‘โศกนาฏกรรมกลางกรุง’ กวาดล้างคนเสื้อแดง หรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เวียนมาบรรจบอีกครั้ง นับตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุมผ่านการใช้ ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ซึ่งวันที่ 10 เมษายน เป็นวันแรกที่เริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุมและเป็นวันที่ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนไม่น้อย

โศกนาฏกรรม 10 เมษาฯ ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้รับการชำระและสะสาง ที่แม้แต่จำนวนผู้เสียชีวิตก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็น ‘ผู้นับศพ’ ของประชาชน

ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ดังกล่าวเป็นการสลายการชุมนุมที่ใช้ยุทธวิธีและยุทโธปกรณ์สงครามในการปราบปรามประชาชน

3,000 คือจำนวนกระสุนซุ่มยิงที่กองทัพบกเบิกมาใช้ และใช้ยิงประชาชนไปทั้งหมด 2,120 นัด

117,923 นัด คือจำนวนกระสุนจริงที่เจ้าหน้าที่ใช้สลายการชุมนุม แต่มีการเบิกจ่ายกระสุนจริงไปถึง 597,500 นัด และใช้งบประมาณในการปราบปรามคนเสื้อแดงเกือบ 3 พันล้านบาท

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 92 ราย บาดเจ็บ 1,500 ราย แต่รายงานจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) เปิดเผยว่าจากการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวน 94 ราย และการไต่ส่วนในชั้นศาลยังพบว่าผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 รายจากกระสุนของเจ้าหน้าที่รัฐ

ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายประชาชนกลับถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเรื่อยมา และคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย เช่น กลุ่มชายชุดดำที่ใช้อาวุธติดลำกล้องยิงใส่ประชาชนก็ถูกศาลพิพากษายกฟ้อง แต่เมื่อเป็นคดีที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนกลับไปไม่ถึงไหน

“ความยุติธรรมที่มาช้าเรียกว่าความอยุติธรรม แต่ความอยุติธรรมที่หยุดนิ่งและไม่มีทีท่าจะมา นี่ยิ่งกว่าความอยุติธรรมที่กดทับประชาชนของประเทศ” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าว

The Momentum ชวนรำลึกถึงประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของภาครัฐ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมกลับสู่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพราะทุกความตายมีใบหน้า ทุกผู้เสียชีวิตมีญาติ มีครอบครัว

คืนความเป็นมนุษย์ให้กับคนเสื้อแดง ผ่านการรำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่แม้จะผ่านมาแล้ว 14 ปี แต่พวกเขายังคงต้องการความ ‘ยุติธรรม’

1.

ชื่อ-สกุล: เกรียงไกร คำน้อย

อายุ: 23 ปี

มรณะ: 11 เมษายน 2553

อาชีพ: รับจ้าง / ขับรถตุ๊กตุ๊ก

สถานที่เกิดเหตุ: บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกระทรวงศึกษาธิการ

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงที่สะโพกด้านซ้ายทะลุขวาและอก กระสุนฝังที่หลังเสียเลือดมาก

เกรียงไกรถือเป็นศพแรกในการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 เขาถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง และเสียชีวิตเพราะเสียเลือดมาก วิถีกระสุนมาจากหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่

ศาลมีคำสั่งพิพากษาว่า เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธยิงเกรียงไกรที่หน้าอกและลำตัวจนได้รับบาดเจ็บขณะยืนอยู่ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ แลหน่วยกู้ภัยนำตัวส่งโรงพยาบาล ภายหลังเขาเสียชีวิตในวันที่ 11 เมษายน 2553

2.

ชื่อ-สกุล: อนันท์ ชินสงคราม

อายุ: 38 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2553

อาชีพ: รับจ้างวาดรูป

สถานที่เกิดเหตุ: บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกแก๊สน้ำตา ปอดติดเชื้อ และปอดอักเสบเรื้อรัง

3.

