วรรณกรรมถูกเขียนขึ้นจากชีวิตมนุษย์ และในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็เรียนรู้บทเรียนชีวิตจากวรรณกรรม ไม่ว่ามนุษย์จะเก่งกาจจนสามารถคิดค้นทั้งศาสตร์และศิลปวิทยาการขึ้นมามากมายหลายแขนงเพียงใด แต่สุดท้าย ศาสตร์ที่เรายังคงหาคำตอบตายตัวให้กับมันไม่ได้ หนีไม่พ้นศาสตร์แห่ง ‘ความรัก’
“ความรักคืออะไร?”
คำถามอันเก่าแก่ที่ไม่เคยหายหน้าหายตาไปจากบทสนทนาของมนุษยชาติ ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านไปอีกกี่ยุคสมัย
The Momentum ขอชวนคุณมาร่วมหาคำตอบให้กับคำถามอมตะว่าด้วยนิยามของความรัก ผ่าน 7 วรรณกรรมรักลือชื่อจากทั่วทุกมุมโลก
สาวทรงเสน่ห์ (Pride and Prejudice)
โดย เจน ออสเตน
ตามชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ Pride and Prejudice นิยายเรื่องดังของออสเตน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชัยชนะของความรักของคนสองคน เหนือทิฐิและอคติภายในใจที่ทั้งคู่มีต่อกัน
เอลิซาเบธ เบนเนต เป็นลูกสาวคนที่ 2 ของครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่มีลูกชาย แต่มีลูกสาวถึง 5 คน ในสหราชอาณาจักรฯ ยุครีเจนซี (Regency) ที่ผู้หญิงยังไม่มีบทบาทหรือปากเสียงใดๆ มากเท่ากับผู้ชาย สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสาวๆ เหล่านี้ จึงเป็นการหาสามีรวยสักคนที่จะสามารถเลี้ยงดูพวกเธอได้ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต
แต่ด้วยนิสัยรักอิสระและหัวใจทรนง เอลิซาเบธเชื่อหมดหัวใจว่าการแต่งงานควรเกิดจากความรักจากทั้งสองฝ่าย มิใช่การคลุมถุงชนหรือการแต่งเพราะหวังผลประโยชน์ทางการเงิน เธอจึงไม่เคยยอมอ่อนโอนหรือถูกชักจูงโดยผู้ชายที่เข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ดาร์ซี’ เศรษฐีหนุ่มรูปงามผู้เคยกล่าวดูแคลนครอบครัวของเอลิซาเบธว่า กระหายในความร่ำรวยของลูกเขยอย่างโจ่งแจ้งจนเกินงาม
ทว่าเมื่อทั้งคู่มีโอกาสทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถห้ามใจให้ถลำลึกและรู้สึกชื่นชมในตัวอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้นทุกที แต่เพราะดวงตาที่มืดบอด มองไม่เห็นความรักที่ถูกบดบังด้วยอคติ ทำให้พวกเขาไม่อาจลงเอยกันโดยง่าย
กว่าจะเดินทางมาถึงจุดที่ความรักของพวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะรักและเชื่อใจอีกฝ่ายได้ ต่างฝ่ายต่างต้องละทิ้งความหยิ่งในศักดิ์ศรีของตนเองและรู้จัก ‘เติบโต’ เพื่อให้ความรักนี้ไปต่อได้
รักเธอสุดที่รัก (The Great Gatsby)
โดย เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์
หากอ่านผ่านเลนส์ของคนยุคเรา The Great Gatsby อาจเป็นเพียงนิยายรักโศกที่มีจุดจบไม่สมหวังธรรมดาๆ เรื่องหนึ่งที่พบเจอได้ทั่วไป แต่เพราะนี่เป็นผลงานที่ถูกตีพิมพ์ในยุค ‘Roaring 20s’ แห่งดนตรีแจ๊ซ ความสนุกสุดเหวี่ยง ความฟุ้งเฟ้อ การจับจ่ายใช้สอย และการเฉลิมฉลองปลดปล่อยอารมณ์ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ตัวบทที่ซาบซึ้งกินใจ บวกกับสำนวนโวหารที่เต็มไปด้วยชั้นเชิง ทำให้นิยายเรื่องนี้ขึ้นหิ้งคลาสสิกได้ไม่ยาก
