เวทียักษ์ริมแม่น้ำ มังกร LED การแสดงเชิดสิงโตผาดโผน การแสดงงิ้วหลากหลายชุด ผู้คนพร้อมใจกันสวมชุด ‘สีแดง’ ขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทั้งกลางคืน-กลางวันที่คนแน่นตลอด อาจเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับชาว ‘ปากน้ำโพ’ จังหวัดนครสวรรค์ แต่จะเป็นภาพที่น่าทึ่งอย่างมากสำหรับคนต่างจังหวัด

งานตรุษจีนปากน้ำโพและขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ เพิ่งจบลงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวปากน้ำโพ รวมตัวกันอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองศรัทธาต่อเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ โดยเป็นการจัดงานประเพณีต่อเนื่องรุ่นสู่รุ่นเป็นปีที่ 108

จุดเริ่มต้นของงานนี้ ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี 2464 ชุมชนปากน้ำโพบริเวณศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิมริมแควใหญ่ เกิด ‘โรคห่า’ หรืออหิวาตกโรคระบาดอย่างหนัก จนความหวังค่อยๆ มลายสิ้น ชาวบ้านเชิญเจ้าเข้าทรง ด้วยการเขียนกระดาษยันต์เผาไฟใส่น้ำดื่ม หรือพิธี ‘เผาฮู้’ ปรากฏว่า โรคห่ากลับหายไปในเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม แควใหญ่ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ปากน้ำโพ

ชาวบ้านจึงออกแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ไปทั่วเมือง สำทับด้วยการแสดงเชิดสิงโต 3 ภาษา สะท้อนความเป็นจีนหลายเชื้อชาติ ได้แก่ สิงโตกวางตุ้ง (กว๋องสิว) สิงโตแคะ (ฮากกา) และเสือไหหนำ หลังจากไทยเปิดสัมพันธ์กับจีนอย่างเป็นทางการในปี 2518 จึงเพิ่มสิงโตแต้จิ๋วเข้ามา ตามด้วยการแสดงอีกหลากหลายชุด เป็นต้นว่าการเชิดมังกรและขบวนแห่ว่าด้วยตำนานจีนอีกหลากหลายเรื่อง แต่งแต้มงานตรุษจีนปากน้ำโพให้เป็นงานระดับประเทศ

ว่ากันว่า ‘ขบวนแห่กลางคืน’ ยิ่งใหญ่จนหลายประเทศทั่วโลกต้องมาดูงานเป็นแบบอย่าง

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้งานตรุษจีนปากน้ำโพ คือคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ประจำปีชุดใหม่ หรือเรียกว่า ‘เถ่านั้ง’ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ‘เถ่า’ แปลว่า ‘หัว’ ขณะที่ ‘นั้ง’ แปลว่า ‘คน’ เถ่านั้ง จึงแปลว่า ‘ผู้เป็นหัว’ ในการจัดงาน ทั้งนี้ จะมีการโยนไม้เสี่ยงทายรายชื่อร้านค้าที่ร่วมทำบุญแต่ละปีในช่วงการเดินรับบริจาคจากห้างร้าน-นักธุรกิจต่างๆ หากได้รับโอกาสเป็น ‘เถ่านั้ง’ แล้ว จะไม่สามารถรับตำแหน่งได้อีก 5 ปีข้างหน้า เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจในจังหวัดนครสวรรค์ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับจังหวัดได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ซ้ำคน

The Momentum มีโอกาสสนทนากับ นภาพร ไกรพฤษะวัน เถ่านั้ง 108 หรือประธานคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ประจำปี 2566-2567 (ปีที่ 108) ประธานกรรมการศูนย์การค้าวี-สแควร์ ถึงความยิ่งใหญ่ของการจัดงานในปีนี้ และโอกาสพิเศษของการเป็น ‘เถ่านั้ง’

“ความผูกพันที่มีต่องานตรุษจีนปากน้ำโพ โดยส่วนตัวแล้วได้มีส่วนร่วมกับงานประเพณีแห่เจ้าฯ นี้ ในหลายบทบาท ตั้งแต่เป็นเด็กที่ตั้งตารอขบวนแห่มังกร สิงโต ติดตามผู้ใหญ่ไปศาลเจ้า พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นผู้จัดเตรียมของไหว้ในเทศกาล เป็นคุณแม่ของลูกสาวสองคนที่ร่วมขบวนแห่ในขบวนหนูน้อยรำถ้วย” นภาพรพูดถึง ‘ความผูกพัน’ กับงานนี้

