“เป็นอาชีพที่ดีมากๆ ไม่ต้องแอดมิชชัน ไม่ต้องสอบโอเน็ท เอเน็ท (ป.ตรีจบมาเงินเดือน 2-3 หมื่น) พระออกงานศพทีก็ได้ 2,000-3,000 บาทต่อคืน กลางวันก็มีญาติโยมนิมนต์ไปสวดขึ้นบ้านใหม่ เดินทางฟรี ได้ค่าสวดอีก 2,000-3,000 บาท (ตกวันละ 4,000-6,000 บาท 20 วันก็พอ)”

ความคิดเห็นที่ 6 แสดงอยู่ใต้โพสต์สอบถามที่ปรากฏบนเว็บไซต์ Pantip หัวข้อ ‘พระรายได้ดีไหม? ถ้าไม่มีงานทำ ไปบวชเป็นพระจะดีหรือเปล่า’ ที่แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ความคิดเห็นดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า “ถ้าคุณเทศน์ ไปทำมือเป็นเลขหรือหยดเทียนเป็นเลข แป๊บๆ คุณก็จะป็อป ไม่นานเดี๋ยวก็มีคนนำเงินมาถวายโดยที่คุณไม่ต้องพูดตัวเลขด้วยซ้ำ ทีนี้แหละ อยากได้อะไร เดี๋ยวแม่ยกพ่อยกก็ประเคนให้”

หากจะมีใครที่รู้คำตอบว่า การดำรงตนใต้ผ้าเหลืองอย่างการเป็น ‘พระ’ ได้เงินจริงหรือไม่ ผู้รู้คงหนีไม่พ้นผู้ที่ยังเป็นหรือเคยเป็นพระในศาสนาพุทธ 

The Momentum ได้พูดคุยกับ จาตุรงค์ จงอาษา ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพระพุทธศาสนา และพระมหาอิทธิศักดิ์ ถิรธมฺโม นักเรียนหลักสูตรนักธรรมบาลีในสำนักปริยัติธรรมแห่งหนึ่ง ในบทความที่จะพาไปทำความรู้จักกับการถือครองเงินของพระ เหตุผลของการละทางโลกที่ไม่สามารถละจากเงินตรา รวมถึงช่องโหว่ของศาสนาที่จะนำไปสู่การหาผลประโยชน์จากความศรัทธาของคน 

ทอง-เงินกับภิกษุ

อันที่จริง การถกเถียงกันด้วยหัวข้อที่ว่า ‘พระควรจับเงินได้หรือไม่’ ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน แต่เคยมีการถกเถียงกันมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์สยามถึง 2 ครั้งจากคำบอกเล่าของจาตุรงค์ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ไล่มาจนถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และอีกครั้งคือ ปี 2475-2486 ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงอภิวัฒน์สยามที่นำโดยคณะราษฎร 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนา ‘ธรรมยุติกนิกาย’ ซึ่งเป็นนิกายของพระพุทธศาสนาแนวสัจนิยมขึ้น ขณะทรงเป็นพระวชิรญาณเถระ ซึ่งภิกษุรูปใดที่ไม่เข้านิกายนี้นับว่าอยู่ในมหานิกาย อย่างไรก็ตามทั้ง 2 นิกายมีวัตรปฏิบัติที่ตึงหย่อนกว่ากัน รวมถึงความแตกต่างในเรื่องการจับเงินของพระภิกษุด้วย

“ธรรมยุติกนิกายเกิดขึ้นเสมือนกับเป็นตัวอย่างให้กับคณะสงฆ์ในมหานิกายว่า เราจะไม่จับเงินทอง แต่สามารถครอบครองได้ผ่านทางกรรมการวัดหรือโดยไวยาวัจกร” จาตุรงค์ระบุ

พระไตรปิฎกบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่สามารถรับเงินและทองซึ่งเป็นนิสสัคคิยวัตถุตามพระวินัยบัญญัติ ทั้งการรับเองและให้ผู้อื่นรับแทน เนื่องจากจะเกิดอาบัติที่เรียกว่า นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ หรือนิสสัคคิยวัตถุ ซึ่งหากภิกษุมีการรับเงินและทองนั้นมาแล้วต้องมีการสละต่อหน้าคณะสงฆ์ จึงจะปลงอาบัตินี้ได้

ข้อมูลนี้ตรงกันกับพระมหาอิทธิศักดิ์ที่ระบุว่า ในพระธรรมวินัย สิ่งของที่ภิกษุไม่สามารถจับต้องได้ด้วยประการทั้งปวงคือ ทองคำ เงิน และทรัพย์สินต่างๆ พระพุทธองค์จึงกำหนดให้ภิกษุแต่ละรูปมีไวยาวัจกร เพื่อรับจตุปัจจัยไทยธรรมจากคณะศรัทธาและญาติโยมแทนการให้ภิกษุรับด้วยตนเอง ขณะเดียวกันไวยาวัจกรจะเป็นผู้ดูแลการใช้จ่ายของภิกษุ เพื่อไม่ให้จับเงินโดยตรง เปรียบเสมือนเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของพระไปในตัว ด้านญาติโยมที่มาถวายปัจจัยส่วนหนึ่งก็มักจะใส่ใบปวารณาไว้ในซองปัจจัย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับใบเบิกเงินสด แทนการใส่เงินสดในซองกระดาษเพื่อไม่ให้พระภิกษุสัมผัสกับเงินสด 

“อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน มีพร้อมเพย์ สามารถสแกนจ่ายเงินได้แล้ว ภิกษุจึงไม่จำเป็นต้องจับเงินสด อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายของภิกษุก็ต้องมีบุคคลที่เป็นไวยาวัจกรดูแล เพื่อไม่ให้ภิกษุทำผิดธรรมวินัย” พระมหาอิทธิศักดิ์อธิบาย 

ย้อนกลับมาในฝั่งมหานิกาย จาตุรงค์ระบุว่า พระภิกษุสงฆ์ในนิกายนี้ไม่ได้มองธนบัตรที่มีมูลค่าว่าเป็นเงิน แต่มองเป็นกระดาษที่ต้องรับไว้เพื่อรักษาศรัทธาของญาติโยม และเมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องทำการสละกระดาษนั้นในรูปแบบของสิ่งก่อสร้าง การรักษาพยาบาล หรือประโยชน์สาธารณะ

“เราเคยไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องภิกษุกับเงินของฝั่งมหานิกายคือ พระมหานิกายเขาไม่ได้มองมันเป็นเงินนะ เขามองมันเป็นกระดาษ เหมือนภิกษุรับไว้เพื่อรักษาศรัทธาของญาติโยม ถึงเวลาเขาก็ต้องสละ ในรูปของสิ่งก่อสร้าง สละในรูปของพยาบาล สละในรูปของสาธารณะกุศลอะไรเหล่านี้เป็นต้น” จาตุรงค์ระบุ

จึงกล่าวได้ว่า ภิกษุในศาสนาพุทธทั้ง 2 นิกายของไทย ต่างถือครองเงินได้เพียงแต่อาจจะมีลักษณะและวิธีการถือครองแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือ ธรรมยุติกนิกาย ภิกษุถือครองเงินผ่านไวยาวัจกร ส่วนมหานิกายรับเงินได้ด้วยตัวภิกษุเอง 

ภิกษุสงฆ์ได้เงินมาจากที่ใดบ้าง

ปัจจุบันประเทศไทยมีการให้เงินเดือนพระภิกษุสงฆ์ที่เรียกว่า ‘นิตยภัต’ ยึดตามพระสมณศักดิ์ เช่น พระสังฆาธิการ เลขานุการ เปรียญธรรม 9 ประโยค และพระอธิการ ตามคู่มือปฏิบัตินิตยภัตตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยอัตรานิตยภัตสูงสุดที่ได้รับคือ สมเด็จพระสังฆราช ได้รับนิตยภัต 3.7 หมื่นบาทต่อเดือน โดยเป็นเงินที่มาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลถวายเป็นนิตยภัต เพื่อสนับสนุนด้านการปฏิบัติศาสนกิจ การบริหาร การศึกษา การเผยแพร่พระพุทธศาสนา และด้านสาธารณูปโภค โดยคำนวณเงินนิตยภัตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ทว่านอกจากการได้เงินเดือนมาโดยสมณศักดิ์แล้ว ภิกษุก็มีโอกาสได้รับเงินจากโอกาสอื่นๆ ในศาสนาเช่นเดียวกัน 

“การรับเงินของภิกษุสงฆ์ถือเป็นเรื่องปกติและมีการรับเงินกันมานาน ซึ่งอาจจะต้องแยกชนิดของเงินที่ได้จากงานต่างๆ บางงานภิกษุสงฆ์ได้รับเงินนั้นแบบส่วนตัว แต่บางงานเป็นเงินที่ได้มาเพื่อเอาไว้เป็นส่วนกลางของวัด 

“ยกตัวอย่าง งานบวชที่จะมีการจ่ายตามหน้าที่ สมมติว่า คุณเป็นพระอุปัชฌาย์ หรือทำหน้าที่เป็นพระคู่สวดคุณก็จะได้รับเงินตามหน้าที่ที่คุณทำ หากเป็นของอย่างสังฆทานของวัดก็จะเป็นของกองกลาง” จาตุรงค์ระบุ 

งานกฐินเป็นหนึ่งในงานที่ภิกษุจะได้รับเงินจากคณะศรัทธาและญาติโยมที่มาถวาย โดยพระมหาอิทธิศักดิ์อธิบายว่า ในงานกฐินครั้งหนึ่งนั้น คณะศรัทธาจะถวายเงินให้วัดก้อนใหญ่ โดยมีอายุใช้งานเงินนั้น 1 ปี ให้วัดนำมาทำนุบำรุงศาสนสถาน ชำระค่าน้ำ-ไฟ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่า วัดแต่ละแห่งได้รับเงินจากการถวายในจำนวนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับฐานะและแรงศรัทธาของคนกับวัด อย่างไรก็ดีเงินที่ได้นี้เป็นเงินที่เอาไว้ใช้ส่วนกลาง แต่สำหรับภิกษุแต่ละรูปในงานกฐิน งานบุญอื่นๆ กระทั่งการนิมนต์จากชาวบ้านไปสวดตามโอกาสต่างๆ เช่น งานศพ หรืองานขึ้นบ้านใหม่ จะมีโอกาสได้รับเงินปัจจัยแบบส่วนตัว ซึ่งจาตุรงค์ชี้ว่า การนิมนต์และให้เงินถวายแบบส่วนตัวลักษณะนี้อาจแตกต่างไปตามฐานะทั้งของผู้ถวายและฐานะของผู้รับถวายด้วย

“เงินที่พระได้ในงานเหล่านี้จะแตกต่างกันตามฐานะของผู้รับถวายและฐานะของผู้ถวาย ยกตัวอย่าง พระรับนิมนต์จากกลุ่มธุรกิจดัง ถ้าเป็นพระผู้น้อยเดินตามๆ กันไปนั่งสวดให้เขาก็ได้รูปละ 5,000 บาท แต่ถ้าเป็นพระระดับพระสมเด็จ ห้างดังเขาอาจจะถวายให้หลักแสน ต่างกันไปตามฟังก์ชันและหน้าที่ ขึ้นอยู่กับผู้ให้และผู้รับ” 

กับคำถามที่ว่า มูลค่าที่จะถวายควรคำนวณอย่างไรนั้น จาตุรงค์อธิบายว่า ให้เป็นไป ‘ตามมารยาท’ ที่เห็นสมควร เนื่องจากพระจะรู้มูลค่าของเงินที่ถวายอีกที ก็เมื่อเดินทางกลับถึงศาสนสถานแล้ว ซึ่งหากได้น้อยก็อาจจะมีบ่นๆ บ้างเล็กน้อย

“หากได้เงินถวายน้อย พระที่มีมารยาทดีก็จะเงียบๆ อาจจะมีบ่นนิดหน่อย แต่ถ้าถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ที่เจ้าอาวาสถึงกับเตะสังฆทาน เขวี้ยงสิ่งของ อันนั้นคือพระไม่มีมารยาท พระดีๆ เขาไม่ทำกันหรอก” ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธอธิบาย

อย่างไรก็ตามการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ให้มาสวดตามวาระและโอกาสต่างๆ แม้จะเป็นการนิมนต์ให้มาโดยไม่มีการถวายเงินให้สักบาท ก็อาจจะไม่สามารถปฏิเสธได้หากไม่มีเหตุผล เช่น การรับนิมนต์จากญาติโยมหรือคณะศรัทธาท่านอื่นไปแล้วก่อนหน้า ในมุมมองของพระมหาอิทธิศักดิ์ 

“ถ้าอิงตามหลักพระธรรมวินัย หรือวัดตามพุทธประวัติ ภิกษุจะได้รับแค่ภัตตาหารเพล ภัตตาหารเช้าเท่านั้น แต่จะไม่สามารถปฏิเสธนิมนต์ได้ ยกเว้นในวันดังกล่าวอาจมีคนนิมนต์ไปก่อนแล้ว จึงปฏิเสธได้เมื่อมีความจำเป็น” 

อย่างไรก็ตาม การได้รับเงินจากการถวายปัจจัยของญาติโยมหรือจากนิตยภัตนั้นไม่ได้มีจำนวนมากพอ ที่จะทำให้การบวชเป็นพระนำมาสู่ฐานะที่ร่ำรวยขึ้นได้ในมุมมองของจาตุรงค์

“ถ้าบวชแล้วรวย ทุกคนที่บวชก็รวยกันหมดแล้วสิ มันไม่ใช่ทุกคน พวกที่รวยคือพวกเกจิ หมอผี แต่ถ้าเป็นพระเรียนหนังสือ เป็นดอกเตอร์ เรียนเปรียญธรรม 9 ไม่ค่อยรวยกันหรอก สุดท้ายก็สึกมาขายปลา ขายทุเรียนกันทั้งนั้น” จาตุรงค์ระบุ

การรับเงินและช่องโหว่ทางศาสนา 

อาจเป็นเรื่องยากที่การบวชเป็นพระจะสามารถปฏิเสธการถวายเงิน จากคณะและญาติโยมที่ให้ด้วยความศรัทธาด้วยความตั้งใจทำนุบำรุงศาสนา ดังนั้นวัดจึงเป็นอีกอีกสถานที่ที่มีเงินหมุนเวียนเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่น่าสนใจและควรค่าแก่การพูดถึงคือ ‘ระบบป้องกัน’ การแฝงตัวผู้ที่ต้องการบวช เพื่อหาเงินจากการถวายของญาติโยม ซึ่งประเด็นนี้ทั้งจาตุรงค์และพระมหาอิทธิศักดิ์ยังคงยืนยันว่า ยังมีช่องโหว่ 

“มิจฉาชีพในศาสนามีเยอะ บางทีบวชเพื่อเข้ามาโกงเงินกฐิน หรือเงินผ้าป่าก็มีให้เห็น ซึ่งปัจจุบันก็มีระบบที่พยายามจะป้องกัน แต่ปัญหาก็คือ มิจฉาชีพเหล่านี้มีการปรับปรุงวิธีการให้ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ เขาอาจจะเข้ามาในฐานะของกรรมการวัดหรือรูปแบบพระก็ได้ เราจะเห็นการทุจริตอยู่หลายแบบ” จาตุรงค์ระบุ 

ด้านพระมหาอิทธิศักดิ์ระบุว่า ปัญหาการแฝงบวชเข้ามาเพื่อมาหาผลประโยชน์กับศาสนาเกิดจากกระบวนการตรวจสอบที่ไม่เข้มข้น และไม่มีความครอบคลุมขององค์กรกำกับดูแลพระพุทธศาสนาทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม 

“อย่างที่เราทราบกัน มีการเรี่ยไรเงินที่ทำในคราบของพระสงฆ์ มันเป็นช่องโหว่ที่เปิดให้มิจฉาชีพเข้ามาทำได้ ภิกษุมีองค์กรเข้ามาดูแล อย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม แต่เขายังดูแลไม่ถึงขั้นสูงสุด มันไม่ครอบคลุม ไม่ลึก

“เคยมีข่าวคราวว่า พระภิกษุจะเริ่มมีฐานข้อมูลที่ทันสมัยมากขึ้น อย่างการมีบัตรประชาชนใบเดียวแล้วจะสามารถรู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน แต่สุดท้ายก็กลับมามีปัญหาที่หนังสือสุทธิก็ต้องนำมาใช้ยืนยันตัวอีกที ซึ่งหลวงพี่มองว่า มันซื้อที่ไหนก็ได้มันก็จะเกิดการปลอมแปลงได้ง่าย บางทีเห็นว่าการเป็นพระได้เงินง่าย บวชเอง ห่มเหลืองเองก็มี”

ในปัจจุบันสิ่งที่พอทำได้จากผู้ที่กำลังดำรงตนในผ้าเหลืองอย่างพระมหาอิทธิศักดิ์ มีเพียงการสอดส่องดูแลภิกษุอย่างเข้มงวด โดยใช้อุปกรณ์ของโลกสมัยใหม่เข้ามาช่วยเหลือ ในบางศาสนสถานอาจมีการติดตั้งเครื่องสแกนลายนิ้วมือเข้า-ออกของภิกษุภายในวัด มีการตรวจสอบจำนวนบุคลากร และการติดตั้งกล้องวงจรปิด อย่างไรก็ดีพระมหายังคงมองว่า นี่ยังไม่ใช่วิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ดี 

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากทั้งจาตุรงค์และพระมหาอิทธิศักดิ์ยืนยันว่า การบวชเป็นพระอาจนำมาซึ่งการมอบความศรัทธาในรูปแบบของเงิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของพระรูปนั้นว่าจะนำเงินไปใช้กับสิ่งใด สิ่งสำคัญคือ ความศรัทธาที่นำมาซึ่งการถวายเงินของญาติโยมและคณะศรัทธานี้ ขณะหนึ่งก็ทำให้ศาสนาถูกจ้องมองจากเหล่าผู้ไม่หวังดี ที่ต้องการใช้ช่องทางนี้สร้างความมั่งคั่งทางการเงินให้กับตัวเอง และนี่เป็นโจทย์ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องแก้ปัญหากันต่อไป

อ้างอิง 

https://www.silpa-mag.com/history/article_11064

https://www.thaipbs.or.th/news/content/345461

Tags: , , , , ,