เจย์ แกตส์บี ตัวเอกของเรื่องมาจากพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน ช่วงก่อนสงครามเคยชอบพอกับ ‘เดซี’ หญิงสาวที่มีฐานะดีกว่า แต่ภายหลังจากเขาหายไปเป็นทหารในสงครามและดูไม่มีวี่แววจะกลับมา เธอจึงตกลงปลงใจแต่งงานกับทายาทเศรษฐีหนุ่มที่เข้ามาในชีวิต
หลายปีถัดมา แกตส์บีสร้างตัวจนร่ำรวยขึ้นและกลับมาหาเดซี ด้วยความหวังว่าจะมีโอกาสได้กลับมารักกัน ยิ่ง ทอม บิวแคนัน ผู้เป็นสามีดันเป็นชายที่หยิ่งยโส ปากร้าย ชอบดูถูกดูแคลนผู้อื่น และไม่ทะนุถนอมใจเดซีที่เป็นภรรยาด้วยแล้ว แกตส์บีจึงยิ่งมุ่งมั่นที่จะเอาชนะใจเธอ
แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ในท้ายที่สุด แม้จะรักแกตส์บีมากกว่า แต่เดซีตัดสินใจที่จะกลับไปใช้ชีวิตกับทอม เมื่อตระหนักได้ว่าหากเธอเลือกสามีของตัวเอง เธอจะสามารถมีชีวิตที่มั่นคงกว่าได้
ในที่สุด ความรักอันมั่นคงของแกตส์บีจึงเดินทางมาถึงวันฝันสลาย และให้บทเรียนกับผู้อ่านว่าในบางครั้ง รูปแบบของการแสดงความรักที่ดีที่สุดอาจเป็นการรู้จักที่จะ ‘ปล่อยมือ’ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
ความฝันในหอแดง (The Dream of the Red Chamber)
โดย เฉา เสวี่ยฉิน
ความฝันในหอแดง หรือหงโหลวเมิ่ง เป็นหนึ่งใน ‘สี่ยอดวรรณคดีจีน’ ร่วมกับอีก 3 เรื่องที่เราน่าจะเคยได้ยินชื่อกันอยู่บ่อยๆ นั่นคือ ไซอิ๋ว สามก๊ก และ 108 วีรบุรุษเขาเหลียงซาน (ซ้องกั๋ง) ถือเป็นวรรณกรรมที่สามารถใช้เป็นสารานุกรมประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์หมิง-ชิงได้ เพราะครบถ้วนด้วยแขนงความรู้ต่างๆ จนถึงขั้นมีการรวมกลุ่มผู้ศึกษา เป็นสถาบันเพื่อการศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้โดยเฉพาะ เรียกว่า ‘กลุ่มนักหอแดงวิทยา’ (Redology) ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง
ทั้งนี้ ความโดดเด่นของผลงานชิ้นนี้ที่จะไม่กล่าวถึงมิได้ด้วยประการทั้งปวง คือมุมมองการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่และความเป็นสัจนิยม (Realism) สูงเมื่อเทียบกับวรรณกรรมอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกัน
ความฝันในหอแดงเป็นเพียงเรื่องเดียวจากสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนที่ตัวละครหญิงได้รับบทบาทโดดเด่นกว่าตัวละครชาย โดยเล่าเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของ 4 ตระกูลใหญ่และความรักของหญิงสาว 12 คน ไม่ว่าจะเป็น
• หลิน ไต้อวี้ ผู้ถูกครอบครัวฝ่ายชายคนรักหลอกจนตรอมใจตายเมื่อเขาต้องแต่งงานกับหญิงอื่น
• เซวีย เป่าไช ผู้ทำหน้าที่ภรรยาได้ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ต้องทนทุกข์เพราะสามีไม่เคยลืมคนรักเก่า
