คงไม่ต้องสาธยายรายละเอียดแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยบ้างในวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นข่าวดราม่ารายวัน ที่ราวกับนั่งดูรายการตลกที่เต็มไปด้วยจังหวะตึ่งโป๊ะล้อกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงแต่ว่า มันเป็นจังหวะตึ่งโป๊ะที่ทำให้ขำไม่ออก และบางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะขำหรือร้องไห้ดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้ากากอนามัย ขายไม่ขาย กักตุนไม่กักตุน พอไม่พอ คุมราคาได้หรือไม่ได้ มีไม่พอแต่ส่งออก 330 ตัน ฯลฯ ซึ่งในแต่ละประเด็นต่างก็มีการเปิดข้อมูลจากภาคประชาชนมางัดค้างกับภาครัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงเรื่องการจัดการสาธารณสุขใหญ่ๆ อย่างการกักกันตัวผู้ที่มาจากประเทศเสี่ยง การตรวจโควิด-19 (ทั้งในแง่จำนวน ความสะดวก และค่าใช้จ่าย) การจำกัดนักเดินทางจากประเทศเสี่ยง ล่าสุด การยกเลิกศูนย์กักกันเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ของรัฐทั่วประเทศ และให้กักตัวที่บ้านตามภูมิลำเนาแทน (ซึ่งยิ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดใช่หรือไม่) หรือแม้แต่เรื่องขำๆ (ที่ขำไม่ออก) ของดราม่าการขายเจลแอลกอฮอล์ขององค์การเภสัชกรรม หรือการฟ้องร้องของกรมการค้าภายใน 

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เห็นความล้มเหลวทั้งในแง่การจัดการ การวางแผน การสื่อสาร การจัดการในภาวะวิกฤติ (crisis management) ความไม่มีระบบระเบียบ ไม่มีวิชั่น ของภาครัฐ จนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐในการบริหารจัดการประเทศในภาวะวิกฤต มองไปไกลยังการตั้งรับเฟส 3 ของการระบาดโควิด-19 ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน พร้อม-ไม่พร้อม (ในความเป็นจริง ไม่ใช่การแถลงว่าพร้อม) หรือจะโกลาหลมากกว่านี้ 

หรือแม้กระทั่งเริ่มสงสัยว่า ไอ้อันดับ 6 ของโลกในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่ประเทศไทยได้มานั้น มันจริงไหม หรือได้มาได้อย่างไร ทำไมเมื่อเปรียบเทียบมาตรการการจัดการเรื่องโควิด-19 ของไทยกับประเทศต่างๆ ที่ได้อันดับน้อยกว่าเราแล้ว มันช่างต่างกันเหลือเกิน 

สิ่งเหล่านี้ ประจวบเหมาะกับแรงหนุนของสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในการทำงาน (ที่ไม่มีประสิทธิภาพ) หรือสร้างประเด็นปัญหาดราม่ารายวัน รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงเรียกร้องให้ยุบสภา

หากย้อนไปดูประเด็นวิกฤตทางสังคมและการเมืองที่ผ่านมาของหลายๆ รัฐบาลในอดีตที่ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภานั้น จะพบความน่าสนใจว่า อย่างในกรณีของ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2489 ช่วงภาวะหลังสงครามที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังย่ำแย่ 

ถวัลย์แก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งองค์การสรรพาหารขึ้น ซื้อของแพงมาขายในราคาถูกให้แก่ประชาชน นำเอาทองคำ ซึ่งเป็นทุนสำรองของชาติออกขายแก่ประชาชน ซึ่งต่อมาก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการส่งข้าวคุณภาพดีออกไปขายนอกประเทศ เหลือแต่เพียงข้าวสำหรับเลี้ยงสัตว์ไว้ให้ประชาชนในประเทศบริโภค รวมถึงการคอร์รัปชันอื่นๆ ในรัฐบาล จนทำให้เกิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้สุดท้ายจะได้รับมติไว้วางใจ แต่จากกระแสกดดันอย่างหนักก็ทำให้ถวัลย์ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็ได้รับเลือกกลับมารับตำแหน่งนายกฯ ใหม่อยู่ดี ก่อนจะถูก พล..ผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหาร

อีกกรณีที่น่าสนใจคือกรณีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกฯ คนนอก ในปี 2522 ที่ขึ้นเป็นนายกฯ ได้ด้วยกลไกของ ส.ว. คล้ายกับที่เกิดขึ้นสมัย พล.อ.ประยุทธ์ 2 ในตอนนี้ รัฐบาลเกรียงศักดิ์เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ได้ขึ้นเป็นผู้นำด้วยเสียงของ ส.ว. ก่อนจะลาออกจากความกดดันทั้งในและนอกสภา โดยเฉพาะจากเรื่องเศรษฐกิจ การขึ้นค่าน้ำ ค่าไฟ และราคาน้ำมัน ส่งไม้ต่อให้แก่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งตระเตรียมกันไว้แล้วให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ด้วยเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว.

ซึ่งก็ไม่แน่ว่า นอกจากการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่ดูจะเป็นหนังม้วนเดียวกันแล้ว การ ‘ลง’ จากตำแหน่งจะเป็นหนังฉายซ้ำอีกหรือเปล่า 

กองเชียร์กลับใจ หรือมีสัญญาณอะไรเป็นพิเศษ

ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก็คือ บรรดาผู้สนับสนุนการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งท้อใจ เหนื่อยใจ หรือแม้กระทั่งรุมกินโต๊ะการทำงานของรัฐบาลในเรื่องการจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นอุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี, ดร.เสรี วงษ์มณฑา, กนก รัตน์วงศ์สกุล ฯลฯ 

จนทำให้เกิดความฮือฮาว่า หรือกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลจะมองเห็นแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ไร้ประสิทธิภาพแค่ไหน รวมถึงมองลงลึกไปถึงรากของปัญหาได้ว่า การรัฐประหารที่ส่งต่อให้เกิดเป็นรัฐบาลชุดนี้ คือสิ่งที่ผลักดันให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้ 

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคนกล่าวว่า ราคาที่ต้องแลกมา มันช่างแพงเหลือเกิน 

แต่ความเข้าใจว่ากองเชียร์กลับใจแล้ว ก็อยู่ได้ไม่กี่นาที หากอ้างอิงจากโพสต์เฟซบุ๊กของอุ๊ หฤทัย ที่โพสต์ว่า “กูจะเหนื่อยได้อย่างไร กูไม่ใช่นายรัฐมนตรี ต้องโทษคนไทยที่เลือกเอง เลือกตั้งแต่ละครั้งมึงเอาเ-ี้ยมาทั้งนั้น อี-่า” (ซึ่งเป็นการแก้ข่าวก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่า อุ๊-หฤทัย ขึ้นสเตตัสว่า “บางทีกูก็เหนื่อยคอยปกป้องแล้วนะ”) ซึ่งทำให้ตีความกันไปว่า จากที่ อุ๊-หฤทัย เคยสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ก็ยังเห็นได้ถึงการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพจนกันมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้ว 

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ขึ้นสเตตัสใหม่ว่า “ประเทศไทย ไม่ควรมีการเลือกตั้ง ครั้งหน้าพวกมึงไม่ต้องดัดจริต อยากเลือกตั้งกันเลยนะ กูขอ” ตามมาด้วย “นายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรีที่มาจาการแต่งตั้งมักจะดีกว่าพวกที่มาจากการเลือกตั้ง ลองสังเกตดูสิ” 

แน่นอนว่า หลังจากโพสต์นี้ ความคิดของหลายคนที่ว่า หรือกองเชียร์จะกลับใจก็หายไปในพริบตา 

รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของผู้คนในเพจ ‘กปปส.PDRC Hot News Update’ ที่นอกจากจะมีน้ำเสียงยืนยันการสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ต่ออย่างมั่นคงแล้ว ยังเห็นถึงน้ำเสียงการกลับไปกล่าวถึงประเด็น ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ โดยกล่าวโทษไปที่ตัวนักการเมืองเป็นรายบุคคลมากกว่าจะกล่าวโทษ ‘ระบบ’ ที่นำพาตัวบุคคลนี้มาทั้งหมด 

