“คนสมุทรสงครามไม่เคยมีคำว่า จน”
ลุงปัญญา โตกทอง อดีตชาวประมงบ่อกุ้ง พูดขึ้นขณะนั่งอยู่บนแคร่ไม้ในเพิงสังกะสี โดยมีชาวบ้านตำบลแพรกหนามแดงนั่งรายล้อม และพยักหน้าเห็นด้วยกับประโยคที่เขากล่าว
แพรกหนามแดงเป็นตำบลหนึ่งในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดที่เป็นจุดสิ้นสุดทางไหลของแม่น้ำแม่กลองก่อนออกสู่อ่าวไทย ด้วยภูมิภาคที่ตั้งและความเป็นเมืองปากน้ำ ยิ่งทำให้เห็นว่า จังหวัดนี้มีความอุดมสมบูรณ์ในรูปแบบสัตว์น้ำจืดและน้ำเค็ม นอกจากนี้ยังมีระบบนิเวศที่เหมาะแก่การเพาะเลี้ยงกุ้ง หอย ปู และปลา ดังนั้นชาวสมุทรสงครามส่วนใหญ่จึงมีรายได้จากการประมงเป็นหลัก
แต่การหากินกับแหล่งน้ำในจังหวัดสมุทรสงครามไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน นับตั้งแต่การระบาดของปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำมีมูลค่าก็เริ่มสูญหาย อวนแหที่ใช้ดักจับกุ้งและปลาถูกวางทิ้งจนโคลนแห้งแข็ง บ้างถูกใช้ทำเป็นรั้วจนไม่เหลือเค้าอุปกรณ์การประมง ส่วนบ่อเลี้ยงปลาและกุ้งที่เคยมีชาวบ้านมาหว่านแห ปัจจุบันกลับเงียบเหงา มีสภาพรกร้าง คล้ายกับว่าวิถีประมงที่เคยรุ่งเรืองกลับซบเซาไปเรื่อยๆ
“มาปีนี้จนกันหมดแล้ว จนกันถ้วนหน้าเลย ฉิบหาย!” ชาวประมงพูดต่อ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ลุงปัญญาพูดก่อนหน้าเป็นเรื่องผิด กลับกันมันเป็นความจริงในอดีตของสมุทรสงคราม ในวันที่สัตว์น้ำสูญหาย สิ่งที่ชาวประมงต้องแบกรับคือความยากแค้นและความเจ็บปวด บางคนอาจรับไหว แต่สำหรับบางคน คงถึงเวลาที่อาจต้องทิ้งวิถีประมงไปตลอดกาล
เอาอวนกุ้งมาล้อมขวด
แสงแดดเดือนกันยายนสะท้อนผิวน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งชาวบ้านเป็นประกายระยิบระยับ มองเห็นความเคลื่อนไหวของฝูงปลาใต้น้ำชัดเจน กระนั้นบ่อประมงที่มีกลุ่มสัตว์น้ำเวียนว่ายหนาแน่น กลับไม่ดึงดูดชาวประมงในละแวกมาหว่านแห หรือขึงอวนดักจับปลาที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
บ่อประมงแห่งนี้เคยมีเจ้าของชื่อ ลุงรื่น อมศิริ ชาวบ้านตำบลแพรกหนามแดงวัย 77 ปี ในอดีตเขาเดินเท้ามายังบ่อเพื่อสังเกตกุ้งที่เลี้ยงไว้เป็นประจำ วันใดกุ้งตัวโตพร้อมขาย ลุงรื่นจะนำอวนขึงไว้บริเวณปากบ่อแล้วสูบน้ำออก ให้กุ้งไหลมาติดอวนก่อนเลือกขนาดตัวที่ขายได้ราคาส่งตามตลาด เมื่อได้เงินก้อนจึงนำมาซื้อลูกกุ้งลงบ่อใหม่อีกครั้ง หมุนเวียนลงทุนเช่นนี้ไปในแต่ละเดือน
“เลี้ยงกุ้งขาวกับกุ้งกุลาดำ เดือนหนึ่งจับได้ 2 ครั้ง เอาไปขายครั้งหนึ่งก็ได้เงินมาประมาณ 2-3 หมื่นบาท รวมๆ มีรายได้เดือนละ 5-6 หมื่นบาท ขนาดว่าเรามีที่ดินน้อยนะ บ้านไหนมีที่ดินทำบ่อประมงเยอะ ผ่านไปแค่คืนหนึ่งเขาก็ได้ 5-6 พันกว่าบาทแล้ว สมัยนั้นไม่ต้องกลัวเรื่องเงินหรอก คนเดินกันบนกลางทุ่งกลางนาเขากำเงินกันเป็นฟ่อนๆ
