“อยากเป็นป้าเเต๋นอยากเป็นป้าเเต๋น
ได้เดินควงแขนกับลุงหนูคงสุขสันต์
พี่จินตรายังมา Cover เพลงกัน
พุทธอภิวรรณ คุณจิตดีเชียร์ที่ช่องอัมรินทร์”
เนื้อเพลงอยากเป็นป้าแต๋นแฟนลุงพล ขับร้องโดยพิมพ์จ๋า ยอดบัวงาม ช่างสะท้อนภาพ ‘ลุงพลฟีเวอร์’ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะความริษยาจนอยากเกิดเป็นป้าแต๋น เพื่อจะได้เดินควงแขนลุงพล ขนาดจินตหรา พูนลาภ นักร้องชื่อดังยังมา Cover ร้องเพลงเต่างอย สมทบด้วยการเป็นที่รักของสื่อมวลชน (บางช่อง) ขนาด พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี และจิตดี ศรีดี (อดีต) พิธีกรจากช่องอัมรินทร์ทีวียังเชียร์สนั่นทั่วฟ้าเมืองไทย
เมื่อปี 2563 อมรินทร์เปิดเผยรายได้ค่าตัวลุงพลว่า มีค่าตัวสูงถึงหลักล้านบาท เช่น การเป็นพรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ‘ปิ๋ม ซีโฟร์’ ได้ค่าตัว 1 ล้านบาท, พรีเซนเตอร์คอนโดมิเนียมหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาค่าตัวหลักล้านบาท, โปรโมตสินค้าท่อน้ำเกษตรได้รับค่าตัว 5 แสนบาท, ถ่ายพรีเวดดิงร่วมกับลุงพลป้าแต๋นครั้งละ 2 หมื่นบาท ยังไม่รวมรำในงานบุญงานกฐินตามจังหวัดต่างๆ ที่มีค่าตัวงานละ 2 หมื่นบาท และถ่ายภาพนิ่งคลินิกเสริมความงามค่าตัวประมาณ 5 แสนบาท
“อยากเป็นป้าแต๋นอยากเป็นป้าเเต๋น
หากได้เป็นแฟนคุณลุงหนูคงสบาย
เพราะว่าลุงพลแกมี FC มากมาย
เงินทองเหลือใช้ ใครก็โอนให้แม้เเต่เศรษฐี”
– เพลงอยากเป็นป้าแต๋นแฟนลุงพล
แต่วันนี้ (20 ธันวาคม 2566) ศาลจังหวัดมุกดาหารอ่านคำพิพากษาในคดี ลุงพล-ไชย์พล วิภา และป้าแต๋น-สมพร หลาบโพธิ์ (ภรรยาลุงพล) ใน ‘คดีพรากน้องชมพู่’ อายุ 3 ปีเศษ และทอดทิ้งให้ถึงแก่ความตาย ณ เขาภูเหล็กไฟ จังหวัดมุกดาหาร เพียงลำพัง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 โดยศาลสั่งจำคุกลุงพล 20 ปี และยกฟ้องป้าแต๋น
กินเวลากว่า 3 ปี กว่าเรื่องราวจะเดินทางมาถึงฉากตัดสิน ลุงพลอดีตผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม (ปัจจุบันเป็นนักโทษ) กลับได้รับการ ‘ฉายแสง’ ที่ไม่ควรได้รับ จากการติดตามคดีสู่การเบี่ยงประเด็นให้คนคลั่งไคล้ความบันเทิง จนลดทอนความสำคัญในคดีด้านต่างๆ และส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์สร้างเซเลบหรือไอดอลที่ ‘ผิดเพี้ยน’ และ ณ ปัจจุบัน ณ ตอนนี้ และ ณ เวลานี้ ก็ยังมีคนเข้าชมช่องยูทูบ ‘ลุงพลป้าแต๋น แฟมิลี่’ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 3 ปี
แล้วสังคมได้อะไรจากปรากฏการณ์ ‘ลุงพลฟีเวอร์’ และ ‘สื่อ’ มวลชนควรถอดบทเรียนอะไรบ้าง จากการผลิตฆาตกรสู่ ‘ไอดอล’ วงการบันเทิง
เส้นทางจากผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ‘สู่เซเลบบ้านกกกอก’ มากจากไหน?