ความเคลื่อนไหวของบรรดากองเชียร์รัฐบาล กลุ่มผู้สนับสนุนการรัฐประหาร กลุ่มอดีต กปปส. ที่ออกมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายหรือนัดหมายก็ไม่อาจจะรู้ได้นี้ หรือแม้กระทั่งสัญญาณแชตหลุดของเหล่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่า “ไม่พายเรือให้โจรนั่ง” ก่อให้เกิดข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ความเคลื่อนไหวนี้กำลังจะบอกใบ้อะไรแก่เรา 

หรือนี่คือการส่งสัญญาณการจะ ‘ลง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ 

คำถามที่ตามมาก็คือ หากเป็นไปตามนั้น มันคือการลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวหรือจะเป็นการลงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งคณะ

หากเป็นการลงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการยุบสภา ประกาศเลือกตั้งใหม่ ทุกอย่างก็จะดำเนินไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ แต่หากเป็นการลาออกของตัวนายกรัฐมนตรี ก็คงต้องดูว่าข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งมีการกำหนดไว้ว่าต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘แคนดิเดต’ ที่แต่ละพรรคเสนอไว้ ฝั่งรัฐบาลในปัจจุบันก็คงจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่ฝั่งฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยมี 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ

ซึ่งหากมีการลาออกของนายกฯ ประยุทธ์ จริง และทางฝั่งรัฐบาลยังคงสามารถรักษาความเป็นรัฐบาลเพื่อทำงานต่อไปได้ด้วยการโหวตสนับสนุนของ ส.ส. และ ส.ว. นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็น่าจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 

เมื่อประตูบานหนึ่งปิด จะมีประตูบานใหม่เปิดให้กับเราเสมอ (แต่ไม่รู้ว่าจะเปิดไปเจออะไร)

ทั้งข่าวลือเรื่องรัฐประหาร ไปจนถึงการคาดการณ์จากสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้น ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลงจากเก้าอี้นายกฯ จริงหรือไม่ และถ้าจริง ประตูบานใหม่ที่จะเปิดขึ้นจะนำพาเราไปเจออะไร การโหวตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายใต้รายชื่อแคนดิเดตเดิม หรือว่าจะมีการนำเสนอนายกฯ นอกบัญชีของพรรคการเมือง หรือ ‘นายกฯ คนนอก’ 

ไม่ว่าข่าวลือทั้งหมดทั้งมวลนี้จะเป็นจริงหรือไม่ คำถามที่ควรคิดต่อไปให้ไกลกว่าว่าจริง ไม่จริง หรือจะเกิดอะไรขึ้น ก็คือ เหตุใดภายใต้สถานการณ์วิกฤตทางการเมือง ที่ไม่ว่าจะถูกผลักมาด้วยเหตุปัจจัยใดให้เข้าตาจน ข่าวลือเหล่านี้ ที่บ่งบอกถึงวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตยถึงเกิดขึ้นมาอยู่เสมอ และกลายเป็นดั่งช่องทางที่จะเปิดไปสู่อีกประตูตลอดเวลาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

จะเป็นไปได้ไหม ที่ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตทางตันทางการเมืองขึ้น วิธีการแก้ปัญหาเพื่อเดินไปสู่ประตูอีกบาน จะไม่ใช่วิธีการเดิมๆ นี้ ไม่ใช่การรัฐประหาร ไม่ใช่นายกฯ คนนอก แต่ให้มันเป็นไปตามวิถีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยได้เดินไปข้างหน้า ได้ขับเคลื่อนการทำงาน ไม่ใช่ประเดี๋ยวก็หยุดชะงัก ปิดเครื่องชั่วคราวอยู่ร่ำไป จากนั้นก็เปิดเครื่องใหม่ เริ่มต้นใหม่ แล้วประเดี๋ยวก็ปิดเครื่องอีก 

เพราะไม่เช่นนั้น เราก็จะไม่ไปไหน ไม่เพียงแค่การ “พายเรือให้โจรนั่ง” ดังคำของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการพายเรือให้โจรนั่งวนในอ่างไปเรื่อยๆ โจรคนเดิมบ้าง คนใหม่บ้าง โดยที่ไม่รู้จุดหมายคือที่ใด หรือจะต้องพายไปจนตาย

 

อ้างอิง

https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/402286 

https://workpointnews.com/2019/02/15/ตำนานการเมือง-พล-อ-เกรีย/

 

Tags: , ,