เกือบ 1 เดือนแล้วที่ผู้ให้บริการล่ามแปลภาษามือหรือ TTRS ปิดตัวลงไป เนื่องจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนให้กับล่ามแปลภาษามือและบุคลากรที่อยู่ในศูนย์กว่า 61 ชีวิต ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์สำหรับให้บริการกับคนหูหนวก ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปให้กับบริษัทโทรคมนาคมที่ TTRS ต้องใช้เงินของศูนย์สำรองจ่ายไปก่อน และในขณะนี้พวกเขากำลัง ‘ติดหนี้’ อย่างมหาศาล 

ในขณะที่ กสทช.มีรายได้ 4,000-7,000 ล้านบาทในแต่ละปี มาจากการเก็บเงิน 2.5% จากรายได้ของบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม เรียกได้ว่าเงินไม่เคยขาดมือ แต่การสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับผู้พิการทางการได้ยินกลับเป็นไปได้ยาก ขณะที่ TTRS ดิ้นรนส่งจดหมายไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ของ กสทช.มากกว่า 5 ฉบับ แต่กลับไร้คำตอบที่ชัดเจนถึงเหตุผลของความติดขัดเรื่องงบประมาณ​ 

เมื่อล่ามแปลภาษามือหายไปนั่นเท่ากับว่า การสื่อสารของผู้พิการทางการได้ยินก็จะหายไปด้วย 

“เหมือนย้อนกลับไปสู่ความลำบากอีกครั้ง”

ความในใจของ นับดาว องค์อภิชาติ ที่ส่งผ่านภาษามือสะท้อนถึงมุมมองของผู้พิการทางการได้ยินในประเทศไทยหลังจากศูนย์ TTRS ปิดตัวลง เธอเล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เธอนึกย้อนไปถึงช่วงเวลาที่คนหูหนวกแทบไร้ตัวตน ทั้งการศึกษาที่ต้องเรียนร่วมกับคนหูดีโดยไม่มีล่ามแปลภาษาคอยแปลเนื้อหาให้ ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการอ่านหนังสือและเขียนจนนิ้วเป็นแผลเพื่อเรียนให้ทันกับเพื่อน กระนั้นแม้พยายามมากสักเพียงไหน แต่โอกาสที่นับดาวจะได้ทำตามความฝันยังคงยาก หญิงผู้พิการคนนี้ก็ไม่สามารถเข้าเรียนคณะที่ชอบเพื่อตามความฝันอย่างการเป็นนักเขียนบทละครได้ เนื่องจากคณะดังกล่าวไม่มีล่ามแปลภาษามือ 

“ตอนนั้นยังไม่มีบริการล่ามแปลภาษามืออย่างศูนย์ TTRS เราลำบากมาก” เธอกล่าว “แต่พอรู้จักกับ TTRS แล้วได้ใช้บริการของศูนย์ ชีวิตของเราดีขึ้นมากเลย การจัดการสิ่งต่างๆ รวดเร็วขึ้นมาก จนกระทั่งเวลานี้ที่ศูนย์ปิดบริการล่ามภาษามือ ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังย้อนกลับมาสู่ความลำบาก”

แม้ไม่ได้เป็นคนเขียนบทละครอย่างที่เคยตั้งใจ แต่บทบาทผู้อำนวยการกองประกวด Miss & Mister, Miss Queen, Mrs. Deaf Thailand ซึ่งเป็นเวทีประกวดสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน สร้างความภาคภูมิใจแก่นับดาวในฐานะผู้สร้างพื้นที่ให้กับคนหูหนวกมาโดยตลอด กระทั่ง TTRS ประกาศปิดการให้บริการล่ามแปลภาษามือ ชีวิตของเธอในฐานะผู้พิการ และผู้อำนวยการกองประกวดไป จนถึงชีวิตผู้เข้าประกวด ก็กลับไปสู่ปัญหาอีกครั้ง