• สีเหริน สาวใช้ต้นห้องผู้หลงรักและมีสัมพันธ์ทางกายกับคุณชายของบ้าน แต่ไม่มีวันได้สถานะภรรยา
นอกจากเนื้อเรื่องจะสะท้อนความฟุ้งเฟ้อของชนชั้นสูง เฉา เสวี่ยฉิน ยังตั้งใจใช้เรื่องราวเหล่านี้ตำหนิกรอบจารีตในลัทธิขงจื๊อที่กำหนดให้สตรีเพศต้องคล้อยตามบุรุษอยู่ร่ำไป เมื่อยังไม่ออกเรือนต้องคล้อยตามบิดา ออกเรือนแล้วต้องคล้อยตามสามี สามีถึงแก่กรรมแล้วก็ต้องคล้อยตามบุตรชาย
ความรักของหญิงสาวที่ตกอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมที่กดทับ จึงเปรียบเสมือน ‘ความเสี่ยง’ เพราะหากเผลอหลงรักชายผิดคน ชายผู้นั้นหรือครอบครัวของเขาอาจเข้ามาทำให้ชีวิตของเธอกลับตาลปัตรได้
มหากาพย์อีเลียด (The Iliad)
โดย โฮเมอร์
มหากาพย์อีเลียดเล่าถึงตำนานการล่มสลายของกรุงทรอย ภายหลังสงครามอันยาวนานระหว่างชาวกรีกกับชาวทรอย โดยชนวนสงครามแรกเริ่มที่สำคัญที่สุด คือการที่ ‘ปารีส’ (Paris) เจ้าชายคนเล็กของฝั่งกรุงทรอย ชิงตัวพระนาง ‘เฮเลน’ (Helen) มาจากพระเจ้าเมเนเลอัสแห่งสปาร์ตา (Menelaus of Sparta) ผู้เป็นสวามีของนาง
ย้อนกลับไป 20 กว่าปีก่อนหน้า ปารีสเป็นบุตรแท้ๆ ของเจ้ากรุงทรอย แต่ได้รับการพยากรณ์ว่าจะนำหายนะมาสู่บ้านเมือง จึงถูกนำไปฆ่าในป่า แต่โชคดีถูกนางอัปสรอุปการะเลี้ยงจนเติบโตเป็นชายรูปงาม ต่อมาก็อยู่กินเป็นคู่กับนางอัปสรนามว่า อีโอนี (Oenone) จนมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง
ความหมกหมุ่นที่จะครอบครองสตรีที่งามที่สุดในโลกของปารีส เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นผู้ตัดสินว่าเทพีองค์ใดงามที่สุด ระหว่างเฮรา อธีนา กับอะโฟรไดท์ เทพีทั้งสามต่างพยายามเสนอข้อตอบแทนติดสินบนปารีสให้เลือกตน แต่รางวัลที่ทำให้เขารู้สึกย่ามใจที่สุดคือรางวัลของอะโฟรไดท์ ผู้ให้สัญญาว่าจะดลบันดาลให้เขาพานพบและเป็นเจ้าของหญิงที่งามที่สุดในโลก
หลังจากที่ปารีสหันหลังให้กับชีวิตคู่กับเมียนางอัปสร และกลับเข้าไปใช้ชีวิตในกรุงทรอย จนสามารถทวงคืนตำแหน่งเจ้าชายกลับมาได้ เขาได้รับการแต่งตั้งให้ไปสานสัมพันธไมตรีกับรัฐสปาร์ตาของฝั่งกรีก เขาพบกับเฮเลนที่นั่นตามพรของอะโฟรไดท์ และลักพาตัวนางมาจนเกิดเป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน
เนื่องจากตัวบทเดิมไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เฮเลนเต็มใจหนีตามปารีสไปยังกรุงทรอยหรือไม่ ทำให้มีการตีความตัวละครของเธอออกเป็นหลากหลายเวอร์ชัน ทั้งที่เต็มใจตามไปด้วยความลุ่มหลง และที่ถูกบังคับขืนใจให้กลับไปด้วยกัน
แต่ไม่ว่าเฮเลนจะตัดสินใจตามปารีสไปยังทรอยด้วยเจตจำนงเสรีของตนหรือไม่ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดในความสัมพันธ์ คือเจตนาและความโลภของปารีสที่ต้องการเป็นเจ้าของตัวเธอให้ได้มาตั้งแต่ต้น เพราะปักใจเชื่อว่าชะตาของตนถูกผูกเอาไว้กับเธอแล้วเพราะได้รับพร
