“Lady Cannot Enter”
“ห้ามสุภาพสตรีเข้า”
“ห้ามผู้หญิงขึ้น”
เชื่อว่าคนไทยไม่น้อยต้องเคยเห็นป้ายข้อความเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามผู้หญิงขึ้นอุโบสถวัด หรือสถานที่โบราณศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏให้เห็นอย่างมากในภาคเหนือ เช่น วัดที่มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน หรือบางสถานที่ก็กำหนดว่าห้ามหญิงมีระดู (ประจำเดือน) เข้าวัด เพราะอาจส่งผลถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อ
“ห้ามอย่าให้ผู้หญิงเด็กผู้หญิงแก่ทั้งปวง ขึ้นไปบนพระตำหนักนี้เป็นอันขาดทีเดียว เพราะตั้งแต่แรกมาผู้หญิงไม่เคยขึ้นไปเลย ถ้าขืนขึ้นไปใครยอมให้ขึ้นไป ผู้หญิงที่ขึ้นไปแลผู้ยอมผู้ภาต้องแช่สาบที่ทรงไว้แล้ว”
ข้างต้นคือคำจารึกของรัชกาลที่ 4 ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ข้อบัญญัติห้ามดังกล่าว ช่วยฉายภาพความเชื่อเรื่องเพศและมุมมองต่อประจำเดือนเป็นอย่างดี หรืออาจตีความได้ว่า นี่เป็น ‘อคติทางเพศ’ ที่ยังหลงเหลือส่งต่อมายังปัจจุบัน
แม้เข็มของกาลเวลาจะหมุนเดินไปข้างหน้า แม้สิทธิความเท่าเทียมทางเพศจะมีมากขึ้น จนทำให้อคติทางเพศลดลงไปบ้าง แต่คำถามสำคัญคือเพดานความเชื่อทางศาสนา (บทความนี้กล่าวถึงศาสนาพุทธ) ในปัจจุบันยังคงกดทับ ‘ความเป็นหญิง’ ไม่ให้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการตามเจตจำนงเสรีอยู่หรือไม่?
ในวาระ ‘วันสตรีสากล’ The Momentum ชวนผู้อ่านรู้จักเหล่าเพื่อนหญิงพลังหญิงที่มีใจรักในโบราณสถานและศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล่าเพื่อนหญิงที่ไม่ยอมเป็นช้างเท้าหลังแต่ขอเป็นช้างเท้าหน้า เลือกอาชีพตนเองเป็นช่างซ่อมโบราณสถานก่ออิฐฉาบปูน และบางครั้งต้องเข้าไปในสถานที่ ‘ห้ามผู้หญิงเข้า’ แต่ทุกอย่างล้วนกระทำไปด้วยความศรัทธาและใจรัก
อย่างที่ วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล ผู้จัดการโครงการบูรณะวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขององค์กร World Monuments Fund (WMF) ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า
“การที่คุณจะทำอะไรสักอย่างที่คุณรัก เพศไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องมานั่งคิดว่า ฉันเป็นผู้หญิงสามารถทำอาชีพนี้ได้ไหม ทุกคนควรได้ทำในสิ่งที่อยากทำ”
1
ทำไปด้วยใจรัก
พ.ศ. 2544 คือปีที่ ป้ามะลิ ชุ่มชูบุญ อายุ 71 ปี เข้ามาทำงานอนุรักษ์ จากกรรมกรแบกหามในไซต์โบราณสถานสู่ผู้ช่วยช่าง และหัวหน้าช่างตามลำดับ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความรักและความสนใจในงานอนุรักษ์
“ก่ออิฐมากี่ก้อนแล้วในชีวิตช่างสาว”
“โอ้ย นับไม่ถ้วนหรอกลูกเยอะมาก” ป้ามะลิตอบแกมขำ
หัวหน้าช่างอธิบายต่อว่า ก่อนที่จะบูรณะแต่ละครั้งต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่า ของเก่ามาอย่างไร ทุกมิลลิเมตรต้องถูกวัด รวมไปถึงความเอียงความลาดชันในทุกองศา แน่นอนว่า เมื่อถึงมือป้ามะลิแล้ว แม้แต่อิฐหน้ากระดานเท่าไร ต้องย่อเข้ามุมอย่างไร ของเดิมมาแบบไหนสิ่งที่จะซ่อมจะต้องคงความเดิมไว้แบบนั้น
ทุกวันป้ามะลิต้องคุมทีมช่างทั้งหมด 8 คน เธอบอกว่า ความละเอียดต้องมาอันดับแรก ตามด้วยความใจเย็น หากใครเร่งรีบไม่ละเอียดก็มีโดนเธอเตะบ้าง (เล่าพร้อมหัวเราะ)
“อยู่กับอิฐ ของโบราณ บางทีต้องปีนป่าย กลัวผีบ้างไหม”
“ไม่กลัว (หัวเราะ) เรามาดี ป้ายังไม่เคยเจอนะ ก่อนจะขึ้นที่สูง ขึ้นนั่งร้านแต่ละครั้ง ต้องไหว้ขอก่อน ขอพรเจ้าที่เจ้าทาง ขอให้ลูกแคล้วคลาดปลอดภัย เราจะทำแบบนี้ทุกครั้ง ในทุกๆ วัน ในทุกๆ เช้า และบอกว่าลูกช้างจะมาบูรณะให้สวยนะ (หัวเราะ)”
ป้ามะลิกล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่เห็นงานฝีมือตัวเองจะรู้สึกภูมิใจ พอมองเห็นความสวยงามหลังซ่อม มีนักท่องเที่ยว มีคนเข้ามาติชมนับเป็นเรื่องที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจมากนัก แม้ว่าบางสถานที่จะห้ามให้ผู้หญิงขึ้นไปก็ตาม แต่หลายครั้งสถานที่เหล่านั้นก็ผ่านฝีมือป้ามะลิและทีมงานมาไม่มากก็น้อย
2
ไม่ใช่ว่าไม่นับถือ
“หลายครั้งคนมักเข้าใจผิดว่าการบูรณะจะต้องทำให้กลับมาใหม่เอี่ยม แต่การบูรณะมันไม่ใช่แบบนั้น” นท-นฐชพรรษ์ ประพฤติธรรม นักอนุรักษ์ กล่าว
ในช่วงบ่ายของวัน ท่ามกลางการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพของดวงอาทิตย์ เมื่อก้าวเท้าไปยังเมรุทิศในวัดไชยวัฒนาราม และเดินขึ้นนั่งร้านไปชั้น 2 จะพบหญิงสาวคนหนึ่งกำลังขะมักเขม้นกับการซ่อมผนังที่แตกร้าวของเมรุทิศ
นฐชพรรษ์ทำงานเป็นนักอนุรักษ์มา 7 ปี จากเห็นประกาศการรับสมัครและเข้ามาเรียนรู้งาน ก็ทำให้เธอทำงานอยู่ที่นี่มาเรื่อยๆ และดูเหมือนว่า ‘เพศ’ จะไม่ใช่ปัญหาในการทำงานอนุรักษ์ซ่อมพระพุทธรูปแต่อย่างใด
“เคยโดนสังคมตั้งคำถามไหมว่า เป็นผู้หญิงแต่มาทำงานซ่อมโบสถ์ ซ่อมวิหาร”
“หน้าที่ต้องมาก่อน” นฐชพรรษ์ตอบหลังนิ่งคิดพร้อมอธิบายต่อว่า
“ไม่ใช่ไม่นับถือศาสนา แต่เวลาเราทำงานความเชื่อทางศาสนาต้องถูกผลักไว้หลังความรับผิดชอบ เช่น เราจำเป็นต้องซ่อมเศียรพระ เราจะมาลังเลหรือคิดว่าเราสามารถแตะเศียรพระได้ไหม มันไม่ได้ หน้าที่เราต้องมาก่อน”
