“Снятие наличных в банкомате без карты”
ข้อความภาษารัสเซียข้างต้นมีความหมายว่า ‘บริการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มโดยไม่ใช้บัตร’ และยังมีข้อความโฆษณาว่า บริการรับเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลเป็นเงินสด พร้อมกับรับชำระค่าเช่าซื้อ รวมถึงบริการต่างๆ หากใครสนใจสามารถติดต่อได้ผ่านทางแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram)
ป้ายสติกเกอร์ดังกล่าวติดอยู่ตามป้ายบอกทาง ตู้ หรือเสาไฟฟ้า บริเวณถนนคนเดินบางลา หาดป่าตอง (Patong Beach Bangla Walking Street) ป้ายภาษารัสเซียไม่ใช่ป้ายแรกและไม่ใช่ภาษาเดียวในพื้นที่แห่งนี้ เพราะยังมีภาษาอาหรับและภาษาจีนปรากฏควบคู่กันไปด้วย
สิ่งที่น่าสนใจคือ ภาษารัสเซียเกือบจะแทรกซึมไปตามพื้นที่ต่างๆ ในหาดป่าตอง เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร ร้านขายยา แท็กซี่ ป้ายบอกทางตามหาดที่มี 2 ภาษา ได้แก่ อังกฤษและภาษารัสเซีย รวมไปถึงรถโดยสารประจำทางอย่างรถเมล์ที่มีเพียง 3 ภาษา ได้แก่ จีน อังกฤษ และรัสเซี
หากมองดูภาษาที่ปรากฏตามป้ายต่างๆ อาจสื่อได้ว่า รัสเซียเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในภูเก็ตจำนวนมาก และเป็นชาติที่ใช้ภาษาของตัวเองเป็นหลัก สอดคล้องกับที่สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภูเก็ตมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่รัสเซีย, จีน, อินเดีย, ออสเตรเลีย, อังกฤษ, มาเลเซีย, เยอรมนี, คาซัคสถาน, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
The Momentum ลงพื้นที่เก็บภาพบรรยากาศความเป็นเมืองนักท่องเที่ยวของภูเก็ต ผ่านป้ายต่างๆ ว่าป้ายเหล่านี้สามารถสื่อสาร บอกเล่า ถึงสถานการณ์ในจังหวัดนี้อย่างไรได้บ้าง
อย่างแรกปฏิเสธไม่ได้ว่า การหลั่งไหลเข้ามาของชาวรัสเซียและนักท่องเที่ยวส่งทั้งผลดีและผลเสีย ในแง่ผลดีคือเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะความคึกคักของภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนข้อเสีย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยสถานการณ์ภูเก็ตหลังการเข้ามาของนักท่องเที่ยวว่า ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ราคาขยับขึ้น 15-20% และต่างชาติยังมีแนวโน้มต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยดีเอสไอสรุปผลกระทบจากการเข้ามาของต่างชาติไว้ดังนี้
1. ต่างชาติแห่ซื้อวิลล่าหรู คนไทยไม่มีเงินมากพอจะซื้อ การหลั่งไหลของชาวต่างชาติที่มีความสนใจในอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงกว่าเดิมจนทำให้คนไทยไม่มีกำลังทรัพย์จะซื้อ อีกจุดที่น่าสนใจคือ ชาวต่างชาติมักซื้อขายระหว่างต่างชาติด้วยกัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการโอนประมาณร้อยละ 10
2. ก่อให้เกิดอาชญากรรมในประเทศไทย มีกลุ่มก้อนมาเฟียเกาะกลุ่มกันตามสัญชาติเดียวกัน
3. มีการฟอกเงินในไทยตามธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์
4. อาชญากรแอบแฝงในรูปแบบนักท่องเที่ยว
5. ฟอกเงินผ่านเงินดิจิทัล เช่น การแลกเปลี่ยนเงินตราในชาติเดียวกัน
ในปีที่ผ่านมา สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) เขียนสารคดีเกี่ยวกับรัสเซียและภูเก็ต โดยมีใจความว่า คนรัสเซียแห่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์แพงขึ้น และมักประกอบธุรกิจเฉพาะคนชาติเดียวกัน จ้างงานคนในประเทศตนเอง และหลายงานก็ผิดกฎหมาย เช่น เป็นไกด์รัสเซียในประเทศไทย ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและค้าประเวณี โดยส่วนใหญ่ทำผ่านแอปพลิเคชันภาษารัสเซียทั้งหมด
