ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมากถึง 3 ล้านตัน เป็นพลาสติกประมาณ 3.3 แสนตันต่อปี และแม้จะมีการจัดการขยะทั้งการนำกลับไปรีไซเคิล การฝั่งกลบแบบถูกสุขอนามัย แต่ร้อยละ 10-15 ของขยะเหล่านี้กลับมีปลายทางคือทะเล ที่นอกจากจะกระทบกับคนริมชายฝั่งในแง่ของการท่องเที่ยวและการประมง สัตว์ทะเลยังเผชิญกับความเจ็บป่วยจากการบริโภคขยะทะเล เห็นได้ชัดจากการจากไปของ ‘มาเรียม’ พะยูนกำพร้าที่เสียชีวิตเนื่องจากชิ้นส่วนพลาสติกหลายชิ้นขวางลำไส้ นำมาสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตในที่สุด
แม้มีข่าวสารการตายของสัตว์ทะเลในทุกปี แต่ประเทศไทยยังคงมีขยะพลาสติกในทะเลกว่า 22.8 ล้านกิโลกรัม ติดอันดับที่ 5 ประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของสำนักข่าว Euronews Green เมื่อปี 2564 ขณะที่ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยคาดการณ์ว่า ในทุกปีมีขยะจากชายฝั่งไหลลงสู่ทะเลไทยราว 3-5 หมื่นตัน และหากสถานการณ์ขยะทะเลยังไม่คลี่คลาย ไม่เพียงแต่สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่มนุษย์บนบกอาจจะเผชิญกับความมั่นคงทางอาหารท่ามกลางระบบนิเวศที่พังทลาย
เมื่อมีประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจปัญหาและมองเห็นร่วมกันว่า ไม่สามารถปล่อยให้ทะเลไทยกลายเป็นบ่อขยะอีกต่อไป จึงเกิดการรวมตัวขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายพันธมิตรและประชาชนกว่า 30 เกาะทั่วประเทศไทย นัดหมายประชุมเพื่อประกาศการเก็บขยะ เพื่อทำลายสถิติการเก็บขยะของโลกภายใต้ชื่อ 30+ Islands Clean-Up: So Cool Mission โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบการจัดการขยะทะเล และนัดหมายทำกิจกรรมใหญ่ที่จะพลิกโฉมให้ทะเลกลับมาสดใสอีกครั้งในช่วงเวลาอันใกล้นี้
ทะเลไทยขยะล้น-การจัดการย่ำแย่
ภายในงานแถลงข่าว 30+ Islands Clean-Up: So Cool Mission ซึ่งจัดขึ้น ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (Foreign Correspondents’ Club of Thailand) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการรวมตัวของเหล่านักขับเคลื่อนทางสิ่งแวดล้อม ตัวแทนภาครัฐและภาคประชาชนที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งใจให้การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการปักหมุดหมายในระยะอีก 6 เดือนก่อนกิจกรรมใหญ่อย่างการเก็บขยะใน 30 เกาะจะเกิดขึ้นพร้อมกันในวันที่ 8 มิถุนายน 2568 ซึ่งตรงกับวันมหาสมุทรโลก
กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาขยะทะเลที่ล้นเกิน โดยมีต้นทางมาจากกิจกรรมของมนุษย์อย่างการบริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนหนึ่งมีปลายทางคือ การลงสู่ท้องทะเล
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ให้ข้อมูลบนเวทีแถลงข่าวว่า ที่มาของขยะทะเลมาจากชายฝั่งราวร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 20 มาจากกิจกรรมในทะเล ขยะส่วนมากเป็นพลาสติกน้ำหนักเบา และหากถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการจัดการ ขยะพลาสติกเหล่านี้จะกลายเป็นไมโครพลาสติก
“ปัญหาของพลาสติกในทะเลที่มีอายุ 50-60 ปี ตอนนี้ก็กลายเป็นไมโครพลาสติกกระจายอยู่มากมาย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีไมโครพลาสติกค่อนข้างมาก หากตรวจไมโครพลาสติกในปลาทูไทย 1 ตัว จะพบว่ามีมากถึง 78 ชิ้น และหากพวกเราทุกคนไปตรวจไมโครพลาสติกก็จะเจอเช่นกัน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริโภค หากใครกินสัตว์น้ำเยอะโอกาสที่จะเจอไมโครพลาสติกในร่างกายก็จะเยอะเช่นเดียวกัน”
ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้ข้อมูลว่า ในชุมชนกว่า 7,000 แห่งของไทย มีเพียง 2,000 แห่งเท่านั้นที่มีระบบการจัดการขยะ ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 18 ที่มีระบบการจัดการขยะที่ถูกต้อง ในขณะที่ภาพรวมของขยะทั้งหมดในประเทศไทยเมื่อปี 2566 มีอยู่ 26.95 ล้านตัน แต่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ (Utilization) ได้เพียงร้อยละ 35 นอกนั้นถูกฝังกลบแบบถูกสุขาภิบาล (Proper Disposal) ร้อยละ 38 ที่เหลือร้อยละ 27 ได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง (Improper Disposal) ส่งผลให้เมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัยจากฝนตกหนัก ขยะจำนวนหนึ่งจึงไหลลงสู่ทะเล และเมื่อมีการสะสมในระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดการเผาไหม้ ส่งผลต่อคุณภาพอากาศอีกทอดหนึ่ง
ไม่เพียงแต่บนบกเท่านั้นที่สร้างขยะลงสู่ท้องทะเล แต่เกาะกว่า 936 แห่งของไทยซึ่งมีชุมชนอาศัยอยู่และมีกิจกรรมการท่องเที่ยว นับเป็นแหล่งก่อขยะลงสู่ทะเลเช่นกัน ข้อมูลจาก ดร.วิจารย์ ในหัวข้อ สถานการณ์ขยะทะเลและเกาะ ระบุว่า ขยะทะเลที่พบมากที่สุดคือ ขยะประเภทถุงหิ้วและถุงอื่น รองลงมาคือขวดน้ำดื่ม ห่อบรรจุอาหาร แก้วและจานพลาสติก ช้อน ส้อม มีด และกล่องโฟม ที่เหลือคือเศษเชือก แห และอวนจากการทำการประมง
“สำหรับขยะพลาสติก ประเทศไทยมีอยู่ 2.7 ล้านตัน เป็นร้อยละ 12-13 ของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้น เรามีการรีไซเคิลประมาณร้อยละ 19 ซึ่งค่อนข้างน้อย เหล่านี้ตอบคำถามว่า ทำไมเราถึงเจอปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งขยะในท้องทะเลส่วนใหญ่ก็เป็นประเภทขวดพลาสติกเกยตื้นชายหาด และขยะอีกประเภทที่ต้องแก้ปัญหาควบคู่กันไปคือ เครื่องมือประมง แห และอวนที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกแล้ว เนื่องจากการย่อยสลายของขยะประเภทนี้ มีวัสดุเป็นไนลอนใช้เวลามากกว่าการย่อยสลายขยะประเภทพลาสติก และอาจไปรัดตัวสัตว์น้ำทำให้เป็นอันตรายได้ด้วย”
อันตรายที่ว่าคือ ‘ภัยคุกคาม’ จากขยะต่อระบบนิเวศของเกาะ ได้แก่ ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยมีความเสื่อมโทรมในด้านคุณภาพน้ำและสภาพที่อยู่อาศัย รวมถึงแหล่งวางไข่ของสัตว์ทะเล ขยะพันรัดร่างของสัตว์ กระทบต่อระบบการย่อยอาหารของสัตว์น้ำ ทำลายแนวปะการัง ทำลายทัศนียภาพด้านการท่องเที่ยว และเกิดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกบริเวณหาดทราย ในน้ำและตะกอนดิน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในระหว่างการหาแนวทางในการจัดเก็บขยะบนเกาะเพื่อลดผลกระทบ แต่รูปแบบการจัดการของแต่ละเกาะจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้กำกับดูแล
“การบริหารจัดการขยะต้องขึ้นอยู่กับระเบียบของชุมชน บางแห่งก็ออกระเบียบของชุมชนตัวเอง ซึ่งในท้องถิ่นมีเทศบัญญัติ หรือข้อบังคับท้องถิ่นห้ามนำเข้าขยะบางประเภทหรือเก็บค่าธรรมเนียมของขยะประเภทนั้นๆ ได้ ตัวอย่างที่ชุมชนเกาะพิทักษ์ เกาะลันตา และเกาะยาวใหญ่ที่ทำไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถทำได้ทั้งเกาะ บางชุมชนที่เข้มแข็งถึงจะจัดการกับขยะได้ บางที่มีภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุนเช่นเกาะเต่า อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่า เราจะทำอย่างไรให้เขาเข้มแข็งสามารถจัดการกับขยะเองได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างๆ ขณะที่การบริหารพื้นที่จัดเก็บขยะก็ต้องมีการแบ่งไว้ให้ชัดเจน
“ในบางเกาะก็มีอุปสรรคด้านการจัดการเช่นที่ภูเก็ต ซึ่งบริหารจัดการโดยเทศบาลนครภูเก็ต ไม่มีทางเลือกในการจัดการก็ต้องเผา ท้องถิ่นแต่ละแห่งในจังหวัดจึงส่งขยะไปที่เตาเผา สิ่งที่ต้องทำคือ เราจะเผาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” ดร.วิจารย์กล่าว
การท่องเที่ยวไทยกับสิ่งแวดล้อม
ปี 2562 ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 39.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของจีดีพี ในขณะที่ปี 2567 จากสถิติการท่องเที่ยวระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 31 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 82 หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 ข้อมูลจาก จาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวใน 24 จังหวัดติดชายทะเล ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ดังนั้นหากพูดถึงสิ่งแวดล้อมทางทะเลในจังหวัดที่เปิดให้มีการท่องเที่ยว จำนวนกิจกรรมของมนุษย์ที่มากจึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ในพื้นที่โดยรอบชายทะเลอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