ลุงพลเป็นผู้ต้องหาในฐานความผิดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากพ่อแม่และทอดทิ้งให้เด็กให้ถึงแก่ความตาย ส่วนป้าแต๋นมีความผิดฐานร่วมกระทำการใดๆ แก่ศพ
ในระหว่างที่มีการสืบสวนสอบสวน ‘สื่อ’บางสำนักต่างให้ความสนใจในคดีนี้เป็นพิเศษ หลายช่องถึงกับตั้งกล้องถ่ายทอดสดตามติดชีวิตลุงพลในทุกอิริยาบถและทุกวัน โดยเนื้อหาที่ถ่ายทอดไปไม่เกี่ยวกับคดีน้องชมพู่แต่อย่างใด เช่น ‘ลุงพลชอบกินอะไร’ ‘ชอบทำอะไร’ ‘เปิดเผยสัดส่วนร่างกาย’ ‘นำเสนอไปถึงขั้นว่ามีเพศสัมพันธ์กับป้าแต๋นครั้งล่าสุดเมื่อไร’ ซึ่งลุงพลตอบสื่อมวลชนว่า “ผมไม่มีอะไรกับเมียตั้งแต่ปี 2557”
แน่นอนว่า เรื่องราวของลุงพลได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก จนมียอดคนดูและผู้ติดตามอย่างถล่มทลาย จนทำให้ลุงพลเริ่มมีแฟนคลับ มีคนทยอยมาขอถ่ายรูป จนภายหลังลุงพลกับป้าแต๋นสร้างช่องยูทูบเป็นของตัวเองในชื่อลุงพลป้าแต๋น แฟมิลี่
ตอกย้ำความดังด้วยคลิป ‘ลุงพล กินข้าวเช้า #ป้าแต๋นถ่าย’ ที่มียอดวิวสูงถึง 2.4 ล้านครั้ง เมื่อลุงพลเริ่มได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนท้องถิ่น และสื่อบางสำนักก็ยิ่งประโคมข่าวให้ลุงพลกลายเป็นเซเลบมากขึ้น จนมีหลายคนเริ่มสอบถามว่า ลุงพลสนใจเข้าสู่วงการบันเทิงหรือไม่
การันตีกระแสและความดังของลุงพลด้วยการร่วมร้องเพลงเต่างอย ฉบับ จินตหรา พูนลาภ Feat.ลุงพล ซึ่งเมื่อปล่อยเอ็มวีออกมาเพียง 2 วันเท่านั้น ยอดวิวก็ทะลุ 2 ล้านครั้ง พร้อมกับติดเทรนด์มาแรงในประเทศไทย
ความน่าตกใจไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะมีโรงเรียนจัดทัศนศึกษาพานักเรียนชั้นประถมศึกษามาที่บ้านกกกอก เพื่อเยี่ยมบ้านลุงพล พร้อมกับถ่ายรูปคู่กับลุงพลและป้าแต๋น
รวมไปถึง อุ๊บ-วิริยะ พงษ์อาจหาญ ผู้ออกตัวเป็นผู้จัดการให้ฟรี ช่วยหางาน หาอีเวนต์ให้ แต่ภายหลังประกาศไม่เผาผีกับลุงพล เนื่องจากมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ลุงพลชอบบุลลี่เพศสภาพของเธอ ชอบล้อเลียน และถูกโดนด่าว่าเป็นกะเทยป่วยจิต
‘สื่อ’ ตัวการประกอบสร้างไอดอลที่ ‘ผิดเพี้ยน’
หลายคนเปรียบ ‘สื่อมวลชน’ เสมือน ‘กระจก’ เป็นภาพสะท้อนสังคม ที่สามารถสร้างค่านิยม เจตคติ การรับรู้ของคนในสังคมได้ หรือสื่อเคยถูกเปรียบเป็น ‘ฐานันดรที่สี่’ ของสังคม เนื่องจากมีพลังสามารถเป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชน สามารถถ่วงดุลอำนาจในสังคม ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ และคัดกรองเนื้อหาสู่สังคมได้
แล้วสื่อมวลชนในกรณีประกอบสร้างฆาตกรเป็นคนดังชั่วข้ามคืน เปรียบเสมือนอะไร?
