มาจนถึงตอนนี้เวลาของรัฐบาลเฉพาะกิจ ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยล่วงเลยมากว่า 1 ปีเศษ หลายครั้งเกิดแรงกระเพื่อมสั่นคลอนการบริหารราชการแผ่นดินของพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย
ไม่ว่าจะมองย้อนกลับไปในกรณี ‘แก้ไขกฎหมายประชามติ’ เพื่อนำไปสู่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ปรากฏความว่า เสียงจากสภาสูงกลับลำการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติจากสภาล่าง ให้คงไว้ซึ่ง ‘เสียงข้างมากสองชั้น’ (Double Majority) ทำให้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยกว่า 65 คนงดออกเสียงในมติที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาส่งกลับมา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต่าง ‘เห็นด้วย’ ยืนยันหลักการทั้งหมด
อีกนัยหนึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ปัจจุบันเสียงวุฒิสภานั้นเป็น ‘ส.ว.สายสีน้ำเงิน’ เสียส่วนใหญ่ ซึ่งมีอำนาจในการคัดกรองกฎหมายที่ส่งมาจากสภาล่าง
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 พรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณแทงกลับไปยังพรรคภูมิใจไทยโดยตรงอีกครั้ง กับกรณีข้อพิพาท ‘ที่ดินเขากระโดง’ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนใหม่ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน โดยอ้างว่าเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของ รฟท.มาตั้งแต่ปี 2462 ซึ่งประเทศยังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากเป็นที่ดินของ รฟท. แม้กระทั่งตารางวาก็จะเสียไปไม่ได้” สุริยะลั่นวาจาต่อสื่อมวลชน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2513 รฟท.มีข้อพิพาทกับชัย ชิดชอบ บิดาของ เนวิน ชิดชอบ ผู้มีอิทธิพลของพรรคภูมิใจไทย กรณีบุกรุกพื้นที่เขากระโดง แม้ว่าจะมีผลการเจรจาออกมาว่า กรรมสิทธิ์ของที่ดินนั้นเป็นของ รฟท.และได้ออกหนังสือขออาศัย
ต่อมาในปี 2515 มีการออกโฉนดที่ดินและนำไปขายทอดตลาดให้กับนักการเมืองตระกูลดัง จนทำให้เกิดข้อพิพาทมาจนถึงปัจจุบัน
หากวิเคราะห์กันให้ดี เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทั้งคู่มีสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลถึงต้องจิกหัวตบตีกันอยู่หลายครั้ง คำตอบคงไม่ยากเกินไป นั่นเป็นเพราะในสนามการเมืองภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มี ส.ส.มากที่สุดในประเทศที่ 133 เสียง
ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาเป็นพรรคเพื่อไทยที่ยังครองแชมป์อยู่ที่ 75 เสียง ตามมาด้วยพรรคภูมิใจไทยที่ 35 เสียง โดยมีพรรคประชาชน ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นพรรคก้าวไกลกลายเป็น ‘ม้ามืด’ ของสนามภาคอีสาน ที่สามารถดึงคะแนนเสียงคนเสื้อแดงมาเป็นกอบเป็นกำ ส่งผลให้ฝันของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการกวาด ส.ส. 110 ที่นั่งสลายไปในที่สุด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกรอบ พรรคใดก็แล้วแต่ที่ครองภาคอีสานได้ พรรคนั้นจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งและนับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ภาคอีสานก็ไม่เคยเป็นของพรรคอื่นอีกเลย
แต่รอบนี้มีข้อพิจารณาหลายประการ ซึ่งประการแรกคือ การเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของพรรคภูมิใจไทยที่มีตัวเลข ส.ส.จาก ‘บ้านใหญ่’ เพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ และโสามารถใช้ ‘พลังดูด’ ที่ทรงพลัง ดูดบ้านใหญ่จากหลายพรรคให้เข้ามาอยู่กับตัวเองได้
ประการที่ 2 คือการ ‘เปลี่ยนขั้ว’ ของพรรคเพื่อไทย ที่รอบนี้ย้ายไปจับมือกับบรรดา ‘ลุง’ ที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมายาวนาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยรับไม่ได้ ตัดสินใจข้ามไปเลือกพรรคก้าวไกล
นั่นจึงทำให้พรรคก้าวไกล เริ่มมี ส.ส.ในจังหวัดนครราชสีมา และ ส.ส.ในจังหวัดขอนแก่น ทั้งยังสามารถปักธงในเขตเมืองที่จังหวัดอุดรธานี เมืองหลวงของคนเสื้อแดงได้สำเร็จ อีกทั้งยังได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้เป็นกอบเป็นกำ
แม้ในพื้นที่อุดรธานีรอบนี้ ทุกฝ่ายจะคาดหมายกันว่าพรรคประชาชนเป็นรอง แต่หากปล่อยไปเรื่อยๆ พรรคเพื่อไทยอาจเสียพื้นที่ในเขตเมืองของหลายจังหวัดภาคอีสานได้ในการเลือกตั้งใหญ่
