ปัจจุบัน การเดินทางรอบเมืองผ่านทางคลองต่างๆ ในกรุงเทพมหานครอาจไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก หากเทียบกับการเดินทางด้วยรถส่วนตัวหรือขนส่งสาธารณะอื่นๆ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า แต่หากมองในแง่ของประวัติศาสตร์ คลองถือว่ามีความสำคัญกับกรุงเทพมหานครอย่างมาก ทั้งในมิติของวัฒนธรรมและการพัฒนา รวมถึงชาวกรุงก็ผูกพันกับคลองมาตั้งแต่อดีต
เพราะกรุงเทพมหานครมีคลองนับพันสาย จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองหลวงแห่งนี้จะมีฉายาว่า ‘เวนิสแห่งตะวันออก’
ในอดีต เมื่อมีการเริ่มขุดคลองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คลองสายต่างๆ ก็กลายเป็นเครือข่ายการขนส่ง เป็นแหล่งที่มาของอาหารและน้ำ เป็นวิถีชีวิตของชุมชน แต่เมื่อวันเวลาผ่าน บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น มีการใช้รถในการสัญจรมากขึ้น บทบาทของคลองเหล่านี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากชีวิตของคนไทย บางส่วนถูกถมเป็นถนน คลองที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้รับการดูแล จนทำให้มีสภาพเน่าเสีย และกลายเป็น ‘ภาพจำ’ ของคนไทยเมื่อนึกถึงคลองอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเริ่มมีความพยายามจากทางกรุงเทพมหานครในหลายโปรเจกต์เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์คลองต่างๆ ให้กลับมาดูดีเหมือนเดิม พร้อมกับปรับีูปแบบการใช้งานของพื้นที่บริเวณคลองให้เกิดสาธารณประโยชน์มากขึ้น ซึ่งต้องแลกมาด้วยงบฯ มหาศาล กับหลายคำถามของประชาชนที่สงสัยว่า การพัฒนาดังกล่าวมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ในเมื่อสภาพความเป็นจริงที่พบเจอ คือคลองหลายแห่งยังเต็มไปด้วยปัญหาเดิมๆ ที่เข้าขั้นเรื้อรัง
The Momentum มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจ 3 คลองสำคัญของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ คลองหลอด คลองแสนแสบ และคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อสำรวจและฟังเสียงประชาชนริมคลอง ถึงเรื่องการพัฒนา ปัญหา กับโจทย์เรื่องคลอง ที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องขบคิด
ย้อนกลับไป 7 ปีก่อน ภาพจำของ ‘คลองหลอด’ ในสายตาคนกรุงเทพฯ คงหนีไม่พ้นน้ำเน่า ขยะ และสิ่งปฏิกูลลอยเกลื่อน ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ ขณะเดียวกันยังมีร้านค้า-ตลาดนัดกลางคืนตั้งแผงล้นออกมานอกริมฟุตบาท สร้างความลำบากแก่ผู้สัญจรไปมา กระทั่ง พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ ภายใต้ยุครัฐบาล คสช. ได้วางแผนร่วมกับสำนักเทศกิจ, สำนักงานเขตพระนคร, กองพันทหารปืนใหญ่, กองบัญชาการตำรวจนครบาล, สน.ชนะสงคราม, สน.สำราญราษฎร์ และสมาชิกสภาเขตพระนคร เพื่อเข้ามาปรับปรุงทัศนียภาพ และขุดลอกคูคลองให้เส้นทางระบายน้ำไหลผ่านง่ายขึ้นกว่าเดิม
