ปัญหายาเสพติดไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย เราต่างรู้กันว่าการเข้าสู่วังวนเป็นเรื่องง่าย แต่การก้าวออกจากวัฏจักรกลับเป็นเรื่องที่สวนทางกัน หลายครั้ง ‘ความรุนแรง’ ถูกเสนอเป็นทางออก หากมองให้ดีจะพบว่า การปราบปรามแบบรุนแรงได้สร้างปัญหาและผลกระทบที่ตามมาไม่รู้จบ ยกตัวอย่าง สงครามยาเสพติดในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ที่ส่งผลพวงต่อสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน โดนลูกหลง การฆ่าตัดตอนผู้ต้องหาทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความผิด ทั้งหมดทั้งมวลถูกกระทำผ่านฐานความคิดที่มองว่า ผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เป็นจุดด่างพร้อยของสังคมที่ต้องถูกกำจัด ไม่ได้มองว่าผู้ป่วยยาเสพติดเป็นหนึ่งในคนที่พลาดพลั้ง เป็นคนป่วยที่ต้องการรักษา และพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
จากเหตุผลที่ว่ามาทำให้แนวทาง ‘Harm Reduction’ ถูกคิดขึ้น ภายใต้คอนเซปต์ ‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’ และความป่วยไข้ต้องการการรักษา มิใช่ทำลายล้าง
Harm Reduction ในกระบวนการเลิกยาเสพติด คือแนวคิดการลดผลกระทบจากยาเสพติด ที่หลายประเทศทั่วโลกมีการปรับใช้และนำเสนอแนวคิดมากว่า 30 ปีแล้ว ผ่านแนวทางหาสารทดแทน ไปจนถึงกรรมวิธีต่างๆ ให้ผู้ติดยาเสพติดมีองค์ความรู้ ไปจนถึงการเข้าถึงการเสพสารติดที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น HIV
ทว่าการใช้แนวคิดนี้ต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ในการบำบัดผู้ป่วยให้สามารถเลิกยาเสพติดได้ เช่น การเปลี่ยนความคิด และการให้กำลังใจ โดยที่นโยบายของภาครัฐต้องมุ่งการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ในลักษณะขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเข้มข้น โดยแยกผู้ขายกับผู้เสพอย่างชัดเจน ด้วยการเน้นย้ำว่า ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องการการรักษา เพราะหากผลักผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่เรือนจำ สุดท้ายจะสร้างปัญหาต่อสังคมไม่รู้จบ ผ่านการต่อยอดคอนเนกชันในเรือนจำ ไปจนถึงการถูกกีดกันจากสังคมหลังพ้นโทษ จนผลักดันพวกเขาเข้าสู่วังวนไม่รู้จบของยาเสพติด
แบบอย่างสำคัญในการสนับสนุนคนรอบข้างให้เข้าสู่เส้นทางการเลิกยาเสพติด ผ่านแนวคิด Harm Reduction คือ เฮียบู้-บรรจง แซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม บนพื้นที่ขนาดเล็กแต่กลับมีความหนาแน่นถึง 176 ครัวเรือน และมีประชากร 600 กว่าคนในการดูแล
ชุมชุนแออัดแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าขยะหนองแขมของกรุงเทพมหานคร ดังนั้น คนในชุมชนจึงมีอาชีพหลักเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมขยะ เช่นการแยกขยะ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชายคาเหล่านี้ คือปัญหายาเสพติดยาวนานหลายสิบปี ซึ่งเฮียบู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการพยายามแก้ไขปัญหานี้มาตลอด 20 ปี
ปัจจุบัน แม้ชุมชนยังมีผู้ป่วยยาเสพติดที่ยังต้องใช้เฮโรอีนในชีวิตประจำวัน แต่พวกเขาก็พยายามผลักดันตัวเองออกจากวังวนของยาเสพติด บางคนทำงานแยกขยะในร้านรับซื้อขยะรอบชุมชน ผ่านการช่วยเหลือฝากฝังของเฮียบู้ หลายคนค่อยๆ มีชีวิตที่เดินห่างจากยาเสพติด เอ (นามสมมติ) จากผู้ป่วยเฮโรอีนที่สร้างปัญหาให้ครอบครัว เขาได้รับการผลักดันจากเฮียบู้และได้รับโอกาสให้เป็นแรงงานในร้านรับซื้อขยะหน้าชุมชน ร่วมกับวัยรุ่นคนอื่นๆ ปัจจุบันเอกำลังก้าวเข้าสู่การเกณฑ์ทหาร โดยเขาฝันว่าจะสมัครนายสิบทหารบก เพื่อให้ตนห่างไกลจากยาเสพติดมากขึ้น และมีรายได้เลี้ยงครอบครัว
ในขณะที่บางคนยังไม่สามารถหลุดพ้นจากยาเสพติดได้ แต่พวกเขายังคงมีความหวังที่จะหย่าขาดจากมันได้ เฟลอ (นามสมมติ) อายุประมาณ 20 ปี เขาเป็นหนึ่งชีวิตในชุมชนกองขยะหนองแขม และมีประวัติการใช้ยาเสพติดตั้งแต่อายุ 19 ปี จากความพลั้งเผลอและสิ่งแวดล้อมที่รายรอบ
