จอภาพตั้งอยู่กลางห้อง ด้านหน้าจอภาพมีโซฟาสำหรับดูหนังประมาณ 50 ตัว ขนาดห้องไม่ได้กว้างมากเมื่อเทียบกับโรงหนังขนาดใหญ่ ทั้งหมดจัดเรียงอยู่ภายในห้องหนึ่งของตึกแถวที่พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ
เหล่านี้เป็นส่วนประกอบของ ‘ไมโครซินีมา’ หรือห้องฉายหนังทางเลือกที่ซ่อนตัวอยู่ภายในชั้น 2 ของอาคาร Woof Pack ย่านสีลม ภายใต้การดูแลของ Doc Club & Pub. ที่ตั้งใจให้โรงหนังแห่งนี้เป็นพื้นที่ของคนรักหนังมาร่วมดูหนัง และพบปะพูดคุยถึงศิลปะที่เรียกว่า ‘ภาพยนตร์’
ท่ามกลางระบบทุนนิยมที่โรงภาพยนตร์หารายได้จากหนัง Box Office ไมโครซินีมาเกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ของหนังทางเลือกอย่างหนังสารคดีและภาพยนตร์นอกกระแส และด้วยเหตุผลนี้เองที่หนังเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจจากโรงหนังขนาดใหญ่ๆ ที่มีอยู่ตามห้างสรรพสินค้า ขณะที่การนำหนังสักเรื่องเข้าไปฉายในโรงขนาดใหญ่ต้องใช้ทุนสูง โรงหนังจึงเต็มไปด้วยหนังกระแสหลักโปรดักชันใหญ่ไปโดยปริยาย
ในประเทศไทย กระบวนการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของหนังสักเรื่องต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหา เพื่อให้ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (กองเซนเซอร์) หากหนังติดเรตเกินไป มีเนื้อหาในทางการเมืองหรือตีแผ่สังคมในแบบที่ไม่ ‘เข้าตา’ คณะกรรมการจึงเป็นเรื่องยากที่หนังจะได้ฉายในโรงหรืออาจจะไม่ได้ฉายเลย
ในขณะที่การฉายหนังในไมโครซินีมาส่วนใหญ่มักเต็มไปด้วยตัวตนและอิสระของคนทำหนัง ทั้งยังสร้างระบบนิเวศในการชมภาพยนตร์ที่มีความหลากหลาย และด้วยการเน้นไปที่การฉายหนังให้คนได้เข้าถึงภาพยนตร์ที่หลากหลาย ไมโครซีนีมาจึงไม่จำเป็นที่จะตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าหรือในอาคารขนาดใหญ่ แต่สามารถอยู่ได้ตามห้องเช่าในตึกแถวที่พบเห็นได้ทั่วไปภายในเมือง จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะลุกขึ้นมาทำโรงหนังเล็กเป็นในพื้นที่ต่างๆ นำไปสู่การกระจายตัวของโรงหนัง กระจายการเข้าถึงภาพยนตร์ ให้คนในแต่ละพื้นที่ได้สัมผัสกับโลกของหนังที่ไม่ได้มี Box Office
ถึงแม้จะมีความแตกต่างจากโรงหนังขนาดใหญ่ แต่หากพูดถึงเกณฑ์กฎหมายที่ให้อนุญาตในการทำโรงหนังทั้ง 2 แบบ กลับใช้กฎหมายและกฎกระทรวงเดียวกัน
“อุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะทำให้ไมโครซินีมาเกิดขึ้นได้ยากนั้น ไม่ใช่เรื่องของโลเคชัน ทุน หรือแม้แต่คอนเทนต์ มากเท่ากับที่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และกฎกระทรวงเกี่ยวกับการควบคุมอาคารของกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน ใช้หลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้อาคารหนึ่งๆ สามารถเป็นที่ตั้งของโรงมหรสพเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าโรงนั้นจะเป็นโรงขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ หรือห้องฉายหนังเล็กจิ๋วในอาคารห้องแถว” เนื้อหาส่วนหนึ่งจากการประกาศหยุดให้บริการฉายภาพยนตร์จาก Doc Club & Pub.
