“ผู้ประกันตนทุกท่านต้องทราบเอาไว้ว่า เงินที่เราประหยัดได้ 1 ล้านบาท จากโครงการที่บอกว่าหยุมหยิม ถ้าเอาไปลงทุนผลตอบแทน 5% ต่อปี ผ่านไป 30 ปี มันจะกลายเป็น 4.32 ล้านบาท ท่านคิดดูว่าถ้าประหยัดได้ 100 ล้าน 1 หมื่นล้าน มันจะเป็นเงินมหาศาลขนาดไหน”

ประโยคข้างต้นเป็นหนึ่งในข้อความที่ รักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ เมื่อวานนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2568) หลังจากที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมากล่าวกับสื่อมวลชนว่า การตรวจสอบการใช้งบการเดินทางไปดูงานต่างประเทศด้วยที่นั่งผู้โดยสารชั้นหนึ่งนั้น เป็นการตรวจสอบที่หยุมหยิมจนเกินไป อีกทั้งการเดินทางด้วยตั๋วรูปแบบดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องปกติในฐานะเจ้ากระทรวง

ภายหลังจากกิจกรรม ‘Hack’ งบประกันสังคม ที่ถูกจัดขึ้นโดยคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) คณะก้าวหน้าและ สส.จากพรรคประชาชน อาจกล่าวได้ว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการจัดสรรและใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมให้ภาคประชาชนอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดทำปฏิทินเพื่อการประชาสัมพันธ์ งบประมาณพัฒนาระบบสารสนเทศ หรืองบประมาณศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ

The Momentum ได้รวบรวม ‘พิรุธ’ การใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม ที่อาจทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่า เป็นการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ท่ามกลางข้อสงสัยว่า เหตุใดประกันสังคมของผู้ประกันตนถึงไม่ได้ ‘ดี’ เท่ากับโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ไปจนถึงข้อกังวลต่อการล้มละลายของกองทุนประกันสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ใน 20 ปีข้างหน้า

หากมองสัดส่วนรายจ่ายของงบประมาณในภาพรวมของสำนักงานประกันสังคมจะพบว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 มีรายจ่ายอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 มีรายจ่ายอยู่ที่ 5,281 ล้านบาท ในปี 2565 และ 2566 มีรายจ่ายอยู่ที่ 5,332 ล้านบาทและ 6,614 ล้านบาท ตามลำดับ

งบ ‘ไปต่างประเทศ’

ในประเด็นแรก ‘งบไปต่างประเทศ’ รักชนกออกมาระบุว่า มีการใช้งบการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศจำนวน 6 วัน 5 คืน ด้วยงบกว่า 2.2 ล้านบาท โดยมีการเบิกค่าโดยสารที่นั่งผู้โดยสารชั้นหนึ่งจำนวน 2 ที่นั่งและค่าโรงแรม 5 ดาว นับว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงออกมาโต้ในประเด็นดังกล่าวว่า การเดินทางโดยเครื่องบินมีระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งตั้งแต่ที่ตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเคยนั่งโดยสารชั้นหนึ่งเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ส่วนครั้งอื่นเป็นที่นั่งผู้โดยสารชั้นธุรกิจ อีกทั้งในบางครั้งตนก็ใช้ไมล์แลกที่นั่งโดยสารของตัวเอง

ในประเด็น ‘งบไปต่างประเทศ’ เมื่อวานนี้ยังมีการเปิดเผยข้อมูลใหม่เพิ่มเติมเข้ามานั่นคือ การเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) กองทุนประกันสังคม ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2566 แต่ปรากฏว่า ในตารางเวลามีการระบุช่วงเวลาการศึกษาดูงานเพียง 2 วัน รวมเวลาเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น

สำหรับ ‘บอร์ดแพทย์’ นั้นเป็นบอร์ดเล็กในบอร์ดประกันสังคม ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจากอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน ในการรับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน มีด้วยกันทั้งหมด 16 รายชื่อ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งทั้งหมด 2 ปี

ขณะที่โครงการอบรมสัมมนา ก็เป็นหนึ่งในการใช้งบประมาณที่ถูกตีแผ่อีกเช่นเดียวกัน โดยรักชนกออกมาระบุว่า พบโครงการที่เขียนเหมือนกันในทุกปี โดยอบรมในหัวข้อเดิมกลุ่มคนเดิม เช่น ในปี 2563 มีโครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ โดยใช้งบประมาณ 2.5 ล้านบาท ต่อมาในปี 2564 ก็มีโครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ ด้วยงบประมาณ 2.5 ล้านบาทเช่นเดียวกัน

งบ ‘ประชาสัมพันธ์’

