กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีคลิป Vlogger สาวชาวจีนนาม ‘ถีจื่อ’ (Tizi) หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในฉายา ‘น้องอุ้ม’ นำฉลามพันธุ์หนึ่งจากตลาดขายอาหารทะเลในเมืองหนานจง มณฑลเสฉวน มาทำเป็นมื้อค่ำเพื่อสร้างคอนเทนต์เปิบพิสดาร ท่ามกลางความสงสัยของชาวเน็ตว่าเป็น ‘ฉลามขาว’ (White Shark) ที่เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองระดับ 2 ของประเทศจีนหรือไม่

ภายในคลิปดังกล่าว ถีจื่อใช้มีดอีโต้ชำแหละปลาฉลาม ขนาดความยาว 2 เมตร ปรุงเป็นเมนูซุปเผ็ดและย่างโรยผงพริกหม่าล่า และมีคำชี้แจงเป็นตัวหนังสือว่าเป็นฉลามลักษณะ ‘เขี้ยวกุด’ ที่มนุษย์เพาะเลี้ยงอย่างถูกกฎหมาย และต้นสังกัดของเธอก็ออกมายืนยันว่า ฉลามตัวดังกล่าวไม่ใช่สายพันธุ์ที่ถูกขึ้นบัญชีคุ้มครองตามที่หลายฝ่ายเข้าใจกัน และเตรียมปรึกษากับทีมทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องแก่ผู้ที่คอมเมนต์สร้างความเข้าใจผิด

ล่าสุด เจ้าหน้าที่กรมตำรวจจีนระบุว่า จากการสอบสวนร้านขายอาหารทะเลบริเวณดังกล่าวได้ข้อมูลว่า ถีจื่อลักลอบนำฉลามขาวมากินจริงๆ และเธอก็ไม่ได้ซื้อมาจากร้านค้าออนไลน์หรือจากตลาดขายอาหารทะเล โดยในคลิปที่เห็นเป็นเพียงการยืมสถานที่ถ่ายทำคอนเทนต์ ซึ่งผิดกับคำชี้แจงในตอนแรก

Thecover.cn เว็บไซต์สำนักข่าวการเกษตรและกิจการชนบทแห่งเมืองหนานจง รายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่กรมตำรวจจีนได้สืบค้นถึงที่มาของฉลาวขาวในคลิป โดยทีมงานของถีจื่อได้สั่งซื้อผ่านร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ JD.com ที่มีต้นทางขนส่งมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ทางทิศตะวันออกของจีน 

ทั้งนี้ ถีจื่อและบริษัทต้นสังกัดได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม เพื่อรอศาลพิจารณาว่าฉลามขาวที่นำมากินเป็นตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัย เบื้องต้นถีจื่ออาจถูกดำเนินคดีในสถานเบา คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเงินไม่เกิน 5 หมื่นหยวน (266,738 บาท) หากพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดโดยมิได้เจตนา แต่หากศาลพิจารณาว่าเธอทำผิดโดยเจตนาจะถูกดำเนินความผิดขั้นร้ายแรง คือจำคุก 5-10 ปี ปรับเงินไม่เกิน 1 แสนหยวน (533,772.59) และระหว่างนี้ช่องของเธอบนแพลตฟอร์ม Douyin รวมไปถึง Kuaishou ที่มีผู้ติดตามเกิน 7 ล้านราย จะถูกบังคับระงับบัญชีไว้ชั่วคราว

กัว เผิง (Guo Peng) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเพื่อการคุ้มครองสัตว์แห่งมหาวิทยาลัยชานตง (The Center for Animal Protection Studies at Shandong University) เป็นอีกหนึ่งนักอนุรักษ์สัตว์ป่าชาวจีนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยเขาเรียกร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของอุตสาหกรรมค้าฉลามขาวเถื่อน เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

“ทางการควรให้ความสำคัญกับการสอบสวนต้นตออุตสาหรรมค้าฉลามขาวทุกกรณี ซึ่งอาจมีประโยชน์กว่าการออกมาเรียกร้องให้คนหยุดบริโภคพวกมัน และผู้ที่จัดหาฉลามขาวเพื่อการบริโภคก็สมควรได้รับการลงโทษตามกฏหมายขั้นเด็ดขาด”

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ที่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดในเดือนเมษายน 2020 ทางการประเทศจีนก็ได้ออกนโยบายรณรงค์แก่ประชาชนให้งดการบริโภคสัตว์ป่า พร้อมออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือฉลามขาว ทำให้จำนวนผู้นิยมเปิบพิสดารลดลงค่อนข้างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีผู้ที่ลักลอบบริโภคสัตว์คุ้มครองอยู่เป็นระยะ เช่น ปี 2020 ที่มี Vlogger ชายชาวจีนถูกดำเนินคดีข้อหาลักลอบจับหอยทากสายพันธุ์หายากมากินเพื่อสร้างเป็นคอนเทนต์

ปัจจุบัน ตามข้อมูลของเว็บไซต์ Encyclopedia of Life (eol.org) และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) ระบุว่า ฉลามขาวถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์ที่มีแนวโน้ม ‘ใกล้สูญพันธุ์’ เนื่องจากถูกมนุษย์ล่าเพื่อประโยชน์ทางการพาณิชย์ จนช่วง 8 ปีที่ผ่านมา บริเวณที่มีฉลามขาวชุกชุมอย่างมหาสมุทรทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาใต้ มีจำนวนประชากรฉลามเหลืออยู่ราว 800 ตัว และด้วยการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของอุณหภูมิโลก ส่งผลให้บ่อยครั้งที่ฉลาวขาวขนาดยังไม่โตเต็มวัยต้องว่ายย้ายถิ่นฐานอยู่อาศัย จนเสี่ยงต่อการพังทลายทางสมดุลห่วงโซ่อาหาร

 

ที่มา:

https://www.thetimes.co.uk/article/chinese-food-blogger-investigated-for-eating-great-white-shark-jq6zmspks

https://www.globaltimes.cn/page/202208/1271898.shtml

https://www.lbc.co.uk/news/chinese-blogger-investigation-cooking-eating-shark/

https://eol.org/pages/46559751

 

Tags: , , , , ,