ชื่อ-สกุล: มนต์ชัย แซ่จอง

อายุ: 54 ปี

มรณะ: 11 เมษายน 2553

อาชีพ: ขายเทปคาสเซ็ตต์มือสองอยู่ที่ท่าช้าง

สถานที่เกิดเหตุ: บริเวณถนนราชดำเนิน

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกแก๊สน้ำตาส่งผลให้ติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบการหายใจล้มเหลว

4.

ชื่อ-สกุล: ธวัฒนะชัย กลัดสุข

อายุ: 36 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ลูกจ้างธนาคาร / ขับแท็กซี่

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงเข้าอกซ้ายทะลุหลังและต้นขาซ้าย เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงตัดผ่านเส้นเลือดใหญ่

5.

ชื่อ-สกุล: ไพรศล ทิพย์ลม

อายุ: 37 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ชิปปิ้งท่าเรือ

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงศีรษะ

6.

ชื่อ-สกุล: อำพน ตติยรัตน์

อายุ: 26 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงศีรษะ

7.

ชื่อ-สกุล: อนันต์ สิริกุลวาณิชย์

อายุ: 54 ปี

มรณะ: 14 พฤษภา 2553

อาชีพ: รับจ้าง / รับเหมาทำอลูมิเนียม

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ปอดอักเสบติดเชื้อเพราะแก๊สน้ำตา บาดแผลกระสุนปืนที่คอ

8.

ชื่อ-สกุล: เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์

อายุ: 29 ปี

มรณะ: 11 เมษายน 2553

อาชีพ: รับจ้าง / พนักงานบริษัท

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงบริเวณอกหลายตำแหน่ง กระสุนทะลุหัวใจและปอด

9.

ชื่อ-สกุล: สวาท วางาม

อายุ: 28 ปี

มรณะ: 10 เมษายน

อาชีพ: พนักงานส่งเฟอร์นิเจอร์

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงศีรษะ

10.

ชื่อ-สกุล: บุญธรรม ทองผุย

อายุ: 46 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: รับจ้าง / ช่างไฟฟ้า

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงหน้าผากซ้ายทะลุศีรษะด้านหลังส่วนบน

11.

ชื่อ-สกุล: สมิง แตงเพชร

อายุ: 49 ปี

มรณะ: 14 เมษายน 2553

อาชีพ: ขายกับข้าวตามตลาดนัด

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงศีรษะ

12.

ชื่อ-สกุล: สมศักดิ์ แก้วสาร

อายุ: 34 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: รับจ้าง / ขับแท็กซี่

สถานที่เกิดเหตุ: สี่แยกคอกวัว

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงหลังทะลุชายโครงขวา ไตขวาฉีก เสียเลือดมาก

13.

ชื่อ-สกุล: บุญจันทร์ ไหมประเสริฐ

อายุ: 55 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ทำไร่อ้อย

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงบริเวณสะโพกข้างซ้าย กระสุนทะลุเส้นเลือดแดงใหญ่ เสียเลือดมาก

14.

ชื่อ-สกุล: ยุทธนา ทองเจริญพูลพร

อายุ: 23 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: กำลังจะเข้ารับปริญญา คณะวิศวกรรมศาสร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงศีรษะ

15.

ชื่อ-สกุล: วสันต์ ภู่ทอง

อายุ: 39 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: รับจ้าง / ช่างเย็บผ้า

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงที่ศีรษะและขา

วสันต์ ภู่ทอง, ทศชัย เมฆงามฟ้า และฮิโรกิ มูราโมโตะ เสียชีวิตบริเวณถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาในเวลาเดียวกัน ขณะเสียชีวิต วสันต์กำลังยืนถือธงชาติไทยและร่วมผลักทหารไม่ให้เข้ามาในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เขาถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงไม่ทราบชนิดเข้าบริเวณศีรษะด้านซ้าย ส่วนหลังบนทะลุกะโหลกศีรษะและตัดเนื้อสมอง กระสุนทะลุออกด้านหน้า

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 ศาลระบุว่าจากการเบิกความทั้งตำรวจสังเกตการณ์และผู้ร่วมชุมนุม ไม่มีใครเห็นบุคคลที่ใช้อาวุธยิงผู้ตายทั้ง 3 คน ศาลจึงมีคำสั่งว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือ หรือไม่ทราบว่าวิถีกระสุนที่ยิงทั้ง 3 คนว่ามาจากทิศไหน แม้ก่อนหน้านี้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำสั่งไต่สวนเมื่อกันยายน 2556 ว่าการตายของบุคคลทั้งสามมาจากวิถีกระสุนปืนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ขณะถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปยังบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศ ใกล้แยกสะพานวันชาติ แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

16.

