ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ร่างกฎหมายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกผู้แทนราษฎรถึง 416 เสียง โดยไม่มีฝ่ายใดคัดค้าน ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งหมดประกอบด้วย ร่างกฎหมาย 8 ฉบับ ได้แก่ ร่างหลักของคณะรัฐมนตรี และร่างอื่นจากพรรคการเมืองอีก 7 ฉบับ

ในห้วงเวลานั้น ดูเป็นช่วงเวลาอันดีที่ทุกพรรคต่างเห็นพ้องต้องกันในภารกิจนำพาประเทศไปข้างหน้า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่โหมกระหน่ำ โดยเฉพาะการตอกย้ำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าตนจะทำให้ไทยกลับมาเป็น ‘เจ้าสมุทร’ ด้วยการแก้ไขกฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรม และขัดต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่า ครั้งหนึ่ง ไทยเคยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (European Union: UN) ในฐานะประเทศที่ทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ในปี 2558 

ท่ามกลางความหวังในการทวงบัลลังก์เจ้าแห่งท้องทะเล ภายใต้แนวคิด ‘ยั่งยืน เป็นธรรม เท่าเทียม และเคารพสิทธิมนุษยชน’ ตามหลักสากล ทว่าภาคประชาสังคมและชาวประมงพื้นบ้าน กลับตั้งคำถามถึงรายละเอียดของร่างกฎหมาย เพราะมีช่องโหว่ทางกฎหมายและเนื้อหาที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ รวมทั้งผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างน่าฉงน 

ไม่ว่าจะเป็นการลดบทลงโทษและนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด, การตัดเนื้อหาคุ้มครองการทำประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็ก, การเปิดทางให้ใช้อวนล้อมปั่นไฟด้วยอวนตาถี่ตอนกลางคืนได้อย่างถูกกฎหมาย, การอนุโลมให้เรือประมงที่ทำความผิดทำประมงได้, การลดเขตทะเลชายฝั่งต่ำกว่า 1.5 ไมล์ทะเลในบางพื้นที่ รวมถึงเนื้อหาคุ้มครองสิทธิแรงงานประมงที่หละหลวม โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่เปรียบเสมือนหนึ่งในเสาหลักสำคัญของอุตสาหกรรมดังกล่าว

นอกจากผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนประมงและสัตว์น้ำอย่างมหาศาล การถอยหลังของกฎหมายฉบับนี้ยังส่งผลถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ และผลประโยชน์แห่งชาติของคนไทยทั้งหมด โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผูกโยงกับสหภาพยุโรป คู่ค้าอันดับ 4 ของประเทศไทย หลังเทเลกราฟ (Telegraph) สื่ออังกฤษเปิดเผยว่า ไทยอาจกลับไปสู่จุดตกต่ำเหมือนเหตุการณ์ในปี 2558 อีกครั้ง หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่บทสนทนาในงานเสวนาวิชาการ ‘สู่การดูแลทะเลอย่างยั่งยืน’ ณ CU Social Innovation Hub จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สะท้อนเสียงและองค์ความรู้อันหลากหลาย ในวันที่ 5 มิถุนายน 2567

ภาพ: เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

 

ฟังเสียงของลูกทะเล: ความเจ็บปวดของชาวประมงพื้นบ้านทะเลในการต่อสู้ที่ไม่รู้จบ

“สิ่งที่เจ็บปวดที่เราต้องรับรู้คือ คนเมืองหลวงไม่อินกับสัตว์น้ำลดลง สัตว์น้ำถูกทำลาย ตอนนี้ผมกำลังจะสื่อสารว่า การลดลงของสัตว์น้ำเป็นเรื่องเดียวกันกับอาหาร มันคือปัจจัยสี่ของชีวิต”

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เริ่มเผยความในใจในฐานะหนึ่งในคณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายประมงว่า ตนเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการต่อสู้เรื่องประมงทำลายล้างตั้งแต่อดีต แต่พรรคการเมืองทุกพรรคไม่ได้ฟังเสียงของชาวประมงพื้นบ้านเลย โดยไทยอยากเป็นเจ้าสมุทร แต่กลับฟังเสียงผิดด้าน ไม่ได้คำนึงถึงหลักสากล

