“คนไม่เข้าใจไม่เคยเห็นตอนผมสร้างธุรกิจ เพราะไม่มีใครสนใจทำ มาเห็นตอนที่ธุรกิจของผมสำเร็จแล้ว จึงคิดว่าซีพี ‘ผูกขาด’ ผมจึงต้องคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา พนักงานซีพีทุกคนรู้ดีว่าเราต้องเร็วและมีคุณภาพ เพราะยุคนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ทุกอย่างมีเป้าหมาย มีเวลา”

ข้อความบางส่วนจากหนังสือ ‘ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว’ ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ 

หากพูดถึง ‘ซีพี’ หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ หลายคนอาจมองเห็นภาพความสำเร็จในการทำธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ทว่าสำหรับคนจำนวนไม่น้อยกลับมองว่านี่คือการ ‘ผูกขาด’ แต่สำหรับซีพีเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ห่วงโซ่คุณค่าของเครือเจริญโภคภัณฑ์’ และอธิบายไว้ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ค้าปลีก สื่อสารและโทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซและดิจิทัล อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์อุตสาหกรรม ยาและเวชภัณฑ์ ไปจนถึงการเงินและการธนาคาร พูดง่ายๆ คือตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เกิดยันตาย ล้วนมีกิจการของซีพีครอบคลุมอยู่เสมอ 

จริงอยู่ที่พื้นฐานการเป็นปลาใหญ่และปลาเร็วไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือปลาตัวใหญ่ได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่หรืออิทธิพล ในการกินปลาเล็กอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ มีการแข่งขันการตลาดที่เท่าเทียมหรือไม่ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายทางการค้าหรือไม่ต่างหาก

‘114’ คือจำนวนตัวเลขการควบรวมธุรกิจตั้งแต่ปี 2562-2565 (ไม่รวมดีลควบรวมธุรกิจทรูและดีแทค ที่มีกฎหมายเฉพาะภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีการควบรวมกิจการหลายสาขาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2565 มีจำนวนการควบรวมมากถึง 42 กรณี แบ่งเป็นการขออนุญาตควบรวม 3 กรณี คิดเป็นมูลค่า 249,736 ล้านบาท และแจ้งเพื่อทราบอีก 39 กรณี เป็นมูลค่า 431,989 ล้านบาท 

แน่นอนว่าตัวเลขมูลค่าการควบรวมดังกล่าว กองอยู่ที่ธุรกิจวงศ์วานของ ‘เจ้าสัว’ เป็นส่วนใหญ่

The Momentum หยิบยก 10 ดีลธุรกิจ จากจำนวนการควบรวมของบรรดาปลาใหญ่และปลาเร็วที่ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวว่านี่ไม่ใช่การ ‘ผูกขาด’ ไว้ดังนี้ 

1. ซีพี ควบรวม เทสโก้ 

เดือนมีนาคม 2563 บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทลูกในเครือซีพี ยื่นขอควบรวมกิจการบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยมูลค่ากว่า 1.06 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3.38 แสนล้านบาท

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือบอร์ด กขค. อนุญาตให้ซีพีควบรวมได้ในมติ 4 ต่อ 3 จากเอกสารชี้แจงสื่อมวลชนเสียงข้างมากในบอร์ด กขค. ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่าการควบรวมธุรกิจดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกของซีพีมีอำนาจเหนือตลาด และจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น หากแต่ไม่ใช่การ ‘ผูกขาด‘ พร้อมกับมองว่ามีความจำเป็นในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภคส่วนรวม

กระนั้นเอง ความเห็นส่วนน้อยของ กขค. นำโดย สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธาน กขค. และกรรมการอีก 2 คนคือ สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และอร่ามศรี รุพันธ์ ระบุว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคู่แข่ง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อาจไม่สามารถปรับตัวได้จะต้องออกจากตลาด ในที่สุดจะส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคที่ลดน้อยลง แม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภค ทั้งในด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก 

2. ทรู ควบรวม ดีแทค

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู ควบรวมบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค หรือหมายรวมว่าบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ 2 รายนั้นสมาสกัน ภายหลังที่ กสทช. ได้ไฟเขียวให้ควบรวมกิจการได้ ทั้งสองบริษัทได้ประชุมและเปลี่ยนชื่อบริษัทหลังควบรวมว่า ‘ทรูคอร์ปอเรชั่น’ หรือชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์คือ ‘TRUE’ 