สมชาติ เตชถาวรเจริญ ส.ส.ภูเก็ต เขต 1 พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับทาง The Momentum ว่าสิ่งที่น่ากังวลในสถานการณ์ดังกล่าว คือการตรวจสอบที่ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการหลั่งไหลเข้ามาของรัสเซีย ส่งผลให้เกิดการแย่งงาน ทำให้คนไทยสูญเสียโอกาส ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
สมชาติเปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ในจังหวัดภูเก็ตมีหมู่บ้านจัดสรรที่คล้ายกับหมู่บ้านของชาวรัสเซียโดยเฉพาะการเป็นคอมมูนิตีหมู่บ้านแบบปิด นอกจากการเข้ามาจับจองที่อยู่อาศัยของต่างชาติจะส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ราคาพุ่งสูงแล้ว อีกสิ่งที่น่ากังวลคือรายได้ต่างๆ ไม่หลุดมาถึงคนในประเทศ เช่น เมื่อคนรัสเซียบินมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ก็จะมีรถตู้รับส่งของคนรัสเซียไปรับถึงสนามบิน ขายทัวร์บนรถตู้หรือในโรงแรม ซึ่งในส่วนนี้ ส.ส.กล่าวว่า ต้องตรวจสอบอีกครั้งว่ามีใบอนุญาตที่ถูกกฎหมายหรือไม่
เมื่อรัสเซียประกอบธุรกิจกันเองและมีคนกล่าวว่า เขาทำธุรกิจผ่านแอปพลิเคชันภาษารัสเซีย ก็ยิ่งทำให้เกิดการตรวจสอบยากขึ้น หามือคนดมยากขึ้น ตรวจสอบเส้นทางการเงินยากขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลให้ภาษีที่ต้องเข้ารัฐ เข้าประเทศสูญหายไปด้วย
“อาชีพที่พบว่ามีการแย่งงานคนไทยในภูเก็ต คือเปิดธุรกิจรถเช่ามอเตอร์ไซค์และรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่รัสเซียทำเยอะมาก และอาชีพไกด์เถื่อน เมื่อก่อนจะพบเป็นไกด์จากเกาหลีใต้และจีนเป็นหลัก แต่ตอนนี้กลายเป็นรัสเซียเสียส่วนใหญ่” สมชาติทิ้งท้าย
‘ป้ายภาษา’ สามารถสะท้อนภาพการเป็นเมืองปลายทางของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้เราอาจต้องตั้งคำถามกันว่า กฎหมายต่างๆ สามารถครอบคลุมและป้องกันการลักลอบกระทำผิดกฎหมายจนเบียดเบียนคนในพื้นที่หรือไม่? มากไปจนถึงการเสียผลประโยชน์ในระดับประเทศหรือเปล่า เช่น การเข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวแต่แอบทำงานในประเทศ การให้คนไทยเป็นนอมินีซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือเปิดธุรกิจ
นอกจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่ายังมีอีกมากมายที่ไม่ถูกดึงขึ้นมาบนพรม จากช่วงที่ผ่านมา เห็นทั้งข่าวมาเฟียต่างชาติทำร้ายคนไทย ประกอบธุรกิจจนร่ำรวย รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ และนำหาดที่ควรเป็นของทุกคนมาประกอบธุรกิจส่วนตัว สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงยอดน้ำแข็งของปลายภูเขาเท่านั้น
ไม่ว่าจะราคาอสังหาริมทรัพย์ที่คนในประเทศและคนในท้องที่ไม่อาจจ่ายไหว ค่าใช้จ่ายรายวันที่แพงหูฉี่ สังเกตง่ายๆ จากค่าตั๋วเครื่องบินที่ดีดขึ้นไปหลักหมื่นบาท ทั้งที่เป็นเส้นทางการบินในประเทศเท่านั้น ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายและค่าเดินทางในจังหวัดที่แพงแบบ ‘พิเศษ’ อีกด้วย
จนหลายครั้งอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดสำหรับคนไทยและคนท้องถิ่นหรือไม่? หรือภูเก็ตไม่ถูกจัดเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว?
Tags: ป่าตอง, รัสเซีย, ภูเก็ต, Cityscape, Phuket Cityscape, Faces of the Pearl