2564: แรกเจอ

วันที่ผมเดินเข้าไปในบ้านของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ุ หรือ แอมมี่ ผมคาดหวังสิ่งใดหรือ สิ่งแรกที่ผมคาดว่าจะเห็นในพื้นที่ส่วนตัวของเขาควรเป็นเครื่องดนตรีจำนวนมาก อย่างน้อยคือเปียโนตัวนั้น เปียโนตัวที่ติดตามเขาไปทุกแห่งหน เปียโนที่เป็นภาพจำในมิวสิกวิดีโอเพลง เก็บรัก หรืออย่างน้อยผมควรได้เห็นกีตาร์โปร่งสักตัววางอยู่บนเก้าอี้ในสวน กีตาร์ตัวนั้นควรอยู่ในสภาพถูกใช้งานมาอย่างหนักหน่วงสมกับความเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงของเจ้าของบ้าน ทว่าสิ่งแรกที่ผมสะดุดตากลับเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ ภาพวาดเชิงนามธรรมทักทายผมจากผนังบ้าน ภาพวาดเรียกร้องให้ผมสืบเท้าเข้าหาและพิจารณาในระยะชิดใกล้ไม่ต่างจากการชมงานศิลปะในแกลเลอรีสักแห่งหนึ่ง

เจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้วาดบอกชื่อของมัน ‘ตำรวจ’ คือชื่อภาพ และเฉกเช่นเดียวกับภาพวาดเชิงนามธรรมทั้งหลายที่ความหมายของภาพขึ้นอยู่กับผู้ชม ผมมองไม่เห็นตำรวจสักคนในนั้น แต่กลับรู้สึกได้ถึงความสับสนอลหม่านในเส้นรอบรูปคดเคี้ยวที่ดูไม่ต่างจากอวัยวะเพศชาย หลังจบการพิจารณาภาพ ผมเลือกนั่งลงบนเก้าอี้สนามเบื้องหน้า ‘ตำรวจ’ ไม่ไกลจาก ‘ตำรวจ’ มีภาพวาดขนาดเล็กวางพิงซ้อนทับข้างกลุ่มถังสีจำนวนมากอย่างเจียมตัว ผมยังไม่ละความพยายาม มันควรมีเครื่องดนตรีสักชิ้น แอมมี่ The Bottom Blues ถูกจดจำในฐานะนักดนตรีไม่ใช่หรือ

2505: Blowin’ in the Wind

วันที่ 16 เมษายน 2505 นักดนตรีหนุ่มวัย 21 ปี ผู้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรักดนตรีกลุ่มเล็กๆ ขึ้นบรรเลงบทเพลงที่เขาแต่งขึ้นในสถานบันเทิงชื่อว่า Gerde’s Folk City แถบกรีนนิช วิลเลจ นิวยอร์ก บทเพลงที่เขานำเสนอต่อผู้ชมนั้นยังห่างไกลจากคำว่าความสมบูรณ์แบบ เป็นบทเพลงที่ผู้แต่งรู้ดีว่ามีสิ่งให้แก้ไขได้อีกมาก เป็นบทเพลงที่เขาเอ่ยก่อนการบรรเลงว่าโปรดอย่านับมันเป็นบทเพลงแห่งการต่อต้านเลย เพราะเขาไม่ได้แต่งมันขึ้นมาเพื่อสิ่งนั้น

 

“ต้องมีเส้นทางกี่เส้นทางที่เราต้องสัญจรผ่าน ก่อนได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์แบบ

ต้องมีมหาสมุทรมากเพียงไหนที่นกพิราบขาวต้องโบยบิน ก่อนมันจะได้พักสงบบนชายฝั่ง

ต้องมีกระสุนปืนใหญ่กี่นัดที่ถูกยิงกระหน่ำออกไป ก่อนมันจะถูกห้ามปราม

เพื่อนเอ๋ย… คำตอบนั้นอยู่ในสายลม คำตอบนั้นอยู่ในสายลม”

 

ประโยคเริ่มต้นของบทเพลง Blowin’ in the Wind ก่อกำเนิดคำถามต่อขบวนการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในยุคสงครามเย็นที่ปรารถนาจะเห็นสังคมปราศจากซึ่งสงครามและความขัดแย้ง ในยุคสมัยที่รอบกายของผู้คนมีปัญหามากมายรอการแก้ไข ในยุคสมัยที่มีสิ่งไม่ถูกต้องมากมายรอการถมทำลายเพื่อสร้างหนทางอันดีกว่า แต่หนทางนำไปสู่สิ่งเหล่านั้นอยู่ที่ใด? การต่อสู้เพื่อสิ่งนั้นจะยาวนานเพียงไหน? ใครจะเป็นผู้ลงมือออกแรง? เมื่อใดเล่าเรื่องราวเหล่านั้นจะจบลง ในรุ่นของพวกเขาหรือในคนรุ่นต่อไป? เพื่อนเอ๋ย… คำตอบนั้นมี แต่คำตอบนั้นอยู่ในสายลม

กาลเวลาผ่านไป Blowin’ in the Wind กลายเป็นบทเพลงที่ถูกร้องและเล่นในขบวนการต่อสู้และเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลก นักดนตรีหนุ่มนามบ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) ผู้สร้างบทเพลงนี้ขึ้นมากลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียง จนวันหนึ่งเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม แต่เขาปฏิเสธที่จะรับมัน ทว่าในบางสังคมปัญหาที่ลึกซ่อนเพิ่งเผยให้เห็น ทุกสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องในการต่อสู้จะได้รับการตอบสนองไหม? เพดานที่ถูกพังลงจะเผยให้เห็นแสงสว่างและทางออกหรือไม่? เรื่องราวเหล่านั้นจะจบในรุ่นเราจริงหรือไม่? เพื่อนเอ๋ย… คำตอบนั้นอยู่ในสายลม คำตอบนั้นอยู่ในสายลม

 