ชื่อ-สกุล: สยาม วัฒนนุกูล

อายุ: 52 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ช่างซ่อมรถทัวร์

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: เสียเลือดมากจากการถูกยิงที่อกทะลุหลอดเลือดแดงใหญ่

สยามและจรูญเสียชีวิตในที่เกิดเหตุบริเวณเดียวกัน คือ ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อ 30 กันยายน 2556 ศาลมีคำสั่งว่าวิถีกระสุนปืนที่ยิงมานั้นมาจากเจ้าพนักงานแต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ โดยศาลได้พิเคราะห์หลักฐานจากประจักษ์พยาน 4 ปาก ที่เห็นประกายไฟออกจากกระบอกปืนของเจ้าหน้าที่และมีเสียงปืนมาจากเจ้าหน้าที่ขณะถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปยังซอยข้างวัดบรวรนิเวศ

จรูญเสียชีวิตที่โรงพยาบาลกลาง สาเหตุการตายเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ส่วนสยามเสียชีวิตระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง และสาเหตุจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน จากการตรวจสอบพบว่ากระสุนที่อยู่ในตัวจรูญเป็นกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันสลายการชุมนุม ส่วนเศษลูกกระสุนในตัวสยามไม่สามารถยืนยันได้ว่ากระสุนมีขนาดเท่าไร

แต่เมื่อทั้ง 2 คนอยู่ในบริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธมาทางประชาชน จึงเชื่อว่าทั้งสองคนถูกยิงมาจากบริเวณเดียวกัน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ยิง

17.

ชื่อ-สกุล: จรูญ ฉายแม้น

อายุ: 46 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ขับแท็กซี่

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงที่อกขวา

การเสียชีวิตของจรูญ ศาลมีคำพิพากษาไต่สวนเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 ว่าวิถีกระสุนปืนที่ยิงมานั้นมาจากเจ้าพนักงาน แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือ

จรูญเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง เมื่อศาลพิเคราะห์จากหลังฐานพยานประจักษ์ 4 ปากแล้ว พบว่าเห็นประกายไฟจากกระบอกปืนและเสียงปืนจากทางเจ้าหน้าที่ขณะถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปยังซอยข้างวัดบวรนิเวศ และยังพบว่าลูกกระสุนที่พบในศพเป็นกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ

18.

ชื่อ-สกุล: ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ (Hiroyuki Muramoto)

อายุ: 43 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงที่อก กระสุนทำลายปอดและหลอดเลือดใหญ่

นักข่าวสัญชาติญี่ปุ่น ช่างภาพประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ เสียชีวิตในบริเวณและช่วงเวลาเดียวกับ วสันต์ ภู่ทอง และทศชัย เมฆงามฟ้า ฮิโรยูกิเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงเข้าที่ทรวงอกด้านซ้าย ทำลายปอด และหลอดเลือดแดงใหญ่ตัดกับซี่โครงขวา ทะลุกล้ามเนื้อต้นแขนด้านขวา ออกบริเวณต้นแขนขวาด้านหลัง แต่ไม่พบหัวกระสุนปืนในศพ จึงไม่สามารถบอกชนิดและขนาดกระสุนปืนได้

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 ศาลระบุว่าการเบิกความพบว่าทั้งตำรวจสังเกตการณ์ และผู้ร่วมชุมนุมไม่มีใครเห็นบุคคลที่ใช้อาวุธยิงผู้ตายทั้ง 3 คน ศาลจึงมีคำสั่งว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือ หรือไม่ทราบว่าวิถีกระสุนที่ยิงทั้ง 3 คน มาจากทิศไหน แม้ก่อนหน้านี้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำสั่งไต่สวนเมื่อกันยายน 2556 ว่าการตายของทั้ง 3 คน มีวิถีกระสุนปืนมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ขณะถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

19.

