หลายคนอาจสังเกตได้ว่า เมื่อสมาชิกในครอบครัวของเราอยู่ในสถานะปู่ย่าตายายแล้ว กลับแสดงความรัก ความเอาใจใส่หลาน มากกว่าสมัยก่อนที่เลี้ยงลูกตนเองเสียอีก ในบางครอบครัวที่เคยเข้มงวดกับลูก แต่พอเวลาผ่านไปกลับสปอยล์หลาน ตามใจ ‘เจ้าตัวเล็ก’ ของบ้านทุกอย่าง เหมือนกับว่า พ่อแม่ที่เข้มงวดคนนั้นไม่มีอยู่อีกต่อไป

เหมือนกับในภาษาไทยมีคำพังเพย ‘แขนงแรงกว่าหน่อ’ หรือ ‘แขนงแรงกว่ากิ่ง’ สื่อถึงปู่ย่าตายายที่รักหลานมากกว่าลูก สถานการณ์นี้ทำให้คำกล่าวที่ว่า ‘พ่อแม่รักลูกมากที่สุด’ อาจเป็นความจริงเพียงแค่ตอนที่พวกเขายังไม่มีหลานเท่านั้น

แม้จะฟังดูเป็นความเชื่อหรือมายาคติระหว่างคนในแต่ละเจเนอเรชัน ทว่าเมื่อมามองกันถึงในมุมวิทยาศาสตร์ ถึงกับมีงานวิจัยที่ทำการทดลองเอาคุณย่าคุณยายมาสแกนสมอง แล้วพบว่า พวกเขากลับรักหลานมากกว่าลูกตนเองจริงๆ

เจมส์ ริลลิง (James Rilling) ศาสตราจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา (Anthropology) และภาควิชาจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ (Psychiatry and Behavioral Sciences) มหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทดลองกับคุณย่าคุณยายจำนวน 50 คน ที่มีหลานแท้ๆ ทางสายเลือดวัย 3-12 ปี โดยให้ย่ายายดูรูปภาพของหลาน เปรียบเทียบกับรูปภาพของลูกที่โตแล้ว รวมถึงเปรียบเทียบกับรูปของเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จัก และใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (functional Magnetic Resonance Imaging: fMRI) ตรวจดูการทำงานของสมอง

ผลการศึกษา พบว่า ขณะที่ดูรูปภาพของหลาน สมองจะถูกกระตุ้นให้เกิดความเห็นใจทางอารมณ์ความรู้สึก (Emotional Empathy) หรือมีอารมณ์ร่วมไปกับหลาน แต่เมื่อดูรูปของลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่ สมองจะถูกกระตุ้นให้มีความเห็นใจทางความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Cognitive Emphaty)

“ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมทดลองมักมีอารมณ์ร่วมไปกับหลาน ให้ความสำคัญที่อารมณ์ของหลาน หากหลานยิ้ม ย่ายายก็จะรู้สึกสนุกไปด้วย แต่ถ้าหลานร้องไห้ ย่ายายก็จะรู้สึกเจ็บปวด ในทางตรงกันข้าม เมื่อได้ดูรูปภาพลูกๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผู้เข้าร่วมทดลองจะพยายามคิด และทำความเข้าใจความรู้สึกของลูกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่ด้านอารมณ์” ริลลิงกล่าว

สรุปโดยง่ายคือ กับลูกใช้ความคิดหรือเหตุผล แต่กับหลานใช้อารมณ์และความรู้สึก

นอกจากย่ายายจะรักหลานมากกว่าลูกแล้ว ผลสำรวจความเห็นของเด็กๆ จาก Preply เว็บไซต์สอนภาษาอังกฤษออนไลน์ ประเทศสหรัฐฯ ในปี 2023 ยังพบว่า เด็กหลายคนมักชอบขอคำแนะนำในเรื่องต่างๆ จากปู่ย่าตายาย มากกว่าปรึกษาพ่อแม่ตนเอง ที่น่าสนใจคือเด็กในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักเรียกย่ายายว่า นานา (Nana) และเรียกปู่ตาว่า ปาปา (Papa) สะท้อนถึงความสนิทสนมกับปู่ย่าตายาย ซึ่งเด็กกว่า 68 เปอร์เซนต์ ที่เข้าร่วมทำแบบสอบถาม ระบุว่า ใช้เวลาไปกับปู่ย่าตายายมากกว่าพ่อแม่เสียอีก

มิเชล ลันดีรอส (Michelle Landeros) นักบำบัดด้านการแต่งงานและครอบครัวที่มีใบอนุญาต (Licensed Marriage and Family Therapist: LMFT) กล่าวว่า

“ความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่าตายายกับหลานๆ โดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีความเครียดหรือความขัดแย้ง เพราะส่วนใหญ่ปู่ย่าตายายมักใช้วิธีการให้คำแนะนำที่ไม่ก้าวก่ายหลาน ในขณะที่พ่อแม่จะชี้นำ ชี้ผิดถูก และบางครั้งก็ตำหนิลูก ซึ่งปู่ย่าตายายไม่ค่อยตัดสินการกระทำของหลานๆ ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าไม่ต้องระมัดระวังมากนักในการเข้าหาปู่ย่าตายาย”

แม้จะเป็นเรื่องดีที่ปู่ย่าตายายรักและเอ็นดูหลาน แต่การตามใจหลานมากเกินไป จนกระทบวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ทำให้เกิดความลำบากใจในครอบครัวนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่

ทั้งนี้ ริลลิงได้ให้ข้อมูลว่า คุณย่าคุณยายที่ผ่านการทดลองสแกนสมองจำนวนหนึ่งระบุว่า ความท้าทายในฐานะย่ายาย คือการไม่เข้าไปยุ่มย่ามเมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่หลาน และต้องคำนึงว่าจะถ่ายทอดค่านิยมแบบใดให้หลาน

ย่ายายหลายคนพูดว่า “การเลี้ยงหลาน ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการเงินหรือเวลามากเท่าตอนเลี้ยงลูก เป็นเรื่องที่ดีที่สามารถสนุกกับการเป็นคุณย่าคุณยายมากกว่าตอนเป็นแม่” ริลลิงกล่าว

ท้ายที่สุด เราทุกคนทราบดีว่า การเลี้ยงดูลูกเป็นสิ่งที่เหนื่อยยากลำบาก แม้วันนี้ปู่ย่าตายายจะเป็นอีกหนึ่งแรงที่เข้ามาช่วยเลี้ยงดูหลานอย่างเต็มใจ แต่คนเป็นพ่อและแม่เองก็อย่าลืมมอบความรักความอบอุ่นให้ลูกอย่างเต็มที่ เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้วิธีมอบความรักให้คนอื่น เมื่อวันหนึ่งลูกเติบโตไปเป็นพ่อหรือแม่ จะได้ส่งต่อความรักนี้ให้กับเด็กได้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

อ้างอิง:

https://everymum.ie/my-family/heres-why-grandparents-seem-to-love-their-grandchildren-more-than-their-own-kids/

https://news.emory.edu/stories/2021/11/esc_grandmothers_brain_reaction_grandchildren_rilling_lee_17-11-2021/campus.html

https://www.parents.com/grandchild-granparent-bond-is-strong-8349649

Tags: , , , ,