ต่อมา คลองหลอด หรือชื่อเก่า คลองคูเมืองเดิม ได้กลายมาเป็นต้นแบบอภิมหาโปรเจกต์ ‘คลองสวย น้ำใส’ ที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตผู้ว่าฯ พล.ต.อ.อัศวิน หมายมั่นทำให้รอบเกาะรัตนโกสินทร์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยงบประมาณจำนวน 6,651 ล้านบาท ส่งผลให้เสน่ห์ของตลาดนัดคลองหลอดยามค่ำคืนหายวับทันที
The Momentum เดินสำรวจคลองหลอดตั้งแต่บริเวณปากคลองตลาดไปจนถึงตรอกสาเก อดีตสถานที่ค้าขายของมือสองและแหล่งค้าประเวณียามค่ำคืน เพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงและยังมีโจทย์ใดอีกบ้างที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องลงมือแก้ไข
ตลอดระยะทาง 1,700 เมตร ตั้งแต่บริเวณปากคลองตลาดไล่ลงเรื่อยไปจนถึงหน้ากระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ตลาดยอดพิมาน วัดราชนัดดาฯ และวัดราชบพิธฯ ทัศนียภาพโดยรอบของคลองหลอดเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง มีเศษขยะลอยเหนือผิวน้ำบ้างประปราย น้ำไหลผ่านสะดวก และมีเจ้าหน้าที่กวาดถนนคอยบริการประจำจุด
อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงตรอกสาเก ก็มีเศษขยะจำนวนมากในคลอง เมื่อสอบถามไปยัง ‘ลุงแก่’ (ซ้ายมือในรูป) และ ‘ลุงเล็ก’ (ขวามือในรูป) ที่เปิดร้านขายพระเครื่องในบริเวณนี้มาเกือบ 10 ปี กลับได้คำตอบว่า ทัศนียภาพของคลองหลอดเพิ่งจะดีขึ้นแบบเห็นได้ด้วยตาเมื่อช่วงไม่กี่ปีมานี้ และแม้เจ้าหน้าที่เทศกิจจะออกกฎห้ามพ่อค้าแม่ค้าขายของ แต่เมื่อยังมีนักท่องเที่ยวเดินสัญจรไปมา จึงทำให้ทุกวันนี้ยังคงมีขยะลอยเกลื่อนในคลองพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตรอกสาเก
“คลองหลอดเพิ่งจะมาดีขึ้นมากๆ เมื่อช่วงสามปีก่อน เพราะเขาปรับปรุงประตูระบายให้น้ำไหลผ่านได้ สมัยก่อนน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็นมาก ตอนนี้ขยะในคลองก็ยังมีให้เห็นทุกวัน ที่เห็นไม่ใช่แค่บนผิวน้ำ ใต้น้ำยังก็มีอีกเยอะ ส่วนที่เห็นว่าบนผิวน้ำสะอาด เป็นเพราะเจ้าหน้าที่เขามาช้อนเก็บไปทิ้งทุกเช้า” ลุงเล็กเล่า
“เรื่องค้าขาย ผู้ว่าฯ คนก่อนเขาก็ไล่พวกเราฉิบหายวายวอด (หัวเราะ) ถ้าเป็นไปได้ อยากขอให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ช่วยจัดโซนแต่ละเขต ให้พ่อค้าแม่ค้าได้มีที่ค้าขายเป็นหลักแหล่ง เป็นถนนคนเดิน เป็นตลาดนัดกลางคืน เรายินดีจ่ายค่าที่ ค่าไฟให้ หรือถ้ากลัวสกปรกก็ออกกฏหมายควบคุม ใครทิ้งไม่เป็นที่ก็จับปรับไป ไม่ใช่ไล่พวกเราเสร็จก็ตามมีตามเกิด กลายเป็นว่าตอนนี้ต้องมาแอบขายหลบๆ ซ่อนๆ บางวันขายของกันแทบไม่ได้สักบาท” ลุงแก่เล่า
ทั้งคู่ยังเล่าว่า ทางการเข้มงวดกับคนขาย แต่ไม่เข้มงวดกับนักท่องเที่ยว ขยะที่เห็นส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากพ่อค้าแม่ค้า แต่มาจากนักท่องเที่ยวที่กินเสร็จก็โยนทิ้งลงคลอง ซึ่งมีความพยายามเตือนแล้ว รวมถึงติดต่อไปขอทาง กทม. ให้เอาถังขยะมาตั้งไว้เป็นที่เป็นทาง แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่เอามา “ถ้าอยากให้ทุกอย่างมันดี ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ใช่พอเห็นสกปรกแล้วมาโทษพวกเราอย่างเดียว”
นอกจากนี้ ลุงแก่ยังฝากไปถึงผู้ว่าฯ ในอนาคตให้ช่วยจัดโซนขายของเป็นหลักแหล่งแก่พ่อค้าแม่ค้า เผื่ออนาคตจะกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของชาวต่างชาติอีกครั้ง