อย่างไรก็ดี ความรักที่ถูกจำกัดความด้วย ‘การครอบครอง’ ของปารีสมิได้จบลงด้วยความสุขชั่วนิรันดร์
เขาถูกลูกธนูพิษของฝ่ายกรีกเฉี่ยวเข้าขณะรบ จนต้องซมซานกลับไปอ้อนวอนนางอัปสรคู่ครองเก่าที่เชี่ยวชาญเรื่องการถอนพิษ แต่เพราะผูกใจเจ็บที่ถูกทอดทิ้ง นางอีโอนีเลือกที่จะปล่อยให้เขาสิ้นใจไปต่อหน้าแล้วฆ่าตัวตายตาม
อันนา คาเรนินา (Anna Karenina)
โดย ลีโอ ตอลสตอย
อันนา คาเรนินา ประพันธ์โดย ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนชื่อดังชาวรัสเซีย เป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมโรแมนติกเรื่องอมตะเกี่ยวกับ อันนา คาเรนินา หญิงสาวชนชั้นสูงผู้เป็นดาวเด่นของสังคม แต่ภายหลังกลับมีความสัมพันธ์กับชายที่ไม่ใช่สามีของตน จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว
นิยายเรื่องดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก จนถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครเวทีนับครั้งไม่ถ้วน แม้ว่าการกระทำอันเลวร้ายของอันนาอย่างการนอกใจสามี จะเป็นสิ่งที่สังคมตะวันตกในสมัยศตวรรษที่ 19 ยอมรับไม่ได้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่สถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่ห้อมล้อมรอบตัวละครนี้ กลับสามารถกระตุกต่อม Empathy ของผู้อ่านทั่วโลกได้ไม่ยาก
ด้วยสามีของอันนาเป็นชายที่มีอายุกว่าเธอมาก อีกทั้งเธอยังถูกจับแต่งกับอีกฝ่ายโดยปราศจากความรัก เนื่องจากถูกคลุมถุงชน จึงไม่แปลกหากหญิงที่ยังสวยและอยู่ในวัยสาวอย่างเธอ จะเกิดรู้สึกกระหายความรักที่เต็มไปด้วย ‘ความปรารถนา’ เมื่อได้พบ อเล็กเซย์ วรอนสกี ทหารม้ารูปงามที่หนุ่มแน่น เปี่ยมเสน่ห์ และปรารถนาในตัวเธอมากกว่าสามี
แต่สุดท้าย ความรักที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์หลบๆ ซ่อนๆ และขาดความมั่นคงก็ไปไม่รอด วรอนสกีไม่ได้มีชีวิตคู่ที่มีความสุขอย่างที่เขาคาดหวังไว้ การถูกปฏิเสธโดยสังคมชั้นสูงทำให้อันนาเต็มไปด้วยความริษยา ความเกลียดชัง และความขมขื่น จนถึงจุดหนึ่งเมื่อตระหนักได้ว่าเธอไม่อาจมีชีวิตต่อไปได้อีก โดยไม่มีลูกชายที่รักและสังคมชั้นสูง อันนาจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตัดหน้ารถไฟ
โคะโคะโระ (Kokoro)
โดย นะสึเมะ โซเซกิ
โคะโคะโระ (心) คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เรามักจะแปลตามตัวว่า ‘หัวใจ’ แท้จริงแล้วมิใช่อวัยวะหัวใจในเชิงกายภาพ แต่หมายความครอบคลุมตั้งแต่ดวงใจหรือจิตใจ ไปจนถึงจิตวิญญาณและความรู้สึกนึกคิด ผู้แปลวรรณกรรมญี่ปุ่นคลาสสิกเรื่องนี้จึงมักเลือกที่จะแปลชื่อหนังสือแบบทับศัพท์ไปเลยว่า โคะโคะโระ เพราะกอบเก็บความหมายทั้งหมดของชื่อนี้ได้สมบูรณ์ครบถ้วนกว่าคำใดๆ ในภาษาปลายทาง
