ถ้าย้อนกลับไปยังต้นยุค 90s แล้วกระซิบบอกแฟนเพลงที่กำลังครวญท่อน ‘Slave screams, he thinks he knows what he wants’ จากเพลง Happiness In Slavery หรือไม่ก็กำลังคำรามแทร็กดังอย่าง Mr. Self Destruct ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อก Nine Inch Nails ว่าเดี๋ยวอีกสามสิบปีข้างหน้า เทรนต์ เรซเนอร์ ฟรอนต์แมนของวงนี้จะกลายมาเป็นคนทำดนตรีประกอบให้แอนิเมชันจรรโลงจิตใจอย่าง Soul (2020, พีต ด็อกเตอร์, เคมป์ เพาเวอร์ส)

แฟนเพลงคงจะขมวดคิ้ว จินตนาการไม่ออกว่าหัวเรือใหญ่ของ ‘ไอ้หัวตะปู’ จอมเดือดดาลของอุตสาหกรรมดนตรี ที่เขียนเพลงเล่าถึงความกราดเกรี้ยว อัดอั้นของผู้คนในโลกอันสับสนจะมาทำดนตรีประกอบให้แอนิเมชันแสนอ่อนโยนได้อย่างไร และนี่เองคือความมหัศจรรย์ของเรซเนอร์ในการรังสรรค์ดนตรีที่ ‘เข้าอกเข้าใจมนุษย์’ ไม่ว่าจะในยามสิ้นหวังหรือความหวังเรืองรอง ซึ่งสะท้อนผ่านบทเพลงของเขาตลอดระยะเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมา

อันที่จริง Soul ไม่ใช่งานแรกที่เรซเนอร์กระโดดเข้ามาในฐานะคนทำสกอร์ เรซเนอร์กับวง Nine Inch Nails เกี่ยวพันกับโลกภาพยนตร์อยู่เนืองๆ หลายเพลงของวงถูกหยิบจับมาใช้ประกอบหนัง เช่น เพลง Something I Can Never Have ซึ่งปล่อยตั้งแต่ปี 1989 และยังเป็นเพลงว่าด้วยความผิดหวังและการฆ่าตัวตาย ที่กลับมาดังระเบิดอีกครั้งหลังมันไปอยู่ในหนัง Natural Born Killers (1994, โอลิเวอร์ สโตน) ขับเน้นความสิ้นหวังแล้งไร้ของคนหนุ่มสาวที่ออกตระเวนฆ่าคนจนกลายเป็นคนดังของสังคมชั่วข้ามคืน, แทร็ก Closer (Precursor) ที่ถูกหยิบไปใช้ใน Se7en (1995, เดวิด ฟินเชอร์ -ในเวลาต่อมากลายเป็นผู้กำกับคู่บุญที่เรซเนอร์ร่วมทำงานด้วยบ่อยที่สุด) หรือเพลง The Perfect Drug ที่เขียนขึ้นเพื่อเอาไปใช้ในหนังนีโอนัวร์หลุดโลกของ เดวิด ลินช์ Lost Highway (1997) มันยิ่งสร้างชื่อให้ Nine Inch Nails และตัวเรซเนอร์เรืองรองในฐานะคนทำเพลงที่คาบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์

นับตั้งแต่นั้น ชื่อของเรซเนอร์จะวนเวียนในการทำเพลงประกอบหรือทำสกอร์ให้หนังกลิ่นอายธริลเลอร์อยู่เสมอ (ทำร่วมกันกับ แอตติคัส รอสส์ คอมโพเซอร์มืออาชีพคู่บุญอีกคนของฟินเชอร์) นับตั้งแต่ The Social Network (2010, ฟินเชอร์ ซึ่งแม้จริงๆ จะเป็นหนังชีวประวัติ แต่ใครจะปฏิเสธล่ะว่ามันเต็มไปด้วยความระทึกหรือความเดือดพล่านบางอย่าง!), The Girl with the Dragon Tattoo (2011, ฟินเชอร์), Gone Girl (2014, ฟินเชอร์อีกแล้วจ้า) จนมาในปี 2020 ที่ทำทุกคนตื่นตะลึง เพราะนอกจากจะทำเพลงให้ Mank (2020, ฟินเชอร์) ชื่อของเขายังไปอยู่ในตำแหน่งคนทำสกอร์ของแอนิเมชันแสนจรรโลงใจอย่าง Soul อีกต่างหาก และนี่เองที่ทำให้คนดูขยี้ตาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าคนทำดนตรีอัลเทอร์เนทีฟจอมกราดเกรี้ยว ที่แม้เมื่อมาทำสกอร์หนังก็อยู่ในแวดวงธริลเลอร์ระทึกขวัญอยู่เสมอ วันหนึ่งก็มาอยู่ในแอนิเมชันที่พูดเรื่องชีวิตท่ามกลางบรรยากาศของเพลงแจ๊ซอีกต่างหาก!