The Momentum พูดคุยกับ สุภาพ หริมเทพาธิป หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพื้นที่ฉายหนังใน Doc Club & Pub. ถึงสถานการณ์ภายหลังจากการปิดตัวไปของโรงฉายหนัง ย้อนมองคุณค่าของโรงหนังเล็กกับผู้คน เหลียวมองผลกระทบต่อผู้ชมและคนทำหนังอิสระ และสำรวจเส้นทางต่อไปของไมโครซินีมา
หลังต้องประกาศหยุดให้บริการฉายภาพยนตร์ คุณคิดเห็นอย่างไรต่อ กฎกระทรวงเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร ของกระทรวงมหาดไทย
ในมุมมองของผมก็ยังเชื่อว่า กฎระเบียบด้านความปลอดภัยเป็นส่วนสำคัญในสถานที่ที่รองรับคนจำนวนมากๆ อย่างห้องฉายหนังของเรารองรับคน 10-30 คน ก็ยังคิดว่ามันมีความสำคัญ แต่มันต้องสอดคล้องกับบริบทด้วย ไม่ใช่เอาโรงหนังไมโครซินีมามาใช้กฎระเบียบแบบเดียวกับโรงหนังขนาดใหญ่ มันเป็นไปไม่ได้ เอาแค่ทางเดินรอบโรงหนังที่กำหนดให้มีระยะความกว้าง 2 เมตร มันเกิดขึ้นในตึกแถวไม่ได้อยู่แล้วนะ เราคิดว่าสังคมไทยต้องมาทบทวนกันในเรื่องนี้
เราเองพอเป็นไมโครซินีมาก็ไม่ใช่ว่าจะละเลยเรื่องเหล่านี้ สถาปนิกที่มาช่วยเราก็ดูในเรื่องรายละเอียดต่างๆ เช่น โรงหนังขนาดเล็กเกินจุคน 50 ที่นั่ง ระบบความปลอดภัยมันจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และต้องมีอะไรบ้างที่จะเอื้อความปลอดภัยให้กับคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งจริงๆ เขาวางระบบความปลอดภัยสำหรับไว้ให้เกินจาก 50 คนด้วยซ้ำไป ก็วางไว้แต่สุดท้ายก็ยังไม่เข้าเกณฑ์ระบบที่ใช้กับโรงหนังขนาดใหญ่อยู่ดี
ทำไมหนังทุนต่ำหรือหนังประเภทสารคดีถึงไม่สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ปกติได้
เพราะโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กกับขนาดใหญ่มีวิธีคิดคนละอย่างกัน เหมือนเวลาที่คุณเปิดห้างกับเปิดร้านขายของชำวิธีคิดก็คนละอย่างกัน ร้านขายของชำอาจจะเลือกของที่จะเอาขายจากพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ละแวกบ้านที่เอามาฝากขาย แต่พ่อค้าแม่ค้าที่ขายในละแวกบ้านเราถามว่า เขาจะเอาไปฝากขายในร้านสะดวกซื้อด้วยไหม มันก็ไม่ได้ นี่มันคือถ้ามองจะพอเห็นภาพที่เทียบเคียงมันก็จะประมาณนี้
เรื่องรายได้น่าจะเป็นส่วนสำคัญ ผู้ประกอบกิจการโรงหนังขนาดใหญ่ที่มีโรงหนังอยู่ในเครือจำนวนมาก พอมีการกระจายหนังออกไปฉายตามแต่ละโรง การมาโฟกัสกับหนังทีละเรื่องและเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สร้างรายได้ มันอาจจะไม่คุ้มกับการทำงานของเขา
แล้วไมโครซินีมาสนับสนุนคนทำหนังทางเลือกอย่างไรบ้าง