จึงไม่แปลกที่รอบนี้พรรคเพื่อไทยเจอศึกขนาบข้าง ข้างหนึ่งคือมิตรร่วมรัฐบาลอย่างเนวิน และพรรคภูมิใจไทย ขณะที่อีกข้างหนึ่งคืออดีตมิตรพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมอย่างพรรคประชาชน
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย ต้องออกโรงด้วยตัวเองหลังจากห่างหายจากหน้าข่าวไปหลายเดือน รับงานเป็นผู้ช่วยหาเสียงในศึกการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในภาคอีสานตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา
ภารกิจกอบกู้พรรคเพื่อไทยให้กลับมา ‘แข็งแรง’ กลายเป็นภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ไม่เพียงแต่สู้กับพรรคประชาชนเท่านั้น ในอีกขา ‘บ้านใหญ่’ ที่นับวันพรรคภูมิใจไทยจะแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ อนุทิน ชาญวีรกูล นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจดูแลการปกครองระดับท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ
ขณะเดียวกันในสถานะที่การเมืองภาพใหญ่ ‘จืดจาง’ นโยบายหลายนโยบายไม่ได้เข้มข้นเท่าที่ควร และภาพของหัวหน้าพรรค ภาพของผู้นำรัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองที่เข้มข้น ทักษิณจึงต้องปรากฏตัวเรียกมวลชนเดิมๆ กลับมา ให้พรรคเพื่อไทยคึกคักและเข้มแข็งอีกครั้ง
ฉะนั้นภาพของการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้ จึงไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งนายก อบจ.อย่างเดียว แต่คือภาพแสดงไปยังการเมืองระดับชาติว่า พรรคนี้ยังคง ‘มีของ’ อยู่ แม้จะไม่ได้มีเลือดประชาธิปไตยเข้มข้นเหมือนเดิม แต่ภาพการมอง ‘อนาคต’ การโชว์วิสัยทัศน์แบบทักษิณนั้น ยังไม่หายไปไหน
ซึ่งแตกต่างจากพรรคภูมิใจไทย ที่แม้จะมีบ้านใหญ่ มีกระสุนคงคลังเต็มที่ แต่นโยบายภาพใหญ่ไม่มีใครจดจำ มีแต่ภาพของการ ‘รอเสียบ’ เป็นรัฐบาลเท่านั้น
แน่นอนว่าปี่กลองของการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ยังคงดำเนินต่อไป สนามหน้าเป็นสนามการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี อีกหนึ่งหัวเมืองใหญ่ของอีสาน โดยสนามดังกล่าวนั้นจะเป็นการแข่งขันของทั้ง 3 ก๊กทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น กานต์ กัลป์ตินันท์ อดีตนายก อบจ.สมัยที่แล้ว ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย, สิทธิพล เลาหะวนิช รองนายก อบจ.สมัยที่แล้ว ลงสมัครในนามพรรคประชาชน และจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล เจ้าของโรงงานแป้งมันที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย
สื่อหลายสำนักประเมินว่า ในสนามแข่งขันที่จังหวัดอุบลราชธานี ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทยน่าจะลงไปช่วยหาเสียงด้วยตนเองเช่นเดียวกัน เพื่อพิสูจน์ให้อำนาจนำเห็นว่า ต้องเป็นพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย ที่มีความเข้มแข็งมากเพียงพอที่จะสกัดกั้นพรรคประชาชน
เพราะหากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ จะทำให้สูญเสียภาคอีสาน ซึ่งอาจหมายถึงการสูญเสียพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ในวันที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็น ‘เบอร์หนึ่ง’ อีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ ‘สถานะพิเศษ’ ของทักษิณวันนี้หายไป
ฉะนั้นตัวเลข 200 ส.ส.ของทักษิณจึงมีความหมาย หาใช่เป้าหมาย ‘แลนด์สไลด์’ เหมือนครั้งก่อน แต่คือการเป็น ‘หัวหอก’ ในการตั้งรัฐบาลอีกครั้ง
เป็นรัฐบาลแบบไหนก็ได้ที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล คนของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ยังคงองคาพยพเดิม จับมือ กอดคอ (แบบระวังหลัง) กันต่อไปเหมือนเดิม
เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้ฝ่ายอนุรักษนิยมยังคง ‘ไว้ใจ’ ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่สามารถดึงดูดคะแนนนิยมจากพรรคประชาชนได้
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยก็จะใช้โอกาสนี้ ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้รับความไว้ใจในลักษณะใกล้เคียงกัน และทำให้เห็นว่า พวกเขาไม่ใช่อันดับสองอีกต่อไปแล้ว
เป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวรอย่างแท้จริง
Tags: The Momentum ANALYSIS, พรรคประชาชน, เลือกตั้งอบจ, อุดรธานี, เพื่อไทย, ภูมิใจไทย, ทักษิณ