“ผมขอประกาศวันนี้ พรรคเพื่อไทยเราคิดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนทั่วประเทศ เราจะเติมเงินดิจิทัลเป็นจำนวน 1 หมื่นบาท” 

คำปราศรัยแถลง ‘นโยบายเรือธง’ ของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยแถลงไว้ในเวทีเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ที่หวังอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังซบเซามานานเกือบทศวรรษ

หลักการสำคัญของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้คือ การเร่งให้ประชาชนทุกคนใช้เงินดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น นำมาสู่การผลิตสินค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งรัฐบาลย่อมจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นตามไปด้วย

ย้อนกลับไปในเวทีแถลงผลงานรัฐบาลเศรษฐา ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า ‘โครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต’ จะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยพายุหมุนที่ว่าคือ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้น ภายใต้เงื่อนไขรัศมีการใช้งานภายในอำเภอ และมีกรอบระยะเวลาการใช้งานภายใน 6 เดือน ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น ย่อมส่งผลให้ความต้องการ (Demand) สินค้าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องเร่งการผลิตมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการดังกล่าว สุดท้ายเมื่อความต้องการสินค้ามากขึ้น การจ้างงานแรงงานในตลาดก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อีกหนึ่งผลพลอยได้คือ หากประชาชนจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการนี้ ย่อมเป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สอยของประชาชนจากระบบอนาล็อกมาเป็นดิจิทัล ซึ่งจะช่วยทำให้โครงสร้างทางดิจิทัลของประเทศเข้มแข็งตามไปด้วย

ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญของโครงการ ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์โครงการที่ตั้งไว้ การดำเนินโครงการจะต้องใช้ทุกองค์ประกอบที่เคยได้ตั้งต้นไว้ ทั้งในเรื่องของจำนวนเงิน รัศมีการใช้งาน รูปแบบการใช้จ่าย และระยะเวลา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือไว้

มาจนถึงวันนี้ นโยบายที่เป็นเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทยกลับมีหน้าตาโครงการที่เปลี่ยนไปไม่น้อยจากวันแรก จากที่เคยระบุไว้ชัดเจนว่า จะเป็นการแจกเงินดิจิทัลแก่ประชาชนที่มีอายุเกิน 16 ปี ผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีการตรวจสอบการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ มาเป็นการจ่ายเงินสดผ่านระบบพร้อมเพย์ (Promtpay) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน เนื่องจากระบบยังพัฒนาไม่แล้วเสร็จทันการใช้ภายในปีงบประมาณปี 2567 ที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนกันยายน 

หรือจะเป็นในเรื่องของการแจกให้ประชาชนที่เข้าเกณฑ์อย่างพร้อมเพรียง เพื่อเป็นการ ‘กระตุก’ เศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง กลับเปลี่ยนเป็นการจ่ายแบบแบ่งเฟสแทน ซึ่งในเฟสที่ 1 จะเป็นการจ่ายให้กลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน ในชื่อ ‘โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ’ ส่วนกลุ่มประชาชนที่ได้ลงทะเบียนโครงการไว้ก็จะแบ่งจ่ายออกเป็น 2 รอบ รอบละ 5,000 บาท ภายในปี 2567 และ 2568 โดยมีรูปแบบเป็นเงินสดหรือเงินดิจิทัลตามความเหมาะสม

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้รูปแบบโครงการมีหน้าตาที่เปลี่ยนไป ย่อมหนีไม่พ้นในเรื่องของ ‘งบประมาณ’ เดิมทีพรรคเพื่อไทยใช้นโยบายนี้หาเสียง โดยมีการชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า จะดำเนินการจัดเก็บภาษีเป็นหลัก ต่อมาในรัฐบาลเศรษฐามีแนวคิดจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท แต่ท้ายที่สุดก็ยอมถอยในประเด็นนี้ออกไป ต่อมาในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ คนปัจจุบัน จะดำเนินนโยบายผ่านการใช้งบกลางของงบประมาณปี 2567 เพื่อจ่ายเงินจำนวน 1.4 แสนล้านบาท ให้กับกลุ่มคนเปราะบางก่อน และส่วนที่เหลือจะใช้การบริหารจัดการทางการคลังและบริหารงบประมาณกว่า 1.32 แสนล้านบาท เพื่อจ่ายแก่ประชาชนคนทั่วไปที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของ ‘กฎหมาย’ ที่หลายฝ่ายเกรงว่า การใช้เงิน ‘งบกลาง’ ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีข้ามปี เพื่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะตามมาตรา 21 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ระบุชัดเจนว่า การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่สามารถใช้ข้ามปีงบประมาณได้ จึงทำให้หน้าตาของโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ออกมาในรูปแบบนี้

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องของ ‘ระบบ’ การจ่ายเงินที่ก่อนหน้า รัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ว่า จะจ่ายเงินที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ภายใต้การทำงานของซูเปอร์แอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะ แต่วันนี้เทคโนโลยีดังกล่าวกลับไม่ได้รับการประมูล โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ออกเผยแพร่ประกาศยกเลิกงานจ้างพัฒนาระบบแพลตฟอร์มจ่ายเงิน (Payment) ทำให้ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายอมรับแบบเปิดอกว่า การจ่ายเงินในเฟสที่ 2 จะไม่ทันการ

จาก 3 ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณก็ดี เรื่องของกฎหมายก็ดี หรือแม้แต่เรื่องของระบบจ่ายเงินก็ดี ทำให้รายละเอียดของโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปลี่ยนไปพอสมควร

The Momentum รวบรวมรายละเอียดสำคัญของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งในเรื่อง ‘ตัวเงิน’ ที่เปลี่ยนรูปแบบจากเงินดิจิทัลเป็นเงินสดผ่านพร้อมเพย์ และ ‘รัศมีการใช้งาน’ จากเดิมที่ใช้ในชุมชนเท่านั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น กลับกลายเป็นสามารถใช้งานได้ทั่วประเทศ ไม่จำกัดร้านค้าและรูปแบบของสินค้าและบริการ รวมไปถึง ‘กรอบระยะเวลา’ จากเดิมที่โครงการจะจ่ายเงินประชาชนผู้มีสิทธิพร้อมกันทุกคน ซึ่งกำหนดกรอบไว้ 6 เดือน โครงการก็ได้เปลี่ยนเช่นเดียวกัน โดยแบ่งจ่ายเป็นรอบ และไม่กำหนดกรอบเวลาการใช้งานที่ชัดเจน

คำถามที่สำคัญคือ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลเพื่อไทย จะสามารถพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพราะเงื่อนไขการใช้ได้เปลี่ยนแปลงไปอยู่ไม่น้อย ทำให้แก่นสำคัญของโครงการที่ระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มโอกาสการประกอบอาชีพ และวางรากฐานโครงสร้างดิจิทัลของประเทศ เพราะหากท้ายที่สุด โครงการใหญ่กว่า 4.5 แสนล้านบาทไม่สามารถกระตุ้นให้จีดีพี (GDP) ของประเทศให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 3% โครงการนี้ก็ย่อมไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

 

Tags: , , , , ,