึ้นในฤดูหนาว แต่ปีนี้ที่สหรัฐอเมริกา ไข้หวัดใหญ่มาล่วงหน้าก่อนฤดูหนาวหนึ่งเดือน ไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลในปีนี้ของทั้งสองประเทศคือ ไข้หวัดใหญ่ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ H3N2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ส่งผลต่อร่างกายผู้ป่วยรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ คนชราและเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยง หากได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้ มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้
แม้นักวิจัยยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เป็นสายพันธุ์ H3 จะรุนแรงกว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตมากกว่าไข้หวัดใหญ่ H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B
วัคซีนเคยเป็นหนทางหลักป้องกันไข้หวัดใหญ่
เป็นเวลากว่าทศวรรษมาแล้ว วิธีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ การฉีดวัคซีน ทุกปีองค์การอนามัยโลกจะรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินว่า ปีนี้ไวรัสสายพันธุ์ใดจะระบาด หรือมีไวรัสสายพันธุ์ใดกลายพันธุ์ โดยจะพิจารณาจากงานวิจัยต่างๆ ที่ว่าด้วยประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ บางครั้งก็คาดการณ์ได้ถูกต้อง บางครั้งก็ผิด โรงงานผลิตวัคซีนต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะการเพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากเชื้อตั้งต้นในไข่ไก่หลายล้านฟอง ต้องใช้เวลาประมาณสี่เดือน
การทำนายว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใดจะแพร่ระบาดเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้น ไวรัสในไข้หวัดใหญ่แต่ละชนิดก็เปลี่ยนไปตามเวลา ก็ยิ่งทำให้ยุ่งยากมากขึ้นอีก เอ็ดเวิร์ด เบลองเจีย นักระบาดวิทยาอาวุโสแห่งสถาบันวิจัยแมร์ชฟิลด์ คลินิก วิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนในฤดู H3N2 ระบาดอยู่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เท่ากับ 54 เปอร์เซ็นต์ และสายพันธุ์ H1N1 เท่ากับ 67 เปอร์เซ็นต์
วัคซีนประสิทธิภาพต่ำลง แต่พัฒนาไม่ทันการกลายพันธุ์
มาปีนี้ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 ในปีก่อนหน้านี้เกิดกลายพันธุ์ จึงทำให้วัคซีนที่ผลิตออกมาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนไข่ที่ใช้เพาะเชื้อ H3N2 เพื่อผลิตวัคซีนก็มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยระหว่างการผลิตวัคซีน ทำให้วัคซีนที่ได้มีประสิทธิภาพลดลง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดวัคซีนที่ออกมาไม่ตรงกับไวรัสที่แพร่ระบาดในปีนี้
วัคซีนที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาเป็นแบบเดียวกับออสเตรเลียซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดียวกัน แต่ที่ออสเตรเลียวัคซีนได้ผลเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นักวิทยาศาสตร์พยายามหาทางเลิกใช้วิธีผลิตวัคซีนด้วยไข่ แต่ยังไม่พบวิธีที่เชื่อถือได้ แม้แต่วัคซีนแบบสเปรย์พ่นทางจมูก CDC ก็ไม่แนะนำให้ใช้แล้ว เมื่อพบว่ามีประสิทธิภาพต่ำ
สื่อมวลชนออสเตรเลียตั้งข้อสังเกตว่า หากรัฐบาลออสเตรเลียซื้อวัคซีนชนิดอื่น คือ วัคซีนฟลูโซน (Fluzone) ที่ผลิตโดยบริษัทซาโนฟี (Sanofi) อาจจะไม่เกิดการระบาดแบบในปีนี้ ฟลูโซนเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีปริมาณยาสูง ได้รับใบอนุญาตในสหรัฐอเมริกา (2009) และแคนาคา (2016) ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น วัคซีนชนิดนี้ไม่มีในออสเตรเลีย เพราะว่าบริษัท Sanofi ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ วัคซีนนี้มีฮีแมคกลูตินิน สารกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี 60 ไมโครกรัม ซึ่งสูงเป็นสี่เท่าของปริมาณในวัคซีนทั่วไปซึ่งมี 15 ไมโครกรัม แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงประสิทธิผล
การแข่งขันแสนดุเดือด ของวงการวัคซีน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่สามารถใช้ได้กับไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ที่เรียกกันว่าวัคซีนครอบจักรวาล (Universal Vaccine) บริษัทยาต่างสนับสนุนงานวิจัยวัคซีนที่ใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ไวรัส A ทุกสายพันธุ์ และป้องกันเชื้อโรคได้ตลอดชีวิต เช่น GlaxoSmithKline Johnson & Johnson และ Sanofi แต่ละทีมวิจัยเลือกใช้แนวทางที่่ต่างกัน
การแข่งขันเพื่อผลิตวัคซีนครอบจักรวาลนี้เป็นไปอย่างดุเดือดในสหรัฐอเมริกา ทีมวิจัยวิทยาลัยการแพทย์ Icahn School of Medicine at Mount Sinai ที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก GlaxoSmithKline และ มูลนิธิเกตส์ อยู่ในเฟสแรกในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ และโครงการที่ชื่อว่าฮิวแมนวัคซีน โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรในนิวยอร์กร่วมกับรัฐบาล มุ่งไปที่โปรตีนในไวรัสที่ชื่อว่า ฮีมักกลูตินิน (hemagglutinin -HA) เพราะสิ่งที่ทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่เปลี่ยนแปลงทุกปีคือ ฮีมักกลูตินินที่เป็นโปรตีนที่อยู่บนผิวหน้าของไวรัสทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
อีกแนวทางหนึ่งคือ การทดลองของบริษัทฟลูเจน (FluGen) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและกองทุนบริษัทร่วมทุน วัคซีนจะใช้ชื่อว่า RedeeFlu ซึ่งจะทำงานโดยหลักการที่ยอมให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แต่ไม่ยอมให้มันขยายพันธุ์ต่อและก่อโรค
อีกบริษัทหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองมาจากฝั่งสหราชอาณาจักร Vaccitech ซึ่งก่อตั้งโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเจนเนอร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด กำลังพัฒนาวัคซีนที่อาจจะเป็นวัคซีนชนิดแรกของโลกที่ใช้ต่อสู้กับไข้หวัดใหญ่ทุกชนิด บริษัทระดมทุนได้ 27 ล้านเหรียญสหรัฐจากนักลงทุน ซึ่งรวมถึงกูเกิลด้วย เงินที่ได้จะใช้เพื่อวัคซีนทดลองภายในสองปี สำหรับคนไข้ 2,000 คน
วัคซีนใหม่ของ Vaccitech ทำงานโดยการใช้โปรตีนที่พบในใจกลางของไวรัสแทนที่จะเป็นบนผิวหน้า โปรตีนที่ผิวหน้าไวรัสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ส่วนโปรตีนที่อยู่ใจกลางจะคงที่ ถ้าการทดลองได้ผล Vaccitech จะเริ่มใช้วัคซีนนี้ภายในปี 2023 บริษัทนี้ยังค้นคว้าวิธีป้องกันโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ MERS
สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในช่วงปี 2017-2018 ในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการระบาดที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศ เมื่อร้อยปีก่อน ไข้หวัดใหญ่สเปนที่ถือว่าเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลก มีผู้ติดเชื้อประมาณ 500 ล้านคนทั่วโลก หรือเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลกทั้งหมดในตอนนั้น และมีผู้เสียชีวิต 50 ล้านคน
ที่มา:
https://theconversation.com/heres-why-the-2017-flu-season-was-so-bad-86605
https://www.vox.com/2018/1/12/16882622/flu-season-epidemic-prevention-vaccine
https://www.cnbc.com/2018/01/09/medical-experts-predict-worst-flu-season-in-history.html
หมายเหตุ: บทความนี้แก้ไขข้อมูลเล็กน้อยเมื่อ 23 ม.ค. 61 เวลา 14.45 น. จากเดิมที่ระบุว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีแอนตี้บอดี้ แก้ไขเป็น วัคซีนมีฮีแมคกลูตินินที่เป็นสารกระตุ้นแอนดิบอดี
Tags: ออสเตรเลีย, วัคซีน, องค์การอนามัยโลก, สหรัฐอเมริกา, ไข้หวัดใหญ่, H3N2