 

ทั้งนี้ Soul เล่าถึงเรื่องราวของ โจ (เจมี ฟ็อกซ์) นักดนตรีคนดำวัยกลางคนที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก วันหนึ่ง โอกาสที่จะได้เป็นนักดนตรีแจ๊ซอย่างที่เฝ้าฝันถึงก็หล่นลงมาอยู่ตรงหน้า ทว่าตัวเองกลับประสบอุบัติเหตุจนวิญญาณหลุดไปอยู่ในโลกอีกมิติที่เต็มไปด้วยวิญญาณเตรียมมาเกิดบนโลก และเพื่อจะกลับมายังดินแดนคนเป็นได้ เขาต้องทำทุกทางเพื่อให้ 22 (ทีนา เฟย์) วิญญาณหัวรั้นที่เกลียดกลัวการไปเกิดบนโลกอันแสนหดหู่ อยากจะไปเกิดกับเขาบ้างให้ได้

 

เงื่อนไขของการทำดนตรีประกอบให้ Soul จึงซับซ้อนพอสมควร ข้อแรก มันเป็นแอนิเมชันที่ธีมหลักคือการรับรู้ถึงความหวังและคุณค่าของชีวิต อย่างที่สอง ตัวละครหลักคือชายผู้หลงใหลในดนตรีแจ๊ซและรายล้อมชีวิตด้วยเครื่องดนตรีมากหน้าหลายตา ทั้งเปียโน กลองชุด หรือทรอมโบน ด้านหนึ่งมันจึงท้าทายตัวเรซเนอร์ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังธริลเลอร์ระทึกขวัญมาอย่างยาวนานนับสิบปี “วันหนึ่งผมก็พบว่า ชีวิตผมมันเต็มไปด้วยการงานจากที่ผมไปทำสกอร์ให้หนังทั้งนั้นเลยนี่หว่า” เรซเนอร์บอก “มันไม่ใช่แบบว่า ‘รายได้หนังทำไปได้เท่าไหร่แล้วนะ’ หรือ ‘นี่ไอ้เว็บมะเขือเน่านั่นให้เรากี่คะแนน’ คือถ้ามันออกมาดีก็เยี่ยมไปเลยน่ะนะ แต่ว่าความยากของงาน การได้ร่วมงานกับคนใหม่ๆ อยู่เสมอ ได้เรียนรู้จากพวกเขา ทะเลาะกับพวกเขา แก้ปัญหามาด้วยกัน มันเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเสมอเลย

 

“แล้วมีคนมาถามผมว่า ‘สนใจจะทำงานแอนิเมชันกับค่ายพิกซาร์ไหมล่ะ’ ก็เอาสิ ผมไม่คิดว่าจะมีใครทำแอนิเมชันได้ดีไปกว่าพวกเขาแล้วนะ ผมเลยนัดประชุมกับพีต ด็อกเตอร์” เรซเนอร์เล่าถึงช่วงตั้งต้นการทำงาน “อย่างหนึ่งคือมันไม่ใช่งานแบบเดิมๆ ที่ผมเคยได้ทำ หรือแม้แต่กระทั่งว่าแอนิเมชันเรื่องนี้มันก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา (พิกซาร์) เหมือนกัน แล้วเราก็รู้ว่าเราเป็นตัวเลือกที่เสี่ยงมากนะสำหรับพวกเขา เพราะงั้นเราเลยบอกกันว่ามาทำงานนี้ให้ดีกันเถอะ ซึ่งหมายความว่ามันจะพาเราออกจากคอมฟอร์ตโซนด้วยนั่นแหละ”

 

แล้วถ้าไปถามพีต ด็อกเตอร์ เขาก็จะยอมรับว่าเรซเนอร์เป็นตัวเลือกที่ ‘แปลกใหม่’ ทว่าก็น่าสนใจและเปี่ยมสีสัน “ตอนแรกพวกเรซเนอร์เขากะจะทำเพลงประมาณของ แรนดี นิวแมน (คอมโพเซอร์ที่อยู่กับพิกซาร์มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม) แต่เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่ง ซึ่งผมก็บอกว่าหยุดเลยพวก นี่ผมไม่ได้ให้พวกคุณมาทำเพลงเพราะอยากให้เหมือนนิวแมนนะ เราอยากได้ดนตรีที่มันแปลกใหม่ให้ได้มากที่สุดต่างหากล่ะ”

