ในวันที่ 19 กันยายน ห้วงเวลาแห่ง ‘คเณศจตุรถี’ จะเริ่มต้นขึ้นและดำเนินต่อไปอีกนับรวมได้ 10 วัน กระทั่งวันที่ 28 กันยายนก็จะเป็น ‘วันแห่พระคเณศไปทิ้งน้ำ’ (Ganesh Visarjan) อันเป็นการส่งเสด็จพ่อช้างของปวงเรากลับสู่พระวิมาน เป็นไฮไลต์ของงานเทศกาลคเณศจตุรถี ซึ่งกลายเป็นภาพชินตากันไปแล้ว แต่จริงๆ งานแห่พระคเณศไม่เคยมีหน้าตาเช่นนี้เลยกระทั่งเวลาล่วงไปถึงปี 1894

หากอ้างอิงไปตามคัมภีร์ ‘คเณศปุราณะ’ การบูชาพระคเณศเดิมนั้นไม่ใช่งานใหญ่โตอะไร ดูแล้วจะเป็นกิจกรรมภายในครัวเรือนเสียด้วยซ้ำ โดยข้อความในคัมภีร์แนะนำเอาไว้ว่า เมื่อถึงวันบูชาพระคเณศให้นำดินมาปั้นผสมด้วยขมิ้นหรือเครื่องหอมเป็นรูปคล้ายพระคเณศ ตั้งบูชาไว้ในบ้าน อาจปูรองเทวรูปด้วยหญ้าแพรกหรือเมล็ดงา จากนั้นถวายขนมโมทกะผสมด้วยงาแด่เทวรูปนั้น ส่วนตัวผู้บูชาควรอาบน้ำผสมเม็ดงาและถือพรต (อดอาหารหรือรับประทานเพียงแค่ผลไม้) จากนั้นเมื่อเวลาล่วงได้ 4 วัน ให้นำเทวรูปนั้นไปทิ้งน้ำเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี 

สังเกตได้ว่า พิธีกรรมนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนและใหญ่โต เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ประกอบได้ในครัวเรือน ไม่จำเป็นจำต้องเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธีแต่อย่างใด สะท้อนถึงความเรียบง่ายและการเป็นเทพเจ้าผู้เข้าถึงง่ายซึ่งเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพระคเณศ

เทศกาลแห่ใหญ่โตเกิดขึ้นจากเบื้องลึกเบื้องหลังทางการเมือง และการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของพี่น้องชาวอินเดียเป็นฉากหลังของการแสดงอันยิ่งใหญ่ ภายใต้การกำกับดูแลของ พาล คงคาธาร ติลก (Bal Gangadhar Tilak) นักต่อสู้ผู้ได้รับฉายาว่า ‘โลกมันยา’ (Lokmanya – ผู้ได้รับการยอมรับจากปวงชนให้เป็นผู้นำ) และ ‘บิดาของอินเดียผู้ไม่ยอมจำนน’ (the Father of Indian Unrest) 

พาล คงคาธาร ติลก: ชายผู้นำการเรียกร้องเอกราชในอินเดีย

พาล คงคาธาร ติลก เป็นชาวมราฐา (ชาวแคว้นมหาราษฏระ) วรรณะพราหมณ์โดยกำเนิด เขาได้รับแรงบันดาลในจากเรื่องราวที่คุณปู่เล่าถึงการเข้ารุกรานแคว้มมหาราษฏรของอังกฤษ ความรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนี้ก่อนถูกเจ้าอาณานิคมอังกฤษปกครอง รวมถึงความคับแค้นต่อเหตุการณ์กบฏซีปอย (การลุกฮือขึ้นต่อต้านอังกฤษครั้งใหญ่ของชาวอินเดียในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19) เมื่อติลกโตขึ้นได้รับการศึกษาทั้งภาษาสันสกฤตและอังกฤษ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีถึง 2 ใบ ทั้งทางอักษรศาสตร์และกฎหมาย ด้วยเบื้องหลังทางความคิดและมุมมองของเขานั้นเกลียดชังการปกครองของต่างด้าวอย่างชนิดที่ไม่มีทางประนีประนอม เมื่อจบการศึกษา ติลกตั้งคำถามต่อสิทธิในการปกครองที่ต่างถิ่นแห่งนี้ (อินเดีย) ของอังกฤษว่าชอบธรรมแล้วหรือไม่ 

ความที่ติลกรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์มราฐามาตั้งแต่เด็กจากคนในครอบครัว และทรรศนะรังเกียจเดียดฉันท์ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวภารตะ (ในที่นี้หมายถึงอังกฤษเป็นหลัก แต่เดิมเป็นที่เข้าใจว่าติลกไม่ชอบชาวมุสลิม แต่เรื่องนี้เป็นการกล่าวเกินเลยไปพอสมควร เขามีความสัมพันธ์อันดีกับจินนาฮ์และผู้แทนปีกมุสลิมในพรรค India National Congress เป็นอย่างมาก) ทำให้เขายกย่องมหาราชา ฉัตรปตรี ศิวาจี กษัตริย์นักสู้ชาวมราฐาผู้ต่อต้านจักรวรรดิมุสลิมโมกุลขึ้นเป็นบุคคลตัวอย่างในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง ดั่งวรรคทองของติกลที่ว่า “Swarajya is my birthright and I shall have it!” ทั้งนี้ ความชื่นชอบในมหาราชาฉัตรปตรีของติลกยังนำไปสู่การส่งเสริมให้มีการระลึกถึงศิวาจีทุกวันเกิดในรอบปี (Shiv Jayanti) 

