‘รัฐประหาร’ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน
แม้ว่าการรัฐประหาร (coup d’état) ในทางสากล หมายถึงการไม่กระทำตามวิถีทางการเมืองประชาธิปไตย นับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศไทย แม้จะมีกฎหมายฐานความผิด ‘กบฏ’ ตามมาตรา 113 ที่มีโทษสูงสุดคือ การประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต แต่คณะผู้ก่อการมักได้รับ ‘อภิสิทธิ์ปลอดความรับผิด’ ในรัฐธรรมนูญไทยมาโดยตลอด
13 ครั้งที่มีการยึดอำนาจสำเร็จ ผ่านการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่คณะผู้ก่อการยังคงลอยนวลพ้นผิด และการสะสางเอาผิดก็ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะถ้าพูดกันตรงๆ แล้ว หากทำรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จนั่นย่อมหมายความว่า เป็นการก่อ ‘กบฏ’
ตลอดระยะเวลา 92 ปี นับตั้งแต่การปฏิวัติสยามปี 2475 ประเทศไทยไม่เคยหนีห่างจากการรัฐประหาร ดังที่ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวไว้ว่า รัฐประหารได้กลายเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ของประเทศไทยไปเสียแล้ว และอยู่ยืนยงกว่ารัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรใดๆ เสียอีก
เพราะหากมองให้ดีแล้ว ประชาชนในประเทศไทยอยู่กับรัฐบาลทหารมาหลายยุคหลายสมัย และอยู่ภายใต้การกำกับของทหารนานกว่ารัฐบาลพลเรือนเสียอีก หรือแม้แต่โทษของมาตรา 112 ที่มีการปรับโทษให้รุนแรงขึ้นจากจำคุกไม่เกิน 7 ปี เปลี่ยนเป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ก็มาจากคำสั่งของคณะรัฐประหาร 2519
ดังนั้นการรัฐประหารจึงเป็นสาเหตุหลัก เป็นต้นตอของ ‘วงจรอุบาทว์การเมืองไทย’
ในวาระครบรอบ 18 ปี การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกเรียกว่าเป็นการรัฐประหาร ‘เสียของ’ และเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา เพราะพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งแบบ ‘แลนด์สไลด์’ กวาดที่นั่ง ส.ส.ไปกว่า 377 ที่นั่ง คะแนนแบบบัญชีรายชื่ออีกถล่มทลาย
และถือเป็นการก่อรัฐประหารโดย ‘ทหารพระราชา’ อย่างแท้จริง ทั้งด้วยคำกล่าวอ้าง ข่าว และการปล่อยภาพขณะคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ตาม
The Momentum ชวนย้อนดู ‘วงจรอุบาทว์การเมืองไทย’ ในรอบ 18 ปี รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา 2549 ประเทศไทยเปลี่ยนไปมากแค่ไหน? หรือยังคงเล่นซ้ำติดอยู่ใน ‘วัฏจักร’ วงจรอุบาทว์เช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง และการที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกรัฐประหาร กลับมาใหม่อีกครั้ง จับมือกับทุกขั้วทุกข้าง คู่ขัดแย้งเดิม เพื่อต่อสู้กับองคาพยพ ‘ก้าวหน้า’ นั้น จะยุติวงจรอุบาทว์ ยุติวงจรนี้ได้สำเร็จหรือไม่
หนทางข้างหน้ายังคงอยู่อีกยาวไกล
1. รัฐบาลพลเรือนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย ถูกรัฐประหารโดยทหารพระราชา
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 22.54 น. สถานีโทรทัศน์ทุกช่องขึ้นประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดยมี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หรือ ‘บิ๊กบัง’ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งต่อมา คปค.เปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
“ด้วยเป็นที่ปรากฏความแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย คลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย
“ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง
“หน่วยงานองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง” คำประกาศรัฐประหารบางส่วนของ คปค.