ภาพ: เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

ที่น่าผิดหวังยิ่งกว่า คือ คนในเมืองหลวงกลับไม่สนใจปรากฏการณ์สัตว์น้ำลดลงหรือวิกฤตของชาวประมงเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับความมั่นคงทางอาหาร และหนึ่งในปัจจัยสี่ของชีวิต

“เราพึ่งพาใครสักคนในคณะกรรมาธิการประมงฯ ไม่ได้แม้แต่คนเดียว” 

ปิยะเผยว่า พรรคการเมืองทั้ง 7 พรรค ไม่สามารถตอบสนองขอเรียกร้องของเขาได้ แม้แต่พรรคการเมืองก้าวหน้าที่สุดและได้รับเสียงประชาชนมากอย่างพรรคก้าวไกล และการประมงยั่งยืนกลายเป็นวาทกรรม ไม่มีจริงในทางปฏิบัติ

เรื่องที่ปิยะกังวลมาก คือบทกำหนดโทษที่ลดลงอย่างน่าตกใจ โดยจากเดิมที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว แต่การหารือในชั้นกรรมาธิการฯ กลับเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ทำให้ทุกอย่างซับซ้อนขึ้น

นั่นรวมถึงประเด็นแรงงาน เขามองว่าการทำประมงแตกต่างจากอาชีพอื่น เพราะลำพังการมีเรือกับเครื่องจักรอย่างเดียวไม่เพียงพอ และแรงงานคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ทว่าการแยกกฎหมายแรงงานทางทะเลออกจากกฎหมายประมงจะสร้างปัญหาในทางปฏิบัติ

“เราจำเป็นต้องพูดถึงนัยสำคัญของประเด็นประมงพื้นบ้าน รัฐบาลบอกว่า ประมงพื้นบ้านไม่ได้มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่จริงมันกลับกัน รัฐบาลกำลังตั้งสมมติฐานจากข้อมูลที่ผิด โดยไม่ใช้ข้อมูลอ้างอิงของกรมประมง”

ปิยะกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยที่ชูนโยบายทางเศรษฐกิจ หากเห็นว่าประเทศไทยควรกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐต้องเห็นถึงความสำคัญของประมงพื้นบ้าน ไม่ใช่ทำลายเช่นนี้ เพราะหากพิจารณากันตามความจริง ตัวเลขสัตว์น้ำที่ประมงนอกน่านน้ำจับได้กลับลดลง 

เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย แต่ต้องไม่ละเมิดหลักการระหว่างประเทศ

ในมุมของ อดิศร เพียงเทพ ที่ปรึกษาสมาคมทูน่าไทย เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายประมง เพราะมีความล้าหลังและขาดประเด็นสิทธิแรงงานที่เป็นเรื่องสำคัญ หากพิจารณาจากกฎหมายประมง 2 ฉบับที่ผ่านมา

ภาพ: เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

ทว่าเนื้อหาร่างกฎหมายในปัจจุบันทำให้ต้องตั้งคำถามถึงสาเหตุของการแก้ไขกฎหมาย เพราะตนเห็นว่าไม่มีใครได้ประโยชน์สักฝ่าย แม้แต่กลุ่มประมงพาณิชย์ก็ตาม ขณะที่เขามีข้อกังวลใหญ่ว่า กฎหมายฉบับใหม่จะสร้าง 2 ผลกระทบใหญ่

1. การขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ เพราะไทยเคยให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ทว่าเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดโทษทางกฎหมายในความผิดทางประมง และการนำเรื่องแรงงานออก อาจทำให้สหภาพยุโรปพิจารณาในการให้ใบเหลืองหรือใบแดงกับประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางการค้าเหมือนในอดีต

