ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุตึกถล่ม ข้อมูลว่าด้วยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ก็อันตรธานหายไปทั้งหมด ทั้งที่ก่อนหน้านี้บริษัทป่าวประกาศด้วยความภาคภูมิใจ ถึงการเป็นอาคารสูงแห่งแรกที่บริษัทก่อสร้างนอกประเทศจีน

โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ มูลค่า 2,100 ล้านบาท เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อปี 2566 ด้วยความภาคภูมิใจ ด้วยการเป็นอาคารสูงแห่งเดียวบนถนนกำแพงเพชร 2 ด้วยความสูงกว่า 31 ชั้น ด้านหลังเป็นสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ขณะที่ด้านหน้าเป็นวิวสวนรถไฟและสวนจตุจักร สามารถมองเห็นได้จากทั่วทุกทิศ 

ภายใต้ฝุ่นอันฟุ้งตลบอบอวลและซากอาคารที่สูงกองรวมกันราวกับตึก 10 ชั้น ภายใต้ปฏิบัติการค้นหา ปฏิบัติการกู้ชีพ สิ่งสำคัญที่หลายคนสงสัยคือ เพราะเหตุใดอาคารแห่งนี้ ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมานับพันกิโลเมตร ถึงเป็นอาคารเดียวในกรุงเทพฯ ที่ ‘ถล่ม’ ลงมาเป็นชั้นจนมีผู้บาดเจ็บ-ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

คำถามแวดล้อมในเรื่องนี้จึงมีมากมาย ตั้งแต่การอนุมัติโครงการก่อสร้าง การดำเนินโครงการโดยกิจกรรมร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC) ซึ่งเกิดขึ้นจาก ‘ร่วมลงทุน’ ระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงการตรวจสอบ ‘โครงสร้าง’ และการรับน้ำหนักของอาคารว่า เพราะเหตุใดอาคารของหน่วยงาน Audit หน่วยงานราชการของประเทศ แห่งนี้จึงเปราะบางกว่าอาคารอื่นๆ มาก

1.อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ สตง. หน้าตาของประเทศ?

โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เริ่มต้นขึ้นในปี 2563 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 2,162 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับ สตง.ในการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต ‘โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)’ กับกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกขั้นตอน เพื่อยกระดับ ‘ความโปร่งใส’ ไม่ให้มีการ ‘รับเงินทอน’ ในโครงการ

ในระยะแรกโครงการได้เริ่มขึ้นต้นด้วยดี ขลุกขลักบ้างเล็กน้อยช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้โครงการล่าช้ากว่ากำหนด แต่ก็กลับมาสร้างต่อได้ อย่างไรก็ตามในระยะหลัง โครงการดังกล่าวช้ากว่ากำหนดมาก ข้อมูลจาก มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่เป็นผู้สังเกตการณ์ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราว่า โครงการดังกล่าวสร้างๆ หยุดๆ เป็นช่วงๆ โดยผู้สังเกตการณ์ทักท้วงมาโดยตลอด และเมื่อเดือนมกราคม 2568 สตง.แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง

น่าสนใจก็ตรงที่ว่า ในเดือนมกราคม 2568 โครงการดังกล่าวคืบหน้าไปมากแล้ว กล่าวคือโครงสร้างอาคารเสร็จเกือบทั้งหมด สตง.จะยกเลิกก่อสร้างได้หรือ และเพราะเหตุใดขณะนี้ผ่านมา 3 เดือน ก็ยังไม่มีการยกเลิกสัญญาใดๆ

ข้อนี้ต้องรอ สตง.ในฐานะ ‘เจ้าของโครงการ’ เป็นผู้ให้คำตอบ

2.ความเป็น ‘มืออาชีพ’ ของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10

บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เป็นใคร มาจากไหน ถูกขุดคุ้ยเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ไม่เฉพาะแต่เพียงชาวไทยที่ตั้งข้อสังเกตเท่านั้น แต่ชาวจีนก็ตั้งข้อสังเกตถึงบริษัทนี้ ยิ่งปรากฏว่า มีคลิปโฆษณาและข้อความโฆษณาที่ระบุว่า เป็น ‘อาคารสูงพิเศษ’ แห่งแรกของบริษัทที่สร้างนอกประเทศ อีกทั้งยังเคยมีโพสต์ในบัญชี WeChat อย่างยิ่งใหญ่ ที่ลงภาพพิธีปิดยอดอาคาร เฉลิมฉลองความสำเร็จ สะท้อนศักยภาพการแข่งขัน และการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน แต่โพสต์ดังกล่าวก็ถูกลบในเวลาไม่นานหลังจากตึกถล่ม

กระนั้นเองบริษัทที่ก่อสร้างนั้นคือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน มีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริง ของจีน ถือหุ้นอยู่ 49% และที่เหลือเป็นคนไทย นำโดย โสภณ มีชัย ที่ถือหุ้นอยู่ 40.80% 

หลังเกิดเหตุไม่นาน มีความพยายามค้นหาที่ตั้งบริษัทดังกล่าว พบทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีที่ตั้งอยู่ที่ซอยพุทธบูชา 44 เขตทุ่งครุ ทว่าสภาพอาคารดูเหมือนเป็น ‘ตึกแถว’ โทรมๆ ปิดทำการ และในออฟฟิศก็ไม่มีพนักงานนั่งทำงาน ขณะเดียวกันยังเคยมีข่าวนายทหารยศนายพลยิงตัวตาย เสียชีวิตในอาคารของบริษัทดังกล่าว

ถึงตรงนี้ความน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งก็คือ เพราะเหตุใด อิตาเลียนไทย ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างไทย จึงได้เลือกบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เป็นบริษัทในการร่วมทุนเพื่อดำเนินการโครงการนี้

ขณะเดียวกันบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ยังมีโครงการสำคัญที่กำลังก่อสร้างอีกโครงการคือ อาคารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี อาคารสำนักงานความสูง 16 ชั้น ด้วยงบประมาณ 716 ล้านบาท โดยรับงานในนามกิจกรรมร่วมค้า เอ็นซีอาร์ซีอี ระหว่างบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)

3.ไอทีดี-ซีอาร์อีซี บริษัทร่วมทุนที่ประมูลงานได้ต่ำกว่าราคากลาง 300 ล้านบาท

ย้อนกลับไปที่ตัวเลข 2,162 ล้านบาท ที่กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ประมูลได้ มีการให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า เป็นการประมูลที่ถูกกว่าราคากลางกว่า 300 ล้านบาท 

ข้อที่น่าสังเกตคือเพราะเหตุใด ไอทีดีถึงเลือกทำงานร่วมกับบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และเพราะเหตุใดจึงปล่อยให้บริษัทจีนซึ่งสร้างอาคารสูงแห่งแรกนอกประเทศ เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในโครงการก่อสร้าง

เสียงจากผู้ที่ทำงานในโครงการบอกว่า ตัวแทนจากบริษัทจีนแทบจะเข้ามามีบทบาททั้งหมดในไซต์งาน และเป็นเหตุให้ในเวลาเกิดเหตุไม่นาน จึงมีภาพปรากฏว่า มีชาวจีนขน ‘แฟ้ม’ จำนวนมากออกจากไซต์ด้วยเหตุผลว่า นำไปเคลมประกัน

ถึงตรงนี้ผ่านมา 3 วัน กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ทั้งฝั่งไทยและฝั่งจีน ยังคงเงียบ ไม่มีการชี้แจงใดๆ

4.ได้เวลา สตง.ตรวจสอบตัวเอง?

จริงอยู่ เรื่องใหญ่เรื่องนี้ ผู้ที่รับผิดชอบหนีไม่พ้นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่รับงานมูลค่า 2,000 กว่าล้านบาท แล้วก่อให้เกิดคำถามมากมาย ทั้งเรื่องความล่าช้าของโครงการ มาตรฐานของเสาเข็ม เหล็ก และโครงสร้าง ซึ่งสุดท้ายทำให้มีผู้บาดเจ็บ-ผู้เสียชีวิต จำนวนมาก

แต่ความรับผิดชอบที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็สะท้อนกลับไปยังหน่วยงานอย่าง สตง.เอง ตั้งแต่กระบวนการการเริ่มต้นสร้างตึก ตั้งแต่การที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกมาบอกว่า สตง.ไม่ได้ให้เข้าไปตรวจตั้งแต่ต้น ไปจนถึงการเลือกใช้กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ในการก่อสร้างโครงการ

คำถามก็คือว่า เพราะเหตุใด ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีหน่วยงานราชการต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยหลักเกณฑ์เข้มงวด กลับปล่อยให้ผู้รับเหมาที่ ‘มีปัญหา’ เข้ามารับโครงการใหญ่โตขนาดนี้ คำถามคือ ในแต่ละขั้นตอน สตง.ได้ตรวจสอบ ‘ตัวเอง’ มากแค่ไหน และนำไปซึ่งคำถามสุดท้ายก็คือ บรรดาคนใน สตง.รู้เห็นหรือมีนอกมีในกับผู้ที่รับงานโครงการนี้หรือไม่

ทั้งหมดยังต้องรอให้มีการสำรวจโครงสร้างทางวิศวกรรมอย่างละเอียดว่า ตึกดังกล่าวมีความบกพร่องประการใด คุณสมบัติ-สเป็กที่ถูกกำหนด มีการดำเนินการตามหลักการวิศวกรรมอย่างละเอียดหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องสอบย้อนกลับไปยังขั้นตอนเริ่มการประมูลหาผู้รับผิดชอบโครงการว่า ได้กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี มาได้อย่างไร

ทั้งหมดกำลังเป็นหนังม้วนยาว ที่ยิ่งสาว ก็อาจยิ่งเจอความผิดปกติระหว่างทาง…

ทั้งหมดอาจเป็นคำตอบได้ว่า ในบรรดาตึกที่กำลังก่อสร้าง ในบรรดาอาคารทั้งหมดในกรุงเทพฯ เพราะเหตุใด อาคารสำนักงานใหญ่ สตง.ถึงเป็นอาคารเดียวที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้

Tags: ,