บรรยากาศทางการเมืองไทยดำเนินมาถึงจุดที่ไม่มีทางหวนกลับ (The point of no return) มาพร้อมกับเพดานการเรียกร้องที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ การไหลทะลักของข้อมูลข่าวสารจำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดสมการที่ว่า ชุดข้อมูลที่ไร้น้ำหนัก ไร้หลักฐาน และปราศจากความน่าเชื่อถือ ควรต้องถูกตีตกและแทนที่ด้วยชุดข้อมูลที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผล หรือพยานหลักฐานหนักแน่นมากกว่า

ในขณะที่หลายคนเห็นแสงสว่างแห่งความหวังว่าผู้คนในสังคมไทยจะถกเถียงและอยู่ร่วมด้วยเหตุผล แต่หากกลับไปพิจารณาพฤติกรรมของผู้คนในสื่อสังคมออนไลน์กลุ่มหนึ่ง รวมถึงควันหลงภายหลังจากการดีเบต (debate) ออกรายการทางสื่อโทรทัศน์ของแกนนำสองฝ่าย ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลับเกิดความสงสัยว่า เพราะเหตุใด การรับรู้ต่อบทสนทนาเหล่านั้น จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ราวกับ ‘โลกคู่ขนาน’ ที่อยู่คนละมิติ และภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

‘Filter Bubble’ กะลาครอบหัว ภายใต้โลกอันกว้างใหญ่

หนึ่งในข้อเสียสำคัญของโลกออนไลน์ ซึ่งคล้ายกับเมล็ดบ่มเพาะความแตกแยกในสังคมอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน คือ ‘ตัวกรองฟองสบู่’ หรือ ‘Filter Bubble’  อันหมายถึง ระบบอัลกอริทึม (Algorithm) หรือชุดคำสั่งของเจ้าของพื้นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ แอพพลิเคชั่น  หรือเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นตัวประมวล กลั่นกรองเนื้อหาที่จะแสดงบนหน้าหลัก หรือ news feed ของผู้ใช้ (users)

ในทางปฏิบัติ ไม่มีทางที่เนื้อหาในโลกออนไลน์นับล้าน ๆ เรื่อง จะสามารถปรากฏให้เห็นตรงหน้าจอของเราได้ทั้งหมด เนื้อหาที่เห็นล้วนผ่านกระบวนการประมวลผลจาก Filter Bubble ที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเสพข่าวสาร ลักษณะบุคคลในรายชื่อเพื่อนของบัญชีผู้ใช้ การกดถูกใจ กดแชร์ กดติมตามเพจต่าง ๆ ประวัติการค้นหา กล่าวอีกแง่หนึ่ง Filter Bubble จะทำหน้าที่ให้เนื้อหาตรงหน้าเราเป็นไปในทิศทางเดียวกันเกือบทั้งหมด และเป็นเนื้อหาที่เราปรารถนาจะรับรู้เท่านั้น ในแวดวงวิชาการต่างประเทศเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า Echo Chamber Effect

ยกตัวอย่างให้เข้าใจโดยง่าย เช่น การเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นฟังเพลง ไม่ว่าจะเป็น iTunes Spotify Joox ฯลฯ ระบบจะกำหนดให้ผู้ใช้งานเลือกแนวเพลง (Genre) ที่ตนเองชื่นชอบก่อนใช้จริง เพื่อที่ว่า ระบบอัลกอริทึ่มของแอพพลิเคชั่น จะสามารถคัดสรรบทเพลงให้ตรงกับรสนิยมของผู้ใช้ได้มากที่สุดจากบทเพลงนับล้านในฐานข้อมูล หรือกรณีการดูวิดีโอผ่านช่องทาง YouTube สังเกตว่าประเภทเนื้อหาของคลิปวิดีโอที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าจะมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกประมวลผลมากจากกระแสตลาด การค้นหา และพฤติกรรมการรับชมของผู้ใช้เอง

ภาพตัวอย่างการทำงานของ Filter Bubble ที่กลั่นกรองเนื้อหารอบตัวผู้ใช้ให้มีลักษณะเดียวกัน โทนสีเดียวกัน (Echo Chamber Effect) จากข้อมูลนับล้านภายนอก ที่มา https://medium.com/@ziomam14/the-filter-bubble-75da2744eb09