“ตอนไม่มีปลาหมอคางดำเราไม่ต้องกังวลอะไร ตื่นเช้าขึ้นมายังไงก็ได้เงิน”
การระบาดของปลาหมอคางดำ ทำระบบนิเวศแหล่งน้ำของแพรกหนามแดงเปลี่ยนแปลงไปฉับพลัน ปลาที่ชาวบ้านเคยจับขายได้กำไรเรือนหมื่น ปัจจุบันหดหายเหลือรายได้เพียงหลักพันถึงหลักร้อย ส่วนสัตว์น้ำโตเต็มวัยก็ถูกแย่งอาหารจนมีสภาพผ่ายผอม ขายไม่ได้ราคา ขณะที่ป้ายประกาศขายที่ดินบ่อประมงถูกติดทั่วไป บางบ่อถูกทิ้งไว้ให้กลายเป็นบ่อร้าง สภาพเช่นนี้ปรากฏอยู่ทั่วจังหวัดสมุทรสงคราม
“ทีแรกเราไม่รู้หรอกว่ามันคือปลาอะไร แต่มาเริ่มสังเกตตอนที่ ปลากระบอก ปลาอีกง ปลาหมอเทศ และปลาตะกรับแทบไม่มีเหลืออยู่ในบ่อ เจอทีละ 1-2 ตัว ทั้งที่เมื่อก่อนตักขึ้นมาได้เป็น 2-3 หลัว
“กุ้งที่เราซื้อมา 3 แสนตัว หมดเงินไป 3.5 หมื่นบาท ปล่อยมาแล้ว 3 ปี 3 งวด เหลือขายได้เงินไม่ถึง 2 พันบาท เราก็ดูคนอื่น ถ้าเขาลงกุ้งแล้วได้กุ้ง เราก็ลองลงกุ้งแก้ตัวใหม่อีกรอบ ตอนนั้นมีเงินอยู่ 3-4 แสน เอาไปลงกับกุ้งหมด เหมือนคนทำนา งวดนี้ข้าวไม่ดีงวดหน้าเอาเงินไปลงใหม่ แต่กับเรา ทำไปทำมาไม่ได้กุ้งเลยสักตัว สุดท้ายเลยเลิกทำ”
ครอบครัวของลุงรื่นมีที่ดินเช่าทำประมงทั้งหมด 21 ไร่ จ่ายค่าเช่าปีละ 2.1 หมื่นบาท ค่าเช่าเรตนี้เพิ่มขึ้นจากราคาครั้งก่อนหน้าครึ่งหนึ่งพอดี อย่างไรก็ตามชีวิตหลังเลิกราจากวิถีประมงเข้าสู่วิถีคนเก็บของเก่า ทำให้ลุงรื่นมีรายได้เหลืออยู่เดือนละไม่กี่พันบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการยื้อที่ดินทำกินของเขาเอาไว้ได้ ท้ายที่สุด ลุงรื่นจึงตัดสินใจปล่อยกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้อื่นครอบครองแทน
แม้ลุงรื่นจะอยู่ในวัยชราภาพ ประกอบกับขาพิการจากอุบัติเหตุตั้งแต่เด็ก แต่เขายังมีภาระต้องดูแลภรรยาและหลานที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน
“อยู่กัน 2 คน มีตากับยายและหลานมาอยู่ด้วยอีกคน พอเขามาอยู่ด้วยเราก็ต้องส่งเสียเขา ทั้งส่งเขาให้ได้ไปโรงเรียน จ่ายค่ารถ ค่าน้ำมัน ส่วนเราก็ต้องหาเงินมารับผิดชอบเขา”
ลุงรื่นวางถุงกระสอบไว้ข้างเพิงสังกะสี หยิบสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในโยนเข้าไปในมุมหนึ่งอย่างใจเย็น ขวดที่นำมาด้วยถูกแยกไว้ 3 ประเภท คือขวดแก้ว ขวดพลาสติก และกระป๋องสเตนเลส ข้างกันยังมีกล่องลังบรรจุสุราขึ้นทรงสี่เหลี่ยมตั้งเรียงไว้ ทั้งหมดอัดแน่นอยู่ภายในอวนดักจับกุ้ง เพื่อกันไม่ให้กล่องหล่นลงด้านล่าง และรอร้านขายของเก่าที่สัก 2 เดือนจะแวะเวียนมารับซื้อ ลุงรื่นต้องหมั่นเฝ้ารักษาของมีมูลค่าเหล่านี้ไม่ให้ถูกขโมยไป
