เฟซบุ๊กจ้างพนักงานของบริษัทรับเหมาช่วงหลายร้อยคนถอดเทปเสียงของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก โดยบอกว่าเสียงที่บันทึกมาถูกถอดเสียงด้วยแรงงานคน เพื่อที่ว่าจะพัฒนาการถอดเทปบันทึกสนทนาโดยอัตโนมัติด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอได้ อย่างไรก็ตาม มีการยุติการดำเนินการนี้ชั่วคราวแล้วเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้

สำหรับอุตสาหกรรมไอที การใช้มนุษย์เพื่อตรวจสอบข้อผิดพลาดของระบบอัตโนมัติเป็นเรื่องปกติ บริษัทต่างๆ ก็พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ให้มากที่สุด แต่เสียงจากลำโพงหรือโปรแกรมแชต เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงมากขึ้นไปอีก เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว ข้อความที่ได้จากการถอดเสียงของสไกป์ หรือเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ที่มีข้อมูลส่วนตัวมากๆ เกินกว่าที่ผู้ใช้จะคาดคิด เช่น ชื่อ ที่อยู่ หรือกระทั่งเซ็กซ์โฟนจะถูกฟังย้อนหลังโดยคนแปลกหน้าได้ 

บลูมเบิร์กสื่อแรกที่เปิดเผยเรื่องนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม รายงานว่า เฟซบุ๊กให้พนักงานสัญญาจ้างหลายร้อยคนฟังเสียงที่บันทึกไว้จากบริการต่างๆ ของเฟซบุ๊ก ผู้ได้รับผลกระทบคือ ผู้ใช้เมสเซนเจอร์ (Messenger) ที่เลือกยอมรับให้ถอดเทปเสียงการสนทนาของตัวเองได้ พนักงานจะเป็นคนตรวจสอบว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ของเฟซบุ๊กถอดเสียงข้อความนั้นถูกหรือไม่

พนักงานที่เปิดเผยเรื่องนี้แก่บลูมเบิร์กบอกว่า พนักงานสัญญาจ้างจะได้รับเสียงบันทึกสนทนาของผู้ใช้ แต่จะไม่รู้ว่าได้มาอย่างไร มีคำสั่งเพียงว่า ‘แค่ถอดเทป’ 

โฆษกของเฟซบุ๊กบอกว่า มีเฉพาะผู้ใช้ที่เลือกทำเครื่องหมายถูก (opt in) ยอมให้บริการถอดเสียงและอนุญาตให้เข้าถึงไมโครโฟนได้ และ “เราหยุดการถอดเสียงบันทึกสนทนาไว้ชั่วคราว เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน เช่นเดียวกับแอปเปิลและกูเกิล” 

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กไม่ได้เปิดเผยกับผู้ใช้ว่า จะมีบุคคลที่สามเข้าถึงบันทึกเสียงของตนเอง ในนโยบายข้อมูลของเฟซบุ๊กที่เปลี่ยนใหม่เมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้กล่าวถึงเสียง เพียงแต่บอกว่า เฟซบุ๊กจะรวบรวม “เนื้อหาการสื่อสารและข้อมูลอื่นๆ ที่คุณมอบให้ เมื่อผู้ใช้ส่งข้อความหรือสื่อสารกับผู้อื่น” พนักงานสัญญาจ้างรู้สึกว่างานของตนเองผิดจริยธรรม 

บลูมเบิร์กรายงานว่า หนึ่งในบริษัทที่ตรวจสอบเสียงของผู้ใช้คือ บริษัททาสก์อัส (TaskUs Inc) ที่ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย เป็นบริษัทเอาท์ซอร์สทำงานทั่วโลก เฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในลูกค้าของทาสก์อัส แต่พนักงานของทาสก์อัสถูกห้ามไม่ให้เปิดเผยว่าทำงานให้กับใคร มีรหัสเรียกลูกค้าว่า ‘พริซึม’ นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังจ้างทาสก์อัสตรวจสอบว่าเนื้อหาใดละเมิดนโยบายของเฟซบุ๊กหรือไม่ด้วย 

ในวันที่ 14 สิงหาคม คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งกำกับดูแลเฟซบุ๊กในยุโรปกล่าวว่า กำลังตรวจสอบว่า การกระทำของเฟซบุ๊กละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวหรือไม่  สำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊กอยู่ที่ไอร์แลนด์ ดังนั้นเฟซบุ๊กต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกอียู คณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลของไอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า กำลังติดตามรายละเอียดจากเฟซบุ๊กว่า เหตุใดเฟซบุ๊กจึงคิดว่าการดำเนินการลักษณะนี้เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอียู หรือ GDPR

เมื่อต้นเดือนนี้เอง แอปเปิลและกูเกิลกล่าวว่า ได้ยุติการมอบหมายให้พนักงานฟังบันทึกเสียงของผู้ใช้เพื่อนำมาถอดเทปชั่วคราว ส่วนไมโครซอฟท์ก็ยืนยันว่าได้บันทึกเสียงของผู้ใช้ผ่านบริการแปลอัตโนมัติของสไกป์เช่นกัน เพื่อนำมาวิเคราะห์โดยมนุษย์

 

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/technology-49343262

https://www.theguardian.com/technology/2019/aug/13/facebook-messenger-user-recordings-contractors-listening

https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-08-13/facebook-paid-hundreds-of-contractors-to-transcribe-users-audio

https://www.theverge.com/2019/8/13/20804315/facebook-messenger-audio-conversations-listening-human-contractors

ภาพ: MARTIN BUREAU / AFP

Tags: ,