“พวกเธอจะเอาแต่เที่ยวตลอดไปไม่ได้หรอกนะ เมื่อไรจะเข้ามหา’ลัยหรือหางานทำสักที

พวกเรากำลังสอนหนังสือเด็กๆ ที่เมืองสักเมืองในประเทศไทย โดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพแหละ”

(You guys can’t just travel forever, when are you gonna go uni or get a job?

us in a random town in Thailand teaching kids with no qualifications)

ประโยคข้างต้น คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในคลิป TikTok ของเด็กสาวชาวต่างชาติ 2 คน ที่แสดงท่าทีล้อเลียนเกี่ยวกับการเข้ามาเป็น ‘ครูสอนภาษาอังกฤษ’ ในไทยว่า เป็นเรื่องที่ง่ายดายแม้จะขาดคุณสมบัติ 

คลิปดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ยับในสื่อสังคมออนไลน์ มีหลายเสียงที่พยายามเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบ บางคนก็พยายามตรวจสอบด้วยตัวเองผ่านการติดต่อไปยังโรงเรียนต้นเรื่อง รวมถึงมีหลายคนตั้งคำถามว่า การเข้ามาเป็นครูสอนภาษาในไทยสำหรับชาวต่างชาติ เป็นเรื่องง่ายดายขนาดนั้นเลยหรือ? 

ย้อนไปช่วงกลางเดือนกันยายน 2566 หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงในวงกว้าง ก็มีเรื่องของ ‘ช่างตัดผม’ ที่เป็น ‘ชาวต่างชาติ’ เช่นเดียวกัน โดยในตอนนั้น ชาวทวิตเตอร์บางส่วนออกมาแบ่งปันประสบการณ์ และให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ชอบใช้บริการช่างตัดผมชาวต่างชาติ เช่น ช่างชาวญี่ปุ่นหรือชาวเกาหลี มากกว่าช่างชาวไทย เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นมีฝีมือดีและมีประสบการณ์มากกว่าช่างชาวไทย จึงสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นช่างตัดผมในไทย ขณะที่อีกฝั่งกลับต่อต้านอย่างสุดใจขาดดิ้น เพราะว่าช่างตัดผมเป็นอาชีพที่ ‘สงวน’ ไว้ให้แค่คนไทยทำเท่านั้น ซึ่งการยิ่งสนับสนุนให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยก็ยิ่งทำให้แรงงานไทยขาดโอกาส มากไปถึงทำให้ช่างตัดผมไทยยิ่งถูก ‘กดค่าแรง’ ให้ต่ำ 

สองเหตุการณ์นี้มีความคล้ายกันในส่วนที่ ‘ชาวต่างชาติ’ เข้ามาประกอบอาชีพในไทยอย่างง่ายดาย โดยที่กฎหมายแรงงานหละหลวมจนทำให้เกิดกรณีเช่นนี้ได้บ่อยครั้ง แถมยังได้ค่าแรงที่สูงกว่าคนไทย

The Momentum ชวนย้อนดูถึง ‘ต้นตอ’ ของปัญหา และ ‘ช่องโหว่’ ในมาตรฐานของแรงงานต่างชาติในไทยผ่านประเด็นเหล่านี้

ปัญหาว่าด้วยการแบ่ง ‘Skilled Labour’ และ ‘Unskilled Labour’ ในการระบุประเภทแรงงานไทย

นอกจากความคล้ายที่กล่าวไปข้างต้น อีกหนึ่งประเด็นคือทั้งสองอาชีพทั้งช่างตัดผมและครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นอาชีพที่ถูกนับว่าเป็น ‘แรงงานมีทักษะ’ (Skilled Labour) ส่วนนิยามของ ‘แรงงานไร้ทักษะ’ (Unskilled Labour) จากงานวิจัยของศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ระบุว่า “เป็นแรงงานที่ไม่มีความรู้ด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะ” และอาจพ่วงมาด้วยการมี ‘สิ่งรับรอง’ อย่างเช่นใบประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตประกอบอาชีพ 

อย่างไรก็ตาม การแบ่งแรงงานออกเป็นแรงงานไร้ทักษะและมีทักษะ ก็เกิดเป็นคำถามสำคัญต่อมาว่า แล้วเส้นแบ่งของความ ‘มีทักษะ’ คืออะไร เพราะไม่ว่าเราจะทำงานประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ก็ล้วนใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทั้งสิ้น

‘ข้อกังขา’ ของ ‘บรรทัดฐาน’ แรงงานต่างชาติในไทย

กรณีของ ‘ครูสอนภาษาอังกฤษ’ อาชีพนี้อาจไม่มีปัญหาในแง่ของการจัดประเภทว่า ‘มีฝีมือ’ หรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ครูไทย’ หรือ ‘ครูต่างชาติ (ที่ไม่ใช่คนขาว)’ มักถูกมองว่า ไม่สามารถสอนภาษาอังกฤษได้ดีเท่าผู้สอนที่เป็นเจ้าของภาษา (Native Speaker) ซึ่งต่อเนื่องมาด้วยการได้ค่ารับค่าตอบแทนที่ต่างกันมาก 