1 วันหลังการทำรัฐประหารสำเร็จ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร และผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ต่อมามีการปล่อยภาพขณะที่คณะรัฐประหารเข้าเฝ้าฯ เพื่อยืนยันภารกิจปกป้องสถาบัและการเป็นทหารพระราชา
แต่ท้ายที่สุดการรัฐประหารครั้งนี้ก็ถูกมองว่า ‘เสียของ’ เพราะหลังจากการทำรัฐประหาร สมัคร สุนทรเวช นำพรรคพลังประชาชน พรรคใหม่ของพรรคไทยรักไทยเดิม กลับมาชนะคว้า 228 เก้าอี้ ในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550
2. ยุบพรรคไทยรักไทย บท (ไม่) สุดท้าย ‘อวสานระบอบทักษิณ’
วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 นับเป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของการเมืองไทย เพราะในวันนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีนัดวินิจฉัยตัดสินชะตา 5 พรรคการเมืองไทย ในเหตุการณ์เลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 โดยวันนั้นมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่ถูกจับตามอง นั่นคือพรรคไทยรักไทย ที่ถูกกล่าวหาว่า จ้างวานพรรคการเมืองอื่นลงสมัครรับเลือกตั้งแทน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาคะแนนเสียงไม่ถึง 20% และพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกกล่าวหาว่า จ้างวานไม่ให้ผู้อื่นลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหวังให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ในวันนั้นหลายฝ่ายต่างมองและวิเคราะห์ในทิศทางเดียวกันว่า นี่คือการ ‘ล้างบางกระดานการเมืองไทยรักไทย’ เพราะพรรคไทยรักไทยเพิ่งถูก คมช.รัฐประหารไปไม่นาน
วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 เวลา 13.30 น. คณะตุลาการมีคำวินิจฉัย 89 หน้า สั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยในมติ 6 ต่อ 3 ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ถอนสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ขณะเดียวกัน คณะตุลาการก็มีมติ 9 ต่อ 0 สั่งไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
3. พรรค ‘ทักษิณ’ ชนะเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ ‘อภิสิทธิ์’ ได้เป็นนายกฯ
หลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเล็ก โดยมี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน 1 เดือนให้หลัง ทักษิณได้เดินทางกลับประเทศไทย
วันที่ 25 พฤษภาคมในปีเดียวกัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เริ่มชุมนุมใหญ่ขับไล่สมัครออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะมองว่ามีผลประโยชน์กับทักษิณ โดยมีการชุมนุมปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิเป็นเวลากว่า 10 วัน ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม-3 ธันวาคม 2551 โดยมีเป้าประสงค์ขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการเคลื่อนขบวนเป็นระยะไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘ดาวกระจาย’ เพื่อติดตามตรวจสอบเรื่องของทักษิณ นอกจากการปิดยึดสนามบินแล้ว ยังมีการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ภายใต้ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้าอีกด้วย
วันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ความเป็นรัฐมนตรีของสมัคร นายกฯ สิ้นสุดลง เพราะมีรายการทำอาหารถ่ายทอดในโทรทัศน์
วันที่ 15 ธันวาคม 2551 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชนะการโหวตในสภาฯ ได้เป็นนายกฯ โดยมี ส.ส.จากรัฐบาลเดิม เช่น พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทยพัฒนา และกลุ่มเพื่อนเนวิน อดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน ร่วมโหวตสนับสนุน
4. ‘ไพร่-อำมาตย์’ โศกนาฏกรรมกลางกรุง กับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553
‘อำมาตย์’ มาจากคำว่า ‘อำมาตยาธิปไตย’ ใช้สื่อความหมายถึง บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังหรือผู้ชี้นำส่วนราชการ โดยเฉพาะกองทัพให้ทำรัฐประหาร โดยคำว่า ‘ไพร่’ หมายถึง ประชาชนคนธรรมดา
วลีข้างต้นถูกใช้อย่างแพร่หลายในขบวนการคนเสื้อแดง หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังการทำรัฐประหารปี 2549
ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เกิดการชุมนุมใหญ่ของประชาชนคนเสื้อแดงจากทั่วสารทิศเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป้าหมายคือ การโค่นล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์และทำลายเครือข่าย ‘อำมาตยาธิปไตย’
วันที่ 10 เมษายน 2553 เกิดการสลายการชุมนุม เกิดเหตุโศกนาฏกรรมกลางกรุง ที่แม้แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ทราบอย่างแท้จริง ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้บันทึก โดยวันนั้นมีกองกำลังติดอาวุธใช้ยุทโธปกรณ์ เช่น ปืนเอเค 47, ลูกระเบิดเอ็ม 79 และกระสุนปืนจริง เข้าสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ไร้อาวุธ ทั้งยังพบปริศนาชายชุดดำและผู้ก่อการร้ายอีกด้วย
5. พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง (อีกแล้ว) ประเทศไทยมีนายกฯ หญิงคนแรก
วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง โดยได้ ส.ส.จำนวน 265 คน ส่งผลให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน
6. พรรคเพื่อไทยออกกฎหมายนิรโทษกรรม
สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ในเวลานั้น) ออกมาเป่านกหวีดระดมพลผู้คนออกมาต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ‘สุดซอย-เหมาเข่ง’ โดยเขาเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีความต้องการช่วยเหลือผู้ชุมนุมตัวเล็กตัวน้อย แต่ต้องการล้างผิด ฟอกขาวให้ทักษิณ
ต่อมาเกิดการชุมนุมขนาดใหญ่โดย ‘มวลชนนกหวีด’ หรือ กปปส. ชื่อเต็มคือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ออกมาประท้วงไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรม
จากการต่อต้านคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย สู่การยกระดับขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนนำไปสู่การเข้ายึดอำนาจของ ‘ทหาร’ ในท้ายที่สุด เป็นอันสิ้นสุดภารกิจชุมนุมกว่า 204 วันของ กปปส.
7. ‘ประยุทธ์’ รัฐประหารล้มกระดาน ‘ทักษิณ’
หลังยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อรัฐประหารในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 พร้อมกับอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้ ‘มาตรา 44’ ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ให้การกระทำทุกอย่างของคณะรัฐประหารได้รับการป้องกัน สามารถออกคำสั่งได้ทุกอย่าง ทุกประการ โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่สามารถมีใครเอาผิดย้อนหลังได้
8. พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่เป็นอันดับสอง แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 สร้างแรงกระเพื่อมใหม่ในแวดวงการเมืองไทย พรรคเพื่อไทยได้เสียง ส.ส. 136 ที่นั่ง ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ได้เสียง ส.ส.กว่า 81 ที่นั่ง ภายใต้ระบบการเลือกตั้งที่ ‘พิสดาร’ ที่สุด ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ร่างขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ทั้งยังให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจเลือกนายกฯ ได้
จุดสำคัญอีกอย่างของการเลือกตั้งรอบนี้คือ การยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่กลายเป็นการ ‘ล้มล้างการปกครอง’ และนำไปสู่การยุบพรรคในที่สุด
หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น พลเอกประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ชนะโหวตได้รับเสียงจาก ส.ส.และ ส.ว. รวม 500 คะแนน เป็นคะแนนเสียง ส.ส.ที่ปริ่มน้ำ แต่ในภายหลัง ก็หาเสียงมาเติมจนเกินปริ่มน้ำได้สำเร็จ
9. สิ้นอนาคตใหม่ จุดเริ่มต้นพรรคก้าวไกล
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่า กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารที่ดำรงตำแหน่ง ณ วันที่ 2 มีนาคม 2562 และ 11 เมษายน 2562 เป็นเวลา 10 ปี ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 16 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมือง
สำหรับสาเหตุการยื่นยุบพรรคมาจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงินจำนวน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ถือเป็นการปิดฉากพรรคที่มีอายุขัยทางการเมืองเพียง 1 ปี 4 เดือน 18 วัน