ผลลัพธ์ทางการเมือง กำเนิดโลกทัศน์สองขั้ว

 เมื่อ Filter Bubble ของสื่อสังคมออนไลน์ ทำงานภายใต้บริบทแวดล้อมทางการเมืองไทยที่กำลังดำเนินอยู่ กลุ่มผู้ชุมนุมหรือผู้สนับสนุนการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้ความสนใจ ติดตาม แชร์ ค้นหาหรือรับข้อมูลข่าวสารเฉพาะที่กล่าวถึงการชุมนุมที่ตรงกับความจริงและน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยปฏิเสธรับข้อมูลจากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล หรือข้อมูลจากแหล่งที่ปราศจากความน่าเชื่อถือ แน่นอนว่าเนื้อหาบนหน้า news feed สื่อสังคมออนไลน์ของคนกลุ่มนี้ ก็จะมีแต่เฉพาะข้อมูลที่แสดงถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย หรือข่าวสารอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันเท่านั้น 

ในทางกลับกันหากจินตนาการถึง ประชากรอีกกลุ่มหนึ่ง ผู้มีจุดยืนตรงข้ามกับกลุ่มผู้ชุมนุม และให้การสนับสนุนอำนาจของรัฐบาล ทั้งยังมองว่า ‘การปฏิรูป’ ที่อีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องมีความหมายเท่ากับ ‘การล้มล้าง’ คนกลุ่มนี้มักเลือกจะให้ความสนใจ ติดตาม แชร์ข้อมูลข่าวสารแต่ที่ตรงกับความเชื่อของตัวเองเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ติดตามเพจปฏิบัติการข่าวสาร หรือ Information operations (I.O.) ของกองทัพ เพจสนับสนุนรัฐบาล และอยู่ในกลุ่มเฉพาะที่เป็นแหล่งรวมผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน ลักษณะเนื้อหาที่ปรากฏตรงหน้า news feed ก็ต้องแตกต่างจากคนกลุ่มแรกอย่างสิ้นเชิง 

ประเด็นปัญหา คือ กลไกการทำงานของ Filter Bubble โดยตัวมันเองจะไม่ได้ส่งผลเสียต่อผู้คนเท่าใดนัก แต่หากผนวกเข้ากับปัญหาอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในโลกออนไลน์ พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบให้บรรยากาศการเมืองดำเนินไปในทิศทางที่แย่ลงได้ทันที อย่างในกรณีการเผยแพร่ข่าวปลอม (fake news) ซึ่งแหล่งข่าวจงใจกระตุ้นให้กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเกิดความเกลียดชัง ด้วยถ้อยคำที่เป็นการกล่าวหาใส่ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง แม้โดยทั่วไปแล้ว การจัดการกับข่าวปลอมเหล่านั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานและเหตุผลอันหนักแน่นกว่าเพื่อหักล้าง ทว่าภายใต้การมีอยู่ของ Filter Bubble ย่อมเป็นเหตุให้ข้อเท็จจริง หรือข่าวสารอีกด้านหนึ่ง หรือ ข้อมูลที่อยู่อีก bubble หนึ่ง ไม่สามารถผ่าทะลวงเข้ามาเพื่อจะหักล้างข่าวปลอมนั้นได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากภาวะที่ ‘ข่าวปลอม’ ไม่ได้ถูกหักล้างด้วย ‘ความจริง’ อีกด้าน ดำรงอยู่อย่างมั่นคงและเข้าไปผสมผสานเข้ากับ ปัญหาความไร้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัล (Digital literacy) ในประชากรที่เป็น ‘กลุ่มตลาด’ ของแหล่งข่าว พร้อมกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของสังคมไทย ข่าวปลอมหลายชิ้นก็จะถูกผลิตซ้ำ และเผยแพร่เป็นวงกว้างมากขึ้น ทั้งในกลุ่ม Facebook กลุ่ม Line ฯลฯ จนข่าวปลอมนั้นกลายเป็น ‘ความจริง’ ขึ้นมาในการรับรู้ (Perception) ของประชากรกลุ่มนั้นไปโดยปริยาย

