สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมไทยเพิ่งวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ กับเรื่องราวของสำนักอาจารย์แมน เจ้าตำหรับพิธี ‘ลงนะดากทอง’ ศาสตร์ความเชื่อสุดสยิวที่ว่อนไปทั่วโซเชียลฯ กับการทำพิธีเฉพาะจุด ที่เปลี่ยนจากการลงนะหน้าทองบนใบหน้า เพื่อเสริมความมั่งคั่งโชคลาภตามที่คุ้นเคยกัน เป็นการบริกรรมคาถาบริเวณรูทวาร แถมยังมีคลิปที่ปรากฏว่า อาจารย์แมนทำพิธีลามไปถึงการอมอวัยวะเพศด้วย

ในการรับรู้ของคนทั่วไป อวัยวะเพศคือของลับที่ถูกมองเป็นของต่ำ แต่ขณะที่สังคมอินเดียกลับมองต่างออกไป เพราะเครื่องเพศหรือของลับ ตามที่เรียกในภาษาสันสกฤตว่า ‘คุหฺยะ’ หรือ ‘คุหฺยฺฐาน’ และตรงกับคำภาษาบาลีว่า ‘คุยฺหะ’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นของสูง ในฐานะจุดกำเนิดแห่งสรรพชีวิตทั้งหลาย ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดก็หนีไม่พ้น ‘ศิวลึงค์’ หรืออวัยวะเพศของพระศิวะ ซึ่งตั้งตระหง่านให้ผู้คนเข้ามากราบไหว้อยู่ตลอดเวลานับพันปี

นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่ของลับ-ของสงวนถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ว่าแต่ความเชื่อเรื่องการกราบไหว้สัญลักษณ์ทางเพศในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร

‘ศิวลึงค์’ คืออะไร?

ในภาษาสันสกฤตคำว่า ‘ลึงค์’ แปลว่า ‘สัญลักษณ์’ อีกนัยหนึ่งแปลได้ว่า ‘เครื่องเพศ’ ฉะนั้น อาจอธิบายอย่างง่ายๆ ว่า ‘ศิวลึงค์’ เป็นสัญลักษณ์เเทนองค์พระศิวะ หรือเครื่องเพศของพระศิวะ คัมภีร์สำคัญของนิกายที่นับถือพระศิวะ (ไศวนิกาย) เช่น เศวตศวตระอุปนิษัท (Shvetashvatara Upanishad) และศิวปุราณะ (Shiva Purana) อธิบายว่า “พระศิวะเป็นมหาเทพเนื่องด้วยทรงมีภาวะเหนือรูปปรากฏทั้งหลาย” 

ฉะนั้น รูปเคารพของพระองค์จึงมีลักษณะไร้รูปลักษณ์ เมื่อเรามองดูศิวลึงค์จึงไม่สามารถระบุรูปลักษณ์ได้ ในศาสนาฮินดูเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า ‘นิรคุณ’ แปลว่า ไร้รูปร่าง ซึ่งเป็นภาวะที่สูงกว่า ‘สคุณ’ หรือการมีรูปร่าง    

ทีนี้ก่อนจะกระโดดลงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ลองหันดูที่เทวตำนานกันก่อน เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระพรหมจัดพิธีบูชาใหญ่ขึ้น แต่เมื่อใกล้จะถึงฤกษ์พิธีแล้ว พระนางสรัสวตีผู้เป็นชายาของพระองค์ยังไม่เสด็จมา พระองค์จึงบัญชาให้ไปพาตัวเด็กสาวมานั่งแทนที่พระนางก่อน ในที่สุดก็ได้ตัวเด็กสาวนาม ‘คายตรี’ มาเป็นตัวแทนพระนางสรัสวตี 

ทว่าเหตุการณ์เกิดพลิกผัน เมื่อพระนางสรัสวตีทรงเสด็จมายังมณฑลพิธีพอดิบพอดีกับการมาถึงของเด็กสาวคายตรี ด้วยความโกรธเกินจะบรรยาย พระเทวีแห่งอักษรศาสตร์จึงสาปเทพเจ้าผู้ร่วมอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยเหตุผลที่นิ่งเฉย ไม่ห้ามพระพรหมกระทำการอันไม่ชอบธรรมต่อพระนาง โดยพระศิวะจะถูกบูชาในรูปลักษณ์อันน่ารังเกียจ พระพรหมจะสูญเสียสาวก และพระวิษณุจะต้องพรากจากพระลักษมีเสมอ