หลังจากการวินิจฉัยยุบพรรคส่งผลให้เกิดม็อบ ‘ราษฎร’ และแฟลชม็อบทั่วประเทศไทย พรรคก้าวไกลเกิดขึ้นเพื่อรับช่วงต่อทางการเมือง ทั้งยังลามไปถึงข้อเสนอสำคัญคือ การ ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ ในที่สุด
10. พรรคเพื่อไทยจับมือศัตรูในอดีต ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว
พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับสองของสภาผู้แทนราษฎร ต้องรับบทแกนนำเพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อจากพรรคก้าวไกล ที่ชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เนื่องจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ขั้วอำนาจเดิมและ ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่สามารถเติมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
พรรคเพื่อไทยตัดสินใจเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยถอยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออก นอกจากนี้ยังจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ยกตัวอย่างเช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อโหวตสนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ
11. ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิพิธาและกรรมการบริหารพรรค 10 ปี
วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ‘ยุบ’ พรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรครวม 10 คน ตามคำร้องที่ กกต.ขอให้ศาลวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคภายในกำหนด 10 ปี เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 3/2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พรรคก้าวไกลกระทำการในลักษณะดังกล่าว จากการที่มี ส.ส.เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 โดยเสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้
ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า พรรคก้าวไกลและพิธามีพฤติการณ์ดังกล่าวจริง จึงให้ตัดสิทธิพิธาและกรรมการบริหารพรรครวม 10 ปี
ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) กรณีการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน กรณีหยิบถุงขนมให้ศาลฎีกา 2 ล้านบาท เมื่อปี 2551
หลังจากการพ้นเก้าอี้ของเศรษฐา ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรทางการเมือง ประกาศสนับสนุน แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้นำคนใหม่ และกลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย
12. อนาคตของประเทศไทย?
จากที่กล่าวมาข้างต้น คงช่วยตอกย้ำสิ่งที่ทุกคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ‘รัฐประหาร’ ไม่เคยทิ้งช่วงหนีห่างจากการเมืองประเทศไทย ซึ่งหากมองย้อนกลับไปอีก ในอดีตการแย่งชิงราชสมบัติ เข่นฆ่าเพื่อสถาปนาราชวงศ์ใหม่เป็นเรื่องปกติ แต่หากมาย้อนดูสถิติของการรัฐประหารที่สำเร็จในประเทศไทยกลับพบว่า เกิดมากเสียยิ่งกว่าสมัยอยุธยาเสียอีก ดั่งคำของ ส.ธรรมยศ ที่กล่าวในหนังสือ Rex Siamen Sium หรือพระเจ้ากรุงสยามว่า
“เราตัดหัวกษัตริย์กันเองทุกรอบ 10 ปี”
เพราะหากนับตั้งแต่หลังการปฏิวัติสยามปี 2475 แล้ว ประเทศไทยมีการรัฐประหารสำเร็จถึง 13 ครั้ง หรือเฉลี่ยแล้วทุก 7 ปี ประเทศไทยจะมีรัฐประหาร 1 ครั้ง
อนาคตของประเทศไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ คนในประเทศจะสามารถหลุดออกจากวงจร ‘อุบาทว์’ เหล่านี้ได้หรือไม่ หรือภาพเหล่านี้จะคงฉายซ้ำเล่นวนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป หรือเราควรรวมตัวกันทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้วงจรอุบาทว์นี้จบลงเสียที
ที่มา
– https://ptp.or.th/archives/18307
– https://www.thaipbs.or.th/now/content/176
– https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/file_import/t3-5-2550.pdf
– https://www.the101.world/the-end-of-the-coup-institution-1/
– https://pridi.or.th/th/content/2022/11/1322
– https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304
– https://www.bbc.com/thai/articles/c802zr2lnx4o
– https://ptp.or.th/archives/18320
– https://www.bbc.com/thai/articles/cjeq4qdnyq2o
Tags: รัฐประหาร, พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยรักไทย, ทักษิณ, แพทองธาร, วงจรอุบาทว์การเมืองไทย, 19 กันยายน, Feature, การเมืองไทย, ยิ่งลักษณ์