“ตอนเช้าไม่ค่อยร้อนเราก็ออกมาเดินเก็บ บางวันเดินๆ อยู่ข้างถนนแต่ไม่เจอเลยขวดสักขวด เราไม่ทันพวกรถซาเล้ง รถจักรยานที่เขามาเก็บกันแต่เช้า วันไหนคนกินแล้วทิ้งกันน้อยเราก็ได้น้อย หากกินมากเราก็ได้มาก ส่วนตัวไม่ได้คิดอะไรหรอก เขาทิ้งไปแล้วก็จริง แต่เรายังเห็นเป็นเงินก็เก็บมาสะสมไว้ อวนที่ไม่ได้ใช้ก็เอาล้อมขวดไป จะทำอย่างไรได้ อาชีพประมงของเรามันหายไปแล้ว”
“เมื่อก่อนเคยจับกุ้งในบ่อ เดี๋ยวนี้มาจับขวด ความรู้สึกแตกต่างกันไหม” เราถาม
“แตกต่างสิ มาทำแบบนี้มันก็เหนื่อยขึ้นไปอีกมาก ก่อนหน้าเลี้ยงกุ้งมีเงินสะพัด อยู่ๆ มาเก็บขวดขาย ใช้เวลารอ 1-2 เดือนกว่าจะได้สัก 1 พันบาท ธรรมดาของคนเรา ลึกๆ มันก็ต้องมีความรู้สึกอยู่บ้าง
“เอาปลาหมอคางดำมาปล่อยแล้วมาเอามันคืนไปเถอะ คนอย่างเราจะได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง คนอื่นเขาผูกคอตายกันไปก็มี เพราะเป็นหนี้เป็นสินเขา มันก็เกิดจากปลาหมอคางดำนี่แหละ”
ดินรก บ้านร้าง
“ปกติผมนอนอยู่ที่บ้านหลังนี้ เพราะข้างหลังเป็นบ่อกุ้งที่ผมเลี้ยง ผมต้องมานอนเฝ้ากุ้งที่นี่”
ห่างจากเพิงสังกะสีของลุงรื่นประมาณ 600 เมตร บนถนนเส้นเดียวกันนี้มีบ้านไม้หลังเก่าตั้งอยู่ เจ้าของบ้านคือ ลุงนิพัตร์ อมศิริ วัย 60 ปี เขามีชะตากรรมไม่แตกต่างจากลุงรื่น เพราะกุ้งที่เคยเลี้ยงถูกปลาหมอคางดำกินเกลี้ยงบ่อ ส่วนปลาสลิดก็ทยอยตายเพราะโดนแย่งอาหาร วันนี้บ่อประมงที่ลุงนิพัตร์เคยแวะเวียนมาเฝ้าดูผลผลิตถูกปล่อยทิ้งร้างจนน้ำแห้งขอด เหนือบ่อของเขามีหญ้าป่าขึ้นรกเต็มผิวดิน
“แต่ก่อนปล่อยปลาปล่อยกุ้งลงบ่อไม่มีคำว่าขาดทุนเลย มีแต่ได้มากหรือได้น้อย ที่ได้มาก็ถือว่าคุ้มทุนตลอด การเลี้ยงกุ้งในบ่อเลี้ยงไม่มีอะไรยาก เวลาน้ำในคลองขึ้นเราก็ดันน้ำเข้าบ่อ ติดตั้งท่อสูบน้ำเอาไว้แล้วขึงอวนเพื่อดักจับกุ้ง ตอนเช้าเราเฝ้าบ่อ ตอนกลางคืนเราก็ตักกุ้งขึ้นจากน้ำเลือกขนาดตัวแล้วเตรียมเอาไปขาย”
ลุงนิพัตร์เล่าว่า ประมงเป็นอาชีพแรกๆ ที่เขาทำ ครอบครัวของเขาประกอบอาชีพหาปลาหากุ้ง จึงมีทักษะการทำประมงเป็นทุนจากครอบครัว และเมื่ออายุได้ 20 ปี นิพัตร์จึงแยกจากครอบครัวมาปลูกบ้านไม้ริมถนนในชุมชนแพรกหนามแดง เพื่อเริ่มต้นเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้งด้วยตนเอง
“สมัยก่อนตอนทำประมงกับครอบครัวผมอยู่กับพ่อแม่ แต่เมื่อเริ่มทำการประมงเองเลยย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านหลังนี้ ก็อยู่มาได้ 30-40 กว่าปีแล้ว สมัยก่อนระบบนิเวศดีบ้านผมดี รายได้ผมก็ดีตามไปด้วย เรียกได้ว่าตื่นเช้ามาก็ได้เงินทุกวัน เงินวันละหมื่นผมยังเคยได้เลย