ชื่อ-สกุล: ทศชัย เมฆงามฟ้า

อายุ: 43 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: พนักงานบริษัท

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนที่ทรวงอกทะลุหัวใจ

ทศชัย เมฆงามฟ้า, วสันต์ ภู่ทอง, และฮิโรกิ มูราโมโตะ เสียชีวิตในบริเวณถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาในเวลาเดียวกัน ทศชัยถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่ไม่ทราบชนิดและขนาดเข้าที่ทรวงอกด้านหลังซ้าย

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 ศาลระบุว่าการเบิกความทั้งตำรวจสังเกตการณ์และผู้ร่วมชุมนุมไม่มีใครเห็นบุคคลที่ใช้อาวุธยิงผู้ตายทั้ง 3 คน ศาลจึงมีคำสั่งว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือ หรือไม่ทราบว่าวิถีกระสุนที่ยิงทั้ง 3 คนมาจากทิศไหน แม้ก่อนหน้านี้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำสั่งไต่สวนเมื่อกันยายน 2556 ว่าการตายของทั้ง 3 คน มีวิถีกระสุนปืนมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ขณะถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

20.

ชื่อ-สกุล: คนึง ฉัตรเท

อายุ: 50 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงที่อกขวา

21.

ชื่อ-สกุล: นภพล เผ่าพนัส

อายุ: 30 ปี

มรณะ: 13 เมษายน 2553

อาชีพ: เจ้าหน้าที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล.

สถานที่เกิดเหตุ: ไม่แน่ชัด

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงที่ท้องด้วยอาวุธปืนสงคราม

22.

ชื่อ-สกุล: ร้อยเอกภูริวัฒน์ ประพันธ์

อายุ: 25 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ทหาร

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกระเบิด

23.

ชื่อ-สกุล: ร้อยโท อนุพงษ์ เมืองอำพัน

อายุ: 23 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ทหาร

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกระเบิด

24.

ชื่อ-สกุล: พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม

อายุ: 43 ปี

มรณะ: 11 เมษายน 2553

อาชีพ: ทหาร

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกระเบิด

25.

ชื่อ-สกุล: ร้อยตรี สิงหา อ่อนทรง

อายุ: 22 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ทหาร

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกระเบิด

26.

ชื่อ-สกุล: ร้อยเอก อนุพนธ์ หอมมาลี

อายุ: 29 ปี

มรณะ: 13 เมษายน 2553

อาชีพ: ทหาร

สถานที่เกิดเหตุ: ถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกสะเก็ดระเบิด

27.

ชื่อ-สกุล: มานะ อาจราญ

อายุ: 23 ปี

มรณะ: 10 เมษายน 2553

อาชีพ: ลูกจ้างสวนสัตว์ดุสิต

สถานที่เกิดเหตุ: สวนสัตว์ดุสิต

สาเหตุการเสียชีวิต: ถูกยิงศีรษะ

มานะเป็นลูกจ้างของสวนสัตว์ดุสิต แผนกบำรุงรักษา ภายหลังศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ระบุว่า “นายมานะ อาจราญ ถึงแก่ความตายในสวนสัตว์ดุสิตในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยถูกกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทำลายเนื้อสมอง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ” เพราะว่าไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ว่าทหารหรือบุคคลใดเป็นผู้ยิง แม้ว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) สวนสัตว์ดุสิตจะเบิกความว่ามีการยิงของทหารจากในสวนสัตว์ และยิงเฉียงขึ้นฟ้าไปทางฝั่งรัฐสภาก็ตาม

นอกจากนี้จุดที่พบทหารหมอบอยู่ไม่ใช่จุดที่มานะเสียชีวิต ด้านการจำลองวิถีกระสุนไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นจุดเดียวกับที่ทหารหมอบอยู่ ส่วนปลอกกระสุน 2 ปลอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุก็ไม่อาจระบุว่าเป็นกระสุนที่ยิงมานะหรือไม่

Tags: , , , ,