หลังจากแฟนๆ แฮร์รี พอตเตอร์ อดใจรอมานาน เทรลเลอร์ภาพยนตร์เรื่อง Fantastic Beasts :The Crimes of Grindelwald ก็ได้ออกมาให้ชมกันสมกับที่รอคอยเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 Fantastic Beasts เป็นหนึ่งในภาพยนตร์จากชุดจักรวาลแฮร์รี พอตเตอร์ ที่เขียนโดย เจ.เค. โรว์ลิง ภาพยนตร์ภาคนี้ กล่าวถึงการผจญภัยของ นิวท์ สคามันเดอร์ กับการตามล่า เกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ (รับบทโดย จอห์นนี่ เดปป์) พ่อมดที่ชั่วร้ายที่สุดแห่งยุคก่อนหน้าลอร์ดโวลเดอมอร์

เทรลเลอร์ทำให้เห็นว่า เนื้อเรื่องในภาคนี้ยังคงมีส่วนผสมที่น่าตื่นตาตื่นใจในแบบฉบับของโลกเวทมนตร์ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปและทำให้เทรลเลอร์นี้กลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างหนาหู คือ การปรากฏตัวของ ‘นากินี’ (Nagini) งูซึ่งเป็นสัตว์รับใช้ของจอมมารในนวนิยายชุด แฮร์รี พอตเตอร์ แต่ในภาพยนตร์ตัวอย่างนี้ กลับเปิดเผยตัวตนแท้จริงของนากินีว่าเป็นมนุษย์เพศหญิงซึ่งมีเลือดต้องสาป หรือที่เรียกว่า ‘เมลิดิกตัส’ (melidictus) ซึ่งปลายทางของคำสาปทำให้เธอกลายเป็นสัตว์ตามคำต้องสาปนั้นไปอย่างถาวร คำสาปนี้ถูกส่งต่อจากแม่สู่ลูกสาวตั้งแต่เกิด ซึ่ง เจ.เค. โรว์ลิง กล่าวว่าเธอได้ปิดบังความลับเรื่องตัวตนของนากินีมาเป็นเวลาถึง 20 ปีเต็ม

นากินี = เอเชียน ตอกย้ำความสูงส่งของคนขาว?

บทบาทของนากินีในภาพยนตร์ดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดผ่าน คลอเดีย คิม (Claudia Kim) นักแสดงสาวสัญชาติเกาหลีใต้ จึงทำให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเข้ามารับบทบาทของเธอซึ่งเป็นคนเอเชีย ว่าเป็นการตอกย้ำแนวคิดของพวกนิยมความสูงส่งของคนผิวขาว (White supremacist) ซึ่งกล่าวถึงการที่คนผิวขาวนั้นเป็นใหญ่เหนือทุกชาติพันธุ์ และเป็นการตอกย้ำถึงค่านิยมการเหยียดผิว (racism) อีกด้วย

มีผู้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นดังกล่าวด้วยการเมนชันหา เจ.เค โรว์ลิง ผู้เขียน ในทวิตเตอร์ ซึ่งเธอได้ตอบกลับมาว่า แท้จริงแล้วตัวละครนากินีนั้นมีที่มาจากตำนานปกรณัมของอินโดนีเซีย เรื่อง นาค (naga)  ซึ่งบางครั้งก็เป็นสัตว์ที่มีปีกหรือเป็นครึ่งมนุษย์ และยังเป็นตำนานที่มีการกล่าวถึงในหลากหลายชนเผ่าพื้นเมืองทั้งของชาวชวา จีน และเบตาวิ (มาเลเซีย) อีกด้วย

ตำนานนาค ตำนานงู ตำนานของที่ใด

แทนที่จะทำให้ผู้คลางแคลงนั้นสงบ การตอบคำถามดังกล่าวกลับสร้างข้อถกเถียงเพิ่มมากขึ้น มีผู้คนออกมาชี้แจงว่าแท้จริงแล้วนาคนั้นเป็นตำนานของฮินดู โดย Naga ในภาษาสันสกฤติ แปลว่า งู (serpent) ตามตำนานทาง ฮินดู (Hinduism) พุทธ (Buddhism) และ เชน (Jainism) ได้กล่าวว่านาคเป็นครึ่งเทพที่มีร่างครึ่งมนุษย์และงู อาศัยอยู่ในอาณาจักรใต้ดินที่เรียกว่า นาคโลกา (Naga-loka) หรือ ปัตตาลาโลกา (Patala-loka) มีหน้าที่สำคัญในการเฝ้าสมบัติและมีความเกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำ ทะเล ทะเลสาบ บ่อน้ำ เป็นต้น เมื่อกล่าวมาถึงจุดนี้แล้วจะเห็นได้ว่าที่มาของนากินีก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก คำแก้ว ในเรื่อง นาคี ละครที่โด่งดังในปีที่ผ่านมา

   แต่นาคก็ไม่ได้เป็นตำนานเทพงูเพียงตำนานเดียวที่เป็นที่กล่าวถึง ในโลกนี้ยังคงมีตำนานเกี่ยวกับงูที่เป็นที่พูดถึงอีกมาก เช่น อมารู (Amaru) ของอเมริกาใต้ The Quetzalcoatls (Plumed Serpents) ในเม็กซิโก the Djedhi ซึ่งมีความหมายว่า งู ในอียิปต์ The Lung หรือ มังกร ในจีน และ Adders ในอังกฤษ

