ยิ่งวิทยาการก้าวหน้าเท่าไร เราก็ยิ่งค้นพบสถิติข้อมูลเกี่ยวกับภัยอันตราย จากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ ที่ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกและเยาวชนมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 2023 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกทำลายสถิติ ‘เดือดที่สุด’ เท่าที่เคยมีมา นั่นทำให้นักวิจัยต่างกังวลกับตัวเลขของเด็กที่ต้องเผชิญกับภัยจาก ‘คลื่นความร้อน’ ที่ทวีคูณความรุนแรงทุกปี หลังโลกเข้าสู่ยุค ‘ภาวะโลกเดือด’ (Global Boiling) อย่างเป็นทางการ โดยที่น่าเป็นห่วงคือบรรดาเด็กที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้

เหตุวิตกข้างต้นอ้างอิงจาก ‘ดัชนีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศของเด็ก’ (Children’s Climate Risk Index: CCRI) ของยูนิเซฟ (UNISEF) โดยเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ อินเดีย มัลดีฟส์ และปากีสถาน ล้วนมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบและเผชิญกับความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องด้วยเด็กทารกเกิดใหม่ เด็กวัยหัดเดิน เด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อภาวะฉุกเฉินจากลมร้อน เช่น ฮีตสโตรก (Heatstroke) หรือภาวะร่างกายขาดน้ำมากที่สุด

สุขภาพของทารกในครรภ์และเจ้าของครรภ์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความเชื่อมโยงหลายประการระหว่างอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทีละน้อย กับสุขภาพของทารกในครรภ์และอัตราการเข้าโรงพยาบาลของเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคลอดก่อนกำหนดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กที่จะเกิดมาตลอดช่วงชีวิต

ตามที่ทราบกันดีว่า การหายใจสูดเอาควันและมลพิษเข้าไปในร่างกาย มีผลอันตรายกับทารกในครรภ์อย่างมาก น่าเศร้าที่ในปัจจุบันอาจมีทารกบางส่วน ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง ‘ไฟป่า’ ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นั่นหมายความว่า อัตราตัวเลขของมารดาที่พักอาศัยอยู่ในรัศมีการเกิดไฟป่า ต้องสูดดมควันพิษในช่วงตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้นตาม

ผลจากการเก็บข้อมูลทางสถิติจากผู้มีครรภ์จำนวน 2 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่า แม่ของเด็กที่อาศัยอยู่ในรัศมี 15 ไมล์ (ประมาณ 24-25 กิโลเมตร) ของการเกิดไฟป่าในช่วงไตรมาสแรกของครรภ์ มีโอกาสคลอดทารกที่มีภาวะผิดปกติโดยกำเนิดมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่นอกรัศมีไฟป่าถึง 28%

ความเสี่ยงดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนไข่จะปฏิสนธิ หากผู้ที่ต้องเผชิญกับมลพิษตั้งครรภ์ในช่วงเวลาหลังจากนั้น ทารกที่เกิดมาอาจมีโอกาสเกิดภาวะ ‘Gastroschisis’ มากขึ้นถึงเท่าตัว

โดย Gastroschisis คือภาวะที่ผนังหน้าท้องของทารกแรกคลอดปิดไม่สนิท ทำให้ลำไส้ (อาจรวมถึงอวัยวะภายในอื่นๆ ในบางกรณี) ของทารกออกมาอยู่นอกช่องท้อง ถือเป็นภาวะที่พบได้ยาก ไม่สัมพันธ์กับพันธุกรรม และไม่ขึ้นกับอายุมารดา แต่กรณีตัวอย่างที่พบทั่วโลกกลับค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

สุขภาพและพัฒนาการของเด็กหลังการคลอด

นอกจากผลกระทบจะเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุครรภ์แล้ว เด็กที่คลอดออกมาอย่างปลอดภัยก็เผชิญความเสี่ยงในช่วงวัยเด็ก ที่ถือเป็นช่วงสุขภาพเปราะบางและต้องการการดูแลที่สุด ไปจนถึงช่วงเข้าวัยรุ่นที่ร่างกายของเด็กต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เพราะคลื่นความร้อนสามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กเล็กได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากร่างกายของเด็กไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิ และกำจัดความร้อนส่วนเกินของร่างกายได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่

โดยทารกอาจมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด ส่วนเด็กเล็กก็อาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ เริ่มตั้งแต่การเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นไข้ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปวดหัว เป็นตะคริว ขาดน้ำ ลมแดดหมดสติ ไปจนถึงโรคทางระบบประสาท หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีความร้ายแรงมากขึ้น

แม้อัตราความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับแต่ละปัจเจกบุคคลอาจดูไม่สูงนัก แต่ตัวเลขของเด็กที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงแบบเดียวกันกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ทั้งอัตราการคลอดก่อนกำหนดที่เพิ่มขึ้นและอัตราการรอดชีวิตของทารกที่ลดลง

นี่จึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของคนรุ่นถัดไปอย่างแท้จริง และเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการจากไปของยุค ‘ภาวะโลกร้อน’ และการมาถึงของยุค ‘ภาวะโลกเดือด’ ซึ่งไม่ใช่ยุคสมัยที่เรามีเวลานิ่งนอนใจในการปรับตัวอีกต่อไป ทว่าเป็นยุคที่มนุษยชาติจำต้องเริ่มคิดหาวิธีสร้างความเปลี่ยนแปลง มิเช่นนั้น ไม่ช้าก็เร็ว เราอาจเดินทางไปถึงจุดที่สุขภาพของประชากรโลกเข้าขั้นวิกฤต

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/environment/2022/jan/15/global-heating-linked-early-birth-damage-babies-health

https://news.un.org/en/story/2023/08/1139472

https://www.unicef.org/press-releases/76-cent-children-exposed-extreme-high-temperatures-south-asia-unicef

Tags: ,