การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงหลายประการ และหนึ่งในนั้นคือการปลดปล่อยศักยภาพและสิทธิเสรีภาพในการทำงานของประชาชน The Momentum จึงขอชวนไปสำรวจว่า หากไม่มีการ ‘อภิวัฒน์สยาม’ ในวันนั้น ในวันนี้โลกของการทำงานและอาชีพของคนไทยจะมีสิ่งใดหายไปหรือเกิดขึ้นอย่างล่าช้าบ้าง
1. ถ้าไม่มี 2475 เราอาจไม่มี ‘สำนักจัดหางาน’
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ปรีดี พนมยงค์ ร่าง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ 6 ประการ’ หรือสมุดปกเหลือง และเสนอกฎหมายแนบท้ายหลายข้อ รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานท้องถิ่น พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติฉบับแรกเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐบาลที่จะไปเข้าควบคุมดูแลสำนักงานจัดหางานของเอกชน พระราชบัญญัติฉบับที่ 2 ให้อำนาจรัฐบาลที่จะจัดตั้งสำนักงานจัดหางานของรัฐช่วยราษฎรที่ว่างงาน หรือประสงค์จะทำงาน
พระราชบัญญัติ 2 ฉบับนี้ถือได้ว่า เป็นนโยบายสนับสนุนการมีงานทำฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งมีนโยบายและแบบปฏิบัติอย่างชัดแจ้งในเรื่องการจ้างงาน โดยได้ก่อตั้งสำนักงานจัดหางานท้องถิ่นขึ้นทั่วราชอาณาจักร และให้อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง ในขณะที่ไม่มีประเทศใดในเอเชียริเริ่มนโยบายการจ้างงานอย่างที่ประเทศไทยดำเนินการในเวลานั้น ยกเว้นในสหรัฐฯ ที่มีโครงการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับกระทบผลจากเศรษฐกิจตกต่ำ1
ต่อมาพระราชบัญญัตินี้ได้กลายเป็นรากฐานที่นำไปสู่การยกฐานะจากสำนักจัดหางาน เป็นกรมการจัดหางานและเป็นกระทรวงแรงงานในปัจจุบัน
2. ถ้าไม่มี 2475 เราอาจไม่มี ‘ระบบเงินบำนาญ’
อีกสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากเค้าโครงการเศรษฐกิจ 6 ประการ คือ ‘ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร’ เป็นกฎหมายแนบท้ายเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศได้รับเงินเดือนโดยรัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดหรือเป็นเช็คของธนาคารแห่งชาติ ทั้งนี้ให้จัดแบ่งเป็น 7 ช่วงชั้นอายุ ตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี ถัดจากนั้นเป็นช่วงชั้นละ 5 ปี จนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มเกษียณที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันความสุขฯ นับว่ามีความคล้ายคลึงกับนโยบายปัจจุบันของรัฐสวัสดิการในประเทศแถบสแกนดิเนเวียหลายประเทศ ซึ่งแม้ปัจจุบันคนไทยจะยังไม่มี พ.ร.บ.ประกันความสุขสมบูรณ์ฯ แต่แนวคิดนี้ได้วิวัฒน์มาเป็นระบบเงินบำนาญในปัจจุบัน
3. ถ้าไม่มี 2475 เราอาจไม่มี ‘สหภาพแรงงาน’
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2462 หรือเมื่อครั้งร่วมลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการคุ้มครองแรงงาน กรรมกรจึงถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก ได้ค่าแรงต่ำ ทำงานหนัก เวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ การประท้วงหยุดงานเพื่อต่อสู้เรื่องสิทธิสวัสดิการถือเป็นความผิดอาญา เป็นกบฏ มีโทษปรับและจำคุก
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 จึงมีสมาคมแรกของคนงานที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก นั่นคือ ‘สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม’ (ต่อมาคือกิจการไฟฟ้านครหลวง) ที่มี ถวัติ ฤทธิเดช ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์เป็นผู้นำ เกิดการนัดหยุดงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามมีข้อเรียกร้องให้เจ้าของรถลากยอมลดค่าเช่าจาก 77 สตางค์เป็น 60 สตางค์ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ประสบความสำเร็จ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีสหภาพแรงงานตามมาอีกมากมายต่อไป
4. ถ้าไม่มี 2475 คนที่ไม่ใช่ ‘ผู้ดี’ อาจสอบรับราชการไม่ได้
ปี 2472 มีความพยายามจะปฏิรูประบบราชการโดยการเริ่มจัดให้มีการสอบ เพื่อเข้ารับราชการ แต่ ‘ผู้ดี’ ในวงราชการขณะนั้นคัดค้านกันมาก เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศถึงกับประกาศในที่ประชุมว่า “จะไม่รับคนไม่มีหัวนอนปลายตีนเข้ามาเป็นข้าราชการเป็นอันขาด แม้ว่าจะผ่านการสอบมาได้ก็ตาม” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี
พลตำรวจตรี ชลอ ศรีศรากร หนึ่งในคณะราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์ของระบบราชการก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “ขณะนั้นผู้ปกครองประเทศไทยก็ปกครองอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ มีการปลดข้าราชการออกโดยไม่เป็นธรรม บรรดาคนตระกูลต่ำๆ เช่น ชาวนา พ่อค้า จะถูกปลดออกหมด เหลือเพียงพวกศักดิ์ตระกูลสูง ตนซึ่งเป็นลูกชาวนาผู้หนึ่งจึงไม่พอใจและรู้สึกเห็นใจคนระดับเดียวกันมาก ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับคณะราษฎรแม้ว่าการเช่นนั้นจะเสี่ยงต่ออันตรายมิใช่น้อย”
นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นของโลกอาชีพและแรงงานของคนไทยที่อาจเปลี่ยนไป หรือความก้าวหน้าต่างๆ อาจเกิดขึ้นอย่างล่าช้า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ 6 ประการ เสนอแนวทางการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไว้มากมายกว่านี้ เช่น เรื่องการถือครองและการเช่าที่ดิน การจัดรัฐสวัสดิการ การแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ คัดค้านเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ และกล่าวหาว่า เค้าโครงนี้เป็นลัทธิคอมมิวนิสม์ ขณะที่ปรีดีปฏิเสธเสมอว่า ตนเองไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่มีปรัชญาของตนคือ “สังคมนิยม วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย คือสังคมนิยมอ่อนๆ เป็นสังคมที่มีสวัสดิการอันดี ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากนัก”2 ซึ่งหากพิจารณาถึงนโยบายที่ริเริ่มมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และคนไทยยังได้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน กาลเวลาอาจเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ปรัชญาที่ปรีดียึดถืออาจไม่ผิดจากที่เขานิยามตนเองเกินไปนัก
เชิงอรรถ
1 นิคม จันทรวิทุร (2528). อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กับงานแรงงานของประเทศไทย. มติชน.
2 ดุษฎี พนมยงค์ (2555). ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน. มติชน, 108.
Tags: อภิวัฒน์สยาม, Feature, ประวัติศาสตร์, แรงงาน, อาชีพ, คณะราษฎร, ปรีดี พนมยงค์, สหภาพแรงงาน, 2475