เขาว่า ผู้หญิงเอเชียร้ายเหมือนมังกร

ก่อนจะมามีข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องตัวละคร นากินี ใน Fantastic Beasts ผู้หญิงเอเชียก็เคยมีภาพลักษณ์ที่ถูกเชื่อมโยงกับงูหรือมังกร นั่นคือ การกล่าวถึงผู้หญิงเอเชียตะวันออก (และบางครั้งก็รวมถึงเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้) ว่า ‘Dragon Lady’ ซึ่งเป็นการเหมารวมถึงภาพลักษณ์ของผู้หญิงซึ่งมีความแข็งแกร่ง เหลี่ยมจัด ครอบงำ และลึกลับ ที่มาของคำดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจาก แอนนา เม หว่อง (Anna May Wong) นักแสดงสาวชาวแคนาดาเชื้อสายจีน ผู้รับบทบาทเป็นตัวร้ายในเรื่อง Terry and The Pirates

แอนนา เม หว่อง ภาพถ่ายโดย Carl Van Vechten [Public domain], via Wikimedia Commons

คำคำนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของคำแสลงของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1930 เอาไว้กล่าวถึงผู้หญิงที่แข็งแกร่งแต่ก็เต็มไปด้วยหนามที่แหลมคมพร้อมจะทิ่มแทงผู้ที่เข้าไปใกล้เสมอ

เย็นชา-ไร้อารมณ์: นักแสดงเอเชียนกับการเหมารวม

ภาพลักษณ์ของนักแสดงหญิงชาวเอเชียในสายตาของผู้ชมยังคงถูกควบคุมด้วยการเหมารวมอยู่หรือไม่ Hanying Wang จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง (Huazhong University of Science and Technology) ได้ศึกษาจนออกมาเป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘Portrayals of Chinese Women’s Images in Hollywood Mainstream Films — An Analysis of Four Representative Films of Different Periods’

Wang ได้ศึกษาภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษ 1930-2000 จำนวนสี่เรื่อง ได้แก่ Daughter of Dragon (1931), The World of Suzie Wong (1960), Year of the Dragon (1985) และ Tomorrow Never Dies (1997) ซึ่งนักแสดงที่เข้าร่วมเป็นนักแสดงที่เชื้อสายจีน-อเมริกันที่มีชื่อเสียงในแต่ละยุค

Daughter of Dragon

The World of Suzie Wong

เธอได้กล่าวสรุปว่า ภาพยนตร์แต่ละยุคนั้นล้วนสะท้อนให้เห็นการเหมารวม (stereotype) ของชาวตะวันตกที่จะมองชาวตะวันออกว่าเป็นผู้ล้าหลัง อ่อนแอ และไม่มีเหตุผล และมักจะนำเสนอวัฒนธรรมแบบเอเชียในรูปแบบที่เสื่อมถอยและในขณะเดียวกันก็แปลกแยก ส่งผลให้บทบาทของนักแสดงชวเอเชียทั้งชายและหญิงต้องตอบสนองต่อแนวคิดดังกล่าว โดยมักจะถูกนำเสนอให้อยู่ใต้อำนาจของชาวตะวันตก

ในตอนท้ายเธอยังได้ยกคำกล่าวของ ฉิง จุน ผู้เป็นเจ้าของหนังสือ Asian America through the lens: History, representations, and identity ซึ่งได้กล่าวว่า ชาวเอเชียและชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียนั้นไม่ใช่ผู้คนที่แข็งแกร่งและไร้อารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว เขายังได้กล่าวต่อไปว่า บทบาทของชาวเอเชียในภาพยนตร์นั้นสามารถมีอารมณ์ เกี่ยวข้องกับการเมือง และยังผิดพลาดได้อีกด้วย พวกเขาเป็นคนธรรมดาที่สามารถหัวเราะ ร้องไห้ และด่าว่าได้

Tomorrow Never Dies

การสร้างตัวละครนากินีให้เป็นผู้หญิงเอเชียนของ เจ. เค. โรว์ลิง จึงอาจสร้างความไม่สบายใจให้ผู้ที่มองว่า นี่คือการกลับมาอีกครั้งของภาพลักษณ์เหมารวมคนเอเชียที่สะท้อนผ่านบทบาทงูนากินี รวมทั้งบทบาทสตรีชาวเอเชียที่มีเล่ห์เหลี่ยม

อย่างไรก็ดี คลอเดีย คิม ผู้รับบทนากินี ได้ออกมาพูดถึงการรับบทบาทดังกล่าวว่า อยากให้รอผู้ชมติดตามด้านที่แตกต่างออกไปของนากินี จากที่เคยมองเเต่เพียงว่าเธอเป็นฮอร์ครักซ์ (Horcrux) หรือวัตถุที่โวลเดอร์มอร์ใช้ซุกซ่อนวิญญาณส่วนหนึ่งของเขาเอาไว้ แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทุกคนจะได้เห็นนากินีในฐานะของผู้หญิงที่บอบบางและมหัศจรรย์ ที่ต้องจะใช้ชีวิตต่อไปในฐานะมนุษย์ ซึ่งเธอเองเห็นว่าเป็นจุดพลิกแพลงสำคัญของตัวละครดังกล่าว

 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,