“เมื่อก่อน คนที่มาเดินตลาดนัดส่วนใหญ่ก็เป็นคนต่างชาติ ถ้าเขาตั้งใจจัดสรรดีให้เหมือนคลองผดุงฯ หรือคลองโอ่งอ่าง ติดไฟให้สว่างปลอดภัย คนก็มาเดินเที่ยวเยอะขึ้น เรามีรายได้ รัฐก็มีรายได้ ไม่ใช่เอาแต่มานั่งไล่พ่อค้าแม่ค้า เอาหน้าเหมือนกับผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ คนก่อน”
นอกจากปัญหาไล่ที่ค้าขาย ‘คนเร่ร่อน’ ก็ยังพบเห็นได้เป็นระยะ ซึ่งมีทั้งที่นั่งพักชั่วคราว บ้างก็เอาหมอนเอาเสื่อมาปูนอน หรือกระทั่งตั้งวงดื่มสุราและหยิบถุงกาวมานั่งเสพ ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนต้องจำใจลงไปเดินบริเวณด้านล่างฟุตบาทแทน
สิ่งที่น่าสนใจ คืองบประมาณหลายร้อยล้านบาทที่ลงทุนไปกับศูนย์คัดกรองและพักพิงผู้ด้อยโอกาส เช่น บ้านอิ่มใจ เหตุใดจึงไม่ประสบความสำเร็จ และวิธีใดจึงจะสามารถจัดระเบียบคนเร่ร่อนเหล่านี้ให้อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งได้ โจทย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ คนต่อไป ต้องนำไปแก้ไขเป็นการบ้าน หากยังต้องการสานต่อให้คลองหลอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพราะลงเอยแค่จัดระเบียบร้านค้าและขุดลอกคูคลองคงไม่ใช่ทางออกทั้งหมด ในเมื่อชีวิตคน กทม. ยังไม่ถูกยกระดับตามไปด้วย
หากพูดถึง คลองแสนแสบ ภาพจำของใครหลายคนคงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘ความสกปรก’ ของน้ำ และ ‘กลิ่นเหม็นเน่า’ ที่คละคลุ้งตลอดเส้นทางคลอง ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเรือคลองแสนแสบ ร้านอาหาร ชาวบ้าน และผู้ที่ผ่านไปมา จดจำคลองขนาดยาวที่ผ่าใจกลางเมืองนี้ว่าเป็นจุดทรุดโทรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
แม้ช่วงปลายปี 2564 คณะรัฐมนตรีจะคลอดแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ซึ่งใช้งบประมาณสูงถึง 8.2 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี แต่ปัจจุบันผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกับคลองแสนแสบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ปัญหา’ ยังคงอยู่
ปัจจุบันทั้งผู้สัญจรโดยเรือและชาวบ้านริมคลอง มองว่าการแก้ปัญหาน้ำเสียดีขึ้นมากจากแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากชาวบ้านริมคลองว่า ในวันที่ไม่มีการเดินเรือ (วันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) จะมีขยะลอยตามน้ำมากเป็นพิเศษ
ส่วนความเชื่อที่ว่า ปัญหาน้ำเน่าส่วนใหญ่เกิดจากการทิ้งขยะของชาวบ้านเองนั้น ประชาชนริมคลองเล่าว่าไม่เป็นความจริง โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีประโยชน์เลยที่พวกเราจะทิ้งขยะลงแม่น้ำเพื่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ซึ่งก็ต้องดมกันเองในท้ายที่สุด ปัจจุบันก็มีจุดทิ้งขยะบริเวณริมคลอง และมีรถเก็บขยะเข้ามาจัดการอยู่ในทุกวัน การทิ้งขยะต่างๆ ลงคลองจึงไม่ใช่พฤติกรรมของพวกเราแล้วในปัจจุบัน”