2553: ครั้งที่ 12345 I Love You ยังเป็นเพลงรักเพลงหนึ่ง

เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เพลงบอกรักชื่อ 12345 I Love You ถูกปล่อยออกมาเป็นครั้งแรก พร้อมกับการเปิดตัวศิลปินเดี่ยวในนามของ ‘แอมมี่ The Bottom Blues’ เด็กหนุ่มวัย 21 ปี ผู้แต่งเพลง ซึ่งรับบทเป็นตัวประกอบในมิวสิกวิดีโอที่ไม่มีเนื้อหาใดมากนักนอกจากการฉายภาพความสดใสของเด็กสาวกลุ่มหนึ่งที่สังสันทน์กันอย่างรื่นเริง

สิบกว่าปีผ่านไป สถานะของเพลง 12345 I Love You เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย เช่นเดียวกันกับผู้แต่งเพลง เขาดูจริงจังกับชีวิต ครุ่นคิด และมีหลายสิ่งในใจ แม้ในขณะจัดการอาหารที่เขาโปรดปราน อันประกอบไปด้วยสปาเกตตีแกงเขียวหวานปลาแซลมอนและสเต๊กจิ้มแจ่ว หลังรับประทานอาหาร เขาจุดบุหรี่ตัวแรกก่อนจะตอบคำถามที่ผมถามขึ้นท่ามกลางอากาศร้อนชื้นแห่งเดือนสิงหาคม

สำหรับผมมันน่าสนใจว่าในปี 2553 หลังจากเพลง 12345 I Love You ถูกนำเสนอออกมาไม่นานนัก ได้เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงกลางสี่แยกราชประสงค์ ในตอนนั้นความคิดของคุณเป็นแบบไหน จัดวางตนเองในทางการเมืองอย่างไร

“ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกตนเองว่าเป็นพวกเมินเฉยได้เลยไหม ตอนนั้นผมไม่เอาทั้งสองอย่าง ไม่เอาเหลือง ไม่เอาแดง ผมคิดของผมเองว่าทุกกลุ่มมีผลประโยชน์ มีเป้าหมายแฝงของตนเอง ผมเคยอ่านเรื่องการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนในช่วง 14 ตุลาฯ เลยมองว่าพลังของนักศึกษาหรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษาน่าจะเป็นการต่อสู้ที่บริสุทธิ์หรือตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว พอไม่มีการเคลื่อนไหวแบบนั้นผมเลยไม่สนใจเลย แต่เมื่อปี 2563 ผมเห็นคนรุ่นใหม่ออกมากันมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฯลฯ

“การออกมาของพวกเขาทำให้ผมรู้สึกว่าผมต้องออกมาแล้ว”

คุณคิดยังไงกับข้อถกเถียงว่าใครตาสว่างก่อน ใครตาสว่างหลังในขบวนการประชาธิปไตย

“ใครจะมาก่อนมาหลังผมไม่รู้ แต่ผมเห็นว่าภายใน 1 ปี ทุกคนก็หัวก้าวหน้าแล้ว ตอนนี้เด็กวัยรุ่นกับป้าเสื้อแดงคุยเรื่องเดียวกัน รู้ว่าต้นตอปัญหาคืออะไร ป้าเป้าคือตัวอย่างที่ดี ผมคุยกับป้าเป้าแล้ว เขามีอะไรเยอะกว่าการตะโกนด่า ถ้าได้คุยจะเข้าใจ หรือกลุ่มนักเรียนอาชีวะ พอมีม็อบถี่ กลายเป็นตอนนี้เขาใช้สันติวิธีอย่างเชี่ยวชาญ ทำอะไรเป็นระบบ และมีวัฒนธรรมเคารพแม่งาน นั่นชัดเจนแล้วว่าการมีม็อบบ่อยครั้งได้ให้ความเข้าใจกับคน หรือตอนนี้ที่กลุ่มทะลุแก๊ซยึดกุมพื้นที่ดินแดงและสู้อย่างตรงไปตรงมาเพราะเพื่อนเขาโดนทำร้าย เขาโดนพังห้องเข้าไป เขาโดนปราบปรามแบบโหดร้าย แต่ผมว่าถ้าผ่านไปอีกสักปีเขาจะมีรูปแบบการต่อสู้ที่เปลี่ยนไปเหมือนกัน”

2554: อ้าย เว่ย เว่ย ในฐานะนักโทษทางความคิด

พ.ศ. 2554 อ้าย เว่ย เว่ย (Ai Wei Wei) ศิลปินชาวจีนที่รัฐบาลจีนไม่เคยพึงใจ ผู้ที่ผลงานของเขามักตั้งคำถามถึงสถานะทางอำนาจและการจัดการประเทศแบบเผด็จการของรัฐบาลจีนอยู่เสมอ กระเป๋านักเรียน 9,000 ใบ ถูกนำมาเรียงเป็นถ้อยคำน่าสะเทือนใจเพื่อสะท้อนการทุจริตการก่อสร้างอาคารเรียนซึ่งส่งผลให้เด็กนักเรียนจำนวนมากต้องจบชีวิตลงในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เสฉวน เมล็ดดอกทานตะวันเซรามิกกว่า 100 ล้านชิ้น ถูกโรยลงกับพื้นให้คนเหยียบย่ำเพื่อกู่ก้องเรื่องการกดขี่แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในวันที่จีนกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลก อ้าย เว่ย เว่ย ศิลปินผู้ได้ชื่อว่าเป็นขบถถูกจับกุมตัวในเช้าวันที่ 4 เมษายน 2554 ก่อนถูกคุมขังในสถานที่ไม่ปรากฏนามเป็นเวลาถึง 81 วัน

 

 “หากศิลปินทรยศต่อสามัญสำนึกทางสังคม

และสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

แล้วเราจะมีศิลปะไปเพื่ออะไร?”

 

อ้าย เว่ย เว่ย คือผู้กล่าวข้อความข้างต้น สิบกว่าปีถัดมา ข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่บนบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ The Bottom Blues เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ในเวลานั้นแอมมี่เพิ่งสัมผัสอิสรภาพจากการได้รับการประกันตัวชั่วคราวมาไม่นาน น่าสนใจว่าขณะแอมมี่โพสต์ข้อความของ อ้าย เว่ย เว่ย เขารู้สึกนึกคิดเช่นใด

2555: การมาถึงของลัลลาเบลล์และรสมือพ่อ

พ.ศ. 2555 ข้อถกเถียงเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ เริ่มมีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักของไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมปีนั้นเอง ชายหนุ่มนามแอมมี่ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน นั่นคือเขาได้เป็นพ่อของลูกสาวนาม ‘ลัลลาเบลล์’

น่าสนใจว่าอาหารที่เขาทำให้ลูกเป็นเช่นไร เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่าเด็กชายนามแอมมี่เติบโตมาด้วยอาหารรสมือพ่อ ซึ่งมีใจรักในการทำอาหาร พ่อของเขาทำงานที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ และหลังการเดินทางข้ามถิ่นจะนำวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่หาไม่ได้ในประเทศเกิดกลับมาด้วยเสมอ ชีสที่มีชื่อเสียง เนื้อวากิว ซอสปรุงรส และเครื่องเทศนานา จะถูกบรรจุลงในกระเป๋าเดินทาง เมื่อกระเป๋าเดินทางเปิดขึ้น เป็นสัญญาณว่าครอบครัว ‘แก้ววิบูลย์พันธุ์’ จะได้ลิ้มรสอาหารที่ถูกปรุงขึ้นอย่างพิเศษเฉพาะในครอบครัว

ทราบมาว่าพ่อของคุณชอบนำวัตถุดิบที่ได้จากการเดินทางมาปรุงอาหาร คุณพอจะเล่าถึงอาหารที่คุณพ่อทำให้กินได้ไหม

“พ่อผมเป็นคนที่แปลก เขาไปทำงานต่างประเทศแทบทุกอาทิตย์ ในขณะที่ลูกน้องเขาซื้อน้ำหอม ซื้อนาฬิกา ตัวเขาซึ่งเป็นหัวหน้ากลับซื้อแต่พวกวัตถุดิบในการปรุงอาหาร อย่างไปนอร์เวย์ พ่อจะซื้อปลาแซลมอนตัวใหญ่ๆ แพ็กอย่างดีใส่กระเป๋าเดินทางมา เราจะรู้เลยว่าวันไหนพ่อกลับมา เราจะได้กินอาหารฝีมือพ่อแน่ๆ พวกสปาเกตตีนี่พ่อผมจะลวกเส้นเอง ทำซอสเอง ผมชอบสปาเกตตีแกงเขียวหวานปลาแซลมอนฝีมือพ่อมาก หลังเขาเกษียณ ไม่ได้ไปต่างประเทศบ่อยๆ แล้ว ผมถึงสังเกตได้ว่าคุณภาพของวัตถุดิบอาหารต่างกันพอสมควร แต่ฝีมือเขาก็ดีมากขึ้นด้วย เพราะมีเวลาพิถีพิถันมากขึ้น”

พอต้องมาเป็นพ่อของลูกบ้าง คุณได้ทำอาหารให้ลูกกินบ้างไหม ถึงคุณจะบอกว่าไม่ชอบทำอาหารก็ตาม

“ต้องเล่าก่อนว่าลูกสาวผม ลัลลาเบลล์ เขาเป็นเด็กเลี้ยงง่าย เขาเป็นเด็กที่เลี้ยงได้ด้วยไข่และเบคอนเลย มีอยู่วันหนึ่งผมนั่งเล่นอยู่กับลัลลาเบลล์แล้วเขาบอกว่าหิว ผมก็เลยเอาวะ ลองดู ก็ตอกไข่ใส่ถ้วย คนๆ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เติมซอส เติมเครื่องปรุง แล้วเอาเข้าไมโครเวฟ ปรากฏว่าพอเอาออกมาก็เป็นก้อนในถ้วยเหมือนไข่ตุ๋น ใช้ช้อนตักกิน ก็อร่อยดีนะ นั่งกินกันสองคนพ่อลูก ลัลลาเบลล์เขากินจนหมด หลังจากนั้นพออยู่ด้วยกันแล้วพอเขาบอกหิว ผมก็ทำเมนูนี้ให้เขาตลอด”

ลัลลาเบลล์รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของคุณไหมตั้งแต่คุณมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“แรกสุดเลย คือผมไปไหนกับเขา จากเดิมเราไปในฐานะนักดนตรี จะมีแฟนเพลงมาหาเป็นหลัก ไปซื้อของก็เจอคนมาขอถ่ายรูป ลัลลาเบลล์เขาเจอมาตลอดอยู่แล้ว แต่พอมาเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มคนที่สนับสนุนเรากว้างขึ้น อย่างไปร้านอาหาร บ่อยครั้งเลยจะมีคนเดินมาบอกว่าผมขอเลี้ยงนะครับคุณแอมมี่ ลัลลาเบลล์ก็บอกว่า ‘ดีเนอะ ไปไหนก็กินฟรี’ บางคนเข้ามาทักและบอกว่าขอบคุณครับที่ออกไปสู้แทนผม ทำให้ลัลลาเบลล์เห็นว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับผม ทำให้เราได้คุยกันมากขึ้นในเรื่องความคิด”

 

2563: เมื่อ 12345 I Love You ถือกำเนิดใหม่ทางการเมือง

 หากใครเคยชมมิวสิกวิดีโอเพลง 12345 I Love You จะเห็นฉากท้ายที่เด็กสาวจะหยิบปืนฉีดน้ำมาฉีดใส่กันอย่างสนุกสนาน ทว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา หลายครั้งที่เพลงนี้ดังขึ้น จะมีการฉีดน้ำประกอบ หากไม่ใช่น้ำเปล่าจากปืนฉีดน้ำในมือเด็กสาว แต่กลับเป็นน้ำผสมสารเคมีจากรถฉีดน้ำแรงดันสูงของตำรวจควบคุมฝูงชน เพลง 12345 I Love You ได้เปลี่ยนความหมายจากบทเพลงรักมาเป็นเพลงประกอบการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่

คุณคิดยังไงที่เพลงรักของคุณกลายเป็นเพลงที่คนเอามาใช้ตะโกนด่ารัฐบาลได้

“ท่อนรับ I hear too. ผมไม่ได้เป็นคนคิดเองนะ มันเกิดขึ้นเองอย่างธรรมชาติ ผมก็แปลกใจเหมือนกันที่มันกลายเป็นเพลงแห่งการเรียกร้องได้ อาจเป็นเพราะตัวผมไม่ได้เป็นศิลปินเพื่อชีวิต พอมาร่วมการเรียกร้องเลยนำเพลงแบบของผมมาใช้ ตอนแรกที่นำเพลงนี้มาเล่นในการชุมนุมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ผมคิดแค่ว่าเป็นเพลงที่คนทั่วไปน่าจะรู้จักเพลงเรามากที่สุดเพลงหนึ่ง อีกอย่างคือพอเราไปเข้าร่วมชุมนุมแล้วพบว่ามีคนมาจากต่างที่ต่างทาง หลากหลาย การเล่นเพลงที่ร้องเล่นกันได้ง่ายน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ปรากฏว่าพอมันติดหู มันกลับขยายตัวไปใช้ในพื้นที่ใหม่แบบที่ไม่คิดมาก่อน”

หลังเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว ท่วงทำนองหรือการแต่งเพลงของคุณมีเนื้อหาเปลี่ยนไปไหม

“ผมแทบไม่ได้ทำเพลงเกี่ยวกับการเรียกร้องเลย ผมยังคิดว่าผมไม่ใช่นักเคลื่อนไหว สิ่งที่ผมถนัดมากที่สุดคือการทำเพลง และผมพยายามแยกสองด้านนี้ไม่ให้ปะปนกันมาแต่แรก อีกเหตุผลหนึ่ง ผมค่อนข้างสบประมาทตัวเองอยู่ว่ายังไม่สามารถเขียนเพลงดีกว่าเพลงของคนเดือนตุลาฯ ที่มีอยู่ได้ ผมร้องเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ เพื่อให้เกียรติวีรชนอยู่บ้างบางครั้ง หรือล่าสุดผมเพิ่งไปงานศพของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในงานมีการร้องเพลงปฏิวัติกัน ผมฟังแล้วมีความสุข แต่ถ้าให้ถ่ายทอดเอง ผมคิดว่าผมคงต้องมีชุดความคิด ชุดความรู้ ชุดข้อมูลมากกว่านี้ ต้องเป็นปัญญาชนและฉลาดกว่านี้”

ถ้าเช่นนั้นคุณกลับมาเขียนเพลงรักแบบที่คุณถนัดได้ไหม

“จริงๆ ก็น่าจะได้ แต่ปัญหามันอยู่ที่ความรู้สึกของตัวผมเอง เพราะพอผมเขียนเพลงรัก เขียนเพลงเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเอง ผมก็ไม่แน่ใจว่าการเขียนหรือร้องเพลงรักตอนนี้มันเป็นจังหวะที่เหมาะสมหรือเปล่า เพราะประชาชนยังไม่ได้ชัยชนะเป็นรูปธรรม เพื่อนผมยังติดคุก สงครามทางนิติบัญญัติยังดำเนินอยู่”

คุณเขียนเพลงรักครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

“ครั้งล่าสุดตอนอยู่ในคุกครับ ในช่วงนั้นผมแต่งเพลงรักเก็บไว้ จริงๆ ไม่ว่าเพลงรักหรือเพลงต่อสู้ผมคิดว่าเราฟังแล้วได้อารมณ์ความรู้สึก ได้แง่คิดมุมมองด้วยกันทั้งนั้น ตอนผมโดนแยกจากเพื่อนๆ แล้วถูกคุมขังที่เรือนจำธนบุรี ในแดนผมมีนักโทษอยู่ประมาณพันคน เวลาผมเริ่มร้องเพลงจะมีนักโทษมานั่งล้อมวงฟังเยอะมาก บางครั้งเป็นร้อยคน นักโทษเขารู้จักเพลง เก็บรัก แล้วเขาขอให้ผมร้อง ในนั้นมีกีตาร์ตัวหนึ่งของคนสอนศาสนาคนหนึ่งทิ้งเอาไว้ ผมก็ร้องแล้วเล่นกีตาร์ให้เขาฟัง ผมรู้สึกว่าเสียงเพลงข้างในมันมีค่า มันหนุนใจ เยียวยาจิตใจ มันรวมใจคนได้ แม้ผมจะสนใจศิลปะ แต่ผมว่าของขวัญของผมคือการแต่งเพลง ผมรู้สึกว่าเวลาจับกีตาร์มันเป็นอาวุธที่ดีที่สุด”

ในฐานะนักดนตรี อาหารอะไรที่คุณได้กินบ่อยๆ

“ข้าวกล่องครับ เป็นนักดนตรีไปแสดงที่ไหนก็กินข้าวกล่องหลังเวทีเป็นหลัก อย่างช่วงที่ยังทำวงกันอยู่ เวลาไปออกทัวร์คอนเสิร์ต พอกลับเข้าที่พัก พวกเพื่อนๆ ในวงจะออกไปแสวงหาของกินแล้ว จังหวัดนี้มีร้านไหนดัง อำเภอนี้มีอะไรน่ากิน ผมจะอยู่แต่ในห้องพัก แต่งเพลงไป นั่งคิดอะไรไป บอกพวกเขาแค่ว่าขออาหารกล่อง ข้าวกล่องอะไรมาก็ได้ อย่างข้าวไข่เจียวนี่กินบ่อยมาก แค่ไข่เจียวโปะมาบนข้าวก็กินได้แล้ว พอมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ขึ้นเวทีพูดเสร็จ ลงมาจากเวทีก็มีข้าวกล่องรอแล้ว ผมก็นั่งกินหลังเวทีเหมือนเดิม”

คุณยังชีพด้วยข้าวกล่องเป็นหลัก

“เป็นหลักเลยครับ ข้าวกล่องเลยเป็นอาหารประจำตัวผมไปแล้ว” (หัวเราะ)

การกินข้าวกล่องตอนคุณไปเล่นคอนเสิร์ตกับข้าวกล่องที่คุณกินตอนอยู่ในม็อบ เป็นการกินที่ให้ความรู้สึกต่างกันไหม

“ผมรู้สึกคุ้นชินมากเลย มันคล้ายกันตรงที่ให้ความรู้สึกว่าการได้กินข้าวกล่องหมายถึงการออกมาทำงาน วันไหนเราได้กินข้าวกล่อง มันเป็นการบ่งบอกว่าวันนั้นจะมีเรื่องให้แก้ปัญหา เป็นการกินที่เร่งด่วน การกินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ยิ่งถ้าเป็นม็อบด้วย กว่าจะตั้งเวทีได้ กว่าจะขึ้นเวที กว่าจะหลบฝนตก กว่าย้ายของมันนาน แต่ความต่างคือสมัยเล่นดนตรี เวลาพักกินข้าวกล่องผมจะคุยกันเรื่องดนตรี ตอนนี้พอลงจากเวทีเรื่องที่คุยก็เป็นเรื่องการเมืองหรือการต่อสู้แทน และข้าวกล่องในม็อบ คนเอามาให้ก็หลากหลาย มีผู้ชุมนุมทำมาให้บ้าง มีป้าเสื้อแดงเอามาให้บ้าง เป็นของโรงครัวของผู้ชุมนุมบ้าง ที่แน่ๆ เราจะรู้ว่านี่คือข้าวกล่องที่มาจากน้ำจิตน้ำใจของมวลชน”

2563: When Ammy’s Blue is not the True Blue

ฝนเดือนสิงหาคมหล่นลงมาแบบไม่แจ้งล่วงหน้า แอมมี่ดับบุหรี่ในมือ แล้วเคลื่อนย้ายภาพวาดขนาดเล็กให้พ้นฝน ภาพเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นภาพเชิงนามธรรมแสดงออก (Abstract Expressionist) ที่จำนวนของมันเป็นหลักฐานอันเด่นชัดว่าเขาทุ่มเทกับงานศิลปะมากเพียงใด ผมละสายตาจากควันบุหรี่ที่หลงเหลือและผ่านมันไปยังกองกระป๋องสีที่วางเรียงรายอยู่ตามแนวผนัง ณ นาทีนี้พวกมันแลดูเป็นเพียงกระป๋องสีธรรมดาที่ปราศจากพิษสงหรืออำนาจใดๆ วัตถุใดๆ ในโลกยังคงเป็นวัตถุที่ผลลัพธ์ของมันล้วนมาจากผู้ใช้เท่านั้นเอง

สำหรับผู้คนทั่วไป ภาพเชิงนามธรรมแสดงออกของศิลปินอเมริกันชื่อ แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) อาจแลดูไม่มีสิ่งใดเร้าใจนักเมื่อแรกเห็น หยดสีที่กระจัดกระจายตามมุมต่างๆ บนผืนผ้าใบอาจทำให้ใครหลายคนเกิดความคิดได้ว่า เพียงแค่มีกระป๋องสีและพู่กันเราก็สามารถสร้างสรรค์งานในรูปแบบเช่นนี้ขึ้นได้ ทว่างานจิตรกรรมของพอลล็อกไม่ใช่เพียงแค่การสาดสีหรือหยดสีอย่างสะเปะสะปะไร้จุดหมายไปมาบนผืนผ้าใบ การเลือกขนาดผ้าใบ โครงสี องค์ประกอบภาพ วิธีการที่จะใช้ ล้วนถูกกำหนดไว้ พอลล็อกเล่นกับการเคลื่อนที่ของร่างกายตนเอง เขาขยับตัวเข้าใกล้ ถอยห่างออกมามอง กระบวนการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นองค์ประกอบสำคัญต่องานนามธรรมประเภทนี้ จนมีคำเรียกขานเฉพาะว่ามันเป็นดัง Action Painting ที่หมายถึงภาพวาดที่เกิดขึ้นจากท่วงท่าที่มีการออกแรงกระทำ

ผมคิดถึงเหตุการณ์เมื่อช่วงสายของวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ชายหญิงจำนวน 15 คน ผู้ได้รับหมายเรียกอันเป็นผลจากการเข้าชุมนุมร่วมกับแนวร่วมประชาชนปลดแอก เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์พร้อมมวลชนจำนวนมากที่ต้องการให้กำลังใจพวกเขา ตำรวจชั้นผู้น้อยถูกสั่งให้ตั้งแผงกั้นมิให้มวลชนเข้าไปในสถานีตำรวจได้ เกิดการผลักดันระหว่างมวลชนกับตำรวจ ระหว่างการผลักดันไปมานั้นเอง ชายหนุ่มคนหนึ่งที่นำเอากระป๋องสีติดตัวมาได้สาดสีน้ำเงินใส่ตำรวจที่ตั้งแนวป้องกันเหล่านั้น เกิดเป็นปฐมบทของการสาดสีเพื่อต่อสู้ในขบวนการประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง ปฏิบัติการทางศิลปะของชายหนุ่มคนนั้นเกิดจากแรงกระทำที่ไม่ได้อุบัติขึ้นอย่างเลื่อนลอยเช่นกัน

คุณตระเตรียมเรื่องการสาดสีมาก่อนหรือเปล่า

“การต่อสู้ด้วยสี ด้วยการแสดงออกทางศิลปะ เป็นแนวคิดที่ผมเสนอในวงมาก่อนพอสมควร คืนก่อนสาดสีเราอยู่กันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ผมก็เสนอเรื่องนี้อีก เพื่อนๆ คิดว่าผมพูดเล่น ไผ่กับเพนกวินยังถามว่า ‘เอาจริงหรือ?’ ส่วนตัวผมคิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ตอนนั้นประชาชนถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ไปชุมนุมก็โดนล้อมปราบ ถูกตอบโต้อย่างรุนแรง เจอทั้งการตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขวางเส้นทางการชุมนุม เจอแก๊สน้ำตาสารพัด”

หลายคนเดาว่าคุณน่าจะสนใจสีน้ำเงินมาก่อนวันที่สาดสี เพราะสีน้ำเงินเป็นส่วนหนึ่งในชื่อวงของคุณด้วย มีศิลปินคนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจในการใช้สีน้ำเงินของคุณหรือเปล่า

“ถ้าพูดถึงสีน้ำเงิน ศิลปินที่ผมสนใจและได้รับอิทธิพลจากเขามากที่สุดน่าจะเป็นคือ ‘พราย ปฐมพร’ การใช้สีน้ำเงินของเขามีผลต่อผมมาก ผมรู้สึกว่าเขาใช้ตัวเองเป็นวัตถุในงานศิลปะ และเขาทำได้ชัดเจนมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการทาตัวเองด้วยสีน้ำเงิน การที่เขาใช้สีน้ำเงินเป็นหลักในการนำเสนออย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดคำถามต่อผมว่าทำไมและเพราะเหตุใด?

“ผมรู้สึกว่าพรายทำให้สีน้ำเงินในความคิดของผมมีมิติที่มากขึ้น มันไม่ใช่สีที่ธรรมดา เขาทำให้ผมนึกถึงความเป็นอื่น เป็นมนุษย์ต่างดาวไหม? เป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างจากเราไหม? เป็นผู้คนที่มีสถานะอีกแบบไหม? ทำให้ผมเกิดคำถามที่ทำให้ผมขบคิดต่อสีน้ำเงิน”

ถ้าเช่นนั้น สีน้ำเงินที่คุณสาดในวันนั้น คุณต้องการให้มันแทนอะไร และผลกระทบที่คุณคาดเป็นแบบไหน

“ผมมองสีน้ำเงินในวันนั้นในฐานะของเหลวธรรมดาที่มีสีเหมือนน้ำ เป็นของสามัญพื้นๆ ถ้าตำรวจจงใจใช้สีน้ำเงินในฐานะตัวแทนของสิ่งที่สูงส่ง สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมก็จะใช้สีน้ำเงินในฐานะตัวแทนของความธรรมดาสามัญที่จับต้องได้ ผมต้องการแสดงให้เห็นว่าสีน้ำเงินเป็นสีที่เราแตะต้องได้ เปรอะเปื้อนได้ ไม่ใช่สีที่อยู่บนหิ้ง บนแท่นบูชา

“ผมแค่ต้องการทำอะไรบางอย่างที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด สีเป็นอาวุธที่ไม่ทำร้ายใคร เปื้อนก็ล้างออกได้ ขณะที่ตำรวจใช้น้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี ผสมสีแล้วฉีดใส่ผู้ชุมนุมที่มาเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง มันทั้งอันตรายและมาจากเงินภาษีของเรา”

ก่อนการสาดสีคุณเคยทำงานศิลปะมาก่อนหรือนำศิลปะมาใช้เคลื่อนไหวไหม

“โดยพื้นฐานผมเป็นคนที่สนใจศิลปะแทบทุกแขนง ผมทำงานศิลปะแบบเพนต์มาตลอดควบคู่กับงานเขียนเพลง แต่คนจะมองว่าผมเป็นนักแต่งเพลงมากกว่า ผมชอบเอาสีพลาสติกมาเทลงบนพื้นต่างๆ ผ้าใบบ้าง กระดาษบ้าง และนั่งคิดถึงความหมายของภาพที่เกิดขึ้นแบบอิสระ ถ้าเทียบคงคล้ายกับงานของแจ็กสัน พอลล็อก ผมชอบพอลล็อก ชอบวิธีการที่เขาสร้างงานศิลปะอย่างตรงไปตรงมา เขาเล่นกับสี เล่นกับผ้าใบ เล่นกับการเคลื่อนที่ของร่างกายตนเอง”

การสาดสีวันนั้น คุณเอาแนวคิดแบบพอลล็อกมาใช้ไหม อย่างการเลือกสี หรือการเลือกจังหวะที่จะสาดสีเข้าไปหาแนวต้านของตำรวจ

“ผมคิดว่าด้วยจุดแรกเริ่ม พอลล็อกเป็นเหมือน DNA หนึ่งในการสาดสีด้วย แต่มวลรวมมันใกล้เคียงกับศิลปะเชิงความคิดหรือ Conceptual Art มากกว่า ความสำคัญของศิลปะแนวนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวงานศิลปะหรือวัตถุใดวัตถุหนึ่ง แต่อยู่ที่มวลรวมทั้งหมดที่ทำให้เราต้องใช้ความคิดเพื่อจะได้เข้าถึง รู้จัก หรือตั้งคำถามกับมัน

“สำหรับการสาดสีวันนั้น ผมคิดว่าคอนเซ็ปต์มันค่อนข้างเข้าใจง่าย นั่นคือถ้าเราถูกกระทำ เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องถูกสาดสีได้ มันคือการแสดงออกถึงความเท่าเทียมของการถูกกระทำ ซึ่งผมว่ามันน่าสนใจที่หลังจากนั้นตำรวจก็ขยับเพดานการต่อสู้กับประชาชนโดยการใช้สีน้ำเงินเป็นหลักเหมือนกัน แม้กระทั่งน้ำผสมแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ฉีดใส่พวกเราก็เป็นสีน้ำเงิน

“จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงเรื่องการสาดสี ผมไม่แน่ใจว่าการสาดสีจะคงอยู่เป็นนิรันดร์ไหม หรือมันมีคุณูปการอะไร ผมเลยไม่อยากยกยอมันสักเท่าไรนัก ผมว่าสิ่งที่ได้เป็นคำถามปลายเปิดมากกว่า เปิดให้ฝั่งเราเองตั้งคำถามว่าการเรียกร้องแบบนี้ยังอยู่ภายใต้กรอบของสันติวิธีไหม ถ้าถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม เราสามารถโต้กลับด้วยวิธีใดได้บ้าง หรือตั้งคำถามต่อโครงสร้างการบริหารงานราชการว่าทำไมตำรวจไทยต้องซื้อเครื่องแบบเอง”

2560: บ็อบ ดีแลน ได้รับรางวัลโนเบล

“ถ้าหากบทเพลงใดก็ตามกระตุ้นคุณ ผลักดันคุณ ดึงดูดคุณ

นั่นแหละคือสาระของมัน ผมไม่จำเป็นต้องรู้ความหมายของบทเพลงเหล่านั้น

ผมเขียนหลายอย่างลงในเพลงของผม แต่ผมไม่เคยคิดมากเกี่ยวกับมันว่ามีความหมายอะไรบ้าง”

คำกล่าวของ บ็อบ ดีแลน ในวันที่ 5 มิถุนายน 2560 หลังจากเขาได้รับการประกาศให้ได้รับรางวัลโนเบลด้านวรรณกรรม

 

2564: จากอาหารในข้าวกล่องสู่อาหารในกล่องคุมขัง

พ.ศ. 2564 แอมมี่ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาทางอาญาที่หนักหน่วง อันได้แก่ กฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาฉกรรจ์ดังกล่าวทำให้เขาถูกคุมขังถึง 46 วัน ระยะเวลาคุมขังที่ยาวนานกว่าการคุมขังครั้งแรกที่กินเวลาเพียงเจ็ดวันทำให้เขาต้องปรับตัว เขางดการสูบบุหรี่อันเป็นของหายาก เข้านอนเร็ว ตื่นแต่เช้าตรู่ตามระเบียบ ทุ่มเทให้กับการออกกำลังกาย เช่น การเล่นกีฬา ไปจนถึงการใช้เวลานั้นสังสันทน์และแลกเปลี่ยนบทสนทนากับนักโทษทางความคิดคนอื่นๆ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายคนกระชับแน่นมากขึ้น 

หลังจากคุณได้รับอิสรภาพ คุณโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ‘เวลาในคุกนั้นช้ากว่าข้างนอกเสมอ’ ชีวิตประจำวันของคุณในนั้นเป็นเช่นไร

“ชีวิตประจำวันในเรือนจำของผมไม่ต่างจากคนอื่น ตื่นแต่เช้ามืด เช็กชื่อ อาบน้ำ กินข้าว ขึ้นนอนแต่บ่าย อะไรทำนองนั้น แต่สิ่งที่ผมพบคือในนั้นมีความพยายามที่จะทำให้เราไม่มีความสุข อย่างพวกเราได้ลูกบอลมาลูกหนึ่งเอามาเตะกัน ได้ออกกำลังกายกัน ก็จะมีการริบลูกบอล เปลี่ยนตัวผู้คุมที่อนุญาตให้เราเตะบอล เรื่องราวแบบนี้จะเกิดขึ้นเสมอ ถ้าเราค้นพบวิธีหาความสุข ก็จะมีคนพยายามทำลายความสุขนั้น การเป็นนักโทษเหมือนถูกตราหน้าว่ามีความผิด ห้ามมีความสุขใดๆ”

ถ้าอย่างนั้น อะไรที่ทำให้คุณมีความหวัง มีกำลังใจในแต่ละวัน

“เรื่องแรกคือลัลลาเบลล์ ตอนอยู่ในนั้นผมครุ่นคิดเรื่องลัลลาเบลล์มากๆ ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมาผมให้เวลากับเขาน้อยเกินไป พอมาแยกจากกันทำให้ตระหนักตรงนี้ ตั้งใจว่าถ้าได้ออกไปจะใช้เวลากับเขาให้มากขึ้น”

อีกเรื่องล่ะครับ

“การใช้เวลากับเพื่อนของเรา ในคุกเราเล่นหมากกระดานกันบ่อย พี่อานนท์แกชอบเล่นหมากรุกไทย เพนกวินชอบเล่นหมากรุกฝรั่ง ส่วนผมเล่นได้แค่หมากง่ายๆ อย่างหมากฮอร์ส พวกผมใช้เสื้อนักโทษตัวหนึ่งมาขีดเป็นตารางหมาก แล้วค่อยๆ เก็บสะสมฝาขวดน้ำมาแทนตัวเดิน สนุกครับ มีอยู่ครั้งหนึ่งไผ่ส่งซิกให้ผมว่าควรเดินหมากกับเพนกวินยังไง เพนกวินถึงกับงอนแล้วขู่ว่าจะเลิกคบพวกผม ถ้าไผ่ยังส่งซิก

“บางทีเราก็แค่คุยกัน อย่างไผ่ ผมได้คุยและได้เรียนรู้จากเขามากขึ้น ในสายตาของผม ไผ่เป็นคนครบเครื่อง เป็นแกนนำที่ปราศรัยได้ดี อุดมการณ์แน่น มนุษยสัมพันธ์ดี เข้าใจคนอื่น มีทั้งไอคิวและอีคิวที่ดี เล่นกีฬาก็คล่อง อีกเรื่องหนึ่งคือเขาเป็นคนดนตรี เผลอๆ ไผ่จะเล่นกีตาร์เก่งกว่าผมเพราะเขาเป็นหมอพิณด้วย ความเป็นหมอพิณของไผ่ สำหรับนักดนตรีอย่างผมถือว่าเขาคือคนที่ศิวิไลซ์มาก ต้องเป็นอัจฉริยะระดับหนึ่ง การเป็นคนดนตรีเหมือนกันทำให้ผมมีเขาเป็นแรงกระตุ้น เป็นแรงบันดาลใจ”

นอกจากเป็นแรงบันดาลใจทางความคิด การปะทะสังสันทน์กับเพื่อนๆ ทำให้คุณมีประสบการณ์ทางอาหารที่ขยายขอบเขตขึ้นบ้างไหม

“จริงๆ แล้วอย่างลาบก้อยผมก็เพิ่งมารู้จักจากม็อบ จากคณะลาบ จากพี่อานนท์เหมือนกัน ผมประทับใจนะครับเวลามีการกินเลี้ยงที่ศูนย์ทนายฯ คนต่างจังหวัดที่เป็นลูกความของพี่อานนท์บ้าง หรือคนเสื้อแดงบ้าง จะหอบปลาหอบกุ้งมาให้พี่อานนท์ เป็นภาพที่สวยงาม