ดังนั้น บทสนทนาจำพวก “ขบวนการล้างสมอง” “จาบจ้วงสถาบันฯ” “สงคราม hybrid” “ผู้ชุมนุมมีต่างชาติหรือนักการเมืองหนุนหลัง” “ประเทศไทยจะตกเป็นทาสอเมริกา” รวมถึงการตีความหมายคำว่า ‘ปฏิรูป’ ให้เท่ากับ ‘ล้มล้าง’ ส่วนหนึ่งล้วนเป็นผลมาจาก ‘ปฏิบัติการข่าวปลอม’ ภายใต้กระบวนการทำงานของ Filter Bubble ทั้งสิ้น

สถานการณ์เช่นนี้ หากดำเนินมาถึงขีดสุด อาจส่งผลให้เกิดเป็นโลกทัศน์หรือมุมมองการมองโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝ่าย ราวกับ ‘โลกคู่ขนาน’ กลายเป็นขั้วตรงข้ามที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกันโดยปราศจากจุดกึ่งกลาง (Polarized)  ผลต่อจากนั้น พอถึงคราวที่ต้องเผชิญหน้ากับความจริงอีกด้านหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนกลุ่มหนึ่งจึงหนีไม่พ้นที่จะตกอยู่ในภาวะ ‘การรับรู้ไม่ลงรอย’ หรือ อาการไม่ยอมรับความจริง (Cognitive Dissonance) ที่กำลังถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในยุคนี้

หนทางรับมือกับ Filter Bubble

แม้ว่าจะเป็นไปได้ยาก ในการต่อสู้ด้วยความจริง หรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือให้ทะลุทะลวงไปยังอีก Bubble หนึ่งที่ข่าวปลอมกำลังไหลเวียนอยู่ เพราะมีข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สมองมนุษย์บ่อยครั้งก็มักจะเลือกเชื่อ หรือเลือกรับรู้ ในสิ่งที่อยากเชื่อ หรืออยากรับรู้เท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม การร่วมกันตรวจสอบเนื้อหาและแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ เพื่อป้องกันและโต้แย้ง ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ซึ่งก่อให้เกิดความเชื่อผิด ๆ ที่คอยให้กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง นับเป็นหน้าที่สำคัญของเหล่าผู้ต้องการแสวงหาความยุติธรรม และหวังว่าจะเปลี่ยนโลกทัศน์ของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีกว่าได้ เพราะถึงอย่างไร การต่อสู้กลับด้วยความจริง และเผยแพร่ข่าวสารจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ ให้ได้มากที่สุด คล้ายกับปฏิบัติการด้านข่าวสารที่ดำเนินโดยฝ่ายประชาชนเอง ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมนี้ต้องการอยู่เสมอ ดีกว่า ปล่อยให้ข่าวปลอมและการบิดเบือนเกลื่อนเต็มพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์

นอกจากนี้ ในยุคที่แม้จะเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ให้เลือก ‘เสพ’ จำนวนมาก การตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถาม การพยายามค้นหาข้อมูลจากหลากหลายแหล่งมาคัดง้างกับสิ่งที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า รวมถึงการเปิดใจรับฟังข้อมูลฝั่งตรงกันข้าม ก็ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน 

สุดท้ายนี้ หากว่าการยืนยันในความเชื่อ หรือชุดความรู้บางอย่างที่ได้รับมาของตนเองเริ่มหลุดลอยออกจากความเป็นเหตุและผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรฉุกคิด ตั้งสติ ยอมรับความจริง ใช้เหตุและผลให้เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มา

 เอกสารอ้างอิง

Jamal Syed, False Information — Fake News & Filter Bubbles, medium, April 15, 2019. https://medium.com/@19832337/false-information-fake-news-filter-bubbles-c11529f63b18  (Retrieved on November 10, 2020)

Kristen Allred, The Causes and Effects of “Filter Bubbles” and how to Break Free, medium,April 18, 2018. https://medium.com/@10797952/the-causes-and-effects-of-filter-bubbles-and-how-to-break-free-df6c5cbf919f (Retrieved on November 10, 2020)

Misha Ketchell. The problem of living inside echo chamber, the conversation, September 11, 2019. https://theconversation.com/the-problem-of-living-inside-echo-chambers-110486 (Retrieved on November 10, 2020)

สฤณี อาชวานันทกุล, อันตรายและวิธีขจัดภาวะ ‘การรับรู้ไม่ลงรอย’ หรือ cognitive dissonance, เดอะ โมเมนตัม, 

23 พฤษภาคม 2562. https://themomentum.co/politics-of-cognitive-dissonance/ (สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2563).

Tags: , ,