แม้จะยังไม่มีกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปชัด เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่ได้ประกาศวันยุบสภาฯ แต่ถึงอย่างไรหากเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันเลือกตั้งใหญ่ก็จะอยู่ไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ทำให้ถึงตอนนี้ พายุของ ‘ป้ายหาเสียง’ เริ่มบานสะพรั่งตามท้องถนนทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบของการแนะนำพรรค ประกาศนโยบาย รวมถึงเสนอตัวผู้สมัคร ส.ส. ในเขตต่างๆ
สำหรับป้ายหาเสียงที่ กกต. ประกาศไว้คือต้องมีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร และผลิตได้ไม่เกิน 3 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง โดยแผ่นป้ายจะต้องระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมือง สัญลักษณ์พรรคการเมือง นโยบาย คติพจน์ คำขวัญ ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้สมัคร พร้อมระบุ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของแผ่นป้าย
นโยบายภูมิใจไทยที่โดดเด่น อาทิ ‘ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 150,000 บาท/ปี’ ‘รถ/เรือ ไม่เกิน 50 บาท/วัน’ ‘รถไฟฟ้าไม่เกิน 40 บาท/ตลอดสาย’ พรรคเพื่อไทย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน รวมถึงพรรคอย่างพรรค ‘ไทยเป็นหนึ่ง’ ที่มีนโยบายหาเสียง ‘หาบเร่ แผงลอย ขายดีที่ไหน ขายต่อที่นั่น’ รวมถึงนโยบาย ‘บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย’ ขณะที่พรรคไทยสร้างไทยมีการติดภาพ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยในหลายอิริยาบถ พร้อมข้อความ ‘สุดารัตน์ไทยสร้างไทย’
ข้อสังเกตอีกอย่างคือป้ายหาเสียงในรอบนี้จำนวนไม่น้อยเป็นป้ายแบบเล็กคือ 60 เซนติเมตร และความยาว 240 เมตร ไซซ์เดียวกับเมื่อครั้ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ใช้หาเสียงในการเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งถือเป็นขนาดป้ายที่ ‘เป็นมิตร’ กับทางเท้า และไม่กีดขวางการสัญจรหรือทัศนวิสัยของผู้ใช้รถใช้ถนนตามตรอกซอกซอย
Tags: ป้ายหาเสียง, พรรคการเมือง, นโยบาย