เวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา (ซึ่งก็คือเช้าตรู่ของวันที่ 30 ตุลาคมนั่นเอง) ฉันได้แต่กรีดร้องเมื่อเห็นฟีดบนหน้าเฟซบุ๊ก เมื่อเพื่อนคนหนึ่งแชร์โพสต์ภาพแฟชั่นแคมเปญ ‘Everyday Say No To Plastic Bags’ โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศิลปินดาราจิตอาสากว่า 58 ท่าน มาร่วมแคมเปญถ่ายภาพ #everydaysaynotoplasticbags เพื่อบอกเล่าความรู้สึกแทนสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก ผ่านภาพถ่าย โดยเขียนอธิบายว่า

“อย่าปล่อยให้พลาสติกที่เราใช้แล้วทิ้ง กลับมาสร้างความเจ็บปวดให้กับทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกเดียวกัน ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกในชีวิตประจำวันกันคนละใบ สองใบ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวันข้างหน้า”

How Dare You! ฉันอยากจะพูดวลีนี้แก่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคนที่คิดแคมเปญนี้เสียจริง คิดได้อย่างไร เอาพลาสติก (ใหม่— แล้วต่อจากนี้ก็จะกลายเป็นขยะ) มาใช้เพื่อทำแคมเปญรณรงค์ลดการใช้พลาสติก เขาคิดดีแล้วใช่ไหม?

หลังจากกรีดร้อง How Dare You! ไปแล้ว ก็สามารถสืบเสาะหาได้ว่า ผู้ทำแคมเปญนี้กล่าวว่า “จุดประสงค์ของโครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อให้กลุ่มคนที่เป็นกระบอกเสียง ได้สื่อสารแทนสิ่งมีชีวิตอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พลาสติกของมนุษย์ ชีวิตเหล่านั้นไม่สามารถร้องขอหรือช่วยเหลือตัวเอง ได้แต่รอวันตายอย่างทรมาน ซึ่งเราได้แบ่งประเภทของผลกระทบนี้ไว้ 3 กลุ่มเพื่อแยกลักษณะการถ่ายให้ครอบคลุมและอยู่ในประเด็นที่ต้องการจะสื่อ ได้แก่ Unbreathable ไม่สามารถหายใจได้  Immovable การถูกพันธนาการ Unlivable การไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้เมื่อพลาสติกเข้าไปในร่างกาย”

ด้วยความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คนคิดแคมเปญนี้ ช่างภาพ สไตลิสต์ ศิลปินดาราที่มาร่วมถ่ายภาพในแคมเปญนี้ ฉันเข้าใจว่าทุกคนมีความคิด จุดประสงค์ที่ดีต่อโลกใบนี้ ต่อปัญหาขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อม แต่จุดประสงค์ที่ดีนั้น มันผ่านกระบวนการคิดที่ดีมากพอที่จะมองภาพรวมในเรื่องนี้ได้อย่างชัดแจ้งแล้วหรือยัง มันก็คงเหมือนกับการรณรงค์เรื่องการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ที่ทำให้ใครต่อใครพากันผลิตถุงผ้าออกมาจนล้นโลก

ทั้งนี้ หากเรามองทั้งระบบจะพบว่า แม้ผ้านั้นจะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายในธรรมชาติได้ แต่ในกระบวนการการผลิตนั้นก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนมากมาย โดยมีรายงานว่าอุตสาหกรรมการผลิตผ้าก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนสูงถึง 1.2 พันล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นรองอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่หน่อยเดียว

เช่นเดียวกันกับความย้อนแย้งของการทำแคมเปญนี้ ที่นำเอาพลาสติกชีวิตเดียว (single-use plastic) ซึ่งดูด้วยตาจะเห็นว่าเป็นพลาสติกใหม่กริบ ใสกิ๊ง มาใช้ถ่ายแฟชั่น แล้วหลังจากนั้นก็จะกลายเป็นขยะ ในขณะที่ตัวแคมเปญเองกำลังพูดถึงเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งมันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือตอบโจทย์อะไรเลย มิหนำซ้ำยังเป็นการทำร้ายซ้ำเติมสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก

หากจะมองแง่การประชาสัมพันธ์ ที่ต้องการให้ภาพเหล่านี้สื่อถึงอันตราย ความเลวร้ายของพลาสติกที่ถูกทิ้งเป็นขยะดังที่คนทำแคมเปญได้อธิบายไว้ ฉันก็อยากจะบอกว่า การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในขั้นนี้ (ขั้นที่ต้องการสื่อให้เห็นอันตรายที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก) มันมีเต็มไปหมด และเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง อันตรายจริง ตายจริง และสร้างความสั่นสะเทือนทางความรู้สึกจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่แคมเปญนี้ทำเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายของ National Geographic หรือใครต่อใคร มีการแชร์กันมาตลอดทั้งปี ทั้งภาพเต่า นก สัตว์น้ำ สัตว์บก ที่ติดในบ่วงขยะพลาสติกที่มนุษย์ทิ้งในสิ่งแวดล้อม หรือง่ายๆ เลยก็การตายของมาเรียม พะยูนน้อยขวัญใจชาวไทย