แม้ว่าเฟลอจะยังไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันเขาใช้ยาเสพติดน้อยลงเรื่อยๆ ผ่านแรงผลักดันของเฮียบู้ และจิตใจของเขาที่พยายามดันตัวเองออกจากปัญหาทีละก้าวอย่างช้าๆ เฟลอเคยเข้ารับเมทาโดน (Methadone) โดยเขาเล่าว่า เฮียบู้เตรียมรถยนต์สำหรับพาวัยรุ่นในชุมชนที่ลงทะเบียนไปรับยาทดแทน และเมื่อเวลามาถึงก็จะมาเรียก มาตาม ซึ่งสิ่งที่เฮียบู้ทำ คือหนึ่งสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องพยายามก้าวต่อไป
เพราะผู้คนไม่ใช่สิ่งของ การก้าวพลาดเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ และสังคมอาจต้องออกแบบแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ผู้คนที่เข้าสู่เส้นทางยาเสพติดยังพอมีที่ทางให้ก้าวกลับเข้ามา มิใช่ผลักออกให้พวกเขากลายเป็นฟันเฟืองในวังวนยาเสพติดไม่รู้จบ
สารทดแทนอาจช่วยได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผู้ป่วยยาเสพติดต้องการคนที่เข้าใจและคอยผลักดันเขาให้เดินไปสู่แสงสว่าง เหมือนตัวอย่างในชุมชนกองขยะหนองแขม ที่เฮียบู้ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม คอยจ้ำจี้จ้ำไช เฝ้าระวัง ตักเตือน และเสนอเส้นทางสู่การเลิกยาเสพติดให้ผู้คนในชุมชนมากว่า 20 ปี
วัยรุ่น 2 คนอาศัยในบ้านแออัด อยู่ส่วนลึกของชุมชนกองขยะหนองแขม แม้พวกเขาจะมีบ้องสำหรับเสพยาเสพติด แต่พวกเขาก็ลดปริมาณการใช้ยาลงได้ ด้วยการพยายามผลักดัน หนุนกำลังใจของเฮียบู้ ปัจจุบันพวกเขาใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ เพื่อคลายอาการปวดจากการขาดยาเสพติด
อาคารแน่นขนัด ตั้งสลับกับบ้าน รายล้อมด้วยกองขยะและร้านแยกขยะอีกที เหล่านี้คือภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชนกองขยะหนองแขม ในอดีตชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยผู้ป่วยยาเสพติด และผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย ปัจจุบัน แม้ผู้ป่วยยาเสพติดยังคงมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลิกยาเสพติด
ร้านรับซื้อของเก่าและขยะบริเวณหน้าชุมชนกองขยะหนองแขม ซึ่ง เอ (นามสมมติ) และวัยรุ่นคนอื่นๆ ผู้มีประวัติใช้ยาเสพติดทำงานเป็นลูกจ้าง หลายคนยังไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ขาด ในขณะที่บางคนเริ่มเห็นแสงไฟในการก้าวออกมาจากวังวน แม้ปลายทางยังไม่มาถึง แต่พวกเขาก็เริ่มมีรายได้ และเดินกลับเข้าสู่สังคมทีละก้าว
เฟลอ (นามสมมติ) อายุประมาณ 20 ปี ผู้ติดเฮโรอีนด้วยความไม่รู้ตัว เพราะเขารู้จักมันแค่ในนามของ ‘แป๊ะ’ ปัจจุบัน เฟลอพยายามควบคุมตัวเองในการเลิกเฮโรอีนผ่านการใช้งานให้น้อยที่สุด จนลดปริมาณลงได้ จากวันละ 1 กรัม ราคาราว 600 บาท เหลือเพียง 100 บาท ต่อการใช้ 3 วัน (วัดปริมาณเป็นราคา) หรือราว 1 ซองเล็ก
เจ้าหน้าที่ APASS (Associate To Promote Access To Health And Social Support) องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและจิตใจของผู้ป่วยยาเสพติด เป็นอีกหน่วยงานที่ลงมือทำอย่างขันแข็งด้วยแนวทาง Harm Reduction ทุกวันผู้ป่วยยาเสพติดจะแวะเวียนเข้ามาปรึกษา พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อรับการสนับสนุน ขอความช่วยเหลือ นับตั้งแต่การตรวจสุขภาพ ไปจนถึงการให้กำลังใจเพื่อก้าวผ่านปัญหา
น้ำมันกัญชา ถูกใช้ในการเลิกยาเสพติดผ่านฤทธิ์ในการบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดจากอาการขาดยา โดยเฉพาะเฮโรอีน
สารทดแทนอาจช่วยได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผู้ป่วยยาเสพติดต้องการคนที่เข้าใจและคอยผลักดันเขาให้เดินไปสู่แสงสว่าง เหมือนตัวอย่างในชุมชนกองขยะหนองแขม ที่เฮียบู้ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม คอยจ้ำจี้จ้ำไช เฝ้าระวัง ตักเตือน และเสนอเส้นทางสู่การเลิกยาเสพติดให้ผู้คนในชุมชนมากว่า 20 ปี
Tags: เฮโรอีน, ผู้ป่วยยาเสพติด, APASS, ยาเสพติด