15 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพิ่งมีมติเห็นชอบ โครงการผันน้ำยวม หรือชื่อที่เป็นทางการว่า ‘โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล’ บนพื้นที่แนวเขตป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่
ปัญหาก็คือ ‘อีไอเอ’ ที่ควรจะผ่านการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านในพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย กลับมีปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากเนื้อหาหลายประการนั้น ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็น และไม่ได้เห็นด้วย แต่กลับเขียนไปว่าชาวบ้านมี ‘ความกังวล’ เท่านั้น
สำหรับโครงการเขื่อนน้ำยวม ภายใต้แผนงานโครงการ มีองค์ประกอบสำคัญ อาทิ
1. เขื่อนน้ำยวม เขื่อนคอนกรีต ความสูง 69 เมตร ที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
2. อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน พื้นที่ 2,079 ไร่
3. อุโมงค์คอนกรีต ความยาว 61 กิโลเมตร ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนภูมิพลที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ ยังมีอาคารซ่อมบำรุง สถานีสูบน้ำ ถนน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งภายใต้โครงการนี้โครงการเดียว คาดว่ามีมูลค่ามากกว่า 7 แสนล้านบาททั้งนี้ แนวคิดในการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมเขื่อนภูมิพล มาจากการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและรัฐ เห็นว่าบรรดาเขื่อนหลัก ไม่ว่าจะเขื่อนภูมิพล ที่กั้นแม่น้ำปิง เขื่อนสิริกิติ์ ที่กั้นแม่น้ำน่าน รวมถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่กั้นแม่น้ำป่าสัก ก่อนไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ที่กั้นแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก ล้วนมีน้ำไม่เต็มความจุเขื่อน การเติมต้นทุนน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินเข้ามาเติม จะแก้ปัญหาน้ำไม่พอในฤดูทำการเกษตรได้
แม้ว่าในอีไอเอจะระบุชัดว่า โครงการนี้จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า 3,641.78 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) 2,735.06 ไร่ ป่าเพื่อการเศรษฐกิจ (Zone E) 899.65 ไร่ ป่ากันออกจากพื้นที่ของรัฐที่อยู่ในเขตป่าแต่ราษฎรใช้ที่ดินทำกินได้ (Zone N) 4.28 ไร่ และป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม (Zone A) 2.79 ไร่ นอกจากนี้ ยังระบุว่าการดำเนินโครงการต้องสูญเสียพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A และ 1B จำนวน 1,293.18 ไร่ ก็ตาม…
The Momentum มีโอกาสลงพื้นที่ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อสำรวจพื้นที่ที่ประชาชน พื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่ ‘ต้นโครงการ’ พื้นที่ที่จะกลายเป็น ‘อ่างเก็บน้ำ’ เหนือเขื่อนน้ำยวม เพื่อฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในบริเวณนั้นว่าเขาได้รับทราบข้อมูลจาก ‘รัฐ’ เจ้าของโครงการอย่างไร และสังเกตการณ์เวที ‘รับฟังความคิดเห็น’ ระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ และจากกรมชลประทาน
สิงห์คาร เรือนหอม ชาวบ้านแม่เงา อำเภอสบเมย กล่าวว่า โครงการต่างๆ ของรัฐถูกคิดขึ้นมาโดยไม่เคยถามความเห็นชาวบ้าน กว่าชาวบ้านจะรู้เรื่องก็เมื่อจะมีการดำเนินโครงการไปแล้ว นอกจากนี้ สิ่งที่จะมีผลกระทบมากที่สุดในแบบประเมินค่าไม่ได้คือด้านระบบนิเวศ ซึ่งไม่สามารถมาตีราคาความเสียหายได้เลยเพราะความเสียหายค่อนข้างหนัก เพราะเดิมทีระบบนิเวศของลุ่มแม่น้ำเอื้อกันโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สัตว์น้ำ และระบบนิเวศ ต่างก็สอดคล้องต้องกัน ทว่าหากมีโครงการผันน้ำขึ้นมา ระบบนิเวศจะถูกทำลายอย่างแน่นอน
สิงห์คารบอกว่า ป่าในพื้นที่นี้แตกต่างกับป่าอื่นๆ ในเขตภาคเหนือ ไม่ว่าจะป่าในเชียงใหม่ บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน โดยเขตป่ามีความเฉพาะตัวสูงมาก ถึงไม้บางชนิดจะเหมือนกันแต่สายพันธุ์ก็ต่างกัน โดยพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างน้อย 5 แห่ง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งขวา ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม-ป่าแม่ตื่น
ขณะเดียวกัน อีกอย่างนึงที่ต้องสูญเสียไปถ้าหากโครงการนี้เกิดขึ้น คือ สัตว์น้ำ เช่น ปลาเฉพาะถิ่น เช่น ปลาสะแงะ หรือ ปลาตูหนา (ในภาษาวิชาการ) จะเจอเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำแถบนี้เท่านั้น โดยมักจะขึ้นมาจากปากอ่าวสาละวิน ขึ้นมาวางไข่ที่แม่น้ำยวม ปลาเสือ ปลาหายากเฉพาะถิ่นของที่นี่เช่นกัน หรือแม้แต่กุ้ง ก็เป็นกุ้งพื้นถิ่น และมีหลายชนิดที่นี้ที่ยังไม่ได้รับการศึกษาแต่เป็นกุ้งเฉพาะถิ่นที่เจอได้ตามห้วยกุ้ง
ทั้งปลาและกุ้งเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านนั้นมักจะออกหาไว้สำหรับขายและบริโภค แน่นอนถ้าโครงการนี้มา น้ำก็จะนิ่ง และสัตว์พวกนี้ก็จะอยู่ไม่ได้จนตายหมด เมื่อแม่น้ำไม่ไหลเชี่ยวตามธรรมชาติที่สามารถช่วยให้สัตว์เฉพาะถิ่นเหล่านี้มีออกซิเจนที่สามารถอาศัยอยู่ได้
ขณะเดียวกัน ความกังวลอีกอย่างก็คือ ปลาที่อยู่พื้นที่ ‘ท้ายเขื่อน’ จะไม่สามารถว่ายข้ามมาเหนือเขื่อนได้ โดยในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยปกติ ปลาจะว่ายจากบริเวณลุ่มน้ำสาละวินตอนล่าง มาวางไข่บริเวณแม่น้ำยวม และในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ปลาจะย้ายกลับมายังบริเวณลุ่มน้ำสาละวินตอนล่าง ซึ่งการสร้างเขื่อนน้ำยวมจะทำให้ปลาไม่สามารถมาวางไข่ได้ตามปกติ เพราะติดสันเขื่อน
เขายังบอกด้วยว่า ที่น่าเสียดายอีกอย่างหนึ่งคือหอย เพราะพื้นที่แม่น้ำยวมนั้นมีหอยร่วม 20 ชนิด แต่หอยที่อยู่ในน้ำนิ่งได้มีไม่กี่ชนิด ขณะที่หอยอีก 10 กว่าชนิดนั้น ไม่สามารถอยู่ได้ในน้ำนิ่ง และถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านก็คงต้องย้ายอพยพกันอีกครั้งเหมือนครั้งเขื่อนภูมิพล เพราะชาวบ้านในละแวกนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวชาติพันธุ์ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ยืนยันตัวตน คงไม่สามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้
ด้าน มึดา นาวานารถ ชาวบ้านท่าเรือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า กระบวนการการรับฟังความเห็นของชาวบ้านที่ EIA จัดขึ้นแต่ละครั้ง เวลาจัดงานประชุมฟังความเห็น ก็จะจัดกระทันหัน เช่น จัดพรุ่งนี้ ก็จะแจ้งชาวบ้านล่วงหน้าเพียงหนึ่งวัน ซึ่งเป็นเรื่องกะทันหันเกินไป และการพูดคุยทุกครั้ง ก็เป็นการชี้แจงข้อมูลจากทางหน่วยงานรัฐเพียงฝ่ายเดียวตลอดมา ที่สำคัญคือไม่มีล่ามภาษาท้องถิ่นคอยแปลให้ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลอย่างเต็มที่ เพราะชาวบ้านในละแวกนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวชาติพันธุ์
นอกจากนี้ การได้มาของหนังสือเล่มอีไอไอนั้น ชาวบ้านก็ต้องเสียเงิน ซึ่งที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องเปิดรับบริจาคเพื่อรวบรวมเงิน 2 หมื่นบาทในการเข้าถึงข้อมูลอีไอเอ ซึ่งเยอะมากสำหรับชาวบ้าน
“ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ในหนังสืออีไอเอ รายชื่อหรือข้อมูลต่างๆ กลับมีการถมดำไว้ ซึ่งทำให้เข้าไม่ถึงข้อมูลที่แท้จริง และยังมีความผิดปกติในเล่ม เช่น มีรูป ทีมอีไอเอนั่งกินข้าวกับแกนนำชุมชน และถ่ายเซลฟีเอาไปลงเล่ม พอไปถามแกนนำชุมชนกลับได้รับคำตอบว่า วันนั้นไปกินข้าวกับทีมอีไอเอจริง แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องโครงการนี้เลย”
มึดายังเล่าให้ฟังอีกว่า ในรายงานอีไอเอ มีการลงพื้นที่มาถ่ายรูปไปประกอบเล่ม แต่เขียนไว้แค่ว่าชาวบ้านมี ‘ความกังวล’ และพยายามเลี่ยงที่จะพูดถึงจุดยืนของชาวบ้านว่าไม่ต้องการโครงการนี้
นอกจากนี้ หากโครงการนี้เกิดขึ้น ปัญหาอีกอย่างที่จะตามมาคือ กองดินที่ขุดอุโมงค์ผันน้ำ เพราะอุโมงค์ที่ขุดไม่ใช่อุโมงค์เล็กๆ ลึกหลายเมตร และต้องขุดยาวไปถึง 61 กิโลเมตร ความกว้างขนาดประมาณรถบรรทุกสองคันสวนกันได้ ซึ่งกองดินพวกนี้จะมีผลกระทบคือ เมื่อฝนตกลงมา กองดินพวกนี้จะไหลลงไปในแหล่งน้ำหรือไร่สวนของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นมีอาชีพปลูกผักและหาปลา ถ้าโครงการนี้มามันจะมีผลกระทบทั้งหมด จากที่เคยลงน้ำมีปลาให้กิน ขึ้นภูเขาเข้าป่าไปก็มีพืชผักให้กิน สิ่งเหล่านี้คงจะไม่มีอีก
ขณะที่ มหิทธิ์ วงศ์สา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน ชี้แจงว่า เรื่องอีไอเอที่ชาวบ้านมองว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้น ยืนยันว่ากระบวนการพิจารณาอีไอเอมีหลายขั้นตอนที่พิจารณา อีกทั้งยังมีแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบและสิ่งแวดล้อม และการจัดการความเป็นอยู่ เช่น การจ่ายค่าชดเชย ซึ่งถึงไม่มีเอกสาร ก็จ่ายชดเชยได้ ถ้าผ่านการประเมินแล้ว
ส่วนเรื่องพันธุ์ปลา มหิทธิ์บอกว่าได้หารือกับกรมประมงแล้ว ว่าจะเอาปลาจากท้ายเขื่อนมาปล่อยเหนือเขื่อน และจะแก้ปัญหาด้วยการนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลาพื้นถิ่นมาผสมและปล่อย พร้อมทั้งยืนยันว่าโครงการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อพืชพันธุ์ เพราะโครงการนี้ไม่ได้เจาะผ่านพื้นที่อุทยาน และแนวอุโมงค์ก็จะไม่กระทบต่อรากพืชแน่นอน เพราะขุดลึกไปหลายเมตร ส่วนในปัญหาเรื่องดินนั้น จะมีนักธรณีวิทยาคอยดูและตรวจสอบปัญหานี้อยู่ตลอด ระหว่างดำเนินการขุด นอกจากระบบนิเวศแล้วที่น่าเป็นห่วงแล้ว ยังมีเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้านที่ชาวบ้านกังวลไม่แพ้กันว่าจะต้องเปลี่ยนไป คือเรื่องข้อมูลจากหน่วยงานรัฐและวิถีชีวิตความเป็นอยู่
ขณะที่ สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. ให้ความสำคัญกับคำร้องของชาวบ้าน จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนี้ ส่วนจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่นั้น อาจต้องรอให้ผลการตรวจสอบทั้งหมดเสร็จสิ้นก่อน
อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่ามีช่องว่างของข้อมูลระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องรายงานอีไอเอที่ยังมีข้อมูลขัดแย้งกัน และคงต้องเรียกหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงข้อมูล ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่เพื่อให้ทันกับการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการทำหนังสือนำแจ้งต่อ ครม. ให้รับทราบว่า กสม. กำลังทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และจะมีการรายงานผลการตรวจสอบต่อไป
Tags: Feature, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่ฮ่องสอน, น้ำยวม, เขื่อนน้ำยวม, สบเมย