ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ในวันที่บ้านเรากำลังถกเถียงกันว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ที่กำลังจะปรับใหม่กลางเดือนหน้านั้นแพงไปหรือไม่ หลายประเทศในยุโรปรวมถึงปารีสแทบจะเลิกพูดถึงประเด็นระบบขนส่งสาธารณะไปแล้ว แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าผู้นำบ้านเมืองเหล่านี้สนับสนุนให้คนใช้ยานพาหนะส่วนตัว เพราะเขากำลังพยายามสร้าง ‘เมือง 15 นาที’ ที่จะทำให้คนใช้เวลาในการเดินทางให้น้อยลง และทำให้เมืองเป็นมิตรกับคนอยู่อาศัยมากขึ้นต่างหาก

‘เมือง 15 นาที’ (15-minute city) หรือ ‘La ville du quart d’heure’ เป็นแนวคิดของ รองศาสตราจารย์ คาร์ลอส โมเรโน (Carlos Moreno) แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงความจำเป็นทุกสิ่งอย่างในชีวิตประจำวันในระยะเวลา 15 นาที ไม่ว่าจะเดินหรือปั่นจักรยาน แนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กับเมืองปารีส เพราะโมเรโนมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้กับนายกเทศมนตรี อานน์ อิดาลโก (Anne Hidalgo) ที่ได้รับการเลือกให้กลับมาเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสสมัยที่สองเมื่อกลางปีที่แล้ว ด้วยนโยบายดังกล่าวที่ไม่แคร์อุตสาหกรรมรถยนต์

เมือง 15 นาที ของโมเรโนเกิดจากการตั้งคำถามว่า ทำไมคนเมืองต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่กับเมืองที่ถูกออกแบบผิดๆ เพี้ยนๆ อยู่นานแสนนาน กลับกลายเป็นผู้คนต้องเสียเวลาในแต่ละวันไปกับการเดินทางมากที่สุด แล้วทำไมเราไม่ออกแบบเมืองเสียใหม่เพื่อให้คนอยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โมเรโนนำเสนอการพัฒนาเมืองไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้คนเมืองและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตในเมืองและเข้าถึงสถานที่และบริการต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันภายในละแวกบ้านตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไปทำงาน ไปโรงเรียน กลับที่พัก ไปตลาด ออกกำลังกาย กิจกรรมทางวัฒนธรรม พักผ่อนในสวน หรือแม้แต่บริการด้านสาธารณสุขหรือบริการสารพัดช่าง เขายังบอกอีกว่าเราต้องออกแบบเมืองให้เดินตามจังหวะของคนอยู่อาศัย ไม่ใช่วิ่งตามจังหวะรถยนต์ โมเรโนยังนำเสนออีกว่าพื้นที่สาธารณะควรปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ เช่น โรงเรียนควรจะถูกใช้เป็นศูนย์รวมชุมชนในเวลาหลังเลิกเรียน

ความพยายามดังกล่าวฟังดูคล้ายกับว่ายุโรปพยายามจะย่อขนาดเมืองให้เล็กลง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นความพยายามที่จะกระจายความแออัดจากใจกลางเมืองเพียงไม่กี่จุดออกไปสู่ทุกมุมเมือง แนวคิดดังกล่าวยังนำเสนอการจัดโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เน้นร้านค้าในท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้คนไม่ต้องเดินทางไกล และเป็นการลดปริมาณการจราจรไปในตัว

ความพยายามแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เราปล่อยให้เมืองถูกพัฒนาไปแบบบิดๆ เบี้ยวๆ จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อน เมืองบาร์เซโลนา ได้สร้างกระแสฮือฮาด้วยการทำให้เมืองที่อัดแน่นไปด้วยซูเปอร์บล็อก (superblocks) ให้มีทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันให้อยู่ภายในสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนานเก้าบล็อก และเพิ่มพื้นที่ให้กับจักรยานและคนเดินมากขึ้น แทนที่จะให้ความสำคัญกับรถยนต์เหมือนก่อน

