การโฆษณาเพื่อเป้าหมายทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน โดยเฉพาะหลังจากที่มีการเปิดเผยเรื่องที่รัสเซียใช้โฆษณาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 เฟซบุ๊กออกกฎใหม่ๆ มากมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีก

แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่พอ เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ เฟซบุ๊กต้องแก้กฎใหม่ให้เข้มงวดกว่าเดิม หลังจากที่ไมก์ บลูมเบิร์ก ผู้สมัครเข้าชิงเป็นตัวแทนจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2020 ใช้ช่องว่างของเฟซบุ๊กจ่ายเงินให้กับอินฟูลอินเซอร์ทางอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตามหลายล้านคนให้ลงข้อความแนวตลกเพื่อโปรโมตแคมเปญหาเสียงของตัวเองผ่านบัญชีอินสตาแกรม

ปกติแล้ว โพสต์ที่คนธรรมดาหรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์รับเงินมาโปรโมต เฟซบุ๊กจะไม่ได้รับเงินนี้ บริษัทโฆษณาจ่ายเงินโดยตรงให้กับเจ้าของเพจ เนื้อหาบนเพจก็ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเฟซบุ๊ก ด้วยเหตุนี้นโยบายโฆษณาของเฟซบุ๊กที่บังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและแคมเปญหาเสียงที่ต้องพิสูจน์ตัวตน และเปิดเผยการจ่ายเงินโฆษณาจึงใช้กับการรับจ้างโปรโมตไม่ได้

มีมที่บลูมเบิร์กปล่อยออกมา เป็นภาพแคปเจอร์หน้าจอการส่งข้อความส่วนตัวทางอินสตาแกรม บลูมเบิร์กในวัย 78 ปีแต่งตัวธรรมดาๆ กำลังคุยกับอินฟลูเอนเซอร์ที่โด่งดัง โดยขอให้เขาช่วยหาเสียงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ “คุณช่วยโพสต์มีมที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าผมเป็นผู้สมัครที่เจ๋งได้ไหม” เขาส่งรูปตัวเองใส่กางเกงขาสั้น เสื้อโปโลสีส้ม และเสื้อกั๊ก มีมเหล่านี้ถูกโพสต์อยู่ในอินสตาแกรมของอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ เช่น ผู้ใช้อินสตาแกรมชื่อ FuckJerry ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 15 ล้านคน

สิ่งที่ทำให้แคมเปญนี้ถูกพูดถึงและประสบความสำเร็จก็คือ ผู้ใช้อินสตาแกรมไม่แน่ใจว่าโพสต์ของอินฟลูเอนเซอร์นี้เป็นเรื่องล้อเล่นหรือโฆษณากันแน่ แม้ว่ามันจะเขียนไว้ว่า  #ad หรือ “ใช่ โพสต์นี้ได้รับการสนับสนุนจาก @MikeBloomberg”

เพื่ออุดช่องโหว่นี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กพยายามลบแคมเปญที่ใช้วิธีนี้ โดยบังคับให้เพจต่างๆ ที่ปล่อยโฆษณาทางการเมืองเปิดเผยว่าได้รับเงินมาจากใคร แคมเปญที่ไม่ยอมใช้วิธีนี้ เช่น กรณีบลูมเบิร์ก จะถูกระงับชั่วคราว กฎใหม่นี้จะไม่ใช่กับคนที่สร้างหรือแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมืองโดยไม่ได้รับเงินค่าจ้าง

ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกา อินสตาแกรม บริษัทที่เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของก็เปลี่ยนกฎ บังคับใช้ผู้ทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Branded Content Ads เมื่อจ่ายเงินให้กับอินฟลูเอนเซอร์โพสต์เนื้อหา ทำให้ทุกโพสต์และสตอรี่จะเขียนไว้ว่าได้รับเงินมาจากไหน

 

ที่มา

https://techcrunch.com/2020/02/14/instagram-ads-bloomberg-memes/

https://www.theverge.com/2020/2/14/21137719/facebook-bloomberg-memes-influencer-campaign-ads-election-2020

https://www.theguardian.com/technology/2020/feb/14/facebook-reverses-political-ads-rule-bloomberg-finds-loophole

 

Tags: , , , , ,