“ความสามารถด้านการแข่งขันการท่องเที่ยว จากดัชนีการพัฒนาการเดินทางด้านการท่องเที่ยวจาก World Economic Forum เราสอบตกในเรื่องของความปลอดภัยและสิ่งสำคัญที่เราคุยกันในวันนี้คือ เรื่องของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
“ในปี 2564 ประเทศไทยมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในด้านที่ 5 ความยั่งยืนด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวลำดับที่ 69 แต่ในปี 2567 เราอยู่อันดับที่ 70 จากทั้งหมด 119 ประเทศ นั่นแปลว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมของเรายังด้อยกว่าประเทศอื่นๆ อีกมาก” จาตุรนต์ระบุ
มลพิษเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังเผชิญ นอกเหนือจากปัญหาขยะ เนื่องจากปริมาณของนักท่องเที่ยวที่ล้นเกินขีดความสามารถของแหล่งท่องเที่ยว สิ่งที่ตามมาคือแหล่งน้ำเริ่มเน่าเสียจากการจัดการขยะที่มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบแหล่งท่องเที่ยวตามมา ดังนั้นอธิบดีกรมการท่องเที่ยวจึงมองว่า การท่องเที่ยวต้องหาจุดสมดุลกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นไปในทางเศรษฐกิจปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้น
“ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าไปในเมือง 5 ยูโร หรือ 200 บาทไทย เพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ ของเมือง ของบ้านเราก็มีที่เกาะเต่าที่เริ่มเก็บแล้ว แต่แค่ 20 บาท หรืออาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมการเดินทางเข้าประเทศคนละ 300 บาท และนำเงินส่วนนี้มาใช้พัฒนาและฟื้นฟูประเทศในแต่ละด้าน ซึ่งคาดว่านโยบายนี้น่าจะเห็นผลได้ในปีหน้า”
นอกจากการวางแผนเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อลดความแออัดของนักท่องเที่ยว และหาเม็ดเงินฟื้นฟูระบบนิเวศกลับคืนสู่ความสมบูรณ์ กรมการท่องเที่ยวยึดเอาแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยเน้นการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน การจัดการกับการขนส่งและการท่องเที่ยวที่อาจก่อมลพิษ เช่น มีการบริหารจัดการการเข้า-ออกท่าเรือของเรือสำราญ มีการพัฒนาบุคลากรที่อยู่บนเรือ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการการจราจรทางน้ำยังต้องมีความรู้ และเข้าใจการจัดการทรัพยากรทางทะเล
ที่สำคัญที่กรมการท่องเที่ยวเล็งเห็นว่า อาจเกิดปัญหาและต้องเข้าไปควบคุม เพื่อลดการเกิดมลพิษทางทะเล คือการบริหารกลุ่มธุรกิจความบันเทิง เช่นการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ที่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนหน้านี้พบว่า มีปัญหาจากการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ เพื่อให้เข้ากับฉากของภาพยนตร์จนเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ในการนี้กรมการท่องเที่ยวจึงต้องเข้าไปตรวจสอบตั้งแต่บทการแสดง และหากว่าการถ่ายทำนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง กระทั่งเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ กรมการท่องเที่ยวจะไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยต่อไป
การเก็บขยะทะเลจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็น
“ในเชิงนโยบาย ถ้าเราจะเก็บขยะทะเล มันไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไปเก็บขยะในทะเลเท่านั้น เพราะขยะต้นทางมันมาจากบนบก มาจากกิจกรรมของมนุษย์ แผนการจัดการขยะพลาสติกซึ่งเป็นประเภทของขยะที่มากที่สุดในทะเล ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางไม่ใช่เฉพาะในขั้นตอนการผลิต แต่ทำตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ว่าอะไรควรหรือไม่ควรผลิต” ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุพร้อมเสริมว่า ในระยะกลางทางผู้บริโภคมีส่วนสำคัญอย่างมาก หากบริโภคพลาสติกให้น้อย การจัดการกับขยะก็จะง่ายขึ้น