หลังจากที่ฝรั่งเศสได้ประกาศนโยบายดังกล่าว ทางสวีเดนเองก็ทำการเกทับด้วยความพยายามที่สร้าง ‘เมือง 1 นาที’ ไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หวังจะทำให้ถนนทุกเส้นในประเทศจะต้องมีบริการที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของคนอยู่บนถนนหนึ่งเส้น โดยคนบนถนนมีส่วนร่วมในการออกแบบถนนของตัวเอง โครงการนี้ได้ทำการทดลองกับสี่จุดในเมืองสตอกโฮล์ม และอีกสามเมืองกำลังจะเข้าร่วมทดลอง เพื่อทำให้ถนนทุกสายในประเทศสวีเดนเป็นถนนที่มีสุขภาพดี ยั่งยืน และคึกคักภายในปี 2030

ความพยายามจะเปลี่ยนเมืองเพื่อเอาใจรถยนต์ให้น้อยลงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุโรป นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ต้นปีที่แล้ว นักการเมืองหลายคนคิดว่าคงไม่ดีแน่ถ้าปล่อยให้ฝูงชนไปแออัดยัดเยียดบนขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียว พวกเขาจึงใช้โอกาสนั้นออกแบบเมืองเสียใหม่ ประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ใช้งบประมาณรวมกันมากกว่า 1 พันล้านยูโร ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับจักรยาน และมีการสร้างทางจักรยานมากถึง 2,300 กิโลเมตรทั่วยุโรป

ประเดิมด้วยปารีสเป็นเมืองแรกที่ปฏิวัติเมืองด้วยการด้วยการปิดบางจุดของถนน Rue de Rivoli ที่ตัดจากตะวันออกไปตะวันตกของกรุงปารีสที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นถนนที่ขึ้นชื่อว่ารถติดที่สุด นอกจากนี้ยังใช้งบประมาณถึง 20 ล้านยูโรเพื่อปรับถนนให้เป็นทางจักรยานอย่างเร่งด่วน หรือแม้แต่ให้เงินอุดหนุนซ่อมจักรยานคนละ 50 ยูโร ส่งผลให้คนกลับมาใช้จักรยานกันมากขึ้น

รัฐบาลในยุโรปต่างก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า จักรยานและการเดินจะเป็นทางออกที่ลดความแออัดและการเกิดมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอังกฤษที่ใช้งบกว่า 2 พันล้านปอนด์ เพื่อปรับปรุงทางจักรยานและขยายทางเท้า อิตาลีที่แจกเงินอุดหนุนคนละ 500 ยูโร ให้คนในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 5 หมื่นคนที่ต้องการซื้อจักรยานหรือสกูตเตอร์ไฟฟ้าใหม่ สเปนที่เริ่มขยายทางเท้า เยอรมนีที่เริ่มทำทางจักรยานป๊อปอัพในย่านต่างๆ ในเมืองเบอร์ลิน 

แต่ลองย้อนกลับมาดูกรุงเทพฯ บ้านเรา หากมองการพัฒนากรุงเทพฯ อย่างเป็นธรรม เราก็ได้เห็นความพยายามที่จะทำให้กรุงเทพฯ มีย่านชุมชนกระจายอยู่ตามมุมเมืองต่างๆ เพียงแต่กรุงเทพฯ ถูกออกแบบให้ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในศูนย์การค้าแทนที่จะตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนในทุกย่าน จนทำให้แนวคิด ‘เมือง 15 นาที’ ของกรุงเทพฯ ออกจะแปลกจากต้นฉบับอยู่สักหน่อย นั่นคือการขับรถจากบ้านเพื่อวนหาที่จอด 15 นาที ก่อนที่เราจะได้รับบริการทุกอย่างในห้างสรรพสินค้าเพียงแห่งเดียว

สะพานลอยข้ามห้าแยกคลองเตยเป็นหนึ่งในโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ถูกออกแบบให้กรุงเทพฯ วิ่งตามจังหวะของรถยนต์

ลองมองดูย่านเก่าแก่บางแห่งในเมือง เช่น สามย่าน หัวลำโพง ราชเทวี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นย่านที่คนพักอาศัยสามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันในละแวกบ้านได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล เหมือนกับเมือง 15 นาทีที่ปารีสพยายามสร้าง แต่วันนี้กลับกลายเป็นเพียงย่านที่ดินราคาแพงรองรับคอนโดมิเนียมหรู โรงแรมห้าดาว ร้านอาหาร และร้านกาแฟสำหรับลูกค้ากระเป๋าหนัก แทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงเลย

ตลาดเตาปูนที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะทานกระแสอสังหาริมทรัพย์ได้นานแค่ไหน (ถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2562)

หรือย่านเตาปูนที่เคยเป็นย่านชานเมืองเต็มไปด้วยบ้านเดี่ยว และกิจการเล็กๆ เรียงรายริมถนน ปัจจุบันยังคงเก็บรักษาความเป็นเมือง 15 นาทีไว้ได้ แม้ในวันที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงวิ่งมาบรรจบกัน แต่ลองจินตนาการว่าตลาดเตาปูนที่เคยเป็นแหล่งอาหารและข้าวของเครื่องใช้ของคนทั้งย่าน จะต้านทานกระแสอสังหาริมทรัพย์ได้นานแค่ไหน

แน่นอนว่าการทำให้เมืองขนาดใหญ่ และขยายตัวไม่หยุดแบบกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ประชากรสามารถเข้าถึงบริการทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้ภายในเวลา 15 นาที หรือแม้จะหยุดยั้งให้ความเป็นเมือง 15 นาทีของย่านเก่าเช่นเตาปูนไม่หายไป อาจจะฟังดูทะเยอทะยานเกินไป

เราคงได้แต่ฝันถึงกรุงเทพฯ ในฝันที่เรายังคงต้องเดินทางไกลๆ เพื่อไปทำงาน หรือเพื่อเข้าถึงบริการต่างๆ เพียงแต่เป็นเมืองที่การจราจรไม่ติดขัดมากนัก มลพิษทางอากาศและเสียงไม่สูงมากจนเกินร่างกายจะรับไหว หรือขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและราคาเป็นมิตรสำหรับทุกคน ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองจริงจังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และจริงใจกับการแก้ปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ

เพราะในความเป็นจริง เรายังคงต้องตื่นมาพบกับผู้บริหารบ้านเมืองที่ไม่พยายามเข้าใจต้นตอของปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศที่เราต้องประสบทุกวันคืน

ในความเป็นจริง คนย่านกรุงเทพกรีฑาและรามคำแหงบางซอยยังคงหลับไม่สนิทหรืออาจจะตื่นมาพบว่า บ้านตัวเองถูกสำนักการโยธากรุงเทพมหานครเวนคืนที่ดินนำไปก่อสร้างถนน 4 โครงการเพื่อแก้ปัญหารถติดฝั่งตะวันออก

ตลาดประตูน้ำที่กำลังจะหมดไปเพราะหมดสัญญาเช่า (ถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2563)

ในความเป็นจริง เรายังคงเจอกับผู้ว่าฯ ที่มั่นใจว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้า 104 บาทต่อเที่ยวและเพียงสายเดียวนั้นไม่แพง ทั้งที่คิดเป็นหนึ่งในสามของค่าแรงขั้นต่ำ

ในความเป็นจริง เรายังคงต้องยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อปลดหนี้สิน 1.2 แสนล้านและแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ด้วยการลดจำนวนสายรถเมล์จาก 269 สาย ให้เหลือเพียง 162 สาย และปรับเปลี่ยนให้รถเมล์ ขสมก. กลายเป็นฟีดเดอร์เพื่อป้อนผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบราง ทั้งที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่เลือกใช้บริการรถเมล์เพราะไม่สามารถจ่ายค่าโดยสารระบบรางได้

ในความเป็นจริง เรายังคงต้องตื่นมาพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มองเห็นรถไฟเป็นอุปสรรคของการจัดการจราจรและ เตรียมปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นการถาวรในปลายปีนี้ เมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดตัวเต็มรูปแบบ โดยไม่ให้รถไฟเข้ามาสู่ใจกลางเมืองเพื่อเป็นการแก้ปัญหาจราจรภายในเมืองได้ตามเป้าหมาย

และในความเป็นจริง พรุ่งนี้เราอาจจะต้องเปลี่ยนใจซื้อรถสักคัน เพราะมันทำให้ชีวิตในเมืองหลวงแห่งนี้ง่ายขึ้นเหมือนที่ผู้บริหารบ้านเมืองคอยบอกเรา

Tags: , ,