2. การเก็บธรรมเนียมนำเข้าสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีที่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ไม่เห็นด้วย และอาจนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าเช่นเดียวกัน

“เห็นด้วยว่ากฎหมายจำเป็นต้องแก้ไขตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่ประเด็นนี้ควรได้รับการพิจารณาอีกครั้ง วันนี้การส่งออกลดลง คนงานโรงงานต่างๆ มีปัญหา การจะเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสัตว์น้ำ กิโลกรัมละ 1 บาท เราจะแข่งขันอย่างไรเมื่อเรานำเข้ามาเพื่อส่งออก

“รัฐบาลกำลังทำให้กฎหมายฉบับนี้ลุกลามกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจต่อไป การกลับไปเป็นเจ้าสมุทร เพิ่มจำนวนเรือ จะทำได้อย่างไร ในเมื่อทะเลเรามีอยู่แค่นี้ สัตว์น้ำในทะเลมีอยู่แค่นี้ ถ้าเพิ่มขึ้นมาก็แย่งทรัพยากรกัน” อดิศรแสดงความคิดเห็น

‘แรงงาน’ สมการที่ถูกลืมในร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่

ขณะที่ เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG) แสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับอดิศรว่า เธอเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่เคยเป็น โดยเฉพาะร่างกฎหมายฉบับนี้ที่หลงลืมสิทธิและความสำคัญแรงงาน ท่ามกลางสถานการณ์ที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นการค้าแรงงานทาสยุคใหม่

ภาพ: เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

“ข้อท้าทายของแรงงานที่พบเจอ คือการเข้าไม่ถึงเอกสารประจำตัว การจ่ายเงินที่ซับซ้อนของอุตสาหกรรมประมง การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่อุบัติเหตุและเสียชีวิตระหว่างทำงาน

“แรงงานประมงไม่ได้หมายถึงคนที่ทำงานบนเรือเพียงอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงไปถึงคนในอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด ตั้งแต่บนเรือ แพหน้าท่า จนไปถึงขนส่งในโรงงาน

“เราอยากให้มีการรวมกฎหมาย โดยนำเรื่องประมงกับแรงงานเป็นฉบับเดียวเพื่อง่ายต่อผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะกฎหมายประมงมีความเชื่อมโยงทั้งคนและเรือ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแยกเรื่องแรงงานออกมา 

“จากเดิมเรามีกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานประมงอยู่มากมาย แต่การแก้ไขครั้งนี้มีการตัดส่วนของแรงงานในหลายเรื่องออกไป เช่น เรื่องการไม่ต้องแสดงบัญชีลูกเรือ ส่วนนี้มีความน่ากังวล กล่าวคือ การสามารถเปลี่ยนลูกเรือประมงระหว่างออกไปทำประมง อาจนำไปสู่การเปิดโอกาสลิดรอนสิทธิมนุษยชน”

นอกจากนี้ เพ็ญพิชชายังทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไข เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ผู้มีส่วนร่วมในร่างกฎหมายฉบับนี้มีความเฉพาะกลุ่มเกินไป ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนนอกรัฐสภา เพื่อเรียกร้องกลไกเปิดรับฟังจากตัวแสดงอื่น

แรงกดดันจากโลกระหว่างประเทศในมุมการค้า: เมื่อร่างกฎหมายฉบับใหม่อาจส่งผลร้ายแรงกว่าที่คิด 

ภาพ: เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

ด้าน พฤษา สิงหะพล มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) มองว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เปรียบเสมือน ‘การถอยหลัง’ ลงอีกก้าว เพราะไม่ใช่แค่คนไทยได้รับผลกระทบ แต่ยังมีมิติการค้าและการลงทุนระหว่างชาติยุโรป ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นได้ดังต่อไปนี้

1. การรื้อฟื้นการขนถ่ายทางทะเล โดยข้อกังวลคือ การแก้ไขให้เรือประมงประเภทอื่นที่ไม่ใช่เรือขนถ่ายทำได้ อาจเป็นการเปิดช่องโหว่ให้เกิดการฝ่าฝืน IUU โดยเฉพาะการขนถ่ายสินค้าประมงฟอกขาว เพราะกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับไม่สามารถระบุได้ว่า สินค้ามีที่มาที่ไปอย่างไร