 

เรซเนอร์ค่อยๆ เริ่มจากการเห็นธีมโจทย์บางอย่างของ Soul นับตั้งแต่การที่มันเป็นแอนิเมชันที่เล่าถึงความตายไปจนถึงความรื่นรมย์ของชีวิต ตัวละครที่หมกมุ่นกับดนตรีแจ๊ซ หรือตัวละครที่ใช้ชีวิตอย่างไร้ฝัน เครื่องดนตรีหลักที่เขาใช้ในการทำสกอร์จึงเป็นเสียงเปียโนนำชัดมาก่อนเสมอ (เพราะโจ ตัวละครหลักเล่นเปียโนเป็นอาชีพ) สิ่งที่ท้าทายเรซเนอร์มากที่สุดจึงเป็นการโหมขับอารมณ์ความรื่นรมย์อันเป็นเสมือนธีมหลักของเรื่องและหัวใจในการดำรงชีพของโจ เสียงแอมเบียนต์ที่ปรากฏจึงให้บรรยากาศของความสุกสว่างและความหวัง หรีอเสียงกังวานเวิ้งว้างเมื่อตัวละครพลัดหล่นไปยัง The Great Beyond ดินแดนของเหล่าวิญญาณฝึกหัด ที่เรซเนอร์ดึงเอาเสียงอิเล็กทรอนิกส์ผสานกันกับเสียงสังเคราะห์และเสียงเปียโน

 

แต่ที่โดดเด่นและถูกพูดถึงอย่างมากคือฉากที่ เทอร์รี นักบัญชีผู้เข้มงวดในแดนวิญญาณปรากฏตัวต่อหน้าคนดู เรซเนอร์ใช้เสียงทึบเบสเพื่อเน้นย้ำถึงบรรยากาศคุกคามและ ‘ไร้ตัวตน’ ของเทอร์รี ซึ่งชวนให้นึกถึงงานเก่าๆ ก่อนหน้าสมัยที่เขายังทำสกอร์เพลงให้หนังธริลเลอร์หลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งมันมักมีกลิ่นอายความลึกลับดำมืดเช่นเดียวกับสกอร์ประจำตัวของเทอร์รี แต่ยังเทียบไม่ได้กับ Epiphany สกอร์ที่ขมวดสรุปความวาดหวังของโจที่มีต่อชีวิตในช่วงท้ายเรื่อง ที่เรซเนอร์ใช้เสียงเปียโนเป็นพื้นหลักอีกเช่นเคย และทำให้คนดูเสียน้ำตาอย่างง่ายดาย

 

สิ่งหนึ่งที่เราพบว่าเป็นจุดแข็งของเรซเนอร์ (รวมทั้งรอสส์) คือแม้จะเปลี่ยนสายจากการทำเพลงให้หนังธริลเลอร์มาสู่หนังแอนิเมชัน ดนตรีของเรซเนอร์ไม่เคยทำตัวโดดเด่นเกินงานภาพซึ่งเป็นเสมือนหัวใจสำคัญของภาพยนตร์ แม้กระทั่งใน Soul ที่มีดนตรีเป็นธีมหลัก งานของเรซเนอร์ยังเร้นกายเงียบเชียบและทำหน้าที่เพียงเสริมการเล่าเรื่องและส่งอารมณ์เท่านั้น งานของเขาไม่เคยกระโดดขึ้นมาขโมยพื้นที่หรือความสนใจใดๆ ของคนดู จนเมื่อเราหวนกลับมาฟังเพลงแยกเดี่ยวๆ จึงพบว่ามันแสนจับใจเหลือเกิน และสิ่งนี้นี่เองที่พิสูจน์ฝีมือการทำดนตรีของเรซเนอร์ในฐานะคอมโพเซอร์ ผู้ข้ามพ้นจากพรมแดนการเป็นฟรอนต์แมนวงอัลเทอร์เนทีฟ สร้างพื้นที่ให้คนอื่นได้ระเบิดความอัดอั้นผ่านบทเพลง มาสู่การเป็นคนเบื้องหลังที่ใช้ดนตรีเพื่อร้อยเรียงและเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าในโลกภาพยนตร์

 

Tags: