ขยะเกยริมฟุตบาท วางสลับถุงยางใช้แล้ว บ้างวางรวมกัน บ้างตกหล่นอยู่บนถนน ยังไม่นับรวมประชากรกระดาษชำระสีขาวขุ่นซึ่งผ่านการใช้งานอย่างหนักที่ถูกวางซ้อนทับปลายยอดต้นกระถินจนไม่เห็นใบเขียว
นี่คือสภาพที่ดินรกร้างติดแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสันในปัจจุบัน ที่ดินซึ่งเป็นจุดที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้ารองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจากสนามบินสุวรรณภูมิเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน และเป็นสถานที่ซึ่ง(เคย)ถูกคาดหวังให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาภายใต้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา
ปัจจุบัน ไม่มีสิ่งใดที่เป็นสัญญาณบ่งบอกการพัฒนาบนที่ดินผืนนี้ มีเพียงคนภายนอกผู้ไม่เกี่ยวข้องและไม่ใช่บุคลากรผู้พัฒนา ต่างตบเท้าเดินเข้าพื้นที่เพื่อสร้างเพิงพักชั่วคราวสำหรับอาศัย หรือทำกิจกรรมอื่นใดในพื้นที่ ตั้งแต่ออกกำลังกาย กระทั่งเป็นรังรักคลายความกำหนัดของชาวกรุง
หลักฐานของการเป็น ‘รังรัก’ ปรากฏผ่านแนวถนนสองเลนทอดยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ทั้งกระดาษชำระ ซองถุงยางอนามัยวางกองรวมกันอย่าง ‘ตั้งใจ’ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เป็นหลักฐานสำทับว่ามีกิจกรรมทางเพศเกิดขึ้นที่นี่ มากกว่าการเป็นพื้นที่ ‘รอ’ การพัฒนาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นอกเหนือจากกิจกรรมทางเพศแล้ว สุดปลายถนน เราพบกับขยะกองใหญ่ ที่สะสมตั้งแต่ขยะชิ้นเล็กๆ เช่น ซองยา รองเท้า เสื้อผ้า ไปจนถึงขยะชิ้นใหญ่อย่างฟูกสำหรับหลับนอน และโซฟารูปร่างสันทัดที่ถูกจัดวางหันหน้าออกนอกถนน อาจแปลความเร็วๆ ว่า พื้นที่สุดมุมถนนของที่ดินติดแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสันนี้ กำลังกลายเป็นจุดลักลอบทิ้งขยะของคนเมือง และแน่นอนว่าหากสถานที่แห่งนี้ยังรองรับขยะจากภายนอกที่ไหลเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ในอนาคตขยะดังกล่าวอาจกระทบกับผู้อยู่อาศัยรายรอบพื้นที่ไม่ช้าก็เร็ว
อันที่จริง ที่ดินมักกะสันมิได้เป็นผืนดินว่างเปล่ารกร้างแต่ทีแรก หากย้อนกลับไปในอดีตที่ดินผืนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะเจ้าของที่ดิน และถูกเรียกขานว่าเป็น ‘มักกะสันคอมเพล็กซ์’ อันประกอบด้วยที่ดินเปล่าขนาด 497 ไร่ และยังเป็นที่ดินแปลงใหญ่แห่งสุดท้าย ที่ตั้งอยู่ใจกลางมหานคร
ที่ดินมักกะสัน กลายเป็นโจทย์ถกเถียงมายาวนาน ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างนักสิ่งแวดล้อมที่เห็นว่า พื้นที่ใจกลางเมืองยังขาดสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ขณะที่นักธุรกิจมองว่า นี่เป็นโอกาสอันดีในการ ‘ปลดหนี้’ ให้กับ รฟท.และเปิดประมูลแปลงโฉมที่ดินมักกะสันเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อทั้งรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน และหากในอนาคต รฟท.พัฒนาระบบรางจนกลายเป็นโครงข่ายไฮสปีดเทรน มักกะสันจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟที่เรียกว่า TOD (Transit Oriented Development) แบบเดียวกับสถานีรถไฟใหญ่ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงแรม และคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ อยู่ล้อมรอบสถานีรถไฟ
ในที่สุด แนวคิดเรื่องธุรกิจชนะแนวคิดว่าด้วย ‘สวน’ เครือเจริญโภคภัณฑ์ชนะการประมูลรถไฟฟ้า 3 สนามบินในปี 2558 โดยมีเงื่อนไข เช่น การนำที่ดินผืนใหญ่ใจกลางเมืองแห่งนี้ไปพัฒนา มีการคาดการณ์ว่าอาจมีทั้งศูนย์การค้า ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดแห่งใหม่ของประเทศ ที่สำคัญคือการเป็น ‘จุดเชื่อม’ ระบบขนส่งมวลชนของซีพี
ทว่าล่วงเลยมา 9 ปี สิ่งที่(หวัง)สร้าง กับร่างที่เป็นของที่ดินมักกะสันกลับแตกต่าง ที่ดินผืนนี้ยังคงมีสถานะรกร้าง ไร้การตอกเสาเข็มปูพรมสร้างรถไฟฟ้า 3 สนามบิน และจากภาพโครงการขนาดใหญ่ที่วาดฝันให้เป็นมักกะสันคอมเพล็กซ์ กระทั่ง ‘ฮับ’ การเดินทาง ภาพจริงกลับกลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับ ‘เล่นเสียว’ ประเภทเอาต์ดอร์
“เบื้องต้นยังไม่มีการพัฒนาอะไร เพราะเป็นพื้นที่ส่งต่ออยู่ในการดูแลของ EEC (โครงการรถไฟเชื่อมสนามบิน) และยังส่งต่อไม่ได้ เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องลำรางสาธารณะ” เอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพ เขตราชเทวี บอกกับเรา เมื่อไถ่ถามถึง ‘ความคืบหน้า’ ของโครงการที่จะเข้ามาพัฒนาผืนดินนี้
จนกว่าโครงการจะเริ่ม สัญญาณการพัฒนาที่ดินว่างเปล่าผืนสุดท้ายนี้จึงจะมีความเคลื่อนไหว หากแต่วันนี้ที่ยังไร้สัญญาณการพัฒนา มักกะสันจะยังคงฐานะผืนดินสุดท้ายไร้ประโยชน์ เป็นสถานีแวะคลายกำหนัดของผู้มาเยือน และกลายเป็นถังขยะใบใหญ่ของเมืองหลวง ที่สำคัญมักกะสันจะยังเป็นตำหนิกลางกรุง ที่ไม่พึงประสงค์ต่อการมองเห็นต่อไป
ทิ้งท้ายในช่วงปลายของการเยี่ยมชมที่ดินรกร้างดังกล่าว ผู้เขียนพบว่าเมื่อถึงเวลาพลบค่ำ ไฟส่องสว่างที่ถูกนำมาติดตั้งบริเวณผืนดินมักกะสัน ไม่สามารถใช้การได้ทุกต้น เมื่อเข้าไปดูจึงพบว่ามีเพียงภายนอกของเสาไฟเท่านั้นที่ยังอยู่ดี ขณะที่ระบบไฟฟ้าภายในถูกรื้อถอนจนไม่สามารถใช้งานได้แล้ว
Tags: มักกะสัน, การรถไฟ, ป่ากลางเมือง, Feature, CITY, ราชเทวี, Urban & City, กรุงเทพ, เอาต์ดอร์