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพียง 3 รายใหญ่ คือบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AIS, TRUE และ DTAC ซึ่งสามบริษัทครองสัดส่วนตลาดประมาณ 97% ในส่วนที่เหลือเป็นของโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รัฐวิสาหกิจที่เกิดจากการควบรวมระหว่าง CAT กับ TOT 

จากการควบรวมดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเหลือผู้ให้บริการเพียงสองทางเลือก นอกจากการผูกขาดทางการตลาดที่มีผู้เล่นลดลงแล้ว ในอนาคตก็จะส่งผลให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ได้ยากมากขึ้น เหล่านี้ยังไม่รวมผลกระทบต่อผู้บริโภคอีกหลายด้าน เช่น โครงสร้างตลาดที่กระจุกตัวไม่มีการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือในราคาที่แพงมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนตัว

3. กัลฟ์ ซื้อหุ้น ไทยคม 

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF บริษัทพลังงานรายใหญ่ภายใต้ สารัชถ์ รัตนาวะดี ‘เจ้าสัวพลังงาน’ ที่ร่ำรวยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เข้าซื้อบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM จากบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในมูลค่ารวม 10,873 ล้านบาท ส่งผลให้วันที่ 6 มกราคม 2566 กัลฟ์กลายเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไทยคม 100% ทั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่กัลฟ์เป็นเจ้าของ AIS บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ไปแล้วก่อนหน้า

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในประเด็นพยายามฮุบดาวเทียมไทยคม เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่ชัยวุฒิมีความสนิทสนม

ในตอนหนึ่งของการอภิปราย รังสิมันต์ได้เปิดไทม์ไลน์ของกัลฟ์ ซึ่งชัยวุฒิเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ พยายามทยอยซื้อหุ้นในบริษัทอินทัชมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังที่ชัยวุฒิรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ซึ่งรังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลประโยชน์ในลักษณะ ‘ต่างตอบแทน’ หรือไม่?

นอกจากนี้ กัลฟ์ยังเคยเป็นผู้บริจาคให้กับมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน กว่า 5 ล้านบาท โดยรังสิมันต์กล่าวว่าพลเอกประวิตรได้เอื้อประโยชน์ให้กับกัลฟ์อยู่หลายครั้ง และก็น่าตั้งคำถามต่อว่าพลเอกประวิตรเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

ขณะเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามเอื้อประโยชน์ให้ ‘ไทยคม’ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ผูกขาดธุรกิจดาวเทียมต่อไปหรือไม่ ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 60 กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ผลจากการอภิปรายทำให้โรมถูกกัลฟ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายคดีหมิ่นประมาท ทำให้เกิดความเสียหาย ด้วยอัตรากว่า 100 ล้านบาท

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่ากัลฟ์อาจขยายปริมณฑลการทำธุรกิจไปในเรื่องของ Data และโลกของโทรคมนาคม กำลังเป็นโลกใหม่ที่สารัชถ์และกัลฟ์กำลังสยายปีกออกไป เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจพลังงานที่วันนี้ ‘อยู่ตัว’ แล้ว 

อ่าน อนุญาโตฯ ดาวเทียม และไทยคม ‘โรม’ พูดถึงอะไร ในการอภิปราย ‘ทะลุเพดาน’ ต่อที่: https://www.facebook.com/themomentumco/photos/a.1656358487989182/2779591755665844/ 

4. เอไอเอส ควบรวม 3BB และ JASIF

เอไอเอสประกาศเข้าซื้อหุ้น 99.87% ของทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3BB เป็นเงินมูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท และลงทุนใน JASIF จำนวน 19% คิดเป็นมูลค่า 1.29 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน

หลายคนอาจบอกว่านี่คือการเอาคืนของเอไอเอส แต่แท้จริงแล้วนี่คือเคราะห์ซ้ำกรรมซากของผู้บริโภคต่างหาก 

ปกติแล้วประเทศไทยมีผู้ให้บริการเน็ตบ้านจำนวน 4 ราย คือบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TICC (ผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดและเป็นบริษัทกลุ่ม TRUE) มีส่วนแบ่งการตลาด 35.6% รองลงมาคือ 3BB มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 28.3% อันดับ 3 คือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มีส่วนแบ่งตลาด 19.9% และอันดับ 4 คือ AIS การควบรวมครั้งนี้ ส่งผลให้ AIS กลายเป็นผู้ให้บริการเน็ตบ้านรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

5. บางจาก ควบรวม เอสโซ่ 

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 65.99% ของหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. หรือ ExxonMobil ด้วยมูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท 

