“ประเทศไทยเรารวยขนาดนั้นเลยเหรอ”
คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนสงสัย หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ส่งผลให้ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่สร้างขึ้นด้วยงบประมาณแผ่นดินกว่า 2,100 ล้านบาท ‘พังเหมือนแพนเค้ก’ ทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรม ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน งบประมาณการก่อสร้าง และความหรูหราภายในตึกราชการจากภาษีประชาชน ไปจนถึงงบประมาณโครงการปรับปรุงอาคารรัฐสภากว่า 3,000 ล้านบาท
เหล่านี้นำไปสู่การสาวตอโครงการก่อสร้างตึกอาคารราชการอื่นๆ ที่ส่งงานล่าช้า หยุดการก่อสร้าง จนกลายเป็นตึกร้าง แน่นอนว่าสภาพทรุดโทรมเหล่านี้ก็ส่งผลถึงงบประมาณการซ่อมบำรุง ฟื้นฟู อีกทอดหนึ่งด้วย
The Momentum รวบรวมตึกอาคารราชการที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จสักที เพื่อชวนทุกคนตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของเม็ดเงินประชาชน ไปจนถึงการตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่ตึกอาคารราชการต้องใช้งบมากมายมหาศาลและใช้ของหรูหราเช่นนี้ ไปจนถึงคำถามสำคัญอย่าง ถ้าผู้รับเหมาเทงาน ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ส่งมอบล่าช้า ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียกับเงินที่สูญเสียนี้อย่างไรบ้าง
1. สำนักงาน กสทช.แห่งใหม่ แยกแคราย จังหวัดนนทบุรี สร้าง 6 ปี สร้างไม่เสร็จ กับงบกว่า 2,643,000,000 ล้านบาท
ทรุดโทรม ขึ้นสนิม ถูกทิ้งร้าง คงเป็นคำอธิบายสำหรับคนที่เดินทางผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แห่งใหม่ แยกแคราย จังหวัดนนทบุรี ตึกแห่งนี้ลงนามสัญญาก่อสร้างและตกแต่งภายในกับบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ในวงเงิน 2,643,000,000 บาท มีระยะเวลาการก่อสร้าง 1,080 วัน โดยในสัญญาระบุว่า ต้องสร้างแล้วเสร็จในปี 2565
หลังจากมีประเด็นในเรื่องความโปร่งใส การจ่ายไม่คุ้มค่า และเอี่ยวสินบน จนทำให้การก่อสร้างชะงัก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กสทช.ออกมาชี้แจงความล่าช้าว่า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้องมีความจำเป็นในการปรับอาคารให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่ เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการ กสทช.มีจำนวนลดลงจาก 11 คน เหลือ 7 คน และต้องปรับสายงานภายในสำนักงานระหว่างก่อสร้าง
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับสำนักงาน กสทช.จึงสั่งให้หยุดงานโครงการก่อสร้าง และมีการตกลงยกเลิกสัญญา โดยปัจจุบันโครงการก่อสร้างมีความก้าวหน้ารวม 75.95% โดยมีการส่งมอบงานแล้ว 104 งวดจาก 200 งวด เป็นเงิน 1,598,803,560 บาท คิดเป็น 60.49%
กสทช.ยังระบุต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่อีกครั้ง และดำเนินตามการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อดำเนินการในส่วนงานที่เหลือ แต่ขณะเดียวกัน กสทช.กลับยังไม่ส่งเอกสารราคากลางให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ
2. ศาลพระโขนง สร้างไม่เสร็จกลายเป็นตึกผีสิงในงบ 304 ล้านบาท
อาคารที่ทำการศาลแพ่งพระโขนงและศาลอาญาพระโขนง พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ได้ทำสัญญาจ้างกับบริษัท ซีเอ็ม แกรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นเงินกว่า 304,738,500 บาท โดยกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาในวันที่ 4 มีนาคม 2565
ต่อมาเมื่อต้นเดือนเมษายน 2564 พบว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งพระโขนงทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องขอให้ดำเนินการตรวจสอบรูปแบบรายการก่อสร้างตามสัญญาจ้าง เนื่องจากพบว่า งานก่อสร้างดังกล่าวแม้มีการตรวจรับงานแล้ว แต่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ห้องพิจารณาคดีมีทั้งหมด 39 ห้อง แต่สร้างเสร็จ 1 ห้อง ลิฟต์มี 7 ชุด แต่ใช้ได้แค่ชุดเดียว หมวดระบบไฟฟ้าและสื่อสารดำเนินการเกี่ยวกับงานระบบแล้วเสร็จ แต่ไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าและสื่อสาร นอกจากนี้ยังไม่มีการทาสี ตกแต่งอาคารภายในและภายนอก
ปัจจุบันตึกดังกล่าวยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าจะล่วงเลยมาจากวันที่ในสัญญามา 3 ปีแล้วก็ตาม จนตึกถูกทิ้งร้าง ทรุดโทรม จนใครหลายคนเรียกขานว่าเป็นตึกผีสิง