“เวทีประกวดของเราใช้ล่ามแปลภาษามือจากศูนย์เพื่อสื่อสารกับผู้สนับสนุน ซึ่งการจัดการประกวดแต่ละครั้ง กองประกวดจะต้องติดต่อกับสปอนเซอร์ เช่น เรื่องการประสานของบประมาณในการจัด การแปลภาษามือของเราเพื่ออธิบายกับผู้สนับสนุนในข้อสงสัยต่างๆ หรือตอนที่เวทีของเรามีข่าวสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ก็ต้องใช้ล่ามแปลให้เป็นคำพูดอธิบายผ่านโทรศัพท์

“ตัวเราไม่สามารถรับสายและคุยเองได้ เพราะเราไม่มีเสียง ขณะเดียวกันผู้ติดต่อก็ไม่รู้ภาษามือ เราเคยขอให้คนที่โทรมาเปลี่ยนไปใช้ LINE หรือ Facebook เพื่อคุยกันเป็นข้อความแทนเพราะเราพิมพ์ได้ แต่พวกเขามักจะไม่ให้ช่องทางเหล่านั้น เมื่อไม่มีคนแปล ความลำบากจึงเกิดขึ้นกับคนหูหนวกทันที” 

เมื่อไร้ล่ามแปลภาษา การสื่อสารของคนหูหนวกกับคนหูดีซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้แปลภาษามือได้จึงถูกตัดขาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมกับการจัดประกวด Miss & Mister, Miss Queen, Mrs. Deaf Thailand ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนใหญ่จากภาคเอกชน เนื่องจากไม่มีล่ามแปลภาษาเป็นสะพานเชื่อมการสื่อสารระหว่างผู้สนับสนุนกับกองประกวด ซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยินเป็นส่วนใหญ่

“หากว่า TTRS ยังคงปิดให้บริการล่ามแปลภาษามือ กิจกรรมบางกิจกรรมการอาจถูกตัดออกไป เหลือไว้บางกิจกรรมที่สำคัญ​ การประกวดของเราก็อาจจะเล็กลง ไปจนถึงสถานการณ์ที่แย่สุดคือการประกวดในปีต่อไปอาจจะถูกยกเลิก” นับดาวพูดด้วยสีหน้าเศร้าหมอง แม้จะเป็นความตั้งใจดีที่จะทำให้ผู้พิการทางการได้ยินมีพื้นที่แสดงตัวตนเหมือนกับคนหูดีในสังคม แต่การจัดประกวดแต่ละครั้งมีต้นทุนที่ต้องจ่าย 

เมื่อถามว่า เหตุใดจึงไม่ใช้บริการล่ามแปลภาษาจากองค์กรภาครัฐเช่น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เธอตอบทันควันว่า “งานของเราเป็นเรื่องของความบันเทิง จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะใช้ล่ามแปลภาษามือได้” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่สะท้อนได้ว่า ภาครัฐมองเห็นความบันเทิงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับคนหูหนวก

ไม่เฉพาะกับเวทีประกวดของนับดาวที่ได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ซึ่งเป็นคนหูหนวกนั้นหนักหน่วงไม่แพ้กัน สะท้อนจากผู้ให้บริการแปลภาษามืออย่าง อัฑฒกาฐ์ เที่ยงปรีชารักษ์ และชนัญชิดา ชีพเสรี ซึ่งให้บริการแปลภาษามือมามากกว่า 10 ปี  

“การเป็นไรเดอร์เขาต้องไปติดต่อกับคนหูดีรับของ-ส่งของ ล่ามเข้ามามีบทบาทตรงนี้แหละ คือ โทร.ไปแปลภาษามือให้เขา เวลาคนหูหนวกเขาหาร้านไม่เจอก็ โทร.หาร้านให้เขาว่าร้านอยู่ตรงไหน ชั้นไหน เมื่อรับของเสร็จแล้วไปถึงที่อยู่ของลูกค้าก็จะ โทร.ให้ลูกค้ามารับของ แม้แต่หาบ้านลูกค้าไม่เจอเขาก็ใช้เรา” ชนัญชิดาระบุ พร้อมเปิดเผยว่า การทำงานของล่ามแปลภาษาของศูนย์ TTRS อยู่ในทุกกระบวนการในการทำงานของไรเดอร์คนหูหนวก 