“กับอีกอย่างคือปกติผมเป็นคนชอบกินอาหารรสจืดไปจนถึงจืดชืดเลยก็ว่าได้ อย่างสเต๊กจิ้มแจ่วซึ่งเป็นอาหารที่ผมชอบมาก จะเป็นแจ่วแบบอนุบาล ใส่แค่น้ำปลา มะนาว ข้าวคั่ว น้ำตาล ไม่มีพริกผงหรือพริกแห้งเลย และปกติผมไม่กินส้มตำเลยเพราะมันเผ็ด แต่พอผมมาสนิทกับพวกพี่อานนท์ กับไผ่ ที่เขากินอาหารท้องถิ่น ผมก็กินตามๆ เขาไป พอไปอยู่ในเรือนจำ ส้มตำนี่เขาจะแยกน้ำราดส้มตำ เส้นมะละกอ กับเครื่องอื่นๆ ออกจากกัน ผมเลยคิดว่าส้มตำมันก็เป็นสลัดแบบหนึ่งนี่นา เลยเอามาคลุกรวมกันแล้วกิน ก็อร่อยดี บวกกับผมเริ่มมีความคุ้นชินกับรสอื่นๆ มาจากการกินตามเพื่อนๆ เลยทำให้ผมกินส้มตำได้มาถึงตอนนี้”

 

2475-2564: เมื่อการอภิวัฒน์ไม่จบในรุ่นเขา เก็บฝันนั้นไว้ในใจเราก่อน

รุ่งสางของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พลเรือนและทหารจำนวนหนึ่งได้ทำการอภิวัฒน์สังคมไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หลังการอภิวัฒน์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มคนที่ใช้ชื่อว่าคณะราษฎรได้ประกาศหลักหกประการ ได้แก่ ‘เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา’

หลักหกประการนำพาสังคมไทยดำเนินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง มีการก่อตั้งพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง ช่องว่างระหว่างชนชั้นแคบลง ประชาชนมีความหวัง แต่น่าเสียดายว่าการดำรงอยู่ของหลักหกประการและการหมุนสังคมหรือการอภิวัฒน์สังคมไปสู่ความก้าวหน้านั้นดำเนินไปได้เพียงสิบห้าปีเท่านั้นเอง หลังปี 2490 การหมุนเคลื่อนเช่นนั้นได้ถูกฉุดรั้งและสกัดกั้นมาตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์

พ.ศ. 2558 เพลง เก็บรัก ของ แอมมี่ The Bottom Blues ได้รับความนิยมอย่างสูง บทเพลงแสนเศร้าที่กล่าวถึงความรักที่จบลง แต่ถูกวิงวอนให้มันไม่ถูกลืม เมื่อผนวกเข้ากับมิวสิกวิดีโอที่ปรากฏภาพของชายหนุ่มผู้สวมหมวกทรงสูงนั่งบรรเลงเปียโนตามสถานที่ต่างๆ เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเหงา เศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเพลงที่มีพลังอย่างยิ่ง ความรักที่ไม่ดับสิ้นตามกาลเวลาช่างทรงพลังอย่างยิ่ง อุดมการณ์ที่ไม่ดับสิ้นตามกาลเวลาเป็นเช่นนั้นเช่นกัน

11 พฤษภาคม 2564 แอมมี่ถูกปล่อยจากที่คุมขัง เขานั่งรถตู้ของครอบครัวออกมาจากเรือนจำ เมื่อผ่านผู้คนที่มาให้กำลังใจ เขาลดกระจกรถลงและชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่มีคำพูดใด เขาอาจเพียงต้องการแสดงสัญลักษณ์ที่คุ้นตา หรือเขาอาจต้องการบ่งบอกถึงเสรีภาพ ภราดรภาพ หรือความเสมอภาค อันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหาได้ในที่คุมขังที่เขาจากมา ไม่มีใครล่วงรู้ในความหมายนั้น เขากลับบ้านในวันนั้น และตอนนี้เขากำลังกลับมาที่โต๊ะอาหารอีกครั้งหลังไปเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ให้ลัลลาเบลล์ผู้กำลังสนุกกับภาพยนตร์การ์ตูน บทบาทของพ่อที่เขารับหน้าที่ดูแลเด็กหญิงตัวเล็กเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักโดยเฉพาะต่อสาธารณชน

เวลาคุณมองดูลัลลาเบลล์ คุณคิดถึงอะไร

“ผมอยากใช้เวลากับเขาให้คุ้มค่า แต่นอกจากนั้น ทุกครั้งที่ผมมองดูเขา ผมเกิดความรู้สึกว่าผมต้องการเห็นสังคมที่มีความหวัง มีคุณค่ากว่านี้ มีอนาคตมากกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหาทั้งหมดควรจบในยุคของผม”

บทสนทนาจบลงตรงนั้น แอมมี่นิ่งจมกับความคิดก่อนเขาจะขอตัวกลับเข้าไปในบ้านอีกครั้ง มีบางสิ่งสงบนิ่งในตัวเขา เป็นบางสิ่งที่มีพลังซึ่งผมรู้สึกได้ วันนี้เขาสวมหมวกเบเรต์แทนหมวกทรงสูงในมิวสิกวิดีโอเพลง เก็บรัก เป็นไปได้ว่าแทนการเก็บรักเขาเลือกเก็บความฝันที่คนหลายสิบปีก่อนทำไม่สำเร็จไว้ในใจ เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในรุ่นเรา

เก็บฝันไว้ในใจเราก่อน เพราะเราต้องพร้อมจะเริ่มต้นใหม่

ให้มันจบที่รุ่นเรา

 

บรรณาธิการต้นฉบับ: ชลธร วงศ์รัศมี

Fact Box

สูตรไข่ตุ๋นไมโครเวฟของแอมมี่

วัตถุดิบ

ไข่ไก่  ซอสปรุงรส เกลือ พริกไทย

วิธีปรุง

ตอกไข่ใส่ชาม คนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว เติมซอสปรุงรส เกลือ พริกไทย และนำเข้าไมโครเวฟราว 2 นาที ที่อุณหภูมิราว 600 วัตต์

Tags: , , , ,