กระนั้นมนุษย์ไม่สามารถเลิกสร้างขยะได้ และท้ายที่สุดขยะเหล่านี้จะออกสู่ทะเลและเข้าสู่ธรรมชาติ ฉะนั้นในมุมมองของ ดร.ปิ่นสักก์จึงมองว่า การเก็บขยะในทะเลเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปแม้จะไม่สามารถเก็บได้อย่างหมดจดก็ตาม
“มนุษย์ไม่มีวันเลิกสร้างขยะได้หรอก อย่างไรก็ลงสู่ธรรมชาติและทะเล ฉะนั้นจะบอกว่าควรละเลยขยะที่ลงสู่ทะเลไปแล้ว ผมว่าเราไม่สามารถตัดขั้นตอนนี้ออกไปได้ เราจะต้องตามไปแก้ปัญหาขยะที่ลงทะเลไปแล้วให้มากที่สุด เพราะทุกวินาทีที่ขยะพลาสติกลอยอยู่ในทะเล มันคือโอกาสที่เต่าทะเล พะยูน และโลมาจะมากิน”
ฉะนั้นผู้สร้างขยะทั้งหลายจึงต้องลงไปดูแลที่ปลายน้ำอย่างขยะในทะเล ควบคู่กับการส่งเสริมและปฏิบัติตามมาตรการทั้ง 4 ข้อ
มาตรการที่ 1 ส่งเสริมการผลิตและขายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการรณรงค์หรือสั่งห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Sigle-use Plastic) ส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการจัดการ
มาตรการที่ 2 รณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว สร้างแรงจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่ายรักษาสิ่งแวดล้อม
มาตรการที่ 3 การจัดการขยะอย่างถูกต้องถูกหลักวิชาการ ให้ความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะ เสริมศักยภาพหน่วยงานท้องถิ่น สร้างระบบการจัดการอย่างถูกหลักวิชาการ และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ
และมาตรการสุดท้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 8 มิถุนายน 2568 ในวันมหาสมุทรโลก คือการเก็บขยะตามชายหาดและทะเลภายใต้ชื่อแคมเปญ 30+ Island Clean-Up: So Cool โดยเครือข่ายเกาะยั่งยืนแห่งประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้มีเครือข่ายจากทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยจากเกาะทั้ง 30 แห่งเข้าร่วมแคมเปญนี้ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ มุ่งหวังที่จะนำเอาความเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีกลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้งหนึ่ง
“วันนี้เราก็มีกิจกรรมที่จะตามเก็บขยะ หรือลดมันลงไปในระบบทะเลให้น้อยที่สุด หลายคนบอกว่า เก็บอย่างไรก็คงไม่หมดหรอก แต่อย่างน้อยมันก็ลด และลดความเสี่ยงที่ขยะชิ้นหนึ่งจะไปทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสัตว์น้ำ
“สิ่งที่เราอยากเห็นในการทำงานเชิงพื้นที่ เราเก็บขยะให้เกาะสะอาด สิ่งที่เราได้มามันไม่ใช่แค่เกาะสะอาดแล้วมาขิงกันว่า เกาะของใครสะอาดกว่ากัน แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราจะได้มันคือ ความมั่นคงทางรายได้ ความมั่นคงทางอาหาร อาชีพ และหลายอย่างๆ” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุ
อย่างไรก็ดีแม้ว่าการเก็บขยะร่วมกันทั้ง 30 เกาะในขณะที่ประเทศไทยมีอยู่ทั้งหมด 936 เกาะนั้น เป็นเรื่องยากที่ขยะทะเลจะหายไป แต่การได้เริ่มต้นลงมือทำในมุมมองของผู้เข้าร่วมทั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนกลับเห็นตรงกันว่า นี่คือการสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องของขยะทะเลครั้งใหญ่ ให้ทุกคนกลับมามองเห็นความสำคัญของการเริ่มต้น Clean Up สิ่งแวดล้อมของประเทศอีกครั้งหนึ่ง
ที่สำคัญคือการทำให้เล็งเห็นว่า ขยะทุกชิ้นที่ใครสักคนกำลังกำไว้ในมือ หรือปล่อยวางไว้ที่ใดสักแห่ง อาจนำมาซึ่งหายนะต่อชีวิตในท้องทะเล และนำมาซึ่งการสูญเสียระบบนิเวศที่สวยงาม แม้จะห่างจากตัวผู้สร้างขยะไปหลายร้อยกิโลเมตรก็ตาม
Tags: Feature, เกาะ, สิ่งแวดล้อม, ทะเล, ขยะทะเล, ขยะมูลฝอย, ขยะมรสุม