หากเปรียบเทียบเป็นกระจกก็อาจจะได้ เพราะสะท้อนความต้องการของกระแสสังคมในขณะนั้น และวิ่งเต้นตามยอดวิวได้เป็นอย่างดี เพราะสื่อสามารถสร้างค่านิยม และกำหนดการรับรู้ของคนในสังคมได้ เมื่อสื่อเปลี่ยนจากการทำข่าวฆาตกรรม ไปสู่การติดตามชีวิตของลุงพลในเชิงบันเทิง แน่นอนว่าก็เป็นการกำหนดทิศทางการรับรู้ และการสร้างทิศทางข่าวสารในสังคมไปโดยปริยาย หรือที่เรียกกันว่าการกำหนดวาระข่าวสาร หรือ Agenda Setting เพราะในฐานะสื่อมวลชนสามารถป้อนข้อมูลข่าวสาร หรือกำหนดทิศทางต่างๆ ในสังคมให้แก่ประชาชนได้ ผ่านการจัดลำดับว่าสิ่งไหนสำคัญมากที่สุด และมองว่าประชาชนควรรับรู้สิ่งไหนมากกว่ากัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ยอดวิว’ คนดูส่งผลต่องานและรายได้ในวิชาชีพสื่อมวลชนยุคสมัยนี้มาก จนหลายครั้งกลายเป็นว่า ประชาชนเป็นผู้กำหนดทิศทางข่าวสารไปเสียเอง เมื่อคุณอยากดู สื่อมวลชนก็จัดให้ หลายครั้งจึงละเลยความสำคัญและข้อมูลด้านต่างๆ ว่า ในบางประเด็นเราควรจะประเคนข่าวตามกระแสคนดูหรือไม่ นอกจากทำให้ประเด็นที่ควรจะสื่อและถ่ายทอดหล่นหายไปแล้ว ยังทำให้กระแสข่าวในช่วงเวลาดังกล่าวถูกกลบไปด้วย
การวิ่งเต้นตามยอดวิวและกระแสสังคม จากคดีที่มีเด็กผู้หญิงเสียชีวิต จนทำให้ฆาตกรคนหนึ่งมีหน้ามีตาในสังคม เป็นสิ่งที่น่าละอายใจและนับเป็นบาดแผลใหญ่ของสังคมยิ่งนัก
ถึงเวลาที่สื่อมวลชนในประเทศไทยต้องถอดบทเรียน และเรียนรู้ไปพร้อมกันได้หรือยัง แน่นอนในฐานะคนประกอบอาชีพสื่อมวลชนด้วยกันย่อมเข้าใจได้ว่า ยอดวิวคนดูและคนอ่านเป็นสิ่งสำคัญ
จริงๆ แล้วอีกสิ่งสำคัญที่คอยกำหนดทิศทางข่าวสารในสังคมอาจเป็น ‘นายทุน’ ของแต่ละสำนักข่าว ในเมื่อคนดูต้องการ นายทุนสั่งมา แล้วมดงานอย่างสื่อมวลชนจะทำอย่างไร? แต่เราเชื่อว่าในฐานะสื่อมวลชน เราควรมีเสรีภาพ อิสรภาพในการกำหนดประเด็นที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ต่อสังคม เราควรเป็น Gate Keeper ประตูด่านแรก ที่ช่วยคัดกรองข้อมูลต่างๆ ที่หลั่งไหลสู่สังคม
หากท้ายที่สุดแล้ว อิสรภาพในฐานะนักข่าวหรือสื่อมวลชนยังไม่อาจมีได้ แล้วเราจะกล้าไปทำหน้าที่ในการเป็นกระจก ตะเกียง หรือนิยามอื่นใดในสังคมได้อย่างไร
คำถามที่อยากถามทิ้งท้ายคือ สำนักข่าวคุณได้ยอดวิว ได้ผู้ติดตาม แค่ช่วงเวลาหนึ่ง สังคมได้ค่านิยมใหม่ที่ผิดเพี้ยน ฆาตกรได้แสงและเงินทอง ครอบครัวเหยื่อได้อะไร และสังคมได้อะไรจากปรากฏการณ์ ‘ลุงพลฟีเวอร์’ บ้าง?
ย้ำ, คุณได้ยอดวิว ได้เงิน ได้สปอนเซอร์ แล้วสังคมได้อะไร?
Tags: จินตหรา, ลุงพลป้าแต๋น, สื่อ, สื่อมวลชน, ลุงพล, มาตรฐานสื่อ, เต่างอย