“พอเราได้เงินมาก ก็เก็บไว้เผื่อพี่น้องเราได้หยิบยืมไปใช้จ่ายต่างๆ บางคนก็เอาไปซื้อที่ดินไว้ทำกินบ้าง เอาไปซื้อของใช้ในบ้านบ้าง พอเราเดือดร้อนก็หันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากพี่น้อง แต่ตอนนี้พวกเขาก็ไม่มีเหมือนกันนั่นแหละ” ลุงนิพัตร์เล่า พร้อมเหม่อมองความแห้งแล้งบนผืนดินที่ว่างเปล่า
ที่ดิน 5 ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินมีค่าของลุงนิพัตร์ บัดนี้ถูกนำจำนองไว้ธนาคาร หลังใช้กู้สินทรัพย์แลกกับโอกาส ‘เสี่ยงโชค’ ซื้อสัตว์น้ำมาลงบ่อครั้งแล้วครั้งเล่า แม้เขาจะกู้ยืมเงินจากธนาคารจนมีหนี้สินบานเบอะเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับการเสี่ยงโชค แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือ การได้เห็นปลาหมอคางดำแหวกว่ายอยู่เต็มบ่อ เงินที่กู้มาหมดสิ้นไปไม่ต่างอะไรกับสำนวนไทยที่ว่า ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’
“เอาเงินมาลงกับปลาสลิด ปลาหมอคางดำมันก็ไปกินอาหารของเขา อาหารช่วงนั้นก็แพง จากที่เป็นหนี้ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตร) อยู่ 5 แสน อยู่มาวันหนึ่งก็ขึ้นมาเป็น 2-3 ล้าน เพราะกู้ไปซื้ออาหารปลาสลิดแล้วไม่ได้ขายปลานำเงินมาคืน ตอนนี้ใช้เงินเต็มวงกู้แล้ว เราก็ต้องทยอยจ่าย ทุกวันนี้ยังจ่ายไม่ครบเลย” ลุงนิพัตร์พูดพลางถอนหายใจ
วันนี้เขายอมแพ้ต่อชะตากรรม วางมือจากอาชีพประจำตระกูล บ้านหลังเก่าริมบ่อถูกตัดน้ำตัดไฟ ทิ้งไว้จนมีสภาพทรุดโทรม ไม้เก่าเนื้อแตกหักงอ ตัวเสารับน้ำหนักก็มีสภาพเอนเอียงผิดรูป หากเผลอเดินชนหรือขยับเพียงนิดหน่อยก็พร้อมถล่มทับได้ทุกเมื่อ
“รายได้มันหายไปหมด จากเคยได้เป็นพันเหลือวันละไม่กี่ร้อยบาท มันไม่พอกับค่าใช้จ่ายแต่ละวัน เราต้องออกจากบ้านไปทำอาชีพอื่นเพิ่ม ย้ายออกไปเผื่อว่าอะไรมันจะดีขึ้น ถ้าจะให้ซ่อมบ้านหลังเก่า ตอนนี้มันก็ไม่ได้อยู่บนที่ดินของเรา เราเองก็ไม่ได้ทำประมงที่บ่อนั้นแล้ว พอคิดค่าขนของ ค่าทำความสะอาด ค่ารื้ออะไรต่อมิอะไร มันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะ” ลุงนิพัตร์กวาดตามองซากปรักหักพังตรงหน้า
“เราก็ทนสู้ไปอย่างนี้แหละ จนกว่ามันจะถึงขีดสุด แต่กลัวภาระจะไปตกที่คนรุ่นหลัง ชีวิตเราก็มีอยู่เท่านี้ ตอนนี้ก็อายุ 60 ปีแล้ว เดี๋ยวโรคนั้นโรคนี้ก็เข้ามาแทรก ผมจะอยู่ได้อีกสักกี่ปีกันเชียว จะอยู่ทันใช้หนี้สินให้ลูกหลานไหม แต่ยังไงเสีย ผมคงไม่ทันได้เห็นอาชีพผมกลับมาเหมือนเดิมแล้ว” ลุงนิพัตร์ทิ้งท้าย
กรรมใดใครก่อ?