ภาพเหตุการณ์จริง และเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเหล่านี้ ในอีกแง่หนึ่งมันกลายเป็นแคมเปญรณรงค์ได้ด้วยตัวมันเอง และก่อให้เกิดอารมณ์ ความสะเทือนใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่ได้เห็นได้มากกว่าและจริงกว่าภาพถ่ายแฟชั่น (ที่มันปลอมและก่อให้เกิดขยะพลาสติกอย่างไม่คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้จากประเด็นที่ต้องการจะประชาสัมพันธ์) ของแคมเปญนี้เสียอีก

เพราะฉะนั้น การรณรงค์ในเรื่องนี้มันมีวิธีการทำที่ไม่ต้องสร้างขยะก็ได้ และหากเราพิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นการรณรงค์ จะเห็นว่ามันมีสิ่งอื่นที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าการถ่ายแฟชั่นที่นำเอาพลาสติกมาใช้แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นขยะดังเช่นแคมเปญนี้

มากไปกว่านั้น หากเราพิจารณาในเรื่องประเด็นความก้าวหน้าของการรณรงค์เรื่องพลาสติกหรือโลกร้อน เราจะเห็นว่าประเด็นมันได้ก้าวไปสู่การผลักดันเรื่อง ‘นโยบาย’ ไปแล้ว ไม่ใช่แค่การรณรงค์ลด ละ เลิก reduce reuse recycle ซึ่งพูดกันมาไม่รู้กี่สิบปี ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาที่มีการรณรงค์เรื่องนี้มาโดยตลอด ทำให้ได้บทเรียนว่า ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก หรือสภาวะโลกร้อน ปัญหาเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไขและก้าวหน้ามากขึ้น หากมันกลายเป็นนโยบายบังคับใช้ในแต่ละประเทศ (ที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพด้วย) ทั้งกฎหมายการงดใช้พลาสติกชีวิตเดียว กฎหมายเรื่องรอยเท้าคาร์บอน ฯลฯ การบังคับใช้กฎหมายต่างหากที่จะทำให้เรื่องนี้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในช่วงเวลาวิกฤตินี้

ประเด็นมันได้ก้าวไปสู่การผลักดันเรื่อง ‘นโยบาย’ ไปแล้ว ไม่ใช่แค่การรณรงค์ลด ละ เลิก reduce reuse recycle ซึ่งพูดกันมาไม่รู้กี่สิบปี

การรณรงค์เรื่องพลาสติกหรือโลกร้อน จึงถูกยกระดับขึ้นไปสู่การกดดันให้แต่ละประเทศมีนโยบายในเรื่องนี้ในรูปแบบกฎหมาย ดูได้จากเกรตา ธันเบิร์ก และการเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องโลกร้อนของเธอ ที่พยายามจะพูด ส่งสาร ไปยังผู้นำประเทศต่างๆ ผ่านทั้งกิจกรรมที่ทำหรือการปรากฏตัวบนเวทีโลก ก็เพื่อกดดันให้เกิดการออกแนวปฏิบัติจริงทั้งการใช้วิทยาศาสตร์ การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ของรัฐบาลในแต่ละประเทศกับภาคส่วนต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีผลที่ทำให้โลกร้อนขึ้น โดยปราศจากผลประโยชน์ทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล การทำปศุสัตว์ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูงและสร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่มีการรณรงค์กันมาไม่รู้กี่สิบปี แต่ที่ไม่สัมฤทธิ์ผลก็เพราะมันไม่มีกฎหมายที่คำนึงถึงเรื่องสภาพแวดล้อมมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองหรือสิ่งอื่นใด

สำหรับฉัน แคมเปญ ‘Everyday Say No To Plastic Bags’ โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแคมเปญที่ไม่ตอบโจทย์การรณรงค์แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยประการทั้งปวง อีกทั้งการทำแคมเปญยังเป็นการทำร้ายและทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีกในนามแห่งความ ‘มีจุดประสงค์ที่ดี’ แต่ไร้ซึ่งความรอบด้านและความเข้าใจในการผลักดันการแก้ปัญหานี้อย่างแท้จริง และที่น่าเศร้ามากไปกว่าความย้อนแย้งของการนำเอาพลาสติกมาใช้ถ่ายแฟชั่นแล้วสุดท้ายกลายเป็นขยะ เพื่อรณรงค์ไม่ให้คนสร้างขยะพลาสติก นั่นก็คือ แนวคิด การทำแคมเปญนี้ดันมาจากภาครัฐ ที่ควรจะเป็นผู้นำทางด้านนโยบาย และการทำงานที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง

ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายแฟชั่นปลอมๆ ที่ปลอมตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงผลลัพธ์ แล้วมาบอกว่านี่คือผลงานการทำงานในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ!

 

Tags: , , ,