ฤดูกาลงานแต่งงานวนมาอีกปีแล้ว จะใส่ซอง 300 บาท 500 บาท หรือว่า 1,000 บาทเลยดี 

สำหรับวัยผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวมาเกิน 30 ปี สิ่งนี้คงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าไรนัก แต่สำหรับวัยเริ่มทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว ที่คนรอบข้างทั้งเพื่อนสมัยเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย หรือเพื่อนร่วมงานเพิ่งทยอยเข้าสู่ประตูวิวาห์ คงรู้สึกหนักใจไม่น้อยเมื่อคิดว่าต้องใส่ซองเท่าไรถึงจะเหมาะสม ทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่ควรนำมาคิดประกอบการคำนวณอย่าง การไปหรือไม่ไปร่วมงาน หรือสนิทสนมกันมากน้อยเพียงใด จำนวนเงินในซองก็จะแปรผันตาม

ก่อนอื่นเราต้องแยกพิธีการแต่งงาน กับงานเลี้ยงฉลองออกจากกัน ในช่วงพิธีการไม่ว่าจะเป็นพิธีสงฆ์ พิธีรดน้ำสังข์ หรือพิธียกน้ำชาแบบจีน ตามแต่ละวัฒนธรรม พิธีการแต่งงานจะให้ความสำคัญไปที่ครอบครัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว เพราะฉะนั้นกลุ่มเพื่อนหรือแขกที่มาร่วมงานเพื่อเป็นสักขีพยานจะมีส่วนร่วมในตรงนี้น้อย จนกระทั่งพิธีการมงคลเหล่านี้จบลง จึงได้เวลาแห่งการเฉลิมฉลองมงคลสมรสให้แก่คู่บ่าวสาวแบบที่คนไทยคุ้นเคย ในรูปแบบงานเลี้ยงทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และเครื่องดื่ม โดยบ่าวสาวออกมากล่าวขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน

การจัดงานเลี้ยงฉลองการแต่งงานนี้ ภาพสังคมไทยในอดีตจะมีญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือคนในชุมชนมาช่วยกันจัดงาน หรือเรียกว่า ‘เอาแรง’ โดยการเอาแรงเป็นวิถีในสังคมเกษตรกรรม และปัจจุบันยังปรากฏอยู่ในบางพื้นที่ของไทย ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ ด้วยภารกิจหน้าที่ของแต่ละอาชีพที่ต่างกัน แม้จะมีใจผูกพันกันอยู่ แต่ก็ไม่สามารถเจียดเวลามาช่วยจัดงานแบบเอาแรงได้ จึงค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปเป็นการให้เงินช่วยงานแทน ไม่ว่าจะมาร่วมงานหรือไม่ก็ตาม

ซึ่งซองเงินช่วยงานนี้ในหลายครอบครัว จะมีการแกะเงินออกมานับ แล้วจดบันทึกไว้ว่าแขกแต่ละคนใส่ซองให้มากี่บาท แล้วเมื่อถึงเวลาที่บ้านอื่นจัดงานบ้างจะใส่ซองคืนในจำนวนเงินที่เท่าๆ กัน ทั้งงานบวช และงานแต่งงาน 

อย่างไรก็ตามธรรมเนียมที่แขกผู้มาร่วมงานต้องใส่ซองงานแต่งของไทยนั้น ปัจจุบันไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ แต่สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน ที่มีการเอาเงินใส่ซองแดง หรือ ‘อั่งเปา’ ให้เป็นของขวัญ นอกจากจะให้เมื่อถึงวันปีใหม่แล้ว ยังให้เป็นของขวัญเจ้าบ่าวเจ้าสาวในพิธีมงคลอย่างการแต่งงานด้วย ซึ่งการให้เงินเป็นของขวัญทำให้ผู้ให้ไม่ต้องคิดมากเรื่องจำนวนเงินในซองมากนัก 