ด้วยแรงคำสาปของพระนางสรัสวตี ทำให้พระศิวะถูกบูชาในรูปลักษณ์ของเครื่องเพศอันเป็นของต่ำ ตำนานลักษณะนี้ยังปรากฏในครั้งที่เหล่าฤษีมุนีทั้งหลายตั้งคำถามว่า “ใครคือเทพเจ้าอันควรบูชาที่สุด” ซึ่งมหาฤษีภฤคุอาสาออกหาคำตอบนี้ด้วยตนเอง ครั้นเมื่อเดินทางถึงภูเขาไกลาสเพื่อพบมหาเทพศิวะ ทว่าพระศิวะกำลังร่ายรำกับพระอุมาเทวีอย่างสำราญจนไม่สังเกตถึงการปรากฏตัวของท่านฤษี นำไปสู่คำสาปจากความโกรธที่ถูกละเลยของท่านฤษีที่ว่า “นับแต่นี้พระองค์จะถูกบูชาในรูปของ ‘ลึงค์’ (เครื่องเพศ) แทนรูปเคารพที่สวยงาม”

เทวตำนานทั้งสองมาจากคัมภีร์สำคัญสองเล่ม คือ สกันทปุราณะ (Skanda Purana) และภควัตปุราณะ (Bhagavata Purana) เขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 10-15 มีลักษณะเป็นเทวตำนานแบบ ‘ตำนานบอกเหตุ’ คืออธิบายที่มาที่ไปของสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิม เหมือนตำนานรามสูรกับเมขลาที่อธิบายเหตุแห่งฟ้าร้องฟ้าผ่า แต่เมื่อเราลองดูอายุของคัมภีร์ที่เขียนตำนานข้างต้นแล้ว ศิวลึงค์มีอายุเก่ากว่านั้นมาก

อวัยวะเพศ: สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

ในทางวิชาการ นักโบราณคดีเชื่อว่า ศิวลึงค์เป็นพัฒนาการของการนับถืออวัยวะเพศที่สะท้อนถึงคติความอุดมสมบูรณ์ในโลกก่อนประวัติศาสตร์ หรืออาจเป็นพัฒนาการของวัฒนธรรมหินตั้งช่วงสมัยหินใหม่ (Megalithic) ของอนุทวีป ในกรณีหลักฐานที่เก่าที่สุด บัณฑิต มาโธ สุรัปวัตส์ (Pandit Madho Surapvats) ผู้อำนวยการกรมโบราณคดีแห่งอินเดียในช่วงปี 1940 ขุดค้นเมืองโบราณฮารัปปา และพบแท่งหินถูกขัดอย่างดี ตั้งอยู่ในบริเวณอาคารอิฐในเขตเมือง แท่งหินนี้กำหนดอายุอยู่ในราว 4,300-4,500 ปีมาแล้ว

ศิวลึงค์ที่ขุดพบจากเมืองโบราณฮารัปปา ที่มา: อธิพัฒน์ ไพบูลย

พระปศุปติพบที่เมืองโบราณฮารัปปา ที่มา: Wikipedia

มหาเทพ จักรพรรตี (Mahadev Chakravarti) นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาฮินดู ยืนยันว่า แท่งหินนี้เป็นรูปแบบของการสลักเป็นรูปเครื่องเพศชาย และเป็นต้นเเบบของศิวลึงค์ในปัจจุบันเป็นเเน่ และเมื่อพิจารณาร่วมกับการพบรูปสลักพระปศุปติที่มีลึงค์ตั้งตรง (อุรธวะลิงคะ) ก็ยิ่งสนับสนุนแนวคิดการนับถืออวัยวะเพศชายในสังคมแม่น้ำสินธุโบราณ ควบคู่ไปกับการนับถือเพศหญิงที่แสดงผ่านตุ๊กตาดินเผารูปเจ้าแม่

 การบูชาเครื่องเพศในจุดนี้อาจย้อนไปถึงความคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ตามที่ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า ความคิดเรื่อง ‘ความอุดมสมบูรณ์’ สัมพันธ์กับเจ้าของอารยธรรมสินธุที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่ม วัฒนธรรมนี้พัฒนาเข้าสู่วัฒนธรรมแบบเกษตรกรรมติดที่ จึงให้ความสนใจไปกับการเพาะปลูกแบบหวังผลที่แน่นอน ทำให้เกิดความสนใจกับดิน ฟ้า และน้ำ ที่นำความอุดมบูรณ์มาให้ 

ทั้งนี้ เมื่อสังคมพัฒนาเข้าสู่การดำรงชีพด้วยเกษตกรรมขนาดใหญ่ แรงงานคนก็สำคัญ อวัยวะเพศทั้งชายและหญิงซึ่งเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดมนุษย์ และรวมถึงแรงงานเพื่อตอบสนองการเพาะปลูก จึงได้รับการนับถือในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน

ศิวลึงค์แห่งกุดิมัลลัม ณ วัดปรศุราเมศวร เมืองฉิตโตร์ รัฐอานธรประเทศ ที่มา: Wikipedia

ย้อนกลับมาที่กล่าวไปในตอนต้น ดูเหมือนว่าคัมภีร์ศาสนาในรุ่นหลังจะพยายามบิดคำอธิบายไปในทางปรัญชา คือให้ความสำคัญกับการอธิบายความหมายของคำว่าลึงค์ในฐานะรูปเคารพแบบไร้รูปลักษณ์ กระนั้นเมื่อเรามองดูหลักฐานทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลปะ เราจะพบอย่างชัดเจนว่า ศิวลึงค์คืออวัยวะเพศ เช่นศิวลึงค์แห่งกุดิมัลลัม (Gudimallam) ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดปรศุราเมศวร เมืองฉิตโตร์ รัฐอานธรประเทศ

ศิวลึงค์องค์นี้มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 3-8 กำหนดได้จากรูปแบบของเครื่องประดับของรูปบุคคลที่ปรากฏอยู่หน้าท่อนลึงค์ ซึ่งมีทรงผมและสวมเครื่องประดับเหมือนศิลปะอินเดียโบราณถึงศิลปะมถุรา อีกทั้งรูปแบบขององค์ศิวลึงค์ยังมีลักษณะที่แสดงความเป็นเครื่องเพศอย่างชัดเจน สังเกตได้จากส่วนหัวของศิวลึงค์มีการสลักให้คล้ายกับหัวของอวัยวะเพศชายที่ตั้งตรง

ประเด็นนี้ ที. เอ. โคปินาถะ เรา (T. A. Gopinatha Rao) นักโบราณคดีชาวอินเดีย อธิบายว่า ศิวลึงค์นี้มีความเป็นเครื่องเพศอย่างชัดเจน (Glans Penis) สะท้อนถึงความคิดเรื่องการนับถือเครื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา เป็นพัฒนาการช่วงก่อนการเป็นรูปแทนสัญลักษณ์ คือลึงค์ที่กลมมนอย่างศิวลึงค์ทั่วไป 

ทั้งนี้ คัมภีร์อาคมะ (Agama) บรรยายลักษณะของศิวลึงค์ที่พึงมี ระบุชัดเจนว่า ศิวลึงค์ต้องมีสัญลักษณ์ของเครื่องเพศในบริเวณส่วนยอดของศิวลึงค์ (รุทรภาค) คือ ‘เส้นพรหมสูตร’ ลากผ่านบริเวณยอดศิวลึงค์ ทำให้รุทรภาคมีลักษณะเหมือนหัวของอวัยวะเพศชาย

ศิวลึงค์ที่ตั้งตรงและการกอดรัดนิรันดร

เมื่อพิจารณาจากคำบรรยายของอาคมะ ศิวลึงค์จึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากอวัยวะเพศของพระศิวะ รวมถึงหลักฐานเก่าแก่ของพระศิวะ เช่นตราประทับปศุปตะ แสดงอวัยวะเพศที่ตั้งตรง สะท้อนชัดเจนว่า พระศิวะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘เครื่องเพศ’ แตกต่างจากเทพเจ้าองค์อื่นทั้งพระพรหมและพระวิษณุ ซึ่งไม่แสดงอะไรเกี่ยวกับเครื่องเพศ และยิ่งไปกว่านั้น พระวิษณุจะแต่งองค์อย่างกษัตริย์อยู่เสมอ

ด้วยความสัมพันธ์กับเครื่องเพศทำให้สัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างของรูปเคารพพระศิวะ คือลึงค์ที่ตั้งตรง เรียกว่า อุรธวะลึงค์ (Urdhva Linga) ปรากฏเด่นชัดมาก ลักษณะเช่นนี้มีคำอธิบายว่า เป็นสัญลักษณ์ของพรหมจรรย์ กล่าวคืออวัยวะเพศชายที่ตั้งตรงนี้ เป็นตัวแทนของพลังการสร้าง แต่ถูกควบคุมเอาไว้ เหมือนคนที่กำลังจะถึงจุดสุดยอดทางเพศตลอดเวลา แต่ควบคุมเอาไว้ไม่ให้ถึงจุดนั้น อีกนัยหนึ่งลึงค์ที่ตั้งตรงยังสะท้อนถึงความสามารถในการ ‘สร้าง’ อยู่ตลอดเวลา