ดีลครั้งนี้ส่งผลให้จำนวนผู้ให้บริการการกลั่นน้ำมันลดลงจากเดิมที่มี 4 บริษัท เหลือเพียง 3 บริษัทเท่านั้น หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าคือการผูกขาดและอาจเข้านิยามผู้มีอำนาจเหนือตลาด ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งตรงกับกรณีที่ 2 คือการมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกัน 75% และมียอดเงินภายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้ามีผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึง 10% ก็จะได้รับการยกเว้นไม่เข้าเกณฑ์การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

เนื่องจากหลังการควบรวมทำให้บางจากมีสัดส่วนตลาดสูงถึง 75% นอกจากนี้บางจากยังกลายเป็นผู้มีกำลังในการผลิตน้ำมันกลั่นจำนวน 2.94 แสนบาร์เรลต่อวัน กลายเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดของไทย และจะมีปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับปั๊ม ปตท. 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวว่านี่ไม่ใช่การผูกขาดธุรกิจ แต่เป็นการทำให้บางจากสามารถให้บริการด้านการตลาดที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นได้

6. ทีเอ็มบี ควบรวม ธนชาต

วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต ได้แถลงการควบรวมกิจการระหว่างสองธนาคาร ภายใต้ชื่อใหม่ ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ (TMB Thanachart มีโลโก้คือ ttb ) การควบรวมครั้งนี้ส่งผลให้ทั้งสองธนาคารมีทรัพย์สินรวมกันถึง 2 ล้านล้านบาทและมีลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคน 

หากนำสินทรัพย์ก่อนการควบรวมของทั้งสองธนาคารมารวมกันจะพบว่า มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 10.01% หรือ 2,031,476 ล้านบาท การควบรวมครั้งนี้จึงทำให้ทีเอ็มบีธนชาตก้าวสู่ธนาคารใหญ่ 1 ใน 6 ของประเทศ 

7. ธนาคารกสิกรไทย ซื้อหุ้น ธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 กสิกร วิชั่น ไฟแนลเชียล บริษัทย่อยของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank เข้าซื้อหุ้นของธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk ประเทศอินโดนีเซีย สัดส่วน 67.50% มูลค่า 7,500 ล้านบาท การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ทำให้ธนาคารกสิกรไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สามารถประกอบธุรกิจพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซียได้ 

การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ถือเป็นก้าวใหญ่ที่เป็นไปตามกลยุทธ์การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคของธนาคารกสิกรไทย

8. ปตท. ซื้อหุ้น Lotus Pharmaceutical 

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท อัลโวเจน อีเมอร์จิง มาร์เก็ต โฮลดิ้ง จำกัด (Alvogen Emerging Markets Holdings Limited: AEMH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลัก Lotus Pharmaceutical บริษัทยาชั้นนำระดับโลกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน มูลค่าการซื้อหุ้นอยู่ที่ประมาณ 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 15,936 ล้านบาท) ส่งผลให้ ปตท. กลายเป็นผู้ผลิตยาแบบครบวงจรระดับโลก โดยเฉพาะโรคมะเร็งและระบบประสาท เป็นการแตกไลน์เพิ่มเติมจากธุรกิจด้านพลังงานไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ 

9. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซื้อกิจการ บล.โนมูระ พัฒนสิน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซื้อหุ้นในอัตรา 99.1% ของบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) (CNS) จาก Nomura Asia Investment (Singapore) Pte. Ltd. (NAIS) และธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะรับซื้อหุ้นที่เหลือของ CNS จากผู้ถือหุ้นรายย่อยของ CNS ในราคาเดียวกัน โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 5,501 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.416 บาท ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2565) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในด้านโบรกเกอร์ให้องค์กร

10. SCGL รวมกิจการกับ JWD 

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ให้เข้ารวมกิจการกับบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) บริษัทลูกของ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) 

ภายหลังการดำเนินการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/66 ภายหลังการรวมกิจการจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. เอสซีจีเจดับเบิ้ลยูดีโลจิสติกส์ (SCGJWD) การรวมกันครั้งนี้จะทำให้ SCGJWD ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน (ASEAN Leading Logistics and Supply Chain Provider) 

ที่มา

https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1034398

https://www.bbc.com/thai/articles/cz4lg3y2xd7o

https://workpointtoday.com/bangjak-esso-deal/

https://www.prachachat.net/economy/news-1182293

https://mgronline.com/columnist/detail/9640000044504

https://mgronline.com/business/detail/9660000003546

https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1042092

https://www.prachachat.net/economy/news-966029

https://www.bangkokbiznews.com/business/1013002?ant=

Tags: , , , ,