หากว่ามีการเกิดขึ้นของไมโครซินีมาแบบ 1 จังหวัด 1 ไมโครซินีมา ระบบนิเวศของโรงหนังก็จะเป็นโอกาสให้คนทำหนังตัวเล็กๆ ผลักดันให้เขาสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง เอามาเข้าฉายในโรงหนังขนาดเล็กด้วยกัน และการที่ฉายหนังของเขาเรื่อยๆ ให้คนได้มีโอกาสมาดู เราก็จะมองเห็น ‘เพชร’ ที่ซ่อนอยู่ในตัวของคนทำหนัง และวันหนึ่งเขาอาจจะพัฒนาไปเป็นคนทำหนังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ได้ หรือกับคนทำหนังบางคนอาจมีความสุขกับการทำหนังเล็กอยู่ในพื้นที่หนึ่งก็ทำได้ มันแล้วแต่คนจะเลือก ซึ่งนี่เป็นระบบนิเวศของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
เราเห็นว่าหนังอิสระที่คนทำหนังหาทุนทำกันเอง บางเรื่องได้ฉายบ้างหรือไม่ได้ฉายบ้างหรือฉายในพื้นที่จำกัดบ้าง มีไม่น้อยที่เป็นแบบนั้น และจำนวนไม่น้อยที่เราดูหนังพวกเขาแล้ว เราเห็นศักยภาพบางอย่างของหนังซ่อนอยู่ หากจะเอาหนังพวกนี้ไปฉายในโรงหนังห้าง มันก็มีระบบไม่เข้ากับหนังอีกเพราะเป็นหนังทุนน้อย คนดูไม่มีโอกาสได้ดู พอไม่มีใครดูรายได้ก็น้อย มันก็จะกลายเป็นความล้มเหลวของคนทำหนังไป พอเขาทำแล้วขาดทุนเขาก็ไม่ได้ทำต่อ
การมีโรงหนังเล็กๆ แบบนี้ช่วยดึงคนทำหนังอิสระไม่ให้หลุดออกจากความหลงใหลในการสร้างภาพยนตร์ด้วยไหม
ถ้าเขาได้ทำหนังต่อไป โอกาสจะพัฒนาผลงานของตัวเองให้มีความคราฟต์มากขึ้นก็อาจจะมี และถ้าสร้างผลงานบ่อยๆ เนื้อหาของหนังก็จะมีความแหลมคมในการนำเสนอมากขึ้น อีกอย่างบรรดาหนังสั้นจากนักศึกษาและคนทำหนังทั่วไปเขาอาจจะมีความสุขกับการทำหนัง จากเท่าที่เรานำหนังของเขามาฉายก็ได้รับการตอบรับจากคนดูพอสมควร
ผมมองว่า มันเป็นหนึ่งในบทบาทที่ Doc Club & Pub. และเครือข่ายไมโครซินีมาอื่นๆ กำลังทำอยู่ และมันเป็นบทบาทที่จะทำให้คนทำหนังเหล่านี้ได้มีโอกาสพาหนังที่เมื่อก่อนทำกันเองดูกันเอง ไปเจอกับคนดูต่างที่ต่างถิ่น มันเป็นความภาคภูมิใจในแง่ของคนทำงานนะ ที่ได้ทำผลงานออกมาแล้วมีคนมาดูงานของเขา เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการฟีดแบ็กพัฒนาผลงานต่อไปด้วย
แล้วราคาตั๋วโรงหนังอิสระคิดคำนวณอย่างไร
เราก็อยากให้คนเข้าถึง ในเครือข่ายคนทำโรงฉายหนังแบบไมโครซินีมา เราไม่ติดใจอะไรว่าแต่ละโรงจะเก็บเงินค่าดูหนังเท่าไร เพราะเราเชื่อว่าแต่ละพื้นที่ผู้คนมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยไม่เท่ากัน ในเมืองใหญ่ๆ กำลังซื้ออาจจะมีมากกว่าต่างจังหวัด เรายังคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นให้เด็กวัยเรียนได้เปิดหูเปิดตา มีโอกาสได้ดูหนังที่หลากหลายมากขึ้น หากเจ้าของโรงหนังก็อาจจะเก็บค่าเข้าแบบเหมาเป็นเดือนแค่ร้อยเดียว จะมาดูกี่ครั้งก็ดูไป ซึ่งตรงนี้มันจะไปสร้างสังคมการดูหนัง ยิ่งเด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจเหมือนๆ กัน ดูหนังแล้วเขาก็จะแลกเปลี่ยนข้อมูลจากหนังที่ดู และมันก็เป็นการสร้างต้นทุนที่ดีหากมีคนจำนวนหนึ่งดูแล้วอยากจะไปเป็นคนทำหนัง เพราะเขาก็จะได้รู้จักหนังหลายๆ แนว และนำไปพัฒนาผลงานของตัวเองต่อ