แม้จะกล่าวไปแบบนั้นแต่เมื่อมีคนมาเห็นตอนเธอกำลังทำหน้าที่อยู่ ก็จำเป็นต้องพูดชี้แจงว่านี่คือการทำงาน และการกระทำดังกล่าวได้รับการขออนุญาตแล้ว นฐชพรรษ์เสริมว่า จะมีอยู่ราวๆ 20% ที่ยังไม่เปิดกว้างยอมรับเรื่องนี้ และคิดว่าให้ผู้ชายทำดูจะเหมาะสมกว่า
เธอมองว่า บางครั้งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น รอยร้าวหรือลวดลายที่ต้องใช้ความละเอียดลออ สิ่งนี้นับเป็นข้อได้เปรียบของเพศหญิงในวงการอนุรักษ์
“ถ้าเพศไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน แล้วมีปัญหาในการทำงานอนุรักษ์บ้างไหม”
“สภาพอากาศ” นฐชพรรษ์ตอบพร้อมหัวเราะ
เนื่องจากงานอนุรักษ์ส่วนใหญ่จะอยู่กลางแจ้ง ดังนั้น ฤดูร้อนจะร้อนมาก และยิ่งวันไหนฝนตกก็ต้องหยุดทำงานเพราะกังวลว่าฟ้าจะผ่าหรือไม่
“เราต้องมองว่าเรามีคุณค่ากับทุกๆ อย่าง กับทุกๆ งาน แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่างานบางอย่างก็เหมาะ บางอย่างก็ไม่เหมาะกับเรา ดังนั้น ต้องมองว่าเรามีคุณค่า เราต้องอยู่ให้ถูกจุด งานมันถึงจะออกมาดี” เธอกล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับหันหน้าเข้ากำแพง นำปูนหมักโบราณที่ผสมไว้ ป้ายอุดตามรอยร้าวของผนังเมรุทิศ
3
ศักดิ์สิทธิ์และศรัทธา
“เวลาจะไปทำ ไปซ่อม ไปขัดถูตรงไหน ต้องยกมือไหว้ขอก่อน ไม่ใช่ทำส่งเดช ก่อนจะปีนนั่งร้านก็ต้องบอกเล่าก่อน ป้าเข้ามาทำงานตรงนี้ตั้งแต่ปี 2559 ยกมือไหว้ทุกวัน” ป้าลิ้นจี่-ลิ้นจี่ พุมมา อายุ 62 ปี
คล้ายกับว่าการยกมือไว้ขอขมา และขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นจุดร่วมของเหล่าแก๊งช่างสาว ที่นอกจากจะมีป้ามะลิ ป้าลิ้นจี่ ยังมี ป้าแพน-บรรจง สว่างอารมณ์ หนึ่งในทีมช่างก็บอกเราเช่นนี้เหมือนกัน
เธอทั้งสามคนเป็นช่างซ่อมในโครงการบูรณะวัดไชยวัฒนาราม หน้าที่หลักคือ ก่ออิฐ ขัด ทำความสะอาด บูรณะสิ่งที่สึกหรอให้คงทน และยังคงความเป็นเดิมอยู่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและคนที่เดินทางมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ซึมซับ และเห็นเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์เดิมให้มากที่สุด
ทั้งนี้ แม้ทั้ง 3 คนจะเป็นเพศหญิง ที่ความเชื่อหรือประเพณีทางศาสนาต่างๆ ดูคล้ายจะคัดง้างกับอาชีพของพวกเธออยู่ไม่น้อย เพราะบางครั้งต้องสัมผัสกับพระพุทธรูป ต้องปีนป่าย เข้าไปในสถานที่ห้ามเข้า แต่ทุกอย่างล้วนกระทำไปด้วยความรักในอาชีพ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
เมื่อเราถามแก๊งช่างสาวว่า คิดว่าที่ทำอยู่ได้บาปหรือบุญ ทั้งสามคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
“อิ่มบุญ จนอิ่มเอมใจเลย”
Tags: วัดไชยวัฒนาราม, วัดไชย, WMF, Feature, โบราณสถาน, นักอนุรักษ์