คำว่า ‘ชง’ ที่ใช้กันในตำราโหราศาสตร์จีน เขียนด้วยตัวอักษรจีนที่สื่อถึงความขัดแย้งหรือการปะทะ ว่ากันว่าคำว่า ‘ชน’ ในภาษาไทยที่หมายถึงการปะทะกันอย่างแรง เดิมทีก็เป็นคำที่ยืมมาจากคำภาษาจีนนี้เช่นกัน
สาเหตุที่เราเรียกปีดวงตกที่ว่ากันว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นตามความเชื่อโบราณ ว่า ‘ปีชง’ หรือปีแห่งการปะทะ เป็นเพราะปีนักษัตรทั้ง 12 ปีต่างมีธาตุประจำปีเป็นของตัวเอง ซึ่งการชงหรือการปะทะนั้นก็เกิดจากการที่ธาตุปีเกิดของเราเป็นธาตุที่ขัดแย้งกับปีนักษัตรปัจจุบันนั่นเอง
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือปี 2566 เป็นปีเถาะ ธาตุประจำปีเถาะคือธาตุไม้ สาเหตุที่ปีนักษัตรที่ ‘ชงโดยตรง’ เป็นปีระกา เป็นเพราะว่าธาตุประจำปีระกาคือธาตุทอง และตามตำรา ธาตุทองจะขัดข่มกันกับธาตุไม้ ถือเป็นอริกัน ปีเถาะจึงถือเป็นปีชงของคนที่เกิดปีระกา
นอกจากปีที่ชงโดยตรงแล้ว ก็จะมีปีนักษัตรที่ ‘ชงร่วม’ กันอีก 3 ปีด้วยกันโดยในปี 2566 นี้ ได้แก่ ปีเถาะ ปีชวด และปีมะเมีย คนที่เกิดปีเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการชง แต่ไม่รุนแรงเท่าคนเกิดปีที่ชงโดยตรงอย่างปีระกา
สำหรับตัวผู้เขียนที่เกิดปีเถาะ แม้จะไม่ถือว่าชงโดยตรง แต่เมื่อโอกาสในการสะเดาะเคราะห์แก้ชงถูกยื่นมาให้ถึงมือแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางมาที่วัดมังกรกมลาวาส หรือ ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ เพื่อลองแก้ชงดูสักครั้งในชีวิต
คู่มือชาวปีชง ชงแล้วไปไหนต่อ
วัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาส ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุดในกรุงเทพฯ และเป็นศูนย์กลางในการจัดงานเทศกาลต่างๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีน
นอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว สถาปัตยกรรมภายในวัดยังได้รับการออกแบบโดยช่างเชื้อสายแต้จิ๋วให้มีความสวยงามสไตล์จีนใต้ จึงเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่สำคัญที่ควรค่าอย่างยิ่งแก่การไปเที่ยวชม และถือโอกาสทำบุญแก้ชง
วิธีการเดินทางไปวัดที่ง่ายที่สุดคือการนั่ง MRT ไปลงสถานีวัดมังกร ทันทีที่อ่านรีวิวเจอว่าประตูวัดอยู่ห่างจากสถานีไปแค่ 50 เมตร มนุษย์เงินเดือนจบใหม่ที่ยังไม่มีรถส่วนตัวใช้อย่างเราก็เริ่มยิ้มออก
พิธีแก้ชงของวัดเล่งเน่ยยี่ที่เรียกว่า ‘การฝากดวง’ นั้นเรียบง่ายกว่าที่เราคิดไว้มาก เมื่อไปถึงสถานที่ทำบุญแล้ว เพียงแค่ซื้อชุดสะเดาะเคราะห์ราคา 100 บาท มาเขียนชื่อ อายุ วันเดือนปีและเวลาเกิดลงไปให้ถูกต้อง (เคล็ดลับสำหรับคนที่ไม่รู้เวลาเกิดตัวเองแบบเป๊ะๆ คือให้เขียนลงไปว่าเวลาดี) เดินตามลูกศรไปร่วมสวดมนต์ตามบทสวดที่ระบุที่อยู่ในชุดสะเดาะเคราะห์ต่อหน้ารูปปั้นเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ใช้ชุดสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัว 13 ครั้งขณะอธิษฐาน และสุดท้าย ฝากชุดสะเดาะเคราะห์ของเราเอาไว้บริเวณหน้ารูปปั้นเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยภายในเวลาไม่เกินสิบห้านาที
แม้จะรู้สึกสับสนนิดหน่อย เพราะเมื่ออ่านตามตารางปีเกิดที่ทางเล่งเน่ยยี่ติดเอาไว้ อายุที่ต้องเขียนลงไปในชุดสะเดาะเคราะห์ของตัวเองดันเพิ่มขึ้นมาจากอายุจริงตั้งสองปี แต่หลังจากกลับมาลองหาข้อมูลเรื่องนี้ดู พบว่าเป็นวิธีนับอายุตามปฏิทินจันทรคติตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่นั่นเอง