ไม่ใช่แค่เรื่องของหนังอย่างเดียว ในต่างประเทศมีลักษณะอย่างหนึ่งของภาพยนตร์คือ การเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ส่องทางให้กันและกัน เราจะเห็นดีไซเนอร์ต่างประเทศออกแบบผลงาน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งถ้าพูดถึงหนังแบบนั้นในบ้านเรามันคือหนังสุดอาร์ต หนังของ ลุยส์ บุญญูเอล (Luis Buñuel Portolés) เป็นหนังเหนือความจริง แต่สามารถเป็นแรงบันดาลใจคนดูหรือกลายมาเป็นสินค้าป็อบได้ พูดง่ายๆ มันก็คือซอฟต์พาวเวอร์ประเภทหนึ่ง วัฒนธรรมการดูหนังมันถึงได้สำคัญ คนดูหนังไม่ควรจะรู้จักหนังประเภทเดียว เขาควรจะมีโอกาสได้รู้จักหนังที่มีความหลากหลาย
แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเจอข้อจำกัดของโรงหนังขนาดเล็ก เช่น ภาพและเสียง
คนดูก็รับรู้ถึงข้อจำกัดในการมาชม มันไม่ได้มีระบบภาพ ระบบเสียงเพอร์เฟกต์แบบโรงขนาดใหญ่ แต่เพราะสุดท้ายแล้วหนังคืออยู่ที่ตัวเนื้อหา หนังพาเราไปไหนเราก็สามารถที่จะอินไปกับมันได้ เรื่องภาพและเสียงที่มันสมบูรณ์แบบขนาดนั้น ก็อาจจะเป็นในส่วนมาเติมเต็ม แต่มันไม่ใช่สิ่งหลัก เพราะถ้าให้พูดย้อนกลับไปหนังจุดแรกเริ่ม มันก็ไม่มีทั้งเสียงไม่มีทั้งสีด้วยซ้ำไป สีขาวดำ ไม่มีเสียงเขาก็ยังดูกันได้ ผมมองว่าหัวใจของหนังคือตัวเนื้อหา ที่เรามีโอกาสได้ดูและซึมซับไปกับเรื่องราวที่เล่ามากกว่า
ไมโครซีนีมาเป็นเรื่องปกติของสังคมโลกไหม
ไมโครซินีมาเกิดขึ้นทั่วโลก สมัยก่อนเราจะมีแต่โรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังกระแสหลักกับโรงหนังอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า อาร์ตเฮาส์ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้นานแล้ว โดยเป็นโรงหนังทั่วๆ ไปที่ฉายหนังทางเลือก มีที่นั่ง 2-3 ร้อยที่นั่ง เรามีหนังกระแสหลักก็ต้องมีหนังทางเลือกเป็นเรื่องปกติ
ต่อมาโลกเปลี่ยนไป เกิดการขยายตัวของเมือง ที่ดินถูกครอบครองโดยกลุ่มทุนใหญ่มากขึ้น จึงเริ่มมีการทำโรงหนังแบบไมโครซินีมาที่เป็นโรงหนังขนาดเล็กๆ ที่ฉายหนังทางเลือกเหมือนกัน แต่แตกต่างจากโรงหนังอาร์ตเฮาส์ เพราะจะมีที่นั่งไม่กี่สิบที่นั่ง ไม่ได้มี 200-300 ที่นั่ง แม้จะจุคนไม่เยอะ แต่ไมโครซีนีมาก็มีบทบาทในการสร้างทางเลือกให้กับคนดู
ไมโครซินีมาเป็นกระแสการทำโรงหนังขนาดเล็กที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้สัก 2-3 ปีมานี้เอง จริงๆ ไทยเราก็มีโรงหนังแบบนี้พร้อมกันกับทั่วโลก หนังที่เอามาฉายก็เป็นหนังทางเลือกต่างๆ อย่าง หนังเก่าที่ได้รับการยกย่องว่าดี หนังสารคดี หนังสั้น หนังอิสระทั่วๆ ไป ที่ไม่มีโอกาสจะเข้าไปสู่ระบบการฉายภาพยนตร์กระแสหลัก นี่คือบทบาทของมันและไมโครซินีมาทั่วโลกก็มีบทบาทเหมือนกัน
ถ้าเป็นหนังกระแสหลักคนดูอาจจะต้องรีบเข้าไปดู เพราะหากช้าไปโรงหนังก็จะเอาออกโรงไปก่อน แต่ไมโครซินีมาเปิดโอกาสให้คนดูได้ดูหนังอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระดับสากล โรงหนังเล็กๆ แต่ละแห่งสามารถกำหนดลักษณะของหนังที่จะฉายตามแนวทางของตัวเองได้ ซึ่งมันสร้างความหลากหลาย แต่สำหรับโรงหนังในบ้านเรา ความหลากหลายอาจจะยังจำกัดเนื่องจากจำนวนไมโครซินีมายังมีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการดูหนัง
แล้วโรงหนังขนาดเล็กจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการดูหนังของไทยอย่างไร
เวลาไปดูหนังในโรงหนังปกติตามห้างสรรพสินค้า หนังจบเจ้าหน้าที่ก็จะรีดคนออกข้างนอกมาเจอกับร้านค้าในห้าง คนดูก็ลืมหมดว่าก่อนหน้านี้เราดูอะไรมา จริงๆ ถ้าตัดเรื่องความไม่สอดคล้องของกฎหมายกับไมโครซินีมาออกไป สิ่งที่ยากมากคือ การฟื้นฟูวัฒนธรรมการดูหนังของคนไทยให้กลับมา ซึ่งเป็นความตั้งใจของเครือข่ายคนทำไมโครซินีมาที่อยากจะให้คนดูได้มีความเข้าใจในภาพยนตร์ มีโอกาสได้ดูหนังแบบไม่รีบร้อนแบบว่า ดูเสร็จแล้วต้องกลับบ้านเลย เป็นการดูหนังแบบซึมซับเนื้อหา และเราต้องการที่จะทำให้เกิดวงสนทนาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันหลังดูหนังจบ
ทำไมจึงควรมีไมโครซินีมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์
ในยุค 60s มีสิ่งที่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่ยุคโรงหนังอาร์ตเฮาส์ที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ กรณีของโรงหนังซีนีมาเทคในประเทศฝรั่งเศส ที่มีบทบาทในการเก็บรักษาหนังเก่าๆ และเอากลับมาฉายให้คนดู มีคนดูคนหนึ่งที่ในเวลาต่อมากลายเป็นนักวิจารณ์หนังในนิตยสารกาเยส์ดูซีนีมา (Cahiers Du Cinema) ของฝรั่งเศส ซึ่งก็เป็นนักวิจารณ์ที่เป็นที่ได้รับการติดตามยอมรับของคนดูหนังในฝรั่งเศสช่วงนั้น จากการเป็นคนดูหนังแล้วมาเป็นนักวิจารณ์หนัง คนเหล่านี้จำนวนหนึ่งก็ผันตัวมาเป็นคนทำหนัง แล้วเป็นกลุ่มที่ทั่วโลกรู้จักกันว่า เฟรนช์นิวเวฟ (French New Wave) ซึ่งมันก็คือบทบาทหนึ่งที่เราเห็นว่ามันเคยเกิดขึ้น
จริงๆ มันก็มีคนที่ดูหนังทางเลือกแบบนี้หลายคนที่โด่งดัง อย่างเช่น จอห์น วู (John Woo) และหว่อง กาไว (Wong Kar-wai) ที่เขาอยู่ใกล้ๆ กับประเทศเราหน่อย ก็เป็นชาวฮ่องกงที่มีโอกาสได้ดูหนังที่จัดฉายตามที่ต่างๆ และไม่ใช่หนังกระแสหลัก ต่อมาเขาก็กลายเป็นคนทำหนังที่มีรูปแบบเฉพาะ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มันทำให้เราเห็นภาพนะว่า มันเคยเกิดขึ้น แต่ถามว่า ในเมืองไทยไหมมีอะไรเกิดขึ้นจากการมีอยู่ของไมโครซินีมาหรือยัง อันนี้เรายังตอบไม่ได้
น่าจะเป็นความตั้งใจหลักๆ เลยไหม ที่อยากให้ไมโครซินีมาสร้างผลิตผลบางอย่างให้กับวงการภาพยนตร์
เป็นความตั้งใจของคนทำไมโครซินีมาทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าพอมีไมโครซินีมาแล้วทุกคนจะต้องมาทำหนัง ผมคิดว่า พอหนังมีพื้นที่ฉายมันทำให้คนทำหนังสามารถมาเจอกันได้ เขามีโอกาสได้ทำหนัง คนดูหนังมีโอกาสได้ดูหนัง เป็นกำลังส่งซึ่งกันและกัน มันก็อาจจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดหนังที่มีหน้าตาสารพัดแบบ สำหรับคนทำหนังที่ลงทุนทำหนังเยอะๆ เป็นล้านบาทขึ้นไปเรื่องความแปลกมันก็เป็นสิ่งที่เขากลัวว่าจะขายไม่ได้ เขาก็ต้องหาต้นแบบหนังที่ทำไปแล้วเคยได้เงิน เราก็จะเห็นหนังที่ซ้ำๆ ที่คนไทยชอบมาบ่นกัน
