‘บ้านเพื่อคนไทย’ นับเป็นก้าวสำคัญของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการให้คนไทยผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตัวเอง โดยเปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิโครงการพร้อมกันทั่วประเทศใน 4 ทำเล ได้แก่ บางซื่อ ธนบุรี เชียงราก และเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา

อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยนำเสนอโครงการที่อยู่อาศัยราคาประหยัด (Affordable Housing) ให้ประชาชนชาวไทยผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่เป็นของตัวเอง แต่ยังมีอีกโครงการที่เกิดขึ้นเมื่อราว 21 ปีที่แล้ว นั่นคือโครงการ ‘บ้านเอื้ออาทร’ 

‘โครงการบ้านเอื้ออาทร’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านล้านหลังของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ภายในโครงการบ้านล้านหลังประกอบด้วยโครงการย่อยๆ ได้แก่ โครงการจัดทำบ้านเอื้ออาทร 6 แสนยูนิต, บ้านมั่นคง 3 แสนยูนิต และบ้านออมสิน 1 แสนยูนิต เฉพาะโครงการบ้านเอื้ออาทร รัฐบาลมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว 2 ชั้น, บ้านแฝด 2 ชั้น และอาคารชุดสูงไม่เกิน 5 ชั้น โดยเปิดให้ประชาชนชาวไทยซื้อ-เช่าในราคาเริ่มต้นที่ 4-7 แสนบาท สามารถผ่อนชำระได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย 

โครงการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 แต่เกิดรัฐประหารรัฐบาลทักษิณในปี 2549 ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ให้ตรวจสอบโครงการของรัฐบาลหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยพบว่า วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ มีการ ‘รับสินบน’ ค่าอนุมัติจำนวนหน่วยก่อสร้างในโครงการบ้านเอื้ออาทรราว 82.6 ล้านบาท แลกกับข้อได้เปรียบในสัญญาการก่อสร้าง ศาลฎีกาจึงสั่งจำคุกเป็นเวลา 99 ปี ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองและผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 แต่ให้จำคุกเหลือ 50 ปีตามหลักของคดี 

ทั้งนี้ในวาระการทำงานของ คตส.ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549-30 มิถุนายน 2551 ยังพบการทุจริตหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน ถูกกล่าวหาว่าทุจริตในโครงการบ้านเอื้ออาทรในลักษณะอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การประเมินราคาที่ดินเกินจริง และการปลอมแปลงเอกสารประเมินที่ดิน 

  แม้จะมีปัญหามากมายแต่นโยบายบ้านเอื้ออาทรก็สามารถเกิดขึ้นได้จริง และนับว่าเป็นโครงการที่มี ‘อายุยืนยาว’ มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งแบบที่มีผู้พักอาศัยและไม่มี 

ในวาระที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเดินหน้าโครงการที่อยู่อาศัยใหม่อย่างบ้านเพื่อคนไทย ซึ่งดึงดูดความสนใจของ First Jobber ด้วยทำเลที่ตั้งใกล้กับรถไฟฟ้าและแหล่งการค้า ขณะที่ดีไซน์บ้านก็งดงามถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันเอ่ยปากชมว่า “บ้านสวยมาก” 

The Momentum จึงถือโอกาสพาสำรวจโครงการบ้านเอื้ออาทร นโยบายที่อยู่อาศัยยุคบุกเบิกในรัฐบาลทักษิณในวันนี้ว่า มีสภาพเป็นอย่างไรหลังผ่านมาราว 20 ปี

ภายนอก-ภายในที่ทรุดโทรม

จุดแรกที่ลงไปสำรวจคือ โครงการบ้านเอื้ออาทรหัวหมาก บริเวณซอยกรุงเทพกรีฑา 7 เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2549 ลักษณะเป็นห้องเดี่ยวอยู่ในอาคารสีขาวสูง 5 ชั้นจำนวน 13 อาคาร ลูกบ้านที่มียานพาหนะสามารถนำรถมาจอดไว้ด้านในโครงการได้

