‘ฉันเอง เธอเอง ใครๆ ก็ช่วยโลกได้’

ตัวอย่างวลีฮิตดึงดูดผู้ซื้อของแบรนด์น้อยใหญ่ในปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประเภทใช้ซ้ำนำกลับมาใช้ใหม่ ที่มีส่วนช่วยลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองจากการผลิต ตั้งแต่ถุงพลาสติก ภาชนะอาหาร แก้วน้ำ ฯลฯ อย่างยั่งยืน

นั่นรวมถึง ‘สแตนลีย์’ (STANLEY) ผลิตภัณฑ์แก้วเก็บอุณหภูมิสัญชาติอเมริกัน กำเนิดโดย วิลเลียม สแตนลีย์ จูเนียร์ (William Stanley Jr.) นักประดิษฐ์จากย่านบรุกลิน (Brooklyn) นิวยอร์ก (New York) เมื่อปี 1913 เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายประเภทนักเดินทางหรือนักเดินป่า ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่เก็บอุณหภูมิร้อน-เย็นมากกว่า 10 ชั่วโมงขึ้นไป แบ่งเป็นขนาด 40, 30 และ 20 ออนซ์ เรียกว่าเป็นแก้วเก็บอุณหภูมิทรงคลาสสิกร่วมสมัย เน้นฟังก์ชันใช้งานได้จริงมากกว่าเน้นเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ดังนั้น เราจึงเห็นแก้วยี่ห้อดังกล่าวในรูปลักษณ์สีพื้นเรียบง่ายไม่สะดุดตา เช่น เขียวขี้ม้า ขาวหรือดำ

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสการใช้ ‘ผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน’ (Sustainable Products) เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้น แต่เดิมที่แก้วสแตนลีย์เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม จึงได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในฝั่งชาวอเมริกัน ซึ่งมีทั้งผู้ที่สนใจอยากใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ กับอีกส่วนหนึ่งที่ซื้อเพราะ ‘อยากสะสม’ 

ปรากฏการณ์สะสมแก้วสแตนลีย์ได้รับความนิยมถล่มทลาย ถึงขั้นผู้คนยอมต่อคิวหน้าร้านรอซื้อ เรื่องของเรื่องมาจากปี 2023 ที่ ‘The Buy Guide’ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์สาว ประกอบด้วย เทย์เลอร์ แคนนอน (Taylor Cannon), ลินลีย์ ฮัตชินสัน (Linley Hutchinson) และแอชลี ลิซูเออร์ (Ashlee LeSueur) นำแก้วสแตนลีย์รุ่น ‘Quencher’ มารีวิว ซึ่งเป็นแก้วเก็บความเย็นขนาดเหมาะมือ มีหูจับ และวางในช่องวางแก้วของรถยนต์ได้พอดี 

จากการรีวิวครั้งนั้น แก้วเก็บความเย็นสแตนลีย์รุ่น Quencher จึงกลายเป็นกระแสปากต่อปากถึงฟังก์ชันและคุณภาพ ทั้งสามารถเลือกสีสันประจำตัวไว้ใช้งาน แก้วสแตนลีย์จึงมีดีแง่แฟชั่นเช่นกัน 

แน่นอนว่าบริษัทแก้วสแตนลีย์สามารถสร้างยอดขาย 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท) ในปีดังกล่าว นับว่ามากสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมที่มียอดขายอยู่ราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2,530 ล้านบาทต่อปี) 

ถึงกระนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคหลายคนมองข้ามไป คือฟังก์ชันในฐานะผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ที่ช่วยลดภาระสิ้นเปลืองจากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) แต่กลับถูกมองเป็นของสะสม ถึงขั้นที่บางรายซื้อมาไม่ทันใส่น้ำดื่ม ก็วางโชว์บนชั้นเรียงรายไล่เป็นเฉดสี พร้อมถ่ายคลิปอวดเพื่อนในโซเชียลมีเดีย

“คุณอาจมีผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมและสนับสนุนความยั่งยืน แต่จะมีประโยชน์อย่างไร หากผลิตภัณฑ์นั้นถูกตั้งวางไว้เฉยๆ รอวันฝุ่นจับ” นิโคล ดาร์แนล (Nicole Darnall) ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้งโครงการการวิจัยและการจัดซื้ออย่างยั่งยืน (Sustainable Purchasing Research Initiative) มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) แสดงความเห็นถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว 

นิโคลกล่าวเสริมว่า ไม่ใช่แค่กรณีแก้วสแตนลีย์เท่านั้นที่ผู้คนมองข้ามจุดประสงค์เดิม เพราะเทรนด์ใดเทรนด์หนึ่งที่เป็นกระแสมาแรง เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หรือการใช้หลอดโลหะแทนหลอดพลาสติก หากปราศจากการให้ความรู้ความเข้าใจจากผู้ผลิต ย่อมมีข้อเสียตามมาอยู่เสมอ ดังนั้น ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องหาจุดร่วมตรงกลาง หากยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

นิโคลกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า แท้จริงเทรนด์ใช้แก้วน้ำสแตนลีย์อาจเป็นหลุมพรางของคนรักษ์โลก เพราะข้อมูลจากการวิจัยระบุว่า แก้วสแตนลีย์ 1 ใบมีระยะเวลาย่อยสลายยาวนานเทียบเท่าขวดพลาสติก 100 ขวด สะท้อนผ่านไวรัลที่ผู้คนในโลกโซเชียลฯ แซว จากกรณีที่หญิงสาวรายหนึ่งรอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ แต่แก้วสแตนลีย์ของเธอปราศจากรอยขีดข่วน มิหนำซ้ำน้ำในแก้วยังเย็นชื่นใจเหมือนเดิม กลับกันแท้จริงขวดพลาสติกสามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายกว่าอีกด้วย

อย่างไรก็ดี สแตนลีย์ออกมาโต้ตอบกระแสดังกล่าว ด้วยการสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคและโลกว่า พวกเขาพยายามเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบการผลิตที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างน้อย 50% ในปี 2025 ส่วนหนึ่งเพราะตอนนี้ โรงงานรีไซเคิลหลายแหล่งยังปฏิเสธการนำแก้วสแตนเลสเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ดังเช่นกรณีแก้วยี่ห้อสแตนลีย์ เนื่องจากติดเรื่องสารเคลือบแวววาวบนแก้วที่มีลักษณะเฉพาะตัวสูง

แต่ในแง่ดี เทรนด์นิยมแก้วสแตนลีย์อาจเป็นตัวจุดประกายให้สังคมเกิดการถกเถียงว่า แท้จริงเราอุดหนุนผลิตภัณฑ์รักโลกไปเพื่ออะไร ขณะที่ผู้ผลิตจะสร้างความเข้าใจต่อผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการสร้างผลิตภัณฑ์อย่างไร หรือสุดท้ายจะกลายเป็นเทรนด์รักษ์โลกสวยหรูเรียกกระแสผลิตภัณฑ์เฉยๆ

เชื่อว่าทั้งสองฝั่งย่อมมีคำตอบอยู่ในใจ

 

ที่มา

https://www.nbcnews.com/science/environment/thirst-stanley-cups-raises-questions-green-stainless-steel-water-bottl-rcna136166

https://www.tiktok.com/@doesnttiktok/video/7213199879072517422?

https://www.nytimes.com/2022/05/17/style/stanley-tumbler.html

https://thebuyguide.com/home/the-story-of-the-cup/

https://www.stanley1913.com/

Tags: , , , , ,