ด้วยความสามารถด้านภาษาและความเป็นนักคิดนักเขียน ติลกจัดตั้งสำนักพิมพ์ภาษามารฐีรายสัปดาห์ชื่อ ‘เกสรี’ (ราชสีห์) ในปี 1880 (ยังคงดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบันภายใต้การดูแลของหลานชาย) การออกหนังสือพิมพ์เกสรีก็เพื่อยกระดับการศึกษาของชาวมราฐา เผยแพร่แนวคิดเรื่องสิทธิโดยชอบในการปกครองตนเอง และใช้กระจายข่าวสารของกลุ่มพรรค Congress ในเรื่องการต่อสู้ ประจวบด้วยด้วยกระแสชาตินิยมที่รุนแรงในขณะนั้น พร้อมด้วยลีลาการเขียนอันดุเดือดผู้คนมากมายจึงเข้าร่วมกับแนวทางของติลก และติดตามงานเขียนของเขาเป็นจำนวนมาก

แรงผลักดันของสื่อสิ่งพิมพ์ส่งผลให้แนวคิดมุมมองของติลกแพร่กระจายสู่ผู้คนจำนวนมากในแคว้นมหาราษฏระอย่างรวดเร็ว เขามองว่า พลวัตทางสังคมที่ผลักดันความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญ และจะส่งผลดีต่อการรุกขึ้นเรียกร้องสิทธิต่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ติลกจึงเรียกร้องต่อประชาชนผู้ติดตามผลงานของเขาให้จัดเทศกาลขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในแคว้นมหาราษฏระ 2 เทศกาล คือการฉลองวันประสูติศิวาจี (Shivi jyanti) และการฉลองพระคเณศ หรือ ‘คเณศจตุรถี’ 

‘คเณศจตุรถี’ วันฉลองพระพิฆเนศและการขัดขืนจักรวรรดิอังกฤษ

น่าสนใจว่าจากการศึกษาของ สุโพธ คาปูร์ (Subodh Kapoor) และวิกเตอร์ บาร์เนาว์ (Victor Barnouw) ระบุว่า เทศกาลแห่คเณศจตุรถีนั้นไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสืบย้อนเก่ากลับไปได้ถึงเมื่อใด ทั้งนี้ จากการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์พบว่า ในสมัยมหาราชาศิวาจี (กลางศตวรรษที่ 17) เรื่อยมาถึงสมัยราชวงศ์เปศวา (Peshwa Dynasty) ราวศตวรรษที่ 18 มีการอุปถัมภ์พิธีแห่พระคเณศโดยราชสำนัก ทว่าพิธีดังกล่าวขาดช่วงไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ด้วยอิทธิพลของอังกฤษที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือรัฐมหาราษฏระ

ติลกจึงปรับปรุงและยกระดับพิธีนี้ให้เป็นรัฐพิธี ด้วยเห็นว่าพระคเณศเป็น ‘เทพเจ้าของทุกคน’ ไม่ว่าวรรณะไหนก็บูชาและเข้าถึงพระองค์ได้ ทั้งยังมีบุญสถานจำนวนมากอยู่ในเขตของรัฐมหาราษฏระ จึงเป็นที่คุ้นเคยของผู้คนอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ดังนั้น การจัดเทศกาลนี้ก็ยังถือเป็นการช่วยลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ปลุกจิตสำนึกในความรู้สึกภูมิใจในชาติ ประวัติศาสตร์ และศาสนาร่วมกันในหมู่ชาวมราฐา และง่ายต่อการขยายต่ออุดมการณ์การต่อสู่ของติลกและนักคิดนักเขียนคนอื่นๆ ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

การปลุกปั่นให้ผู้คนออกมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองต่อพระคเณศนี้ยังเป็นการแสดงความขัดขืนต่อจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ออกกฎห้ามการชุมนุมกันตามท้องถนน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีนโยบายการไม่แทรกแซงศาสนา การกระทำนี้จึงเป็นการปลุกระดมโดยช่วงใช้ช่องว่างทางกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ของอังกฤษให้เป็นประโยชน์ ภายในงานเฉลิมฉลองพระคเณศจึงมีการตั้งเวทีโจมตีเจ้าอาณานิคมอย่างโจ่งแจ้ง โดยแน่นอนว่า ติลกขึ้นปาฐกถาด้วย 