แต่ถ้าเราบอกคนทำหนังว่า ทำเลยไม่ต้องคิดถึงว่าจะขายได้หรือไม่ได้ เขาก็จะสร้างงานที่มันหลากหลายขึ้นมาในงบจำกัด เราพบว่าไม่น้อยนะที่คนทำหนังจะเริ่มมาจากการทำหนังทุนต่ำ อย่าง เดวิด ลินช์ (David Lynch) ที่หนังเรื่องแรกๆ ชื่อ Eraserhead (1977) ก็เริ่มมาจากทุนต่ำ หรือจะเป็น ปีเตอร์ โรเบิร์ต แจ็กสัน (Peter Robert Jackson) ที่เรารู้จักเขาในฐานะผู้กำกับ The Lord of the Rings (2544) ก็เริ่มต้นมาจากการทำหนังเอฟเฟกต์ธรรมดาๆ ง่อยๆ ที่คนดูหนังปกติอาจจะอุทานว่า “เฮ้ย อะไรของมันวะเนี่ย” แต่หนังเรื่องนั้นมันพัฒนาเขาจนเกิดเป็นหนังเรื่องต่อๆ มานะ
สมมติว่าทำหนังทุนต่ำแล้วเป็นที่ยอมรับ เขาอาจจะเลือกคว้าโอกาสนั้นเข้าสู่การทำหนังในระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่ก็มีอีกไม่น้อยนะที่ยินดีจะทำหนังทางเลือกต่อ เพราะมีความสุขกับพื้นที่ตรงนี้ มันต้องไปคอยหาวิธีการทำหนังให้ได้เงินมหาศาลกับใคร อยากทำอะไรก็ทำแต่เขาก็ควรจะได้ทำผลงานแบบที่มีที่ฉายและหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ ซึ่งไมโครซินีมาของเราก็หวังว่ามันจะเกิดสิ่งเหล่านั้นในบ้านเรา
กระบวนการต่อไปหลังปิดให้บริการคือ การผลักดันให้เกิดการแก้กฎกระทรวงและกฎหมาย ขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้าง
เราคุยกับทาง THACCA (Thailand Creative Culture Agency) ไปแล้วตั้งแต่ก่อนจะปิดโรงหนังว่า แนวทางที่จะเป็นไปได้เพื่อให้เกิดไมโครซินีมาว่า จะต้องปลดล็อกเรื่องอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่ทำกันอยู่ ซึ่งมันมีอยู่แค่ 2 ข้อคือ ตัวกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการขออนุญาตเปิดโรงภาพยนตร์ การขออนุญาตโรงภาพยนตร์กับกระทรวงวัฒนธรรม กับอีกข้อคือ กฎหมายว่าด้วยโรงมหรสพ มันไม่ควรจะถูกใช้แบบเดียวกันทั้งหมด เรามองว่า มันควรจะมีกฎกระทรวงว่าด้วยพื้นที่ฉายภาพยนตร์ที่ไม่ใช่โรงมหรสพ ก็หวังว่าจะสามารถแก้ไขได้ และน่าจะทำให้การทำไมโครซินีมาสามารถทำขึ้นได้อย่างราบรื่น
THACCA เขาแอ็กชันแล้วนะ แต่ว่ากระบวนการมันคงจะต้องใช้เวลา ซึ่งมันก็มีทั้งกระบวนการของฝ่ายบริหาร และกระบวนการทางฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งนิติบัญญัติก็น่าจะไปถึงสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ก็คือ เรื่อง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ซึ่งก็อยู่ในช่วงที่แต่ละพรรคการเมืองนำเสนอเข้าสู่สภาฯ และคงจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์กันในเวลาต่อไปก็เป็นอันหนึ่ง
อีกอันหนึ่งคือ เรื่องของกฎกระทรวงในเบื้องต้น ซึ่งอันนี้อาจจะง่ายกว่าเพราะอำนาจอยู่ในมือของรัฐมนตรี