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึง ‘อัตราการจ้างลูกจ้างต่างประเทศ’ ในอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งมีอัตราตั้งแต่ 17,690-25,190 บาท ในการสอนภาษาต่างประเทศระดับมัธยมศึกษา 20,780-30,790 บาท ในการสอนภาษาอังกฤษในระดับปริญญาหรืออนุปริญญา และสุดท้าย 25,530-36,410 บาท ในการสอนระดับบัณฑิตวิทยาลัย

หรือในกรณีที่สถานศึกษา ‘ไม่สามารถ’ จัดหาครูชาวต่างประเทศให้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เหมาะกับการเรียนการสอนของนักเรียนได้ ให้สถานศึกษาพิจารณาค่าจ้างที่ได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลางเพิ่มเติม โดยระบุว่า

สอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อัตราจ้างไม่เกินเดือนละ 30,000 บาทต่อราย

สอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อัตราจ้างไม่เกินเดือนละ 40,000 บาทต่อราย

หรือถ้าหากยังหาครูชาวต่างชาติที่มีคุณภาพและคุณลักษณะตรงตามหลักสูตรการเรียนการสอนได้ สถานศึกษาสามารถพิจารณาอัตราจ้างเพิ่มได้ตามความเหมาะสม ในอัตราไม่เกินเดือนละ 60,000 บาทต่อราย

ทั้งหมดนี้ถือความเป็นไปได้ ‘สูงสุด’ ของเงินเดือนของครูชาวต่างชาติ

ในขณะที่ครูไทย ในฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีเงินเดือนเริ่มต้นเพียง 15,050 บาทเท่านั้น

สำหรับกรณี ‘ช่างตัดผม’ ก็มักมีภาพจำที่ไม่ต่างกัน อาจด้วยช่างทำผมญี่ปุ่นหรือเกาหลี มีภาพจำว่าเป็นประเทศที่เป็น ‘ผู้นำแฟชั่น’ ช่างทำผมจึงได้รับการนับหน้าถือตาและเชื่อใจจากเหล่าลูกค้ามากกว่าช่างตัดผมชาวไทย ต่อเนื่องมาด้วยค่าตอบแทนที่สูงมากเช่นกัน ดังเห็นได้จากการที่ช่างตัดผมต่างชาติมักประจำการอยู่ในย่านทองหล่อ เอกมัย อโศก ฯลฯ ที่เป็นย่านของชนชั้นกลางระดับบน ที่ร้านเหล่านั้นมักมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่หลักพันขึ้นไป

ถึงช่างตัดผมจะเป็น ‘อาชีพสงวน’ ที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาว่า เป็นอาชีพที่ให้เพียงคนไทยทำแต่เพียงเท่านั้น แต่ก็ยังคงมีชาวต่างชาติเล็ดลอดทำอาชีพนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่หมดไป

ทั้งนี้ อาชีพสงวนที่ว่า หมายถึงงานที่สงวนให้คนไทยทำเท่านั้น คนต่างชาติห้ามทำเด็ดขาด โดยเริ่มต้นกำหนดใช้ตั้งแต่ปี 2522 ในพระราชกิจจานุเบกษา พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ซึ่งระบุไว้ถึง 39 อาชีพ และ ‘งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย’ เป็นหนึ่งในนั้น และยังมีอาชีพที่น่าสนใจมากมาย เช่น งานนายหน้าหรืองานตัวแทน งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว และงานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ

แล้ว ‘จุดสมดุล’ ในขอบเขตของแรงงานต่างชาติควรอยู่ตรงไหน ?

สำหรับกรณีช่างตัดผม เอาเข้าจริง ในความคิดแวบแรกตอนที่เห็นประเด็นนี้อาจมีความคิดทำนองที่คล้อยตามว่า การมีอาชีพสงวนนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเป็นการกัน ‘อาชีพ’ บางส่วนไว้ว่าเป็นอาชีพที่มีแค่คนไทยเท่านั้นที่ทำได้

แต่หากลองมองให้ลึกขึ้นก็อาจพบว่า ที่จริงแล้วการมีอาชีพสงวนก็ไม่ได้แก้ปัญหาการจ้างงานของคนไทยเท่าไร มิหนำซ้ำการดึงแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานและเก็บภาษีอย่างถูกต้องอาจเป็นเรื่องที่ดีและควรทำมากกว่า

ส่วนอาชีพ ‘ครูสอนภาษา’ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในตอนนี้ อาจเป็นการยกระดับการตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของคุณสมบัติ ใบรับรองคุณวุฒิ หรือใบประกอบวิชาชีพ

และในขณะเดียวกัน ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่เช่นนี้ เราก็อาจคาดหวังนโยบายที่ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานชาวไทยจากภาครัฐได้เช่นกัน ทั้งในแง่ของการต่อยอดทักษะแรงงาน และการเสริมสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพต่างๆ ให้กับคนไทย มากกว่าการจะมาแบ่งแยกว่าอาชีพไหนใครทำได้ไม่ได้

ที่มา:

https://bitly.ws/VUdu

https://bitly.ws/VUed

https://bitly.ws/VUeo

https://bitly.ws/VUew

https://bitly.ws/VUeD

https://bitly.ws/VUeQ

https://bitly.ws/VUeW

Tags: , , , ,