2. การรื้อฟื้นการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเลตามอำเภอใจ แม้เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในร่างคณะรัฐมนตรี แต่ 5 พรรคการเมือง ได้แก่ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ก้าวไกล และพลังประชารัฐ มีการระบุเนื้อหาดังกล่าวในร่างกฎหมายของแต่ละพรรค นั่นหมายความว่า คณะกรรมาธิการหยิบร่างฯ ฉบับนี้มาพิจารณาเมื่อไรก็ได้ 

ในมุมของพฤษามีความกังวล เพราะจากเดิมการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเลจำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัย และมีระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ทว่าร่างกฎหมายนี้ที่อนุญาตให้ขนถ่ายลูกเรือโดยไม่มีเหตุผลอื่นรองรับ อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงผลกระทบทางด้านสภาพจิตใจและร่างกายของแรงงาน จากการอยู่บนเรือเป็นเวลานาน

3. การแสดงรายชื่อลูกเรือโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ G285 ภายใต้เหตุผลว่า ลดความซับซ้อนในการทำเอกสาร ทว่าพฤษาตั้งคำถามถึงศักยภาพ เพราะเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์นี้อาจไม่สามารถรับรองสวัสดิภาพแรงงานได้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะปัญหาลูกเรือสูญหายกลางทะเลมีจำนวนมาก 

4. การผ่อนคลายควบคุมประมงทำลายล้าง หลังมีการถอดข้อห้ามการใช้อวนลากออก และใช้คำว่า ‘เครื่องมือที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร’ แทน ซึ่งเป็นการเปิดช่องว่างทางกฎหมายที่อาจนำไปสู่การใช้อวนลากที่มีผลกระทบมหาศาล ตั้งแต่การทำลายผิวดินใต้ทะเล และขยายความครอบคลุมในการจับโดยไม่เลือกชนิดและขนาดสัตว์น้ำ

5. ระบบติดตามตำแหน่งเรือประมง มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบติดตามเรือประมงแบบ Vessel Mornitoring System: VMS ที่มีข้อกังวลถึงการแสดงผลตรงเวลา (Real Time) ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการทำประมงผิดกฎหมาย

6. การผ่อนปรนบทลงโทษทางกฎหมาย เช่น กรณีเรือที่ทำผิดในพื้นที่อนุรักษ์ จากเดิมเคยปรับ 3 แสน-35 ล้านบาท โดยอ้างอิงของศักยภาพของเรือ แต่บทลงโทษใหม่ปรับเพียง 5 หมื่น-1 ล้านบาท โดยไม่คำนึงขนาดและประเภทเรือ

หากพิจารณาจาก IUU บทลงโทษความผิดดังกล่าวไม่ได้สัดส่วน และก่อให้เกิดแรงจูงใจการกระทำความผิดมากขึ้น หากพิจารณาเทียบกับรายได้มหาศาลกับต้นทุนค่าปรับเพียงเล็กน้อยสำหรับประมงบางกลุ่ม ซึ่งนั่นย่อมสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างเรือประมงพื้นบ้านกับเรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับโทษเท่ากัน

นอกจากนี้ พฤษายังแสดงความกังวลถึงการเจรจา FTA ที่เป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ ไทยกำลังเจรจาทางการค้ากับสหภาพยุโรป โดยหนึ่งในเงื่อนไขคือการทำเงื่อนไข IUU และคุ้มครองสิทธิแรงงาน 

FTA คือกรอบใหญ่ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคประมงเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสินค้ามากมาย นั่นหมายความว่าหากร่างกฎหมายประมงมีปัญหาและไม่เป็นไปตามข้อตกลง ไทยอาจจะล้มเหลวในการเจรจาครั้งนี้ และสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจและองค์ความรู้อย่างมหาศาล