หนูน้อยรำถ้วยที่เธอพูดถึง คือการแสดงสำคัญในขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพทุกปี โดยเป็นการแสดงสำหรับเด็กอายุ 6-9 ปี ในคณะดนตรีจีนไหหนำ เพื่อประกอบในขบวน

สำหรับนภาพร เธอทำหน้าที่เป็นรองประธานจัดงาน 2 ครั้ง ในปีที่ 74 และปีที่ 83 ในครั้งที่ 108 นี้ก็ได้รับการเสี่ยงทายให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน

“งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ฯ เป็นงานสำคัญที่ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นงานที่ผูกพัน คนจีนทุกภาษา ทุกวัย ตั้งแต่เด็กน้อยถึงอากง-อาม่าเข้าด้วยกัน ทั้งนี้การมีส่วนร่วมของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไปตามวัย ตามหน้าที่ของแต่ละคน”

ภาพที่เห็นในขบวนแห่ก็คือมีคนทุกเพศทุกวัย ร่วมในขบวน คนหนุ่มจำนวนไม่น้อยร่วมเชิดสิงโต เชิดมังกร เด็กสวมชุดแป๊ะยิ้ม ผู้สูงอายุร่วมรำวงหลายสิบคน เรื่อยไปจนถึงการทำงานเบื้องหลัง การสนับสนุนทุนทรัพย์-ลงแรง เพื่อให้การจัดงานแต่ละปีเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่

“อย่างจุฬาเฮิร์บที่เป็นสปอนเซอร์หลักของการจัดงานตรุษจีนในปีนี้ ก็เป็นตัวอย่างของลูกหลานชาวปากน้ำโพ ที่มีความศรัทธาในองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ และผูกพันมีส่วนร่วมกับงานประเพณีฯ มาตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กที่เห็นผู้ใหญ่ในครอบครัวช่วยงานตรุษจีน เติบโตมีส่วนร่วมเป็นผู้เล่นดนตรีในขบวนดนตรีจีนไหหนำมาตลอด จนกระทั่งเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ยังกลับมาช่วยถือกระเป๋าให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ฯ ในขบวนแห่เกือบทุกปี และในปีนี้ด้วยโอกาสที่เหมาะสมก็มาเป็นผู้สนับสนุนหลักของงานตรุษจีนปากน้ำโพ ปีที่ 108 นี้” เถ่านั้ง 108 เล่าให้ฟัง

แน่นอนว่าหนึ่งในขบวนที่ได้รับการพูดถึงหนีไม่พ้น ‘จุฬาเฮิร์บ’ เจ้าของเวชภัณฑ์ชื่อดังที่ชวน มาริโอ้ เมาเร่อ แต่งองค์ทรงเครื่องเป็น ‘เจ้าชายมังกร’ ในขบวนแห่กลางคืน พร้อมกับสนับสนุนขบวนรถอลังการอีกหลากหลายขบวน

ขณะเดียวกัน นักธุรกิจนครสวรรค์น้อยใหญ่ต่างก็สนับสนุนงานผ่านการขึ้นป้ายผ้าสีเหลืองกลางตลาดปากน้ำโพ ร่วมกันตกแต่งหน้าร้านของตัวเองด้วยซุ้มอย่างยิ่งใหญ่ สะท้อนความภาคภูมิใจในการเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ไม่ใช่งานที่เป็นของภาครัฐ ของรัฐบาลกลาง หรือของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หากแต่เป็นงานของชาวปากน้ำโพทุกคนอย่างแท้จริง

“ถ้าถามว่าอะไรที่ผูกชาวไทยเชื้อสายจีนที่ปากน้ำโพเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น ในมุมมองของดิฉัน คือความศรัทธาในองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ และความร่วมมือร่วมใจกันจัดงานประเพณีแห่เจ้าฯ จากรุ่นสู่รุ่น เป็นจิตวิญญาณของลูกหลานชาวจีนปากน้ำโพ” นภาพรทิ้งท้าย

Tags: , , ,