นอกจากเป็นวัฒนธรรมจีนแล้ว การใส่ซองงานแต่งงานยังเป็นธรรมเนียมในสังคมญี่ปุ่นและเกาหลีเช่นกัน ในประเทศญี่ปุ่นการใส่ซองงานแต่งถือว่าเป็นเงินสำหรับช่วยงานแต่ง ซึ่งมีการกำหนดตัวเลขมงคลไว้อยู่แล้ว โดยตัวเลขหลักแรกต้องเป็นเลขคี่เท่านั้น แต่ต้องใส่จำนวนธนบัตรให้เป็นเลขคู่ ยกเว้นเลข 4 และ 9 ที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าไม่เป็นมงคล ด้วยกฎปฏิบัติที่เคร่งครัด ทำให้ไม่ต้องปวดหัวคำนวณเงินใส่ซอง หรืออย่างบางงานในประเทศสิงคโปร์จะมีการกำหนดขั้นต่ำในการใส่ซองเอาไว้เลยเพื่อเป็นค่าอาหารในงานเลี้ยง

แต่สำหรับคนไทย ไม่เหมือนทั้งสังคมจีน และสังคมญี่ปุ่น เราต้องกุมขมับเพราะติดอยู่ระหว่างการใส่ซองเพื่อช่วยงาน กับใส่ซองเพื่อเป็นของขวัญ แล้วหากให้ของขวัญเป็นเงินควรต้องให้เท่าไหร่ จึงทำให้ไม่รู้ว่าเราจะต้องใส่ซองงานแต่งกี่บาทดี อีกทั้งยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวโยง กลายเป็นเรื่องชวนปวดเศียรเวียนเกล้า และจริงจังจนถึงกับมีเว็บไซต์ช่วยคำนวณเงินใส่ซองเลยทีเดียว มีทั้งเว็บไซต์ Typeไทย และเว็บไซต์คิดให้นะ เข้ามาเป็นตัวช่วยผสานความสัมพันธ์กับเพื่อนเมื่อต้องมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง

โดยระดับความจริงจังของเว็บไซต์ Typeไทย คือการเชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใส่ซองทั้งนักประวัติศาสตร์ นักบัญชี และนักคณิตศาสตร์มาร่วมกันหาสูตรคำนวณตีค่าความสัมพันธ์ออกมาเป็นจำนวนเงินใส่ซอง จนออกมาเป็นสูตรคำนวณคือ (2% ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน) x (ค่าความสำคัญของงาน + ค่าความใกล้ชิด) = จำนวนเงินใส่ซอง

และสำหรับเว็บไซต์คิดให้นะ เมื่อเข้าไปแล้วจะให้เราเลือกความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนเจ้าของงานว่าสนิทกันมากน้อยแค่ไหน เรามีรายได้ต่อเดือนเท่าไร และเราไปร่วมงานแต่งครั้งหรือไม่ เป็น 3 สิ่งที่จะนำมาคิดคำนวณจำนวนเงินใส่ซองของเรา คล้ายกับเว็บไซต์ Typeไทย

นอกจากงานแต่งแล้ว เว็บไซต์ยังช่วยคำนวณจำนวนเงินใส่ซองทั้งงานตรุษจีน งานศพ งานบวช งานทำบุญแบบไทย และยิ่งไปกว่านั้นในเว็บไซต์คิดให้นะยังคำนวณเงินค่าสินสอดให้เราได้อีกด้วย โดยใช้รายได้ต่อเดือน อายุงาน ฐานะครอบครัวและค่านิยมของทั้งสองฝ่ายมาประกอบการคำนวณ แต่อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ข้างต้น มีหมายเหตุไว้ว่า ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น เพระฉะนั้น นี่อาจไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานใหม่แต่อย่างใด

แม้การไปร่วมงานแต่งงานจะต้องพกเงินใส่ซองไปด้วย แต่สำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาวหลายคู่อาจมองว่าจำนวนเงินนั้นไม่ได้สำคัญเท่าการได้เห็นเพื่อนที่รักมาร่วมงาน และเข้าอกเข้าใจว่าการเดินทางมาร่วมงานย่อมมีค่าใช้จ่ายแฝงนอกจากเงินใส่ซอง ทั้งค่าเดินทาง ค่าชุดใส่ไปงาน และอื่นๆ ดังนั้นในฐานะเพื่อนผู้ร่วมงานควรหยุดคิดเกี่ยวกับจำนวนเงิน แล้วปล่อยให้เว็บเป็นตัวช่วยคำนวณให้ เพื่อที่จะได้คิดถึงแค่เรื่องแสดงความยินดีกับคู่แต่งงานใหม่ก็พอแล้ว

อ้างอิง:

https://www.fun-japan.jp/th/articles/13140 

https://kidhaina.com/giftmoney.html 

https://typethai.co/3128/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%82-%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%93 

Tags: , , , , , , , ,