เมื่อมองไปที่รูปเคารพศิวลึงค์ จะต้องสวมอยู่ในโยนีเสมอ และหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ฐานโยนีที่ตั้งอยู่แล้วมีศิวลึงค์โผล่ขึ้นมา คือ ‘ฉากของการร่วมเพศนิรันดร์’ หรือนั่นคือการทำให้เราเห็นถึงภายในของร่างกายเวลาที่บุรุษและสตรีร่วมเพศกัน ลึงค์ที่ตั้งขึ้นจะเเทรกเสียบเข้าไปในโยนี เพื่อลำเลียงน้ำเชื้อแห่งการสร้างสรรค์เข้าสู่มดลูกของสตรี

ขณะเดียวกัน รูปเคารพดังกล่าวมักตั้งอยู่ในห้องที่เรียกในภาษาสันสกฤตว่า ‘ครรภคฤหะ’ หรือห้องแห่งการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของพลังแห่งเทวาลัยทั้งหลาย แต่หากพินิจชื่ออีกครั้งจะเห็นว่า ‘ครรภะ’ คือท้องหรือมดลูก การที่ลึงค์ตั้งหัวของตนเข้าสู่มดลูกจึงหมายถึง ‘องค์พระศิวะทรงร่วมเพศกับเจ้าแม่อยู่เสมอ’ น้ำนมที่พราหมณ์รดลงยอดศิวลึงค์ในพิธีอภิเษก จึงเป็นเสมือนน้ำเชื้อที่พระศิวะส่งตรงเข้าสู่ครรภ์แห่งสรรพชีวิตของเจ้าแม่

น้ำนมในทางสัญลักษณ์ยังมีความหมายสื่อถึงความบริสุทธิ์และการให้ชีวิต น้ำนมที่มีสีขาวจึงมีค่าเทียบได้ด้วยน้ำแห่งชีวิตหรือน้ำอสุจิ น้ำอสุจิในความคิดแบบอินเดียเรียกว่า ‘พีชะ’ ซึ่งมีความหมายเดียวกับพืชพันธุ์ น้ำพีชะจึงเป็นน้ำแห่งชีวิต 

การอภิเษกศิวลึงค์ด้วยนมโดยพราหมณ์ ที่มา: https://www.dattapeetham.org/

ฉะนั้น เมื่อน้ำนมรดราดลงบนยอดของศิวลึงค์ นั่นจึงเป็นภาพเเทนของการถึงจุดสุดยอดของพระศิวะ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ทั้งปวง สิ่งที่มนุษย์เราได้รับจากการสร้างสรรค์ในห้องสี่เหลี่ยมนั้นคือ ‘เทวปราสาท’ ที่เหล่าพราหมณ์คืนให้หลังจากเดินออกจากครรภคฤหะ

การร่วมเพศในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานก็เช่นกัน พระโพธิสัตว์-พระพุทธเจ้าทรงเข้ากอดรัดกับพระชายาอย่างแน่นเหนียว เพื่อเป็นตัวเเทนของบรมสุข พระโพธิสัตว์-พระพุทธเจ้าเป็นตัวแทนของมหากรุณาอันตั้งมั่น พระชายาทั้งหลายเป็นตัวแทนของปัญญาที่ไม่หยุดนิ่ง หากไม่มีความกรุณา หากไม่มีปัญญา บรมสุขหรือนิพพานก็คงเกิดขึ้นเสียไม่ได้ บรมสุขในพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่เมื่อเห็นพระพุทธและชายาร่วมรักกัน กอดรัดกัน จึงเป็นรูปธรรมของบรมสุขที่ชาวบ้านร้านตลาดเห็นและเข้าใจได้ง่าย แต่นั่นเป็นแค่สัญลักษณ์เพื่อใช้ฝึกจิตเท่านั้น

การกอดรัดและร่วมเพศระหว่างเจ้าพ่อกับเจ้าแม่จึงเป็นไปอย่างนิรันดร์ เพื่อธำรงรักษาความเป็นไปของจักรวาล หากไม่ร่วมเพศก็ไม่มีการสร้าง เมื่อนั้นจักรวาลก็ดับสูญ วันใดที่พระศิวะขาดเจ้าแม่ พระเนตรจะปิดลง เหมือนครั้งพระองค์เสียนางสตี พระองค์จะหลีกหนีจักรวาล จักรวาลจะไร้ผู้ดูแล และเมื่อนั้นดวงเนตรที่สามกลางพระนลาฏจะเปิดออก ไฟร้อนจะล้างจักรวาลให้ดับสิ้น จนกว่าพระองค์จะได้พบเจ้าแม่อีกครั้ง

เรื่องเพศ การกอดรัด และการร่วมรัก จึงไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่คือเรื่องพื้นฐานของจักรวาล

Tags: ,