ด้านงบประมาณที่ใครหลายคนให้ความสนใจ นั่นคือ ‘งบประชาสัมพันธ์’ ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาหลังจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อ ‘การทำปฏิทิน’ แจกให้กับกลุ่มเกษตรกรประกันสังคม ตามมาตรา 40 กว่า 10 ล้านคน โดยมีการตั้งคำจากฝั่ง สส.พรรคประชาชนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีของโครงการดังกล่าวที่ใช้งบประมาณไปรวมแล้วกว่า 450 ล้านบาทนั้นสูงเกินไปหรือไม่ และยังไม่มีการประเมินผลความสำเร็จ (KPI) ออกมา อีกทั้งในปี 2559, 2560 และ 2564 ยังมีการคัดเลือกผู้รับผิดชอบโครงการการผลิตด้วยวิธีการพิเศษ ซึ่งจะมีการใช้งบประมาณที่สูงกว่าโครงการที่ถูกคัดเลือกโดยวิธีการประกวดราคาออนไลน์ (E-bidding)

อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้พิพัฒน์ได้ออกมาโต้ว่า การจัดทำปฏิทินโดยใช้งบประมาณเฉลี่ยต่อปีราว 50 ล้านบาทนั้นมีความเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเป็นการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ไม่สามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ จึงได้ทำปฏิทินเพื่ออำนวยความสะดวก 

โดยการแจกปฏิทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า จะเป็นความพยายามสื่อสารให้ผู้ประกันตน ทราบสิทธิประโยชน์ของตัวเองว่า การส่งเงินสมทบจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งในปฏิทินจะมีการอธิบายรายละเอียดดังกล่าวระบุไว้

นอกจากนั้น ‘งบประชาสัมพันธ์’ ที่สังคมกำลังให้ความสนใจนั่นคือ งบประมาณการพัฒนาช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่าน Line Official Account (Line OA) ที่ถูกนำเสนอโดยเฟซบุ๊กเพจท่านผู้นำฮาเฮ โดยสำนักงานประกันสังคม (@ssothai) มียอดผู้ติดตามใน Line อยู่ราว 11.8 ล้านราย และมีผู้ใช้งานตรวจสอบสิทธิประโยชน์จำนวน 3.56 แสนครั้งต่อเดือน โดยสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดงบประมาณโครงการนี้ไว้กว่า 69.5 ล้านบาท จึงนำมาสู่คำถามที่สังคมสงสัยว่า เป็นการตั้งงบประมาณที่สูงเกินไปหรือไม่

งบ ‘เทคโนโลยีสารสนเทศ’

สำหรับงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ สส.พรรคประชาชนได้พิรุธคือ โครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน SSO Plus ที่ใช้งบประมาณกว่า 275 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตัวแอปพลิเคชัน ตลอดจนการดูแลรักษา เมื่อนำโครงการดังกล่าวไปตรวจสอบใน ACTAi เว็บไซต์ตรวจสอบความโปร่งใสโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐพบว่า ระบบมีการแจ้ง ‘ความผิดปกติ’ ในการเสนอราคา

อีกทั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวยังได้รับการจัดเรตติงเพียง 1.5 ดาวจากผู้ใช้งานเท่านั้น รักชนกกล่าวว่า แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของแอปพลิเคชัน ซึ่งไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป

นอกจากนี้อีกหนึ่งโครงการที่รักชนกเลือกเปิดประเด็นที่มีพิรุธคือ โครงการปรับเปลี่ยนงานระบบประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็น Web Application โดยมีราคากลางอยู่ที่ 850 ล้านบาท โดยมีบริษัท 2 แห่งเข้าประกวดราคาคือ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เสนอราคาอยู่ที่ 848,888,000 บาท และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคาอยู่ที่ 848,500,000 บาท โดยรักชนกได้เปิดข้อสังเกตไว้ทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ทั้ง 2 บริษัทประมูลงานต่างกันเพียง 3 แสนบาท หรือคิดเป็น 0.0004% ซึ่งนับเป็นเรื่องผิดปกติในโครงการระดับดังกล่าว นับว่าเข้าข่ายการ ‘ฮั้วประมูล’ หรือไม่
  2. ราคาประมูลของทั้ง 2 บริษัทมีราคาใกล้เคียงกับราคากลาง มีคนในกระซิบบอกหรือไม่
  3. โครงการดังกล่าวส่งมอบงานช้าไปทั้งหมด 193 วัน ซึ่งต้องชดเชยค่าเสียหาย 163 ล้านบาท อีกทั้งค่าเมนเฟรมที่ต้องจ่ายทุกเดือนอย่างน้อย 84 ล้านบาท ปัจจุบันไม่สามารถตรวจรับงานและใช้งานได้ สร้างความลำบากให้กับข้าราชการ

อย่างไรก็ตาม บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคมได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชน โดยยืนยันว่า จากกรณีที่มีการร้องเรียนการใช้งบประมาณไม่เหมาะสม จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ประกันตน เนื่องจากผู้ประกันตนต้องได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และที่สำคัญการใช้งบประมาณทำกิจกรรมต่างๆ เป็นผลตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมได้มาเพื่อใช้จ่ายให้ตามระเบียบ

เช่นเดียวกันกับ มารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่ออกมาชี้แจงถึงกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำงบประมาณประจำปีของสำนักงานประกันสังคม โดยระบุว่า การจัดสรรค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปีละไม่เกิน 3% ของเงินสมทบประจำปี อีกทั้งอัตราค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดทำคำของบประมาณ อ้างอิงจากอัตราของกระทรวงการคลังและระเบียบของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง

Tags: ,