อัฑฒกาฐ์ซึ่งนั่งให้สัมภาษณ์อยู่ข้างกันกับชนัญชิดาเสริมว่า ในการร้องเรียนปัญหาของกลุ่มไรเดอร์ เช่น มีออเดอร์ผี ไม่มีผู้รับ หรือลูกค้ากลั่นแกล้งให้จัดส่งในพื้นที่ห่างไกลผิดปกติ พวกเขาจะใช้บริการของศูนย์ TTRS เพื่อติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของเจ้าของแพลตฟอร์ม เพื่อแปลภาษามือของไรเดอร์ว่า พวกเขาเจอปัญหาอย่างไร 

ภาพ: thisAble.me

แต่เมื่อไม่มีล่ามแปลภาษามือจากศูนย์ TTRS ซึ่งไรเดอร์คนหูหนวกจำนวนมากใช้บริการ จึงทำให้การร้องเรียนต่อศูนย์เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถอธิบายด้วยเสียงพูดนอกเสียจากการใช้ภาษามือ 

ภาพ: thisAble.me

“เขาอาจจะถูกประเมินจากเจ้าของแพลตฟอร์มว่า ให้บริการแย่จนถูกระงับการเป็นไรเดอร์ ก็คือตกงานนั่นแหละ หรือที่สำคัญคือรายได้ของเขาที่วันหนึ่งเขาอาจจะได้สัก 1,000 บาท อาจจะลดเหลือ 200-300 บาท หรืออย่างการถูกลูกค้าบล็อกทั้งๆ ที่ไรเดอร์ไม่ใช่คนผิด ก็อาจถูกติดแบล็กลิสต์จากเจ้าของแพลตฟอร์มได้อีก” ชนัญชิดากล่าว พร้อมเสริมว่า การเข้าถึงความยุติธรรมในความผิดที่ไรเดอร์คนหูหนวกไม่ได้ผิดนั้นอาจเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้น เนื่องจากไม่มีล่ามแปลภาษามือคอยแปลเพื่อจะอธิบายเหตุการณ์

การติดต่อเพื่อขอรับการรักษาพยาบาลซึ่งก่อนหน้านี้ผู้พิการทางการได้ยินจำเป็นต้องจองล่ามจาก พก.ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้หน่วยงานจัดสรรล่ามเดินทางไปพร้อมกับผู้ขอรับบริการ ซึ่ง TTRS ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการติดต่อสื่อสารทางไกลผ่านโทรศัพท์มือถือจึงเป็นการย่นเวลาการทำงานของล่ามแปลภาษามือลง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเดินทางไปแปลภาษามือบอกอาการเจ็บป่วยถึงโรงพยาบาล 

อย่างไรก็ดีหลังจากศูนย์ TTRS ปิดการให้บริการ ระบบที่จะทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้พิการที่ได้รับการพัฒนามาอย่างดีนี้ถูกปิดไปด้วย คนหูหนวกจึงต้องกลับสู่การขอรับบริการล่ามแปลภาษาจาก พก.ซึ่งอาจมีความจำกัดในปริมาณของบุคลากร เนื่องจากต้องเดินทางไปโรงพยาบาลร่วมกับคนหูหนวกเพื่ออธิบายอาการเจ็บป่วย ขณะที่อัฑฒกาฐ์และชนัญชิดาให้ข้อมูลว่า บางจังหวัดไม่มีศูนย์หรือสมาคมที่ให้บริการล่ามแปลภาษา จึงต้องหยิบยืมล่ามแปลภาษาจากจังหวัดข้างเคียงมาให้บริการแทน ซึ่งทำให้ล่ามแปลภาษาลำบากมากกว่าการให้บริการระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ต 