3. อาคารศูนย์สาธิตฯ กรมควบคุมโรค ระงับการก่อสร้าง งบ 607 ล้านบาท
อาคารศูนย์สาธิตบริการและอาคารจอดรถ กรมควบคุมโรค จำนวน 1 หลัง ทำสัญญาจ้างกับ บริษัท เกทเวย์ อาร์คิเท็ค จำกัด ในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 607,638,000 บาท ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานให้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา
ปัจจุบันอาคารศูนย์สาธิตฯ กรมควบคุมโรค ยังไม่สามารถเปิดใช้งานเนื่องจาก ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยช่วงที่ผ่านมามีเพจ Facebook ออกมาโพสต์ว่า “อาคารศูนย์สาธิตบริการและอาคารลานจอดรถ กรมควบคุมโรค 480 ล้านบาท สร้างไม่เสร็จ ผู้รับจ้างขายงานต่อให้ทุนจีน ชื่อเฮียอลงกรณ์”
ด้านกรมควบคุมโรคออกมาชี้แจงตอบโต้ว่า เป็นข่าว ‘บิดเบือน’ ปัจจุบันอาคารศูนย์สาธิตฯ บอกเลิกสัญญาตั้งแต่ 25 ธันวาคม 2567 เพราะผู้รับจ้างก่อสร้างงานล่าช้า ไม่ตามแผนที่กำหนด ไม่มีการขายงานต่อแต่อย่างใด อยู่ระหว่างคณะกรรมการพิจารณาความเสียหาย เพื่อดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ และกรมควบคุมโรคจะรีบชี้แจงรายละเอียดอย่างเร่งด่วนต่อไป
4. อาคารที่ทำการศาลแขวงพระนครเหนือ สร้างไม่แล้วเสร็จ ในงบกว่า 1,377,600,000 บาท
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดการทำสัญญาจ้าง ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลแขวงพระนครเหนือ อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ซึ่งผู้รับผิดชอบการก่อสร้างอาคารนี้คือ บริษัท วรนิทัศน์ จำกัด ในวงเงินงบประมาณ 1,377,600,000 บาท
เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ทาง Facebook คิด ทำ ทิ้ง เปิดเผยว่า โครงการของสำนักงานศาลยุติธรรม ช่วงปี 2563 พบกรณีทิ้งงานแล้วก่อสร้างล่าสุดถึงปัจจุบันก็ไม่แล้วเสร็จตามกำหนด สัญญา ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ราคาก่อสร้างราคาเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท จากกรณีศาลแพ่งพระโขนงและศาลอาญาพระโขนง และที่ทำการศาลแขวงพระนครเหนือ อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ช่วงถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เลยสิ้นสุดสัญญาเดือนตุลาคม 2565 ผ่านมา 2 ปี อาคารดังกล่าวไม่พร้อมใช้งาน เครือข่ายตั้งประเด็นผู้รับเหมาทิ้งงานหรือไม่
ด้านผู้สื่อข่าว The Momentum พยายามโทร.ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับศาลแขวงพระนครเหนือ แต่ไม่มีผู้ใดรับสาย
งบประมาณจากภาษีประชาชน ที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้?
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาผู้ทิ้งงาน กรมบัญชีกลาง เวียนหนังสือแจ้งหน่วยงานราชการทั่วประเทศ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ขอความอนุเคราะห์ ‘ลบข้อมูลของผู้ประกอบการ’ ที่ถูกแจ้งเวียนชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานและเพิกถอนรายชื่อผู้ทิ้งงาน อ้างว่า อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในผิดกฎหมายได้ พร้อมระบุว่า เป็นไปตามกฎหมาย PDPA หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 5 บัญญัติบทนิยาม
คำถามสำคัญคือ เงินที่มาจากภาษีประชาชน ทำไมการตรวจสอบติดตามถึงยากนัก แม้แต่จะทราบชื่อบริษัทที่เทงานของภาครัฐก็ไม่อาจทราบได้ ซึ่งการใช้เงินภาษีประชาชนความมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกทางหรือไม่
ทั้งงบประมาณที่สูง ความใหญ่โตโอ่อ่าที่ต้องสมฐานะ เงินเหล่านี้มาจากที่ไหน ท้ายที่สุดก็ไม่พ้นภาษีประชาชน ยิ่งการก่อสร้างที่ล่าช้า หยุดชะงัก การที่ต้องมาเริ่มสร้างใหม่ หรือการปรับแผนทุกอย่างล้วนใช้เงิน เสาทุกต้น กระเบื้องทุกแผ่นล้วนมาจากเงินประชาชนทั้งสิ้น ข้าราชการผู้เป็นบุคคลที่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ก็ควรต้องทำงาน คิดคำนวณ ให้คุ้มค่ากับทุกบาททุกสตางค์ของประชาชนหรือไม่
ที่มา
– https://www.isranews.org/article/isranews/98861-invesisra-101.html
– https://www.ddc.moph.go.th/uploads/files/1657320210125030723.pdf
– https://www.facebook.com/KidTamThing/posts
Tags: ตึกสตง, อาคารรัฐสภา, ภาษีประชาชน, ตึกราชการ, สำนักงาน กสทช.ใหม่, ศาลพระโขนง, อาคารศูนย์สาธิต, Feature, ศาลแขวงพระนครเหนือ, งบประมาณ, กรมควบคุมโรค