ทำไมเราถึงต้องปกป้องไมโครซินีมา
เรื่องปกป้องไม่ปกป้องผมมองว่า ให้อยู่ที่ว่าคนจะเชื่อประโยชน์ของไมโครซินีมาไหม สำหรับเราเชื่อเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่เริ่มทำโรงหนังทางเลือกแล้ว คนที่โรงหนังทำซินีมาเทค เขาก็เดินทางแบบนี้มาตั้ง 30 ปี ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อเชื่อในตัวไมโครซินีมาเราก็ทำต่อ แต่ถ้าทำไม่ได้แล้วก็แค่หยุดทำ หรือหากมีหนทางใดให้ไปต่อเราก็จะไป
ส่วนจะต้องไปตอบคำถามใครไหมว่า ทำไมต้องปกป้องไมโครซินีมา โดยตัวเราเลือกทำเองเราก็คงไม่ต้องไปตอบคำถามใคร เมื่อเราเชื่อในสิ่งที่เราทำเราก็แค่ทำ และมองว่าคนในเครือข่ายที่ทำไมโครซินีมาก็มีความเชื่อเป็นของตัวเอง อาจจะไม่ได้เชื่อแบบเดียวกับเรา ซึ่งความเชื่อในแต่ละแบบก็จะเกิดโรงรูปแบบการฉายที่ไม่เหมือนกัน ผมมองว่ามันเป็นระบบนิเวศที่ควรจะเกิดขึ้น
เหมือนกับโรงหนังสแตนด์อโลนในวันนั้น ทุกโรงหนังมีระบบนิเวศกับวิธีคิดแบบเดียวกันหมด พอมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาอย่าง ‘วิดีโอ’ คุณก็ตายกันหมดไม่ได้มีภูมิคุ้มกันอะไรใดๆ ให้กับระบบนิเวศนั้น มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่า เราน่าจะเอากรณีนี้มาเทียบเคียงได้นะ
อยากจะสื่อสารอะไรกับคนที่กำลังติดตามประเด็นไมโครซินีมาอยู่ในตอนนี้
ชุมชนของคนที่สนใจเรื่องหนังมันมีอยู่ทั่วประเทศ เพียงแต่ว่ามันกระจายตัวและยังไม่ได้เกิดการให้คนเหล่านั้นได้รู้ว่า มันมีหนังแตกต่างหลากหลายในโลกนี้ ซึ่งแต่ละที่สามารถจะเกิดไมโครซินีมาได้แทบทั้งสิ้น หากว่ามีกระบวนการสนับสนุน มีการจัดการอย่างเป็นระบบเข้ามาช่วยเหลือ มีองค์ความรู้ที่เราได้เรียนรู้จากต่างประเทศที่เขาทำแล้วสำเร็จ เข้ามาให้แต่ละที่มีโอกาสได้ศึกษาเอาไปปรับใช้ ก็น่าจะเกิดวัฒนธรรมการดูหนังอย่างที่เราตั้งใจจะให้มันเกิด แต่ถามว่ามันต้องใช้เวลาไหม ก็คงต้องใช้เวลา เพราะว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน
Fact Box
- Doc Club & Pub. ตั้งอยู่ที่อาคาร Woof Pack Bldg. เขตบางรัก กรุงเทพฯ
- Doc Club & Pub. เป็นพื้นที่สำหรับฉายภาพยนตร์นอกกระแส เช่น อาร์ตเฮาส์ อินดี้ สารคดี และภาพยนตร์อิสระทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยฉายในห้องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กหลักสิบที่นั่ง เรียกว่า ไมโครซินีมา
- การทำโรงหนังขนาดเล็กของ Doc Club & Pub. ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดกฎกระทรวง ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ประเภทและระบบความปลอดภัยของโรงมหรสพ และอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ พ.ศ. 2550 ซึ่งคิดรวมเฉพาะโรงภาพยนตร์ที่อยู่ภายในห้องสรรพสินค้าขนาดใหญ่ๆ แต่บังคับใช้ครอบคลุมไมโครซินีมาที่เป็นโรงหนังขนาดเล็กด้วย