“ยิ่งการตรวจอาการต่างๆ ที่หนักๆ และต้องตรวจละเอียด การไม่มีล่ามแปลภาษามือไปด้วยมีผลแน่นอน” อัฑฒกาฐ์กล่าว ก่อนที่ชนัญชิดาจะเสริมว่า “เราเคยเจอคนหูหนวกที่เขาต้องกินยาเบาหวาน ซึ่งคุณหมอให้ยาเป็นถุงใหญ่ๆ พอคุณหมอนัดให้มานับยาที่เหลือก็เจอว่า เขากินยาไม่ครบ หรือบางคนกินเกิน หมอก็ต้องนั่งสอนการกินยาใหม่อีกรอบ มานั่งบอกใหม่ว่าเม็ดนี้กินตอนเช้า อันนี้กินตอนเย็นเท่านั้น หากไม่มีล่าม คนหูหนวกอาจจะกินยาผิด ซึ่งมันอันตรายมาก

“อย่างยาเม็ดที่เขาเอาไว้สอด ถ้าไม่มีล่ามแปลภาษามือไปอธิบายให้เขา เขาก็อาจจะคิดว่าเป็นยาเอาไว้สำหรับกิน เพราะเขาเห็นเป็นเม็ดไง เรื่องนี้มันเหมือนเป็นจุดเล็กๆ แต่มันเป็นชีวิตของเขา” ชนัญชิดาอธิบาย

ก่อนการปิดตัว ล่ามแปลภาษามือของ TTRS มีจำนวน 40 คน ซึ่งต้องรับสายโทรศัพท์ของผู้พิการทางการได้ยินกว่า 1,200-1,600 สายต่อวัน มีผู้ใช้บริการในวัตถุประสงค์ที่หลากหลายแตกต่างกันไปทั้งการพูดคุยกับครอบครัวถามสารทุกข์สุขดิบของพ่อแม่ ครอบครัวคุยกับลูกเพื่อปรับความเข้าใจกับเรื่องในอดีตที่ยังไม่มีคำอธิบาย รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าขอชีวิตอย่างการสมัครงานและการเข้ารับการศึกษาต่อ 

“หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมคนหูหนวกถึงไปพึ่งงบ กสทช.ล่ะ เราอยากจะบอกว่า การติดต่อสื่อสารเป็นสิทธิของคนหูหนวกนะ คนหูหนวกเขาใช้เสียงไม่ได้ก็จริงแต่เขามีโทรศัพท์ เขาใช้สัญญาณโทรศัพท์เพื่อที่จะติดต่อล่ามให้ช่วยแปลตอนที่เขาจะพูด ดังนั้นนี่คือสิ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กสทช. คนทุกคนควรมีสิทธิที่จะพูดอย่างเท่ากัน” ชนัญชิดระบุ “เขาก็คือประชาชนของประเทศไทย แล้วยิ่งเขามีความพิการเป็นข้อจำกัดของเขา คุณจะไม่เติมเต็มสิ่งนี้เหรอ มันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาเลย มันคือโอกาสของเขา”

โอกาสที่ว่า หมายถึง โอกาสในการจะเติบโตในชีวิต 

โอกาสที่จะมีรายได้อย่างเท่าเทียม 

โอกาสที่จะเข้าถึงความยุติธรรม 

แม้ผู้พิการทางการได้ยินและผู้ที่ไม่สามารถพูดได้เนื่องจากความบกพร่องทางร่างกายจะไม่สามารถ ‘ใช้เสียง’ เปล่งความต้องการและสื่อสารสิ่งที่พวกเขาคิดได้ แต่พวกเขามีภาษามือเป็นภาษาแม่ และเสมือนกับการใช้คนละภาษา ภาษามือย่อมต้องมีผู้แปล เพื่อสื่อสารกับบุคคลทั่วไปให้เข้าใจพวกเขา ดังนั้นการสนับสนุนที่ไม่ต่อเนื่องจาก กสทช.อาจตีความได้ว่า พวกเขากำลังมองว่า การสื่อสารไม่สำคัญกับผู้พิการเหล่านี้ใช่หรือไม่ ยังคงเป็นประเด็นที่ติดค้างอยู่ในใจผู้พิการหลายคน 

ขอขอบคุณ 

กนกอร วงษ์คำหาญ และสิริปภา จันนุบิน เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสาร (ล่ามภาษามือ)

Tags: , , , , , ,