อาคารไม้โบราณคึกคักไปด้วยชาวบ้านแพรกหนามแดง บางคนกำเงินเข้าไปในอาคารก่อนเดินออกมาพร้อมเอกสาร บางคนนำเอกสารเข้าก่อนและออกมาพร้อมเงินก้อน ขณะที่ความเป็นเอกภาพเดียวของพวกเขาคือ การเป็นชาวประมง
“ชาวบ้านเขามารับเงินจากกองทุนกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน เอาไปลงทุนกับการปล่อยสัตว์น้ำในบ่อ เป็นกองทุนที่ก่อตั้งกันขึ้นมาเองโดยชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่ประธานมาเลย กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นกลุ่มของรัฐบาล คนที่มาฝากเงินที่นี่ส่วนมากเป็นชาวประมง”
กองทุนกลุ่มสัจจะฯ ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2545 มีเป้าหมายเป็นแหล่งทุนให้ชาวประมงประกอบอาชีพ ทั้งเป็นสวัสดิการแก่ชาวบ้าน ดูแลการรักษาพยาบาล อุดหนุนเงินแรกเกิด และมีค่าทำศพเมื่อถึงแก่กรรม ชาวบ้านที่นั่งอยู่ใต้อาคารเก่าพูดคุยกันแต่เรื่องปลา พวกเขาหวังว่าจะนำเงินที่ได้จากกลุ่มสัจจะฯ เป็นทุนต่อโอกาสอาชีพตนเองยามวิกฤต
“รัฐบาลเขาบอกว่า กลุ่มของพวกเราเป็นกลุ่มเถื่อน แต่พวกกลุ่มที่มันไม่เถื่อนตอนนี้เจ๊งกันไปหมดแล้ว ทั้งกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์พวกนี้เจ๊งหมด เหลือแต่กลุ่มเถื่อนอยู่นี่ไง”
ตั้งแต่การระบาดของปลาหมอคางดำในแพรกหนามแดง ข้อเรียกร้องอันดับต้นๆ ที่ชาวบ้านร้องขอจากรัฐรองจากการขจัดปลาคือ การเยียวยาอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบ ชาวประมงในหมู่บ้านที่ยังพอมีกำลัง โดยมากล้วนมีประสบการณ์เดินทางเข้าเมืองหลวง เพื่อร้องเรียนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าพบปะผู้มีอำนาจบริหารนโยบายมาแล้วหลายครั้ง แต่การเยียวยาวิถีประมงสักแดงเดียวยังคงเป็นเรื่องยากและยังไม่เกิดขึ้น
หากย้อนดูจุดเริ่มต้นของหายนะพบว่า ปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาภายในประเทศผ่านการอนุญาตจากหน่วยงานของกรมประมงตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ตำบลแพรกหนามแดงตั้งอยู่ห่างจากตำบลยี่สาร จุดที่ตั้งของศูนย์วิจัยที่ได้รับ ‘ไฟเขียว’ ให้นำเข้าปลาต่างถิ่นสายพันธุ์รุกรานชนิดดังกล่าวเพียง 11 กิโลเมตร ก่อนจะพบการระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
“พวกเราไปร้องคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ให้เรียกกรมประมงมาสอบ ได้ความว่า บริษัทเอกชนขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2549 แต่นำเข้ามาในวันที่ 2 ธันวาคมปี 2553 เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลให้ทนเค็ม ใช้ออกซิเจนต่ำ ปลาหมอคางดำมันเลยลอยหัวเหนือน้ำได้ เราก็เพิ่งรู้จากคณะกรรมการสิทธิ์ฯ จากที่เรียกกรมประมงมาสอบนั่นแหละ” ลุงปัญญาแจงรายละเอียด