ดังนั้น ประชาชนริมคลองจึงอยากฝากปัญหานี้ไปถึงผู้ว่าฯ กทม. ในอนาคตข้างหน้าให้จัดการเรื่องขยะ หากยังพบชุมชนอื่นๆ บริเวณคลองแสนแสบที่ทิ้งขยะลงแม่น้ำก็ต้องหาวิธีจัดการ รวมถึงจัดสรรรถเก็บขยะให้เข้าไปเก็บขยะให้เพียงพอ
“ความจริงปัญหาไม่ได้เกิดจากในน้ำ แต่มันเกิดจากริมคลอง” ชาวบ้านบริเวณคลองแสนแสบคนหนึ่งเล่าให้ The Momentum ฟังถึงความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นในย่านชุมชนคลองแสนแสบ พร้อมทั้งเปิดใจถึงปัญหาสำคัญเรื่องความปลอดภัยที่กระทบกับชาวบ้านในบริเวณนี้เป็นอย่างมาก แต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ชัดเจนเท่ากับความสะอาดในคลอง
“คุณเชื่อไหม กลางวันแสกๆ ผมนั่งกินข้าวริมทางโดยวางกระเป๋าไว้ข้างตัว พอกินไปได้สักพัก มัน (โจร) วิ่งมาหยิบกระเป๋าผมไปหน้าตาเฉยเลย โชคดีนะยังมีชาวบ้านช่วยกันตามจับไว้ได้ คุณคิดเอาแล้วกัน พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน มันยังกล้าขนาดนี้เลย”
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเล่าอีกว่า การจี้ ปล้น วิ่งราวทรัพย์ หรือกระทำชำเรานั้น เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นริมคลองแสนแสบอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีคนที่มึนเมาจากสารเสพติดเดินเร่ร่อนอยู่ในช่วงกลางคืนสร้างความหวาดหวั่นให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
หากเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนต่อไปได้ ชาวบ้านริมคลองแสนแสบอยากได้รับการดูแลที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ติดตั้งเสาไฟฟ้าให้สว่างตลอดเส้นทาง มีกล้องวงจรปิดในบริเวณที่สุ่มเสี่ยง และมีการดูแลพื้นที่ทางเท้าโดยเจ้าพนักงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น
ก่อนหน้านี้ทางกรุงเทพมหานครมีโปรเจกต์การพัฒนาเมืองโดยเน้นเรื่องการจัดการน้ำ โครงข่ายคลอง ถนน ทางเท้า พื้นที่สีเขียว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คลองผดุงกรุงเกษม คลองสำคัญที่ขุดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยการปรับภูมิทัศน์ด้วยการขยายทางเท้าริมคลอง เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเดินเล่น ออกกำลัง หรือพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน รวมถึงจัดตลาดนัด หลังจากก่อนหน้านี้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน
การปรับพื้นที่ดังกล่าว จะแบ่งเป็นโซนต่างๆ 6 โซน ได้แก่ 1. ย่านตลาดน้อย-เจริญกรุง 2. ย่านหัวลําโพง 3. ย่านโบ๊เบ๊ 4. ย่านนางเลิ้ง 5. ย่านสถานที่ราชการ และ 6. ย่านเทเวศร์ เพื่อดำเนินงานเป็นช่วงๆ ซึ่งปัจจุบัน ช่วงต้นๆ ที่สำคัญอย่างย่านหัวลำโพง จากสะพานเจริญสวัสดิ์ถึงสะพานกษัตริย์ศึก ก็มีการปรับภูมิทัศน์แล้ว ด้วยการขยายเลนถนนทำเป็นพื้นที่สาธารณะเลียบคลอง
อย่างไรก็ดี แม้จะเริ่มมีการปรับโฉมบางโซนแล้ว แต่ประชาชนที่ใช้ชีวิตหรือทำมาหากินริมคลองบางส่วนก็ยังมองว่า เป็นการแลกมาซึ่งอีกปัญหาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็เป็นปัญหาใหม่ที่ทางการต้องขบคิดเพื่อแก้ไขให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันได้บนการพัฒนาใหม่ๆ ต่อไป
