มวลน้ำเหนือไม่ทันสิ้นฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับประเมินแล้วว่า อุทกภัยทางตอนบนของไทยปีนี้ อาจมีความเสียหายเทียบเท่าหรือมากกว่ามหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ในบางจุด บางจังหวัดยังมีระดับน้ำท่วมขังสูงด้วยอุปสรรคด้านการระบายน้ำ ยกตัวอย่าง พื้นที่บ้านร่องขามป้อม หมู่ 9 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ที่ลำน้ำอิงเอ่อท่วมตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม จนถึงขณะนี้ยังจมอยู่ใต้บาดาล โดยระดับน้ำยังคงทรงตัวและเพิ่มสูงขึ้นในภายหลัง 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัจจัยทำให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดในโลก จากการรายงานของกลุ่มธนาคารโลกปี 2021 สร้างความเสียหายตีมูลค่าเฉลี่ย 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และโดยธรรมชาติของอุทกภัย ยิ่งน้ำท่วมนานเท่าไร ความเสียหายก็ยิ่งทวีคูณ ดังที่บ้านร่องมะขามป้อมกำลังเผชิญอยู่

“แน่นอนว่า เขื่อนของจีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในไทยย่ำแย่ลง” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ระบุพร้อมเสริมว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงของจีน อาจนำมาซึ่งคำตอบของคำถามที่ว่า ปัจจัยใดทำให้แม่น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นกระทั่งเอ่อล้นตลิ่งหลายพื้นที่ ทั้งยังซ้ำเติมสถานการณ์อุทกภัยภาคเหนือให้ย่ำแย่ลงไปอีก

เขื่อนจีนทำให้อุทกภัยไทยรุนแรงขึ้นหรือไม่ 

23 สิงหาคม 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งประชาชนตั้งแต่จังหวัดเลยไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ให้เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น 0.5-1 เมตร ระหว่างวันที่ 25-31 สิงหาคม 2567 โดยให้เหตุผลการเฝ้าระวังครั้งนี้ว่า เนื่องจากเกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศลาวเท่านั้น

แต่ข้อมูลอุทกวิทยาจากกองวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ รายงานข้อมูลที่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัย นอกเหนือจากปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน นั่นคือปริมาณน้ำที่วัดได้ท้ายเขื่อนจิ่งหง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 22-24 สิงหาคม 2567 โดยวัดระดับน้ำสูงสุดได้ที่ 2,460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567

ขณะที่การระบายน้ำดำเนินไป เช้าวันที่ 25 สิงหาคม ชาวบ้านริมโขงพบว่า น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นแตะ 10.56 เมตร บริเวณอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และเริ่มไหลเอ่อท่วมริมตลิ่ง กระทบการระบายน้ำหลากจากลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่น้ำโขง เนื่องจากถูกมวลน้ำจากแม่น้ำสายหลักดันมวลน้ำหลาก ไหลย้อนขึ้นไปตามแม่น้ำสาขาเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในวงกว้าง 

เขื่อนจิ่งหงที่ตั้งอยู่ทางใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ห่างจากจังหวัดเชียงรายราว 340 กิโลเมตร ถูกตั้งข้อสังเกตทันทีว่า อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือยังไม่สามารถคลี่คลายหมดจด เหตุว่า ปริมาณน้ำโขงที่สูงขึ้น ผลักดันน้ำจากลำน้ำสาขาที่เกิดอุทกภัยกลับเข้าไปท่วมซ้ำพื้นที่เดิม บางจุดเกิดการท่วมขังเป็นระยะเกือบสัปดาห์ รวมถึงพื้นที่ปากน้ำของแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง 

เมื่อถูกมองว่าเป็นปัจจัยก่อให้เกิดภัยพิบัติในประเทศต่างพรมแดน ช่วงค่ำของวันที่ 27 สิงหาคม จีนในฐานะผู้ถูกพาดพิง เคลื่อนไหวผ่านเพจเฟซบุ๊ก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ปฏิเสธสั้นๆ ว่า เขื่อนจิ่งหงไม่ได้ดำเนินการระบายน้ำเมื่อเร็วๆ นี้ 

โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทยชี้แจงว่า สถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหงไม่ได้ดำเนินการระบายน้ำเมื่อเร็วๆ นี้

“เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าวกับสื่อมวลชนว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พื้นที่หลายแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เกิดน้ำท่วม ฝ่ายจีนมีความกังวลอย่างมากในเรื่องนี้ โดยการสอบถามเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน สภาพน้ำของแม่น้ำในประเทศจีนได้อยู่ภาวะปกติในเมื่อเร็วๆ นี้ และอ่างเก็บน้ำที่เกี่ยวข้องของแม่น้ำล้านช้างได้อยู่ในสถานะกักเก็บน้ำ ตั้งแต่วันที่ 18-25 สิงหาคม ปริมาณการไหลออกเฉลี่ยต่อวันของสถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหงได้ลดลง 60% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมในปีก่อนหน้า และไม่ได้มีการดำเนินการระบายน้ำ 

“6 ประเทศในลุ่มแม่น้ำล้านช้างเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันที่เชื่อมต่อกันด้วยภูเขาและแม่น้ำ ฝ่ายจีนเคารพและเอาใจใส่ผลประโยชน์และข้อกังวลของประเทศในลุ่มแม่น้ำอย่างเต็มที่ จีนยินดีที่จะส่งเสริมการแบ่งปันและความร่วมมือในด้านข้อมูลทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างศักยภาพในการจัดการแบบบูรณาการในลุ่มแม่น้ำ และร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภัยพิบัติน้ำท่วม และความท้าทายอื่นๆ เป็นต้น”

ทว่าคำแถลงของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กลับสวนทางกับข้อมูลอุทกวิทยาของกรมทรัพยากรน้ำ ที่ได้รับข้อมูลจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย หรือแม้แต่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็กล่าวถึงเขื่อนจีนว่า อาจมีผลต่ออุทกภัยในประเทศ และต้องคุยกับทางการจีนถึงมาตรการป้องกันน้ำท่วม

หากมีการปล่อยน้ำบริเวณท้ายเขื่อนจิ่งหงจริง นั่นแปลว่าทางการจีนอาจปิดบัง และไม่ต้องการให้ถูกมองว่าตนเป็นหนึ่งในปัจจัยสร้างภัยพิบัติข้ามพรมแดน แต่หากการปล่อยน้ำ ณ เขื่อนจิ่งหงไม่เป็นความจริง แปลความได้ว่า ข้อมูลจากทางการไทยและจาก ‘ทักษิณ’ นั้นเกิดความผิดพลาด

แต่แม่น้ำสายเดียวกันย่อมสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แม่น้ำโขงในไทยย่อมสัมพันธ์กับแม่น้ำโขงในจีน เนื่องจากเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน และการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีนลงสู่แม่น้ำโขงย่อมส่งผลกระทบทางใดทางหนึ่งต่อไทยและประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อน ทั้งลาว เวียดนาม และกัมพูชา อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

“แน่นอนว่า เขื่อนของประเทศจีน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและอีสานของไทยย่ำแย่ลง อย่างที่เราทราบว่า ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงในภาคเหนือประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและพะเยา ก็ไหลลงแม่น้ำโขงทั้งหมด ตั้งแต่แม่กก แม่น้ำสาย แม่น้ำลวก แม่น้ำอิง แม่น้ำงาว ต่างๆ” เพียรพรกล่าว

เพียรพรยืนยันว่า การปล่อยน้ำของเขื่อนในจีน มีผลต่อลุ่มน้ำโขงตอนล่างจีนลงมาอย่างมีนัยสำคัญ​ เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำสาขาต่างๆ ไม่สามารถไหลลงสู่ลำน้ำโขงได้ เนื่องจากปริมาณน้ำแทบจะอยู่ในระดับเดียวกัน จึงส่งผลต่อการระบายน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัยและเกิดน้ำท่วมขัง สร้างความเสียหายเป็นเวลานาน

ที่สำคัญ​ แม้ว่า สทนช. ผู้รับผิดชอบในการประกาศเตือนประชาชนลุ่มน้ำโขงให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่สูงขึ้น จะไม่ได้กล่าวถึงการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงของจีนลงสู่แม่น้ำโขงว่า มีผลกระทบต่อสถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอย่างไร แต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 หน่วยงานเดียวกันนี้ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ประสานกับจีน ขอให้ชะลอการปล่อยน้ำจากเขื่อนและบริหารจัดการแม่น้ำโขงตอนบน

ถึงที่สุดแล้ว แม้จะพบว่าเขื่อนจิ่งหงของจีนเป็นตัวผสมโรงให้อุทกภัยในภาคเหนือปีนี้รุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่หากถามถึงการเอาผิดกับประเทศผู้ก่อผลกระทบนั้น อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 

อย่างไรก็ดี เพียรพรเสนอว่า เมื่อการกระทำใดๆ บนแม่น้ำสายเดียวกัน ส่งผลกระทบถึงกันในบริเวณกว้าง ควรมีข้อตกลงการใช้ทรัพยากรร่วมกัน 

“หากถามว่า การปล่อยน้ำหรือการสร้างเขื่อนของจีนนั้นผิดกฎหมายไหม คงไม่ผิด แต่ด้วยแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่เชื่อมกันกับประเทศจีน ดังนั้นการกระทำการใดๆ ในแม่น้ำย่อมส่งผลถึงกันกับลำน้ำเดียวกัน ซึ่งไหลผ่านประเทศอื่นๆ จึงควรมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างเท่าเทียม” เพียรพรระบุ

สิ่งที่ต้องตามต่อคือ โครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนลุ่มน้ำโขงใน สปป.ลาว ห่างจากแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพียง 97 กิโลเมตร ซึ่งอาจสร้างอุบัติภัยครั้งใหญ่ให้กับพื้นที่ริมโขงและแม่น้ำสาขาจากภาวะ ‘น้ำเท้อ’ หรือปรากฏการณ์น้ำไหลย้อนกลับในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งการจมหายของ ‘ผาได’ หนึ่งในระบบนิเวศสำคัญในแม่น้ำโขง

“แน่นอนว่าระบบนิเวศริมน้ำโขงจะได้รับความเสียหาย จะเกิดพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งยังไม่มีความแน่ชัดเจนว่า ใครจะได้รับผลกระทบและความสูญเสียอย่างรุนแรง อีกทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย จะต้องช่วยกันจ่ายต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนปากแบงไปอีก 29 ปีจากสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า ทั้งๆ ที่เรามีทางเลือกอื่นในการจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าของเรามากกว่านี้” 

มรดกลุ่มน้ำโขงที่สูญหายไปพร้อมกับการมาของเขื่อนจำนวนมากบนลำน้ำโขง เกิดขึ้นภายใต้แรงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่รอบริมน้ำ บางโครงการไม่แม้แต่แจ้งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ใช้น้ำโขงสายหลักเป็นแหล่งทำกิน แต่สำหรับเขื่อนปากแบงนั้น เงียบกว่าเขื่อนแห่งใดที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนยังไม่แล้วเสร็จ แต่กระบวนการซื้อขายไฟฟ้ากับฝั่งไทยกลับลุล่วงไปด้วยดี 

“มีประชาชนเข้าร้องเรียนหลายหน่วยงาน ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ในสภาผู้แทนราษฎรหรือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีข้อร้องเรียนทักท้วงมากมาย แต่ กฟผ.ก็ยังลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับเขื่อนปากแบงยาวนาน 29 ปี ขณะที่การจัดทำรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนก็ยังทำไม่เสร็จ เวลาชาวบ้านถามว่า มีตรงไหนบ้างที่น้ำที่จะเอ่อท่วมหลังการสร้างเขื่อน ท่วมกี่ไร่ ท่วมนานกี่เดือน กี่ปี ก็ไม่ได้คำตอบ เพราะการศึกษามันยังไม่เสร็จ แต่กลับมีการเซ็นสัญญาเฉยเลย

“วันนี้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่พะเยามาจนถึงเชียงราย อำเภอเทิง ปัจจุบันก็ยังได้รับผลกระทบ และน้ำยังคงแช่ขัง น้ำป่าไหลหลากก็เข้ามาตันที่แม่น้ำโขง และเดี๋ยวจะมีการสร้างเขื่อนปากแบงอีก เราคิดว่ามันเป็นจังหวะที่รัฐบาลควรจะพิจารณาและทบทวนอย่างยิ่งว่า พอก่อนไหมกับการสร้างเขื่อน เรามาแก้ปัญหาปัจจุบัน และสรุปสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม ปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรมของแม่น้ำโขงว่ามันมีอะไรบ้าง และเราจะแก้ไขได้อย่างไรเป็นอันดับแรก” เพียรพรทิ้งท้าย

Tags: , , , , , , , ,