ข้อเท็จจริงคือหน่วยงานรัฐเป็นผู้อนุญาตให้มีการนำเข้า ฉะนั้นหากเกิดข้อผิดพลาดในการอนุญาต หรือสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการอนุญาตครั้งนั้นสร้างปัญหาภายหลัง จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบ ไม่เว้นแม้แต่เอกชนผู้นำเข้า แม้จะยังไม่ชัดเจนถึงการเป็นต้นเหตุก็ตาม
ทว่าจากคำบอกเล่าของลุงปัญญาและชาวบ้านหลายคน ดูเหมือนว่าหน่วยงานดังกล่าวจะไม่สามารถเป็นที่พึ่งแก่ชาวประมงได้สักรายเดียว
“ที่ศาลากลางจังหวัด ก่อนหน้ามีการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมประมง เขาบอกว่า ปัญหาปลาหมอคางดำเกินขีดความสามารถของกรมประมงไปแล้ว ผมเลยถามกลับว่า ถ้าคุณรู้ว่าเกินขีดความสามารถ ทำไมคุณไม่บอกรัฐบาลหรือกระทรวง อย่างนี้กรมประมงก็ไม่ต้องเป็นกรมประมงแล้ว เป็นกรมปลาหมด หรือกรมปลาหมอคางดำเถอะ เขาโมโหใหญ่ หาว่าผมด่าบุพการีของเขา” ลุงปัญญาว่า
บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ประกาศมาตรการ ‘แก้วิกฤต’ ปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ได้แก่ 1. ควบคุม กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด 2. ปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3. นำปลาหมอคางดำจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น 4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชน และ 5. การประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน
คำถามคือ แล้วการเยียวยาชาวประมงอยู่ในส่วนไหนของมาตรการ
“ไม่มี” ลุงปัญญาตอบ เสริมด้วยคำพูดของชาวประมงที่นั่งข้างๆ กันว่า “ฝากบอกรัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติที จะได้เอาเงินมาเยียวยา เงินส่วนกลางก็มีอยู่ ดูนี่สิ ไม่วิกฤตอะไร ระบาดมาตั้ง 12 ปีแล้ว ประชาชนจะกินแกลบกันอยู่ทุกวันนี้ ขนาดชาวนายังได้เยียวยาไร่ละพัน แล้วทำไมคนทำประมงอย่างเรา เจอวิกฤตปลาหมอคางดำมันให้ไม่ได้เลยหรือ ไม่เคยมีเงินจากรัฐลงมาเยียวยาเลยไม่มีเลย ไม่มีใครมาโผล่หน้ามาเลย”
ลุงรื่นพูดต่อว่า “แต่ละคนไม่ได้จริงใจจะช่วยหรอก เราไม่มีจะกินอยู่แล้ว ควรเอาเงินมาเยียวยาเขาจะได้เอาไปลงกุ้งลงปลา อันนี้อะไร ไม่ยอมประกาศพื้นที่ภัยพิบัติมุ่งไปทำแต่ปลายเหตุ พวกเอ็งอยู่ห้องแอร์จะไปรู้อะไร ต้องออกมาถามคนข้างนอกอย่างพวกเรานี่”
ยังไม่มีใครเสนอตัวรับผิดชอบชีวิตที่อันแร้นแค้นของชาวประมงสมุทรสงครามในวันนี้ หากนี่เป็นเรื่องของเวรและกรรม ประโยคที่ว่า กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง คำถามคือ ลุงรื่น นิพัตร์ ลุงปัญญา และชาวประมงอีกกว่า 19 จังหวัดในไทย เป็นผู้ก่อกรรมในวิกฤตครั้งนี้ใช่หรือไม่?
ถ้าหากไม่ใช่ แล้วทำไม ‘คนตัวเล็ก’ เหล่านี้จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ทำเสมอมา
Tags: แม่น้ำแม่กลอง, ปลาหมอ, ประมง, อัมพวา, ประมงพื้นบ้าน, แพรกหนามแดง, อ่าวไทย, ยี่สาร, BIOTHAI, ปลา, นายทุน, ปลาสลิด, กุ้ง, สมุทรสงคราม, เอเลี่ยนสปีชีส์, Feature, ปลาหมอคางดำ