อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าเป็นธุรกิจที่เคยเป็นความหวังของประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเพราะข้อได้เปรียบด้านแรงงานฝีมือที่มีต้นทุนไม่แพงนัก และการลงทุนในด้านเทคโนโลยีทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ช่วงหลังมานี้ต้องยอมรับว่า ธุรกิจนี้ไม่ได้ ‘เซ็กซี่’ อีกต่อไป แถมยังมีปัจจัยหลายอย่างทำให้ยอดขายลดลง ไม่ว่าโรงงานในประเทศไทยหรือแบรนด์ใหญ่ๆ ในต่างประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า
หากมองประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าคือต้นทุนการผลิตด้านแรงงาน ในยุคที่ประเทศไทยกำลังมีเศรษฐกิจที่มาแรง มีเงินลงทุนจากต่างชาติ มีโครงสร้างสาธารณูปโภคภายในประเทศที่พร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ธุรกิจหลายๆ อย่างรวมถึงอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอเฟื่องฟูไปพร้อมๆ กัน แต่จากนั้นไม่นาน competitve advantage หรือข้อได้เปรียบในการแข่งขันนี้ได้เสื่อมไป เพราะประเทศรอบข้างก็พัฒนาถีบตัวเองเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น แรงงานคุณภาพในต้นทุนที่ถูกกว่าในประเทศอื่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฐานการผลิตเสื้อผ้าเคลื่อนย้ายไปอยู่กับประเทศรอบข้าง
หลายท่านคงพอเดาได้ว่าประเทศที่ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ามากที่สุดได้แก่ประเทศจีน ด้วยข้อได้เปรียบแทบทุกด้านตั้งแต่ต้นทุนและความต้องการในประเทศที่มีอยู่มาก ทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่ม (marginal cost) แทบไม่ได้มีผลกระทบมาก
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมนี้ที่เป็นเบอร์สองแบบคือบังคลาเทศ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 20 ของจีดีพีของประเทศ (!) เป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศสูงถึง 20 ล้านคน และเป็นแรงผลักดันหลักของเศรษฐกิจบังคลาเทศ
แม้ปัจจัยมหภาคด้านต้นทุนการผลิตเป็นส่วนประกอบสำคัญในภาคธุรกิจนี้ แต่ยังมีอีกตัวแปรหนึ่งที่มีผลกระทบมากกว่า นั่นก็คือ ความต้องการซื้อเสื้อผ้าที่ลดลง
ในสหรัฐอเมริกา เป็นที่ทราบกันว่า ร้านค้าแบบเดิมๆ ต้องเจอกับปัญหายอดขายที่ลดลง เพราะมีการซื้อ ขาย และส่งสินค้าออนไลน์ ที่มีเจ้าแห่งอีคอมเมิร์ซอย่างแอมะซอนมารุกตลาด แต่ในกรณีธุรกิจเสื้อผ้า แอมะซอนอาจไม่ใช่ผู้ร้ายแต่เพียงผู้เดียว
สินค้าเสื้อผ้าส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะเรียกได้ว่าเป็นกระแสนิยม ผู้คนส่วนหนึ่งใช้การแต่งกายเป็นการบ่งบอกถึงรสนิยม สไตล์ หรือแนวความคิดที่คนอื่นสามารถรับรู้ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว แต่การบ่งบอกถึงตัวตนผ่านเสื้อผ้าการแต่งกายอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ต้องได้รับความสนใจอย่างทันที (instant gratification) ของคนยุคใหม่ ผู้คนอาจเลือกใช้จ่ายไปกับอย่างอื่นที่ได้ ‘ประสบการณ์’ ดีกว่า เช่น การท่องเที่ยวหรือการกินอาหารอร่อยๆ รายจ่ายอีกจำพวกหนึ่งที่มาแย่งเงินในกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภค คือค่าใช้จ่ายกับอุปกรณ์เทคโนโลยี ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ จนถึงเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดอย่างหูฟังบลูทูธที่ราคาลดลงเรื่อยๆ
อีกตัวแปรหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทำงานในบริษัทสไตล์สตาร์ตอัปในอเมริกา คือนโยบายของนายจ้างที่ไม่จำกัดว่าจะต้องใส่ชุดเต็มยศมาทำงานเหมือนในสมัยก่อน เรียกได้ว่าใครใส่สูทผูกเน็คไทเดินในซิลิคอนแวลลีย์ที่มีบริษัทเทคโนโลยีมากมาย คงมีหลายสายตาจับจ้องด้วยความสงสัยว่า มาทำอะไรเพราะคงมีน้อยคนมากที่จะแต่งตัวแบบนี้มาทำงาน กระแสการแต่งตัวแบบลำลองเริ่มแพร่กระจายไปในบรรษัท อย่างเช่นธนาคาร เพื่อดึงดูดให้คนยุคใหม่ไปทำงานที่นั่น ทำให้เสื้อผ้าที่ใส่สำหรับไปเที่ยวในช่วงวันหยุดกลายเป็นชุดทำงานในวันธรรมดาโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ความต้องการซื้อเสื้อผ้าแบบทางการลดลง
การออกแบบเสื้อผ้าคอลเล็กชันใหม่ๆ เพื่อนำกระแสตลาด สร้างดีมานด์หรือความต้องการในการซื้อเสื้อผ้า อาจเป็นวิธีที่บริษัทแฟชั่นเคยใช้แล้วได้ผลสามารถทำให้เกิดยอดขายได้ดี แต่ปัจจุบัน สังคมและพฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป โซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ที่มีมากมาย ทำให้แฟชั่นต่างๆ ที่นักออกแบบมืออาชีพใช้เวลาสร้างสรรค์เป็นเวลานานอาจไม่ตอบโจทย์ของผู้บริโภค การออกชุดคอลเล็กชันใหม่แต่ละครั้งจึงเป็นความเสี่ยงไม่ใช่น้อย แต่ถ้าให้อยู่เฉยๆ ก็ยากที่จะได้รายได้เพิ่มเติม คนในวงการหลายคนจึงหันไปหากระบวนการใหม่ที่หวังว่า จะมาช่วยตอบโจทย์ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มากขึ้น
MakerSights เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใช้ AI เข้ามาช่วยลูกค้าค้าปลีกขายสินค้าแฟชันต่างๆ MakerSights ช่วยลูกค้าตัดสินใจว่าจะปล่อยสินค้าแบบไหนออกสู่ท้องตลาดโดยใช้ข้อมูลเข้ามาช่วยในกระบวนการออกแบบ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสทำกำไรจากสินค้ามากขึ้น บริษัทช่วยทดสอบตลาดโดยลูกค้าสามารถอัปโหลดกลุ่มสินค้าที่ต้องการทดสอบเข้าไปในแพลตฟอร์ม หลังจากนั้น บริษัทจะเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แล้ว AI ของ MakerSights ก็จะวิเคราะห์หาแบบแผนและช่วยคาดการณ์ความต้องการของตลาด ให้คำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์อะไรน่าจะตรงใจกลุ่มผู้ซื้อสินค้ามากที่สุด
Chip Bergh ซีอีโอของเสื้อผ้ายีนส์ Levis กล่าวถึงการร่วมงานกับ MakerSights ว่า เป็นการช่วยให้ช่องว่างระหว่างแบรนด์กับผู้ซื้อลดน้อยลง เพิ่มโอกาสสามารถเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้มากและเร็วขึ้น ส่งผลให้เลือกสินค้าได้ตรงใจผู้ซื้อมากขึ้น นอกจากเรื่องการตอบสนองต่อความต้องการภายนอก MakerSights ยังช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในที่นำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
นอกจาก MakerSights ก็ยังมีเครื่องมือจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่ร้านค้าปลีกสามารถนำมาใช้ช่วยตัดสินใจได้ เช่น Edited ที่มีบริการวิเคราะห์สินค้าคงคลังในโลกออนไลน์ของหลายๆ แบรนด์ในกว่า 130 ประเทศ Edited ใช้ทั้งเทคนิคด้านการวิเคราะห์ภาษา (Natural Language Processing) และการวิเคราะห์ภาพ (Computer Vision) โดยลูกค้าสามารถสังเกตความเคลื่อนไหวของสินค้าแบรนด์ดังๆ เช่น Topshop หรือ Zara เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะส่งสินค้าอะไรออกมาขายตามหน้าร้าน
ความเป็นไปในธุรกิจเสื้อผ้ายังคงเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะว่าไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เสื้อผ้าก็ยังเป็นหนึ่งในพื้นฐานปัจจัยสี่ที่คนเรายังต้องการ ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์ไหนหรือผู้ผลิตใดที่จะเก็บเกี่ยวกำไรได้สูงสุด ผู้ชนะในธุรกิจนี้คงหนีไม่พ้นบริษัทที่มีรสนิยมที่น่าสนใจผสมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้มีสินค้านำตลาดและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามความต้องการผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว
Tags: Zara, Topshop, แฟชั่น, Levis