บรรดาผู้ให้บริการแท็กซี่ที่ใช้พื้นที่ริมคลองผดุงฯ ในการทำมาหากิน ด้วยการจอดรถรอผู้โดยสารมาตั้งแต่ปี 2538 กล่าวว่า การปรับภูมิทัศน์ทำให้พื้นที่บริเวณริมคลองดีขึ้นจริง แต่ก็แลกมาด้วยการสัญจรไปมาที่ยากลำบากกว่าเดิม เพราะมีการตัดถนนออกไปหนึ่งเลน เพื่อขยายพื้นที่ทางเดินริมคลองเป็นฟุตบาท ทำให้จากเดิมที่ถนนกว้างก็แคบลง
“แถวนี้มีโรงเรียนด้วย เดี๋ยวพอโรงเรียนเปิดเทอม รถก็ติด พ่อแม่ผู้ปกครองมารับลูกก็ไม่มีที่จอด” หนึ่งในผู้ให้บริการแท็กซี่กล่าวสะท้อนอีกมุมหนึ่ง “ตอนเขามาทำ เขาบอกว่าจะทำเป็นสวน เป็นสถานที่ให้คนมาเดินเล่นออกกำลังกาย แต่ก็ไม่มีคนมาใช้เท่าไร แต่ตอนเช้าๆ หรือเย็นๆ ก็จะมีคนแถวนี้เดินไปเดินมานิดหน่อย”
อีกสิ่งที่สังเกตเห็น คือคนไร้บ้าน ที่ยึดพื้นที่บริเวณที่รอเรือริมคลองบางจุดในการใช้เป็นที่พักอาศัย ซึ่งกลุ่มคนขับแท็กซี่กล่าวว่า คนไร้บ้านเหล่านี้กระจายมาจากบริเวณหัวลำโพง และอาศัยประปรายตามจุดต่างๆ ซึ่งก็นำมาสู่อีกหนึ่งปัญหา คือเรื่องสุขอนามัย “อยากให้เพิ่มพวกห้องน้ำสาธารณะ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่คอยมาเก็บค่าเข้าห้องน้ำ ไม่อย่างนั้นคนไร้บ้านเขาจะมาถ่ายไม่เป็นที่”
ส่วนเรื่องของน้ำในคลอง กลุ่มแท็กซี่เล่าว่า บริเวณดังกล่าวที่มีการปรับภูมิทัศน์ น้ำสะอาดขึ้นหลายปีมาแล้ว เพราะเมื่อก่อนมีการถ่ายน้ำมันเครื่องลงน้ำ จึงทำให้มีน้ำครำเหนียวหนึบและดำ “ตอนนี้เขาถ่ายน้ำครำออกไป และปล่อยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา มันเลยสะอาดขึ้นประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ กลิ่นก็ไม่ค่อยมีแล้ว”
อีกจุดหนึ่งที่ได้เดินไปสำรวจ คือบริเวณตลาดโบ๊เบ๊ ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมาก ที่ใช้พื้นที่บริเวณริมคลองขายของโดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้า โดยแบ่งเป็นล็อกเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งผู้ค้ารายหนึ่งที่เปิดร้านขายเสื้อผ้ามากว่าสามสิบปีเล่าว่า สมัยก่อนน้ำเสียเยอะ ซึ่งปัจจุบันดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“มีช่วงหนึ่ง คือสมัย พิจิตต์ รัตตกุล กับสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เขามีนโยบายจะทำให้คลองกลายเป็นน้ำใส ก็ดีขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ตอนนี้กลับมาขุ่นอีกแล้ว สกปรกมาก บางทีกลิ่นเหม็นก็โชยขึ้นมา”
ผู้ค้าเล่าว่า มักมีคนทิ้งขยะมูลฝอยลงไป หลายครั้งจะเห็นถุงพลาสติก หรือวัสดุต่างๆ ลอยมา “ก็อยู่อย่างนี้กันไป แต่เราไม่ได้ซีเรียส เพราะเราขายไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็ปิดร้านกลับ
“น้ำจะเน่าเวลาฝนตก บางครั้งช่วงน้ำท่วม น้ำก็จะปริ่มขึ้นมาถึงขอบเลย แต่ไม่ถึงกับล้นนะ” ผู้ค่าเล่า “เราไม่ขออะไรมาก ขอให้น้ำริมคลองมันใสก็พอแล้ว หน้าฝนไม่เท่าไร แต่หน้าร้อนทีไรจะมีกลิ่นเหม็นเน่า มีปลาตาย ลูกค้ามายืนซื้อของก็จะบ่นว่ามีกลิ่น”
Tags: คลอง, คลองหลอด, คลองแสนแสบ, กรุงเทพ, Bangkok Upside Down, BKKUPSIDEDOWN, bkk, คลองผดุงกรุงเกษม, เลือกตั้ง, ผู้ว่าฯ กทม.