จริงๆ แล้วการนับอายุในลักษณะนี้ไม่ได้ปรากฏแค่ในวัฒนธรรมจีนเท่านั้น แต่เกาหลีที่มีวัฒนธรรมร่วมกับจีนหลายอย่างเองก็นับอายุแบบนี้เช่นเดียวกัน ใครที่เป็นแฟนคลับไอดอลเกาหลีมานาน อาจจะพอนึกภาพออก เพราะสามารถอ้างอิงจากประสบการณ์ความสับสนของตัวเอง เมื่ออปป้าออนนีคนโปรดของเราให้สัมภาษณ์ว่าปีหน้าจะเข้าวัย 30 เต็มตัว ทั้งที่ในวิกิพีเดียเพิ่งจะอายุ 27 ย่าง 28 เท่านั้นเอง
เชื่อไว้ไม่เสียหาย ไม่ได้งมงาย แค่รอบคอบ
หลังจากทำบุญสะเดาะเคราะห์เสร็จแล้ว และพบว่ายังมีเวลาเหลือเฟือ เราตัดสินใจเดินดูบรรยากาศต่ออีกหน่อย จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับหญิงสาวคนหนึ่ง
นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเดินเข้ามาในตัววัด เพียงใช้สายตาประเมินคร่าวๆ ก็จะเห็นว่าประชากรส่วนใหญ่ที่เดินทางมาทำบุญแก้ชงในวันนั้น เป็นคนวัยผู้หลักผู้ใหญ่ อาม่าอากงเสียส่วนมาก ทันทีที่สังเกตเห็นว่าหญิงสาวผมยาว แต่งตัวทันสมัยที่ยืนอยู่ใกล้ๆ กันน่าจะมีอายุใกล้เคียงกับตัวเองที่สุด ตำแหน่งผู้ให้สัมภาษณ์เพียงคนเดียวของเราในวันนั้น จึงตกเป็นของเธอทันที
คุณ A (ชื่อสมมติ) เล่าให้เราฟังว่า เธอและเพื่อนที่มาด้วยกันอีก 3 คนตัดสินใจเดินทางมาที่วัดเล่งเน่ยยี่เพราะปี 2536 ซึ่งเป็นปีเกิดของเธอและเพื่อนๆ ตรงกับปีระกาพอดี และอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วในช่วงต้นของบทความว่าปี 2566 (ปีเถาะ) สำหรับคนเกิดปีระกานั้น เรียกได้ว่าชงจังๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
หากเทียบกับเพื่อนคนอื่นที่มาด้วยกัน คุณ A ไม่ได้เชื่อเรื่องโชคลางเท่าไรนัก อาจจะด้วยเพราะโดยพื้นเพ ไม่ได้เป็นคนมีเชื้อสายจีน ที่ตกลงมาด้วยกันได้ก็เพราะคิดว่าแก้ชงเอาไว้ก่อนก็ไม่ได้เสียหายอะไร นอกจากได้ความสบายใจแล้ว ยังได้ออกมาเปิดหูเปิดตา กินลมชมบรรยากาศวัดสวยๆ อีกด้วย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่าทีของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อความเชื่อเรื่องโชคลางดูโอนอ่อนลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่สัก 3-4 ปีก่อนอาจถูกมองเป็นเรื่องงมงาย ระยะหลังเรากลับมีโอกาสได้เห็นการตอบรับเชิงบวกของสังคมไทยต่อความเชื่อเหล่านี้ในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพหน้าจอไฉ่ซิงเอี๊ยเรียกทรัพย์ สีเสื้อประจำวัน หรือแฟชันสร้อยข้อมือหินมูเตลู
คีย์เวิร์ด ‘เชื่อไว้ไม่เสียหาย’ และ ‘ทำเพื่อความสบายใจ’ ของคุณ A ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงแทนความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ
เป็นไปได้ไหมว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราทุกคนต่างเผชิญปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากมาย (เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 ความไม่มั่นคงทางการเมือง ฯลฯ) เข้ามารุมเร้าให้ไม่สบายใจบ่อยๆ จนต้องหันมาพึ่งพาความสบายใจจากการได้รู้ทิศทางชีวิตของตัวเองผ่านความเชื่อเรื่องโชคลาง
Tags: ความเชื่อ, Feature, แก้ชง, ปีชง, วัดเล่งเน่ยยี่, วัดมังกร, สายมู, มูเตลู