วรรณกรรมทรงคุณค่าที่ถูกบรรจุลงหลักสูตรภาคบังคับของญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ข้าพเจ้า ตัวละครดำเนินเรื่องวัยนักศึกษา และเซนเซย์ ปัญญาชนวัยกลางคน ที่มีโอกาสมารู้จักสนิทสนมและเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของกันและกัน โดยหนึ่งในเนื้อเรื่ององก์ที่ติดตรึงอยู่ในใจของผู้คนมากที่สุด คืออดีตและปมชีวิตของเซนเซย์ที่ถูกเปิดเผยในบทสุดท้ายซึ่งเป็นบทหลักของโคะโคะโระ
แม้เซนเซย์และภรรยาจะดูเผินๆ ไม่ต่างจากคู่รักทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะได้เรียนรู้ในภายหลัง คือความจริงที่ว่าเซนเซย์ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตจมอยู่กับความรู้สึกผิดและการด้อยค่าตัวเอง เพราะเขาเคยก่อบาปครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเมื่อครั้งยังหนุ่ม เพราะความโลภและความรักที่มีต่อหญิงสาว (ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นภรรยา) ร้ายแรงถึงขั้นทำให้เพื่อนสนิทที่หลงรักผู้หญิงคนเดียวกันฆ่าตัวตาย
เพราะความรักนี้เองที่ทำให้เขาอ่อนแอและหวั่นไหวต่อความเห็นแก่ตัว แม้ว่าจะรักภรรยามากเพียงใด แต่ความรักยืนยาวของเขากลับกลายมาเป็น ‘ตราบาป’ ที่เซนเซย์ไม่สามารถปล่อยวางได้ตลอดชีวิต
ปกติคือไม่รัก (Normal People)
โดย แซลลี รูนีย์
เรียกได้ว่าเป็นนิยายรักดราม่าที่ได้รับความนิยมที่สุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมากับ Normal People ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์รักๆ เลิกๆ ของแมรีแอนน์และคอนเนลล์ ตัดสลับไปมาระหว่างช่วงมัธยมที่แมรีแอนน์เป็นคนเงียบๆ ส่วนคอนเนลล์เป็นหนุ่มป็อป กับช่วงมหาวิทยาลัยที่แมรีแอนน์กลายเป็นสาวสังคมเนื้อหอม ส่วนคอนเนลล์ที่มีพื้นฐานฐานะทางบ้านไม่ดี ก็เริ่มกลายมาเป็นคนเก็บตัวที่ชอบขลุกอยู่กับหนังสือ
ว่ากันว่าความโดดเด่นประการหนึ่งของหนังสือที่เขียนโดย แซลลี รูนีย์ นักเขียนดาวรุ่งชาวไอริชผู้นี้ คือความ ‘Relatable’ หรือพฤติกรรมที่แสนจะสามัญธรรมดาของตัวละครที่ทัชใจคนอ่าน เพราะมองเห็นตัวเองในตัวละครเหล่านี้นั่นเอง
ความสัมพันธ์แต่ละรอบที่ไม่เคยอยู่ได้นานที่ปรากฏใน Normal People หากไม่มีต้นตอมาจากความคาดหวังของสังคม ก็มักเกิดจากข้อบกพร่องส่วนตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่แมรีแอนน์ประสบปัญหาจากความระแวงระวัง ไม่กล้าเชื่อใจใครเต็มร้อยสักที คอนเนลล์เองก็ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จนยึดติดและพึ่งพาคนรักด้านสภาพจิตใจมากจนเกินไป
หากถามว่าเรื่องราวการแยกจาก การกลับมาพบ และการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้รักกันดีๆ เสียทีของแมรีแอนน์และคอนเนลล์ให้อะไรกับคนอ่าน สิ่งนั้นอาจเป็นบทเรียนชีวิตที่ว่า ความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ก็ถือเป็นการแสดงความรักรูปแบบหนึ่ง
Tags: Love Lesson, วรรณคดี, หนังสือน่าอ่าน, ความรัก, Feature, วรรณกรรม, Literature, วาเลนไทน์, แนะนำหนังสือ, Valentines Day