พลวัตนี้ทำให้บรรยายกาศความเป็นชาตินิยมอินเดียกระจายตัวไปทั่วทั้งดินแดนอินเดียฝั่งตะวันตก ส่งผลเสียอย่างยิ่งต่อจักรวรรดิอังกฤษ เนื่องด้วยในพื้นที่แคว้นมหาราษฏระเป็นที่ตั้งของเมืองบอมเบย์ (มุมไบ) เมืองท่าการค้าสำคัญของอังกฤษ เมื่อประชาชนเกิดความขัดขืนมากขึ้น การค้าของอังกฤษจึงขรุขระมากในช่วงเวลานั้น แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือข้าราชการชาวอังกฤษในเมืองปูเน่ถูกฆ่าตายไปสองคนในปี 1897 ส่งผลให้ทางการอังกฤษออกมาโจมตีนิตยสารเกสรีของติลกว่า เป็นผู้กระพือให้ประชาชนเกลียดชังข้าราชการ และในท้ายที่สุดติลกถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน 

การจับตัวติลกสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่ง จนส่งผลให้เกิดกลุ่มหัวรุนแรงต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษและกลุ่มนักต่อสู้ในสายพัฒนาหรือสายกลาง ประจวบกับในเวลานั้นเกิดปัญหาขึ้นในแคว้นเบงกอล จากปัญหาความพยายามแยกแคว้นเบงกอลออกจากอินเดีย ซึ่งปรากฏนักต่อสู้ทางการเมืองชาวเบงกาลีผู้มีชื่อเสียงหลายคนลุกขึ้นต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เช่น จันทรชัตเตอร์จี (Chandra chatterji) และศรีออโรพินโท (Sri Aurobindo)

กระแสความรุนแรงในครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดการพยายามต่อต้านพรรค Congress อันเป็นสนามต่อสู่ทางการเมืองของฝ่ายสายกลาง บานปลายไปถึงการพยายามควบคุมพรรคแต่ไม่สำเร็จ มีเรื่องเล่ากันว่า ติลกเคยท้าทายหัวหน้าพรรคในระหว่างประชุม นอกจากนี้ ยังเกิดความวุ่นวายอย่างหนักถึงขนาดเอารองเท้าและเก้าอี้ขว้างปาใส่กัน ก่อนติลกจะถูกจับกุมอีกครั้งด้วยข้อหาเดิม คือเป็นผู้ปลุกระดมให้ผู้คนก่อความรุนแรง

แนวคิดการฉลองพระคเณศที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบัน งานแห่พระคเณศยังคงยิ่งใหญ่และมีแนวโน้มว่าจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และดูราวกับว่า งานแห่เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้างนี้จะออกห่างจากแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างที่เคยเป็นเมื่อศตวรรษก่อนไปแล้ว ทว่าชาวอินเดียยังคงเกี่ยวพันกับการเมืองและความเคลื่อนไหวทางสังคมเข้ากับเทพเจ้าผู้เมตตาองค์นี้เสมอมา 

อย่างในปี 1924 มีการทำรูปพระองค์ใส่ชุดทหารแบบเนตาจี สุภาษ จันทระ โบส (Subhas Chandra Bose) นักต่อสู้สายต่อต้านที่พยายามปลดแอกอินเดียในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นการแสดงการสนับสนุนแนวทางของโบส หรือเมื่อเร็วๆ นี้ ในปี 2020 มีการจับพระองค์แต่งเป็นคุณหมอเพื่อปราบไวรัสโคโรนา พร้อมข้อความจิกกัดว่า “มีแต่พระองค์ที่ช่วยเราได้ เพราะรัฐบาลกำลังหลับ” 

อย่างไรก็ดี สุดท้าย ติลกกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้และผู้มอบแนวคิดเรื่อง ‘สวราช’ สิทธิในการปกครองตนเองให้กับชาวอินเดีย รวมถึงพรรค Congress ก็หยิบยกวิธีการต่อสู้ของเขามาใช้และยกย่องติลกในฐานะแนวหน้าแห่งการต่อสู้ผู้ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ถึงขนาดว่า มหาตมะ คานธี เคยกล่าวยกย่องติลกไว้อย่างสูงส่งว่าเป็น ‘ผู้สร้างอินเดียสมัยใหม่’ สมกับสมญานาม ‘โลกมันยะ’ หรือผู้ที่ปวงชนทั้งหลายยอมเดินตาม 

อ้างอิง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ? กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.

จำนงค์ ทองประเสริฐ. บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2541

ศรีหริทาส. คเณศวิทยา. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2552.

Bal Gangadhar Tilak His Writings and Speeches” — Ganesh & Co, Madras, 1919

“Bal Gangadhar Tilak Birth Anniversary: Inspiring Quotes by the Freedom Fighter”. News18. 23 July 2021. Retrieved 15 November 2021.

Barnouw, Victor. (1954). “The Changing Character of a Hindu Festival.” in American Anthropologist 56, no. 1

Kapoor, Subodh (2002). The Indian Encyclopaedia. Cosmo Publications.

Tags: , , , , , ,