ครอบงำโดยทุนนิยมล้าหลัง ล้างผลาญทรัพยากรทะเล ทำลายสิทธิชุมชน: อีกด้านของร่างกฎหมายประมงใหม่

“ทะเลไม่ใช่ถังทรัพยากรอย่างที่เราเข้าใจ มันคือพื้นที่มิติทางสังคม ทะเลไม่ควรถูกนิยามว่า ควรจะจับอย่างไรให้มากที่สุด” 

ภาพ: เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แสดงความคิดเห็นปิดท้ายในการเสวนา โดยระบุว่า กฎหมายฉบับนี้ห่างไกลจากวัตถุประสงค์หลัก นั่นคือความยั่งยืนและกำลังถูกออกแบบโดย ‘ทุนนิยมแบบล้าหลัง’ ที่ไม่สนใจความยั่งยืน ความเป็นธรรม และเน้นการใช้อำนาจที่ผูกขาด

ในมุมของเขา ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่เปิดโอกาสให้ใช้ทะเลอย่าง ‘ทำลายล้าง’ และเอื้อประโยชน์ให้ประมงพาณิชย์มหาศาล ซึ่งทำลายระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนทั้งหมด รวมถึงขัดต่อสนธิสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างกรอบข้อตกลงทางชีวภาพคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal Gobal Biodiversity Framework) ที่มีเป้าหมายว่า แต่ละประเทศต้องขยายพื้นที่อนุรักษ์ชีวภาพทางทะเลให้ได้ 30% 

นอกจากนี้ กฤษฎายังกังวลถึงสิทธิชุมชน ในฐานะที่คนพื้นเมืองหรือประมงพาณิชย์ คือรากฐานเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารตั้งแต่ระดับชุมชนและประเทศ

ประเด็นด้านการค้าเป็นอีกสิ่งที่ลืมไม่ได้ เพราะในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ หากชาติใดทำลายระบบนิเวศ มักนำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้า เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสูงหรือการถูกปฏิเสธ

“ตอนนี้เราพยายามทำให้เศรษฐกิจประมงเติบโตขึ้น แต่กลายเป็นว่า วิธีนี้กำลังทำลายฐานเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ของประเทศ เพราะเราไม่สนใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ 

“ผมเห็นด้วยที่ควรแก้กฎหมาย แต่ต้องไม่หลงลืมมิติในเชิงอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลให้มากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของชุมชนท้องถิ่นและเศรษฐกิจท้องถิ่นจากทรัพยากรทางทะเล 

“สิ่งที่ควรแก้ไขคือการเพิ่มกลไกหรืออำนาจ ทำให้ชุมชนมีสิทธิดูแลทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงระบบสนับสนุนเพื่อให้เศรษฐกิจท้องถิ่นของชาวประมงเป็นเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงมากกว่าเดิม เพราะตอนนี้กลายเป็นว่า ชาวประมงจับปลามาได้ แต่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่

“นอกจากนี้ ผมอยากเห็นการอนุรักษ์และคุ้มครองระบบนิเวศ ส่งเสริมสิทธิการจัดการของชุมชน และการคุ้มครองมิติแรงงานไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่วนสิ่งที่ไม่ควรจะแย่ไปกว่านี้ คือคุณต้องไม่ถอยหลังไปใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง ไม่ลดขนาดชายฝั่งหรือเขตการคุ้มครอง

“อย่าลืมว่าสิ่งที่ประมงพาณิชย์เผชิญไม่ใช่แค่กฎหมายภายใน แต่คุณต้องเผชิญกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเราจะนำสินค้าออกไปขายเขา โลกกำลังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะต้องปรับไปสู่การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน” กฤษฎาทิ้งท้าย

อ้างอิง

https://www.telegraph.co.uk/global-health/climate-and-people/modern-slavery-fishing-industry-thailand-human-trafficking/

https://news.ch7.com/detail/668444

https://workpointtoday.com/parliament-fishery-law/

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,