ปริศนา บัวจูม คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดบ้านเอื้ออาทรหัวหมาก ซึ่งอาศัยอยู่ในโครงการบ้านเอื้ออาทรตั้งแต่เริ่มต้น พาเราเดินสำรวจภายในโครงการตั้งแต่ประตูทางเข้าจนถึงโซนด้านหลัง ภาพรวมของอาคารสูงซึ่งเป็นที่พักอาศัยมีสภาพทรุดโทรม สีผนังหลุดลอก มีคราบสีดำเกาะ และของเสียจากสัตว์อยู่ตามกำแพงรอบตัวอาคาร ซึ่งเธอให้ข้อมูลว่า อาคารชุดภายในโครงการบ้านเอื้ออาทรไม่ได้มีการทาสีใหม่มานานแล้ว ภายนอกจึงดูสกปรก 

“สีที่ทาอาคารของโครงการอยู่มา 10 กว่าปีแล้ว มีให้ความอนุเคราะห์จะเอาสีทาอาคารมาให้ แต่ก็ติดตรงที่เราจะต้องมีช่างชำนาญการมาตรวจสอบโครงสร้างของตึกก่อนทาสีอีก”

ในบรรดาอาคารทั้ง 13 อาคารไม่มีอาคารไหนที่สีไม่ลอก หัวหน้าชุมชนอย่างปริศนา ต้องการทาสีใหม่ให้ที่อยู่อาศัยน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ซึ่งในตอนแรกติดปัญหาค่าใช้จ่ายในการทาสี แม้ว่าในท้ายที่สุดจะมีผู้บริจาคสีทาอาคารให้ช่วยลดต้นทุน แต่ยังคงติดปัญหาที่ระเบียบอาคารชุดที่การทาสีซ้ำ จำเป็นจะต้องมีพนักงานชำนาญการเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างของตึกเสียก่อน ล่วงเลยมา 10 กว่าปี จนถึงวันนี้การทาสีอาคารใหม่ในโครงการเอื้ออาทรหัวหมากยังคงไม่เกิดขึ้น

คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่

บริเวณจุดศูนย์กลางของโครงการบ้านเอื้ออาทรหัวหมาก มีบ่อบำบัดน้ำเสียที่ปัจจุบันหยุดใช้งานไปแล้ว เนื่องจากเครื่องบำบัดน้ำเสียชำรุด การบำบัดน้ำเสียที่มาจากอาคารชุดทั้ง 13 อาคารจึงหยุดไปหลายปี กระทั่งเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็นไปรอบโครงการ 

“โดยปกติแล้วน้ำที่ไหลมาจากแต่ละห้องของลูกบ้านในโครงการจะมารวมกันอยู่ในบ่อบำบัดน้ำเสียนี้ หลังจากบำบัดเสร็จก็จะปล่อยลงคลองลำสาลีที่อยู่ติดกับโครงการ แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้ราว 6-7 ปี เพราะเครื่องบำบัดน้ำเสียเกิดชำรุด แล้วไม่มีเงินซ่อม”

ปริศนาระบุว่า ช่วงแรกที่โครงการบ้านเอื้ออาทรหัวหมากแล้วเสร็จและเปิดให้พักอาศัย บ่อบำบัดน้ำเสียอยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ แต่หลังจากนั้นประมาณ 5 ปี เมื่อหน่วยงานดังกล่าวขายกรรมสิทธิ์ให้กับผู้เช่าครบทุกห้องแล้ว บ่อบำบัดน้ำแห่งนี้ก็ถูกปล่อยให้ลูกบ้านในโครงการดูแลจัดการกันต่อ

“จะมีคำพูดหนึ่งที่การเคหะบอกกับเราว่า เราโตแล้วต้องดูแลตัวเอง เพราะว่ามีการเก็บค่าส่วนกลาง แต่เขาลืมไปหรือเปล่าว่าคนที่อาศัยอยู่ในโครงการนี้ก็คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย”

กลิ่นที่เน่าเหม็นจากน้ำที่เน่าเสียกลายเป็นสิ่งที่ผู้พักอาศัยในบ้านเอื้ออาทรหัวหมากหลีกเลี่ยงได้ยาก และต้องทนอยู่กับสภาพเช่นนี้มาอย่างยาวนาน เนื่องจากไม่มีงบประมาณที่มากพอในการซ่อมแซมบ่อบำบัดกลับมาใช้งานได้ ซึ่งปริศนาคำนวณว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 1 แสนบาท ขณะที่ลูกบ้านภายในโครงการไม่ได้มีความชำนาญมากพอ ที่จะสามารถซ่อมแซมเครื่องบำบัดได้ด้วยตัวเอง

ปริศนาสะท้อนว่า ความทรุดโทรมที่แสดงให้เห็นตามอาคารต่างๆ ยังน้อยกว่าความทรุดโทรมด้านในซึ่งมีคนอาศัยอยู่ เธอพาไปพบกับลูกบ้านในอาคารหลังหนึ่งของโครงการ หลังจากที่ไม่มีน้ำสะอาดในการอุปโภค-บริโภคมานาน เนื่องจากท่อส่งน้ำในอาคารไม่ได้ทำความสะอาดมาหลายปี ส่งผลให้น้ำที่ไหลจากก๊อกปะปนมากันสนิมและสิ่งปฏิกูล จึงไม่สามารถใช้น้ำได้หากไม่ทำการกรองก่อน 

“ท่อส่งน้ำนี้ไม่ได้ล้างนาน เวลาเปิดน้ำก็จะมีสนิมที่อยู่ในท่อไหลมากับน้ำ ใช้ดื่มหรือทำอาหารในทันทีไม่ได้ จะต้องมีการกรองก่อน ลูกบ้านเลยต้องเสียเงินไปซื้อที่กรองน้ำมาเพิ่ม เพื่อให้ตัวเองสามารถใช้น้ำในโครงการได้” ปริศนาบอกพร้อมให้ลูกบ้านพาเดินไปยังด้านหลังห้องซึ่งเป็นห้องน้ำ เพื่อชี้ให้ทีมข่าวดูสภาพของเครื่องกรองน้ำที่ไส้กรองเต็มไปด้วยสนิม 

“ถึงจะกรองแล้วแต่ก็ยังไม่กล้าดื่มหรอก ขนาดจะเอาทำอาหารยังกังวล เพราะท่อไม่ได้ล้างมานานมากจริงๆ ตอนนี้แจ้งหน่วยงานไปแล้ว ไม่รู้ว่าเขาจะมาจัดการให้เมื่อไร” 

The Momentum ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกบ้านที่ปริศนาพามาพูดคุยว่า พวกเขามักจะต้องแก้ไขปัญหาท่อส่งน้ำรั่วด้วยตัวเอง โดยการใช้แผ่นกาวอุดรอยรั่ว ในขณะที่บริเวณที่มีปัญหาบางจุดอยู่สูงกว่าปกติ จึงมีความยากลำบากที่ลูกบ้านจะสามารถอุดรอยรั่วของท่อน้ำได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีอุปกรณ์ 

ไม่ใช่แค่ท่อน้ำเสียเท่านั้นที่ลูกบ้านของโครงการบ้านเอื้ออาทรจะต้องดูแลซ่อมแซมกันเอง แต่ในกรณีที่มีการชำรุดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามอายุการใช้งาน เช่น ไฟดับ น้ำรั่วซึมในตัวอาคาร บางกรณีไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากนิติบุคคลอาคารชุดของโครงการนั้นมีเพียง 1 คนที่คอยดูแลทั้ง 13 อาคารของโครงการจากข้อมูลของปริศนา ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโครงการบ้านเพื่อคนไทยพบว่า จะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหลังการขาย แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีจำนวนกี่คน เหมาะสมกับขนาดของโครงการหรือไม่ 

ไม่ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย

“อาคาร 5 ชั้นแบบนี้ ชั้นบนๆ ก็ยังมีผู้สูงอายุพักอยู่เหมือนกัน เวลาเขาจะเดินลงบันไดไปไหนมาไหนก็จะมีความลำบาก” ปริศนาระบุ 

ภายในโครงการเอื้ออาทรหัวหมากมีกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน กล่าวคือ นอกจากจะเป็นผู้มีรายได้น้อย บางกลุ่มยังเป็นคนชราและผู้พิการ ซึ่งจากการสำรวจภายในโครงการบ้านเอื้ออาทรหัวหมากพบว่า ภายในโครงการมีผู้สูงอายุที่มีอุปสรรคในการเดินและต้องใช้เครื่องพยุงการเดินอยู่ตลอด 

ด้านปริศนาระบุว่า นอกจากชั้นล่างสุดแล้ว ตั้งแต่ชั้น 2 ของอาคารชุดขึ้นไปมีลูกบ้านจำนวนมากที่เป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่อาคารไม่มีลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและบันไดขึ้น-ลงของแต่ละอาคารมีความชันสูง ผู้สูงอายุกลุ่มที่อยู่ชั้นบนจึงประสบกับความเสี่ยง เมื่อต้องเดินลงบันไดไปทำกิจกรรมนอกห้องนอก 

“เราพยายามจัดทีมที่จะเข้ามาดูแล ผู้สูงอายุกลุ่มนี้เอง เวลาเขาจะไปไหนก็ให้เขาเรียกเรามารับลงไปด้านล่าง คอยสอดส่องดูแลกันและกัน”

ส่วนความปลอดภัยด้านอื่นๆ เช่น การเตรียมพร้อมรับมือไฟไหม้ หรือเหตุลักขโมยต่างๆ นั้น ไม่ได้มีระบบระเบียบที่ชัดเจน 

“เรายังไม่มีการซ้อมหนีไฟในโครงการ ทั้งสัญญาณเตือนภัยก็ถูกถอดออกไปแล้ว เพราะเก่าและใช้งานไม่ได้” ปริศนากล่าวและเสริมว่า นอกจากความไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว ทรัพย์สินอย่างยานพาหนะของลูกบ้านก็มีความเสี่ยงจากการถูกขโมยเช่นกัน เนื่องจากการจะเดินทางเข้ามาภายในพื้นที่ของโครงการไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด จึงมักมีกรณีรถจักรยานยนต์ของลูกบ้านหายบ่อย 

ปัญหาที่สำคัญกว่าคือ ความปลอดภัยของตัวอาคารที่พบว่า มีหลายจุดกำลังทรุดตัว ในอาคารของโครงการที่ตั้งอยู่ติดกับคลอดลำสาลี ผิวดินอยู่ต่ำกว่าเสารับน้ำหนักอาคาร ขณะที่กำแพงกั้นระหว่างคลองกับที่ดินของโครงการนั้นพบว่า มีบางจุดที่ทรุดตัวสร้างความหวั่นเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อลูกบ้านที่อยู่ติดริมน้ำ

สุสานอาคาร

โครงการบ้านเอื้ออาทรเริ่มต้นขึ้นในปี 2546 สมัยรัฐบาลของทักษิณ ขณะนั้นมีการตั้งเป้าหมายการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศกว่า 6 ล้านยูนิต ในราคาซื้อขายยูนิตละ 3.9 แสนบาท กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2549 เป้าหมายการก่อสร้างได้ปรับลดลงเหลือ 2.8 แสนยูนิต แม้ว่า คณะรัฐประหารสามารถยึดอำนาจรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนโยบายบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้สำเร็จ แต่โครงการบ้านเอื้ออาทรยังคงมีการดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลสมัยต่อๆ มา

ทั้งนี้การก่อสร้างบ้านตามโครงการหลายแห่งมีความล่าช้า ประสบปัญหาขาดทุน ผู้รับเหมาละทิ้งงานก่อนจะแล้วเสร็จ รวมทั้งมีปัญหาในด้านสัญญาที่รัฐบาลเป็นคู่สัญญาร่วมกับเอกชน ที่มักมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์เข้ามาข้องเกี่ยว เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร เทพารักษ์ 4 ในพื้นที่ตำบลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการแห่งนี้ ซึ่งถูกทิ้งร้างตั้งแต่ยังดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ 

จากข้อมูลโครงการบ้านเอื้ออาทร เทพารักษ์ 4 มีการวางแผนก่อสร้างที่อยู่อาศัยประเภทอาคาร 125 อาคาร รวม 5,830 ยูนิต มูลค่าการลงทุนราว 2,000 ล้านบาท โดยประเภทสัญญาการก่อสร้างโครงการเป็นสัญญาแบบ ‘ร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน’ ที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้เอกชนมีหน้าที่จัดหาที่ดิน แหล่งของเงิน และดำเนินการก่อสร้างตามเงื่อนไขของการเคหะแห่งชาติ โดยที่รัฐจะทยอยจ่ายเงินคืนให้กับเอกชนตามสัญญาเป็นรายงวด 

สัญญาร่วมลงทุนกลายเป็นปัญหาทันทีหลังจากที่การเคหะฯ พยายามปรับเปลี่ยนผังของโครงการ ทั้งยังมีการดึงเอาบริษัทรับเหมาภายนอกเข้ามาร่วมเป็นคู่สัญญาเพิ่ม ซึ่งต่อมาบริษัทคู่สัญญาเดิมได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งให้การเคหะฯ ถอดถอนบริษัทรับเหมาก่อสร้างภายนอกออกจากสัญญา 

แม้ว่าฝ่ายบริษัทผู้รับเหมาเดิมซึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลตั้งแต่ต้นจะเป็นผู้ชนะการฟ้องร้องศาลแพ่งตามคำพิพากษาแดงที่ 5988/2552 ทว่าหลังจากนั้นการเดินหน้าก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร เทพารักษ์ 4 ก็ไม่ได้ราบรื่น การเคหะแห่งชาติมีการปรับลดขนาดของโครงการลง จากเดิมมีแผนก่อสร้างราว 100 กว่าอาคารเหลือเพียง 42 อาคาร ในขณะที่บริษัทผู้รับเหมามีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 80 อาคาร เมื่อมีปัญหาระหว่างคู่สัญญาทั้งรัฐกับเอกชนจนเกิดเป็นข้อพิพาท รวมไปถึงต้นทุนในการดำเนินโครงการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก การพัฒนาโครงการให้เป็นบ้านของผู้มีรายได้น้อยจึงถูกพับเก็บไปโดยปริยาย 

ปัจจุบันอาคารสูง 5 ชั้นราว 40 กว่าอาคารของโครงการเอื้ออาทร เทพารักษ์ 4 ถูกทิ้งร้างไม่ต่างอะไรกับสุสานปูนเปลือย วัชพืชเข้าปกคลุมหนาแน่น จากความคาดหวังให้ภายในอาคารเป็นที่หลับนอนของคนหาเช้ากินค่ำ กลายเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติดและมั่วสุมทางเพศ ที่สำคัญ โครงการดังกล่าวได้แปรสภาพกลายเป็น ‘บ่อขยะ’ ของเมืองมากกว่าจะเป็นความหวังของคนอยากมีบ้านในอดีต

ไม่ใช่แค่โครงการเอื้ออาทร เทพารักษ์ 4 เพียงโครงการเดียวที่ไม่ประสบความสำเร็จ โครงการบ้านเอื้ออาทรในพื้นที่อื่นๆ พบว่ามีปัญหาและมีการลงเอยคล้ายกัน เช่น บ้านเอื้ออาทรบนที่ดินกลางเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเริ่มการก่อสร้างในปี 2550 แต่ติดปัญหาการก่อสร้างดำเนินไปอย่างล่าช้า รวมไปถึงผู้รับเหมาทิ้งงาน บ้านหลายหลังที่ก่อโครงสร้างไว้จึงถูกทิ้งร้างยาวนานนับ 18 ปี แม้จะมีความพยายามจากภาครัฐเข้ามารื้อฟื้นโครงการอยู่หลายครั้ง แต่กลับไม่เป็นผลสำเร็จ 

ถึงแม้ว่าโครงการบ้านเพื่อคนไทยของแพทองธารจะมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับนโยบายบ้านเอื้ออาทรในยุคสมัยของทักษิณ แต่ไม่อาจด่วนสรุปได้ว่า โครงการบ้านเพื่อคนไทยจะลงเอยเหมือนกับโครงการบ้านเอื้ออาทรในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามซากปรักหักพังของโครงการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการทำนุบำรุงโครงการที่อยู่อาศัยของประชาชน 

ในขณะเดียวกันโครงการบ้านเพื่อคนรายได้น้อยต่างๆ ก็เป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการดูแลผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

เป็นสิ่งดี เป็นสิ่งถูกต้อง ที่อย่างน้อยที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะถูกจัดสรรให้ราษฎรที่อยู่ห่างไกลจากการเป็น ‘เจ้าของบ้าน’ กระทั่งทำงานทั้งชีวิตก็ผ่อนบ้านสักหลังไม่ไหว

แต่คำถามที่ไกลกว่านั้นก็คือ รัฐจะดูแลสภาพความเป็นอยู่อย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้าให้ไม่อยู่ในสภาพทรุดโทรม และจะเป็นบ